• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาพยาธิ

ถาม : พร้อมพงศ์/ขอนแก่น 
ปัจจุบันอายุ 30 ปี มีพยาธิตัวจี๊ดอยู่ในร่างกายมาประมาณ 20 ปีแล้ว เป็นๆ หายๆ โดยจะมีอาการที่มือข้างซ้ายแต่จะเปลี่ยนตำแหน่ง เช่น ตรงง่ามนิ้วบ้าง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางครั้งก็ขึ้นที่นิ้วกลางบ้าง นิ้วก้อยบ้าง
ผมจะต้องทำอย่างไรบ้าง ไปตรวจรักษาได้ที่ไหน ถ้าไม่รักษาจะอันตรายหรือไม่อย่างไร

 


ตอบ : นพ.ประเสริฐ เสตสุบรรณ
ขออธิบายปัญหาการตรวจรักษาโรคที่เกิดพยาธิชนิดต่างๆ ดังนี้

1. พยาธิตัวจี๊ดไชไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายอย่างไร
 ก่อนอื่นต้องเข้าใจด้วยว่าพยาธิที่ไชไปนั้นเป็นพยาธิตัวจี๊ดจริงหรือไม่ เพราะมีพยาธิหลายชนิดไชแล้วทำให้เกิดอาการได้คล้ายพยาธิตัวจี๊ด เช่น พยาธิไส้เดือนของสุนัข (toxocariasis) พยาธิปากขอของสุนัขและแมว (ancylostoma caninum, ancylostoma braziliense) และยังมีพยาธิอีกหลายชนิดทั้งตัวกลมตัวแบน ซึ่งเมื่อไชเข้าไปแล้วจะทำให้พยาธิคืบคลานไปตามผิวหนังได้

ถ้าจะให้แน่ๆ จำเป็นต้องไปตรวจดูเชื้อทางอิมมูนวิทยา ที่ภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล 

พยาธิตัวจี๊ดเคยมีรายงานพบในร่างกายคนเราประมาณ 1-10 ปี เมื่อพยาธิตัวอ่อนไชเข้าไปแล้ว หรือเข้าไปโดยการกินเชื้อตัวอ่อนระยะติดต่อเข้าไป พยาธินี้จะเดินทางไปที่ต่างๆ อาจจะไปทั่วร่างกาย ที่ตรงไหนชอบก็อาจจะอยู่นาน เช่น

- ไชไปตามผิวหนังทั่วๆ ไป ตั้งแต่ศีรษะ หน้า มือ เท้า ตามตัว แขนขา ลูกตา ซึ่งมีเลือดออกถึงบอดได้

- ตามเยื่อเมือก เช่น เยื่อบุปาก เพดาน เหงือก กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด และอวัยวะสืบพันธุ์หญิงชาย

- ทางระบบหายใจ เข้าปอด ช่องปอด ทางระบบประสาท และสมอง ทำให้เกิดเลือดออก เป็นอัมพาต ตายได้

- เข้าสู่ทุกอวัยวะในช่องท้อง ทำให้เป็นก้อนทูมคล้ายเนื้องอก หรืออาจจะเป็นอาการปวดท้อง อาจมีอาการคล้ายไส้ติ่งอักเสบก็ได้

- อาการอื่นๆ อาจมีอีกมากมาย แล้วแต่ตัวพยาธิจะเข้าไปอยู่ที่ตรงไหน
 

2. ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะมีอันตรายไหม
อันตรายจะมีมากน้อยแล้วแต่ตำแหน่งที่พยาธิไปอยู่ ถ้าอยู่ในสมองทำให้หลอดเลือดในสมองแตก อาจตายหรือเป็นอัมพาตได้ ถ้าเข้าตาก็อาจตาบอดได้

