ถาม : หญิงที่มาฝากครรภ์ ควรได้รับยาบำรุง ชนิดใดบ้าง เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ตัวอย่างเช่น ธาตุเหล็ก, แคลเซียม, กรดโฟลิก, วิตามินรวม และมีวิธีการเลือกใช้อย่างไร.
จำลอง กิตติธรรมโม พ.บ.
ตอบ : หญิงที่มาฝากครรภ์ควรได้รับยาบำรุงในขณะตั้งครรภ์เพื่อช่วยเสริมสร้างและทดแทนส่วนที่ต้องนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และสำหรับตัวของมารดาเอง. ในการเตรียมตัวในขณะตั้งครรภ์และภายหลังการคลอดโดยเฉพาะการสร้างน้ำนมเพื่อให้มีคุณค่าทางอาหารที่เหมาะสมต่อไป ยาหรือวิตามินที่จำเป็นต้องให้แก่หญิงตั้งครรภ์ ประกอบด้วย
1. ธาตุเหล็ก เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ความต้องการธาตุเหล็กมีเพิ่มมากขึ้น โดยทั่วไปจะมี การส่งธาตุเหล็กจากมารดาสู่ทารกและรกประมาณ 300 มก.ของธาตุเหล็ก และมารดาต้องการธาตุเหล็กอีกประมาณ 500 มก. เพื่อช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงในขณะตั้งครรภ์ ดังนั้นมารดาจะต้องได้รับธาตุเหล็ก(iron element) ประมาณ 7 มก./วัน. ซึ่งธาตุเหล็กที่จำหน่ายในท้องตลาดจะเป็นธาตุเหล็กที่เป็นส่วนประกอบแตกต่างกันไป (iron compound) ขึ้นอยู่ กับแต่ละชนิดของยา. ยกตัวอย่างเช่น ferrous fumarate ซึ่งเป็นส่วนประกอบของธาตุเหล็กที่แตกตัวให้ธาตุเหล็กได้ดีที่สุดคือ ประมาณร้อยละ 33 ในขณะที่เมื่อเรากินธาตุเหล็กผ่านเข้าไปในทางเดินอาหาร ร่างกายจะสามารถดูดซึมธาตุเหล็กเข้าไปได้ประมาณร้อยละ 10. ดังนั้นในแต่ละวันมารดาควรได้รับส่วนประกอบของธาตุเหล็กชนิด ferrous fumarate อย่างน้อยวันละ 200 มก. เพื่อที่จะได้ธาตุเหล็กที่เพียงพอวันละ 7 มก. ตามทฤษฎีถ้าส่วนประกอบของธาตุเหล็กเป็นชนิดอื่นๆ ก็ควรให้เพียงพอ ตามความต้องการขึ้นอยู่กับการแตกตัวให้ธาตุเหล็กของแต่ละส่วนประกอบของธาตุเหล็กไป ในขณะที่ 4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ความต้องการธาตุเหล็กยังมีน้อยอยู่ อาจไม่จำเป็นต้องให้ธาตุเหล็กเสริมในระยะเวลา 4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะแทนที่จะมีประโยชน์อาจเป็นผลทำให้มารดามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รุนแรงขึ้นได้จากผลข้างเคียงของธาตุเหล็ก. ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าธาตุเหล็กจำเป็นต้องให้ในมารดาที่ตั้งครรภ์ โดยให้ได้เป็นธาตุเหล็กอย่างน้อยวันละ 7 มก. โดยอาจไม่จำเป็นในระยะ 4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์.
2. กรดโฟลิก เป็นสารที่มีความจำเป็นสำหรับมารดาที่ตั้งครรภ์ และก่อนการตั้งครรภ์ ถ้ามารดาได้รับกรดโฟลิกก่อนการตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอ จะสามารถป้องกันการเกิด neural tube defect ได้. โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาจะแนะนำให้หญิงที่จะตั้งครรภ์กินกรดโฟลิกก่อนการตั้งครรภ์เป็นเวลานานเป็นเดือนๆ. ขณะเดียวกันกรดโฟลิกยังช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงของมารดาในขณะตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้จาก American College of Obstetrician and Gynecologist ให้มารดาก่อนตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ได้รับกรดโฟลิกเสริม โดยควรได้รับกรดโฟลิกอย่างน้อยวันละ 4 มก. เนื่องจากกรดโฟลิกที่ได้รับจากอาหารอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของมารดา.
3. แคลเซียม พบว่ามารดาต้องการแคลเซียมประมาณ 30 กรัม เพื่อให้แก่ทารกในครรภ์ ซึ่งในปริมาณนี้ของแคลเซียมคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของแคลเซียมทั้งหมดของมารดาโดยที่ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนประกอบในกระดูกของมารดา ซึ่งปริมาณแคลเซียมที่มารดาต้องการอาจได้รับจำนวนเพียงพอจากอาหารที่กินเข้าไปในแต่ละวัน. ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องให้แคลเซียมทดแทนแก่มารดาในขณะตั้งครรภ์ แต่ในมารดาที่มีอาการตะคริวขณะตั้งครรภ์อาจต้องให้แคลเซียมแก่มารดาเพื่อช่วยลดการเกิดตะคริวขณะตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นการจะให้แคลเซียมเสริมในมารดาขณะตั้งครรภ์จึงควรดูเป็นรายๆ ไป.
4. วิตามินรวม โดยทั่วไปในมารดาที่ไม่มีปัญหาโรคเรื้อรัง ปัญหาการดูดซึมอาหารที่ผิดปกติ (malabsorption) หรือปัญหาการขาดอาหาร (malnutrition) จะได้รับวิตามินที่เพียงพอแล้วจากการกินอาหารที่ครบหมู่ในแต่ละวัน จึงไม่จำเป็นต้องให้วิตามินรวมเสริมให้แก่มารดาขณะตั้งครรภ์ แต่ถ้าแพทย์ท่านใดจะให้วิตามินรวมแก่มารดาขณะตั้งครรภ์ก็ไม่เป็นข้อห้ามในเวชปฏิบัติทั่วไป.
เอกสารอ้างอิง
1. Cunningham FG, Leveno KJ, Bloom SL, Hauth JC, Gilstrap LC III, Wenstrom KD. Williams Obstetrics. 22nd ed. New Yourk : McGraw-Hill, 2005:201-29.
อภิชาติ จิตต์เจริญ พ.บ.,ศาสตราจารย์ภาควิชาสูติ-นรีเวชวิทยา,คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
สุรางค์ เจียมจรรยา พ.บ. ศาสตราจารย์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี,มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 36,668 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้