Q : ผู้ชายอายุ 44 ปี เป็นหูดที่ทวารหนัก ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรและต้องรักษาอย่างไร.
กิตติศักดิ์ วงศ์อมร
A : สำหรับหูดที่ทวารหนัก (perianal condyloma accuminata หรือ perianal warts) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิด Papilloma virus และทำให้เกิดการแบ่งตัวของเซลเยื่อบุผิวหนังบริเวณนั้นมากกว่าปกติ.
โรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสหรือทางเพศสัมพันธ์ การวินิจฉัยอาศัยจากอาการและอาการแสดง ผู้ป่วยอาจมีอาการคัน หรือสังเกตเห็นว่ามีตุ่มเกิดขึ้นบริเวณใกล้ๆ รูทวารหนัก และมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อาจมีอาการเจ็บ เลือดออก ถ้ามีการกระทบ หรือเวลาถ่ายอุจจาระผ่าน.
การตรวจทางทวารหนัก เมื่อดูจะพบลักษณะเฉพาะ เป็นก้อน หรือตุ่มขนาดต่างๆ กัน นูนขึ้นจากผิวหนัง และมีผิวขรุขระ นอกจากนี้ยังอาจมีเลือดออกได้.
สิ่งที่มีผลต่อการเลือกวิธีรักษาได้แก่ ขนาด และตำแหน่งของพยาธิสภาพ ถ้าเป็นหูดที่อยู่ภายในช่องทวารหนัก (intraanal canal) จะต้องรักษาโดยการผ่าตัด (pernal excision) เท่านั้น แต่ถ้าเป็นหูดที่อยู่นอกทวารหนัก และขนาดเล็ก โดยเฉพาะ เล็กกว่า 0.5 ซม. อาจสามารถรักษาโดยการทำลาย หรือจี้ ด้วยสารเคมี เช่น podophylline หรือใช้จี้ไฟฟ้า (cauterization) แต่ถ้ามีขนาดใหญ่กว่า 0.5 ซม. แนะนำให้ใช้การผ่าตัดออกก่อน อาจพิจารณาใช้การจี้ด้วยสารเคมีภายหลัง ถ้ามีการกลับเป็นซ้ำใหม่ ซึ่ง มักจะไม่มีขนาดใหญ่มากนัก.
สำหรับการผ่าตัดหูดที่ทวารหนัก (peranal excision) อาจทำได้ภายใต้ยาชาเฉพาะที่ (local anesthesia) ซึ่งสามารถทำได้เป็นแบบผู้ป่วยนอกหรือ ภายใต้การให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน (spinal anesthesia) ซึ่งมักจะต้องให้นอนค้างในโรงพยาบาลประมาณ 1 คืน.
สิ่งสำคัญในการรักษาคือ ต้องแนะนำผู้ป่วยว่าโรคนี้อาจมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ค่อนข้างมากและบ่อย จึงจำเป็นจะต้องมาตรวจติดตามผลการรักษาเสมอๆ โดยเฉพาะในช่วง 3-6 เดือนแรก ปัจจุบันมียาทาที่เป็นส่วนผสมของ interferon ได้แก่ยาชื่อ Imiquimod ที่สามารถช่วยลดอัตราการกลับเป็นซ้ำลงได้ดีพอสมควร.
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ.
ศัลยแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ., น.บ.
สาขาวิชาจักษุวิทยา, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อ่าน 34,737 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้