Q : อยากเรียนถามว่าปัจจุบันการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคต้อหิน ต้องวินิจฉัยจากการตรวจอย่างไร
ณัฐ นพคุณ
A : เดิมโรคต้อหิน (glaucoma) เคยได้รับการวินิจฉัยเมื่อตรวจพบว่าผู้ป่วยมีความดันตา (intraocular pressure) สูงกว่า 21 มม.ปรอท ซึ่งอาจทำ ให้ขั้วประสาทตาลึกขึ้น (increase C : D ratio)แต่ปัจจุบัน นิยาม โรคต้อหิน หมายถึง โรคของขั้วประสาทตาซึ่งมีลักษณะเฉพาะของพยาธิสภาพที่ ทำให้มีการลดลงของเซลล์และเส้นใยประสาท (retinal ganglion cell and nerve fiber) จนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ขั้วประสาทตา (structural changes) และการทำงาน (functional changes) ที่มีลักษณะเฉพาะแบบต้อหิน ดังนั้นการวินิจฉัยโรคไม่ได้ขึ้นกับความดันตาสูงเพียงอย่างเดียวโดยต้องแบ่งต้อหินออกตามพยาธิสภาพของโรคเป็น
1. ต้อหินมุมปิด (Angle Closure Glaucoma, ACG) ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดตาอย่างรุนแรง ตาแดง ตามัว มักเป็นในตาข้างเดียว การตรวจจะพบลักษณะตาแดงแบบ ciliary injection, decrease vision วัดความดันตาได้สูง (มักสูงกว่า 30 มม.ปรอท) ซึ่งแพทย์ทั่วไปมักให้การรักษาเบื้องต้น และส่งต่อจักษุแพทย์เพื่อรักษาโดยการใช้เลเซอร์หรือผ่าตัดต่อไป.
2. ต้อหินมุมเปิด (Open angle glaucoma, OAG) เป็นต้อหินชนิดเรื้อรัง ซึ่งมักมีอาการปวดตาไม่ชัดเจน นอกจากนั้นบางครั้งยังอาจพบเป็นโรค ต้อหินชนิดนี้ โดยความดันตาไม่สูงเกิน 21 มม.ปรอท (normotension glaucoma) ได้. การตรวจจอตา จะพบเพียงขั้วประสาทตามี C:D ratio มากกว่า 0.4 บ่งชี้ว่าต้องส่งผู้ป่วยให้จักษุแพทย์ตรวจลานสายตาและเส้นใยประสาทตา เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาต่อไป ดังนั้นในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งถือเป็น กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหิน หรือมีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว จึงควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจเฝ้าระวังโรคต้อหินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อ่าน 7,317 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้