3.การรักษาพยาธิ
การรักษาพยาธิแบ่งได้ 2 อย่าง
- การผ่าตัด ถ้าตรวจพบว่ามีพยาธิในสมองและจะเป็นอันตรายถึงตายก็ต้องรีบผ่าตัดเอาตัวออก หากใช้ยารักษาอาจไม่ทันกาล ต้องตามความถูกต้องและเหมาะสม

- การรักษาทางยา ใช้ Albendazole 400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 21 วัน อัตราหายร้อยละ 92-94 ได้มีการทดลองให้ 400มิลลิกรัม เช้า เย็น ต่อวัน เป็นเวลา 21 วัน อัตราหายก็ใกล้เคียงกัน คือร้อยละ 94 ถ้ากิน 400 มิลลิกรัม วันละ 2  ครั้ง ให้เป็นเวลา 21 วัน ถามว่าถ้ากินมากขนาดนี้จะมีผลข้างเคียงไหม

ยาตัวนี้ออกฤทธิ์ได้ดีทั้งในพยาธิตัวกลม พยาธิใบไม้ พยาธิตืดทั้งตัวแก่และตัวอ่อน โดยมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวแก่ พยาธิตัวอ่อนและไข่พยาธิ

ยาเมื่อรับประทานเข้าไประดับยาจะสูญในน้ำเหลืองภายใน 6-6 ชั่วโมง ระดับยาจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง (half life) ภายใน 8.5 ชั่วโมง

ยาส่วนใหญ่ร้อยละ 87 ถูกขับออกทางปัสสาวะ จำนวนน้อย (ร้อยละ 13) จะขับออกทางอุจจาระ และพบว่าภายใน 24 ชั่วโมงยานี้จะถูกขับออกจากร่างกายถึงร้อยละ 47

ยานี้ยังทำให้เกิดตับอักเสบได้ เป็นแบบ hepatocellular necrosis มีการเปลี่ยนแปลง SGOT, SGPT สูงขึ้น หากหยุดยาภายใน 1 สัปดาห์ หน้าที่ตับก็จะกลับมาเป็นปกติ และยังพบว่าถ้าใช้ยานี้นานๆ ทำให้เกิดผมร่วงได้ และอาจเกิดเม็ดเลือดขาวลดลง (lencopenia)

ถ้าใช้ตามขนาดมาตรฐาน ผลข้างเคียงมีน้อย และเป็นเพียงชั่วคราวในระยะสั้นๆ เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ไข้ หรือผื่นคันได้

ข้อห้ามใช้ยา Albendazole
1. ในหญิงมีครรภ์ อาจมีผลต่อทารกในครรภ์พิการได้
2. ในรายที่เป็นโรคตับอักเสบ
3. ในรายที่แพ้ยานี้หรือมีความไวต่อการแพ้ยานี้
4. เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ
เคยมีรายในต่างประเทศ ที่นำยานี้มารักษาโรคพยาธิตัวตืดบางชนิด คือ Echinococcus granulosis โดยใช้ยานี้ขนาด 800 มิลลิกรัม เป็นเวลา 28 วัน เว้น 14 วัน แล้วให้ซ้ำ 2-5 ครั้ง ส่วนพยาธิตัวตืดอีกชนิดหนึ่ง คือ Echinococcus multiloculasis โดยให้ Albendazole 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 30 วัน ซ้ำได้ 12-60 ครั้ง

4. บริการตรวจโรคพยาธิ
ภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน รับบริการตรวจโรคพยาธิ ด้วยอัตราค่าบริการ 250 บาทต่อ 1 ตัวอย่างโรค

ถ้ามีตัวอย่างพยาธิกรุณาติดต่อก่อน เพื่อจะได้สอบถามถึงวิธีส่ง เนื่องจากพยาธิแต่ละชนิดจะมีวิธีการตรวจต่างกัน โทรศัพท์ 02-354-9100-19 ต่อ 1820 (ผ่านศูนย์ของคณะฯ) และต่อ 2032, 2034 (ศูนย์แล็ปกลาง ตึกเฉลิมพระเกียรติ)