15. ภัยพิบัติปรมาณู/กัมมันตภาพรังสี
ภัยพิบัติปรมาณู/กัมมันตภาพรังสี (nuclear/radioactive disasters) หมายถึง ภาวะที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากพลังปรมาณู (พลังนิวเคลียร์) หรือกัมมันตภาพรังสี.
ความหมายของศัพท์
ปรมาณู หรืออะตอม (atom) คือ ส่วนที่เล็กที่สุดของสาร (ธาตุ) ที่ไม่สามารถแยกย่อยได้อีกด้วยวิธีทางเคมี ประกอบด้วยแกนกลาง (นิวเคลียส, nucleus) และอิเล็กตรอน (electron) ที่วิ่งอยู่โดยรอบ (ในปัจจุบัน คำว่าปรมาณูมักใช้ทับศัพท์ว่า "นิวเคลียร์").
นิวเคลียส คือ ส่วนใจกลางของอะตอมของธาตุทุกชนิด ประกอบด้วยอนุภาคมูลฐานที่สำคัญ 2 ชนิด คือ โปรตอน (proton) ซึ่งมีประจุไฟฟ้าบวก และนิวตรอน (neutron) ซึ่งไม่มีประจุไฟฟ้า ยกเว้น อะตอมของไฮโดรเจนธรรมดา ในนิวเคลียสจะมีแต่โปรตอนเท่านั้น ไม่มีนิวตรอน.
อิเล็กตรอน คือ อนุภาคมูลฐานของอะตอมของธาตุทุกชนิด ที่วิ่งอยู่รอบนิวเคลียสของอะตอม และมีประจุไฟฟ้าลบ.
กัมมันตภาพรังสี (radioactivity) คือการเสื่อมสลายโดยตัวเองของนิวเคลียสของอะตอมที่ไม่เสถียร ทำให้เกิดกัมมันตรังสี คือ อนุภาคแอลฟา (a-particles) อนุภาคเบตา (ß-particles) และรังสีแกมมา (g-rays) ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic wave) ที่ช่วงคลื่นสั้นมาก มีพลังงานสูงและประกอบด้วยโฟรตอน (photons) ที่ไม่มีน้ำหนัก หรือประจุไฟฟ้า.
ทั้งหมดนี้พุ่งออกมาด้วยความเร็วสูงมาก ในบางกรณีอาจมีพลังงานความร้อน และพลังงานแสงเกิดตามมาด้วย เช่น การเสื่อมสลายของนิวเคลียสของเรเดียม (radium) ทำให้ได้อนุภาคแอลฟา อนุภาคเบตา รังสีแกมมา และธาตุเรดอน (radon) ซึ่งเป็น radio active gas (radium paint = สีพรายน้ำ).
การแผ่รังสี (radiation) คือ พลังงานที่เกิดขึ้นจากการกระทบของอนุภาคหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากับสิ่งอื่น ถ้าการแผ่รังสีนั้นมีพลังงานพอที่จะกระแทกอิเล็กตรอนให้หลุดออกจากอะตอม ก็จะทำให้เกิด "อิเล็กตรอนอิสระ" (free electron) และไออ็อน (ion คือ อะตอมที่มีอิเล็กตรอนไม่ครบ) ขึ้น เรียกว่า "การแผ่รังสีไออ็อน" (ionizing radiation) ถ้ามีอนุภาคแอลฟา/เบตา/นิวตรอน ร่วมอยู่ ก็จะเรียกว่า การแผ่รังสีไออ็อนอนุภาค (particulate ionizing radiation).
เอกซเรย์ (X-rays) และรังสีแกมมา เป็น "การแผ่รังสีไออ็อนไม่มีอนุภาค" (non-particulate ionizing radiation) หรือเรียกว่า "การแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไออ็อน" (electromagnetic ionizing radiation).
คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีพลังงานต่ำ ไม่ทำให้เกิดไออ็อน เช่น รังสีความร้อน แสงสว่าง แสงเลเซอร์ คลื่นวิทยุ ไมโครเวฟ เมื่อกระทบกับสิ่งอื่น จะทำให้เกิดความร้อนเป็นสำคัญ (ไม่เกิดไออ็อน) จึงจัดอยู่ในกลุ่ม "การแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่มีไออ็อน" (electromagnetic non-ionizