ถาม : ขอเรียนถามเกี่ยวกับโรคอีสุกอีใสดังนี้
1. ผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสทำไมบางรายออกตุ่มพองน้ำมากบางรายออกน้อย ขึ้นอยู่กับอะไรจะพยากรณืล่วงหน้าได้หรือไม่.
2. การใช้ยา acyclovir หรือกลุ่มสตีรอยด์ในโรคอีสุกอีใสมีผลทำให้การออกตุ่มพองน้ำน้อยลงหรือแห้งเร็วขึ้นหรือไม่.
สมาชิก
ตอบ : ขอตอบคำถามดังนี้
1.จำนวนตุ่มพองน้ำ (pox) ที่ขึ้นบริเวณผิวหนัง พบในผู้ป่วยที่อายุน้อย และมี intensity of exposure สูง (การอยู่ใกล้ชิด หรือสัมผัสโรคสูง) เช่น เด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใส คนแรก (index) มีตุ่มน้ำ 87 ตุ่ม แต่เด็กคนที่อยู่ในครอบครัวแล้วติดเป็นโรคคนที่ 2 (secondary case) มี 106 ตุ่ม (ค่า P<0.01 จำนวน ผู้ป่วย 165 คน) ถ้าเป็นเด็กผู้หญิง secondary case จะมีตุ่มน้ำมาก ชัดเจน (ค่า P = 0.018) เด็กผู้ชาย secondary case จะมีตุ่มน้ำมากพอควร (ค่า P = 0.575)1 ไม่พบความสัมพันธ์ของ nutritional status วัดโดย arm-circumference กับความรุนแรงของ อีสุกอีใส.
ตามทฤษฎีเชื่อว่าปริมาณไวรัสที่ได้รับสูงและ host หรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น การได้สตีรอยด์, การป่วยเป็นเอชไอวี หรือได้เคมีบำบัดกดภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะชนิดพึ่งเซลล์ (cell-mediated-immunity) เมื่อสัมผัส (contact) index case และเกิดอาการ จะมีระยะ incubation period สั้น สัมพันธ์กับ intensity of exposure ที่สูง.2
2. ยา acyclovir ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสอีสุกอีใส จึงไม่มีไวรัสตัวใหม่ไป infect cell ตัวใหม่ และเกิดตุ่มพองน้ำขึ้นใหม่ ดังนั้นถ้าเชื้อไวรัส infect cell ไปแล้วเกิดตุ่มพองน้ำ การให้ acyclovir เร็ว เช่น ภายหลังมีตุ่มพองน้ำไม่กี่เม็ด ก็ย่อมทำให้วันต่อๆ มามีตุ่มพองน้ำใหม่เกิดขึ้นน้อยกว่าการไม่ให้ acyclovir. ตุ่มพองน้ำที่ขึ้นวันแรกๆ ก็จะแห้งไปก่อนตุ่มพองน้ำที่ขึ้นวันหลัง. การได้ acyclovir เร็ว ก็ไม่มีตุ่มพองน้ำวันหลังๆ จึงดูเหมือนว่าตุ่มพองน้ำมีจำนวนน้อยและแห้งเร็ว.
แต่ถ้าให้ acyclovir ช้าจนไวรัส infect cell ไปหมดแล้ว จำนวนตุ่มพองน้ำและการแห้งก็คงไม่ต่างจากผู้ที่ไม่ได้ acyclovir.
ผู้ที่ได้รับสตีรอยด์จะมีการกดภูมิคุ้มกัน ที่ควบคุมการแบ่งตัวของไวรัสมีผลทำให้ตุ่มพองน้ำมากขึ้นได้ หรือ contact กับ index case ก็มีโอกาสติดโรคและป่วยได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่ได้สตีรอยด์ และตุ่มพองน้ำหายช้ากว่า.
เอกสารอ้างอิง
1. Poulsen A, Qureshi K, Lisse I, Kofoed PE, Nielsen J, Vestergaard BF, Aaby P. A household study of chicken pox in Guinea-Bissau : intensity of exposure is a determinant of severity. J Infect 2002 Nov;45(4): 237-42.
2. Poulsen A, Cabral F, Nielsen J, Roth A, Lisse IM, Vestergaard BF, Aaby P. Varicella zoster in Guinea- Bissau : intensity of exposure and severity of infection. Pediatr Infect Dis J 2005 Feb;24(2):102-7.
นิรันดร์ วรรณประภา พ.บ.,รองศาสตราจารย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สุรางค์ เจียมจรรยา พ.บ. ศาสตราจารย์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ,มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 3,999 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้