ถาม : อยากทราบวิธีการเจาะตากุ้งยิง มีหลักการอย่างไร และต้องแนะนำผู้ป่วยอย่างไรบ้าง.
สมาชิก
ตอบ : ตากุ้งยิง คือ ภาวะที่มีการอักเสบของต่อมไขมันหรือต่อมเหงื่อบริเวณรอบเปลือกตาโดยการเจาะะตากุ้งยิงมีขั้นตอนที่สำคัญดังนี้คือ
1. ทำความสะอาดบริเวณที่จะทำการผ่าตัดและปูผ้า.
2. หยอดยาชา (เช่น proparacaine eye drop).
3. ฉีดยาชาในบริเวณที่จะลงมีด โดยใช้ 1-2% lidocaine with adrenarine โดยฉีดที่บริเวณใต้ผิวหนัง (subcutaneous) ใกล้บริเวณที่จะลงมีดโดยไม่ควรฉีดเข้าไปในตุ่มนั้นโดยตรง.
4. ใส่ chalazion clamp ซึ่งมีรูตรงกลาง.
5. ลงมีดผ่านตำแหน่งตากุ้งยิง โดยกรณีตุ่มเห็นชัดเจนเฉพาะทางด้านนอกเปลือกตาให้ลงมีดที่ skin ในแนว horizontal. ส่วนกรณีที่สามารถเห็น ตุ่มในด้านในเปลือกตาได้ ให้ลงมีดตั้งฉากในด้านเยื่อบุตาขาว (conjunctiva) ผ่านไปยังแผ่น tarsal plate ในเปลือกตาซึ่งมี meibomain glands อยู่ โดยให้มีความยาวประมาณ 3 มม. หรือตามความเหมาะสมโดยประมาณ ให้ขนานตามทิศทางของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา meibomian glands (คือแนว vertical) แต่ไม่ควรลงมีดผ่านไปถึงขอบเปลือกตา (lid margin) เนื่องจากเมื่อแผลหายแล้วอาจทำให้ขอบเปลือกตาผิดรูปไปจากเดิม.
6. ใช้ curette ขนาดเล็กๆ คว้านฝีหรือหนองที่อยู่ในตุ่มออกมา (หากองค์ประกอบของตุ่มดูไม่ปกติ ให้ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา).
7. ในกรณีที่ตุ่มมีผนังล้อมรอบให้พยายามใช้ใบมีดเลาะและตัดผนังนั้นออกเพื่อลดการกลับเป็นซ้ำ.
8. ปลด chalazion clamp.
9. ใช้ผ้ากอซหรือก้านสำลีปลอดเชื้อกดห้ามเลือดและป้ายยาปฏิชีวนะที่บริเวณที่ผ่าตัด.
10. ปิดตาแน่น.
ข้อปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด
1. เปิดผ้าปิดตาออก 2-4 ชั่วโมงหลังผ่าตัด.
2. ป้ายยาปฏิชีวนะ (broad spectrum antibiotic) ชนิดครีมวันละ 2 ครั้ง หรือหยอดยาปฏิชีวนะวันละ 3-4 ครั้ง.
3. ประคบด้วยความร้อน 3-4 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์ ในตาข้างที่ผ่าตัด.
4. แนะนำผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น และการขยี้ตาซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดตากุ้งยิง.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.,จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อ่าน 37,365 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้