ถาม : ผู้ป่วยอายุ 88 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ pneumococcus ทุก 5 ปี มา 2 ครั้ง ช่วงที่ฉีดวัคซีนผู้ป่วยสบายดี ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ และไม่ได้กินยาอื่นๆ ประจำ. ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 หลังฉีดวัคซีนไป 1 วัน บริเวณที่ฉีดยา (deltoid) บวม ปวด แดงมาก (2 ครั้งแรก บวม แดง เล็กน้อย) วันที่ 2 ผู้ป่วยมีเลือดออกมาทางปาก พร้อมกับการขากเสมหะเป็นเลือดสด 4-5 ครั้ง/วัน. ผู้ป่วยขากเสมหะเป็นเลือดอยู่ 2-3 วัน จึงปรึกษา ENT ทำ gastroscope ดู ไม่พบสิ่งผิดปกติ, CXR ปกติ, blood chemistry ปกติ, CBC และ platelet count ปกติ. หลัง 3 วันอาการขากเสมหะเป็นเลือดก็หายไป พร้อมๆ กับอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา. ถามว่าอาการขากเสมหะเป็นเลือดนี้จะเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาอย่างรุนแรง จากการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ pneumococcus ได้หรือไม่ครับ.
สมศักดิ์ ธรรมบุตร
ตอบ : ผลข้างเคียงของการฉีด pnuemococcal vaccine หลายอย่าง ที่มีรายงานไว้ เช่น อาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ มีผื่น ปวดข้อและกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อย มีไข้ และอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดแขนด้านที่ฉีดวัคซีน ซึ่งอาจเป็นไม่มาก จนถึงปวดจนยกแขนไม่ขึ้น อาการส่วนใหญ่จะหายไปในเวลา 2 วัน เท่าที่ค้นข้อมูลดู ไม่มีรายงานผู้ป่วยมีอาการเลือดออกทางปาก ซึ่งในรายที่ถามมา ดูเหมือนเป็นปัญหาเฉพาะที่ในคอและจมูก ไม่ทราบว่าได้ตรวจหาจุดเลือดออกใน nasopharynx หรือไม่.
อาการเฉพาะที่และอาการทั่วไป (systemic symptoms) พบได้มากขึ้นในการฉีดวัคซีนครั้งหลังๆ คือมีอุบัติการณ์ ร้อยละ 0.33 หลังการฉีดครั้งแรกร้อยละ 0.5 ในการฉีดครั้งที่ 2 และร้อยละ 0.7 ในการฉีดครั้งที่ 3 ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีระดับแอนติบอดีสูงอยู่แล้ว.
เอกสารอ้างอิง
1. Jackson LA. JAMA 1999; 281(3):243-8.
2. Jackson LA. Vaccine 2006; 24:151-6.
กำธร มาลาธรรม พ.บ., ผู้ช่วยศาสตราจารย์
หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์,คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
สุรางค์ เจียมจรรยา พ.บ. ,ศาสตราจารย์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 5,297 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้