"ผู้ใดได้รับอภิสิทธิ์ ผู้นั้นต้องตอบแทนความเสียสละของผู้อื่น
เพราะเขาเปรียบเสมือนผู้กินอาหารทั้งหมดซึ่งชาวบ้านผู้หิวโหยมอบให้
ด้วยความหวังว่าเขาจะเกิดกำลังดั้นด้นไปหาอาหารจากแดนไกลมาเลี้ยงดู
ถ้าเขากินอาหารจากชาวบ้านหมดแล้วไม่ช่วยอะไรเลย เขาคือผู้ทรยศ
เช่นเดียวกันถ้าหนุ่มสาวผู้ได้รับการศึกษาสูง โดยประชาชนช่วยกันเสียค่าใช้จ่าย แล้วกรีดกรายนึกว่าตนเองเหนือผู้อื่น
หรือไม่พยายามนำความรู้ไปช่วยพัฒนาบ้านเมือง เขาก็เป็นผู้ทรยศเช่นกัน"
Julius Kambarage Nyerere (1922-1999)
ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ Tanzania กล่าวไว้กินใจมาก ผมว่าคงเหมาะกับบ้านเขา แต่ใช้ไม่ได้กับบ้านเรา
หลายคนเข้าใจว่ากว่าจะจบเป็นแพทย์ ผู้เรียนต้องกินภาษีประชาชนไปไม่น้อย อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกแต่ยังรู้ไม่หมด อันดับแรกแพทย์ไม่ได้เรียนฟรี ทุกภาคการศึกษานักเรียนแพทย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเทอมละไม่น้อย ข้อที่สองเมื่อเข้าเรียนแพทย์ต้องเซ็นสัญญากับกระทรวงสาธารณสุขว่าจบการศึกษาแล้วจะทำงานในโรงพยาบาลของรัฐเป็นเวลา 3 ปี หากไม่ทำตามสัญญาต้องจ่ายเงินชดเชยคืนเป็นจำนวนหลายแสนบาท (แม้จะไม่เท่าค่าใช้จ่ายจริงในการผลิตแพทย์หนึ่งคนแต่ก็ถือว่าสูงพอสมควร) ข้อสุดท้ายแพทย์ที่ลาออกจากราชการส่วนใหญ่ยังคงทำงานเป็นแพทย์รับใช้ประชาชน ดังนั้นการที่แพทย์ลาออกจากราชการจึงไม่ได้เป็นการทรยศแต่อย่างใด
ผมมีคนรู้จักที่ลาออกจากราชการหลายคน สาเหตุหลักเพราะเหตุผลส่วนตัวแตกต่างกันไป ส่วนที่ว่าเงินเดือนน้อยสู้เอกชนไม่ได้นั้นมักจะเป็นสาเหตุรอง ถ้าทนระบบราชการไม่ได้วันใดผู้เขียนก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้น
วาทะของ Nyerere นี้มักจะอยู่คู่กับบทกลอนของมนูญ มโนรมย์ (นเรศ นโรปกรณ์) ผมจึงขอยกมาให้อ่านกัน
"เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้ง ฤาจึงมุ่งมาศึกษา
เพียงเพื่อปริญญา เอาตัวรอดเท่านั้นฤา
แท้ควนสหายคิด และตั้งจิตมั่นยึดถือ
รับใช้ประชาคือ ปลายทางเราที่เล่าเรียน"
ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.
โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี
E-mail : [email protected]
- อ่าน 3,890 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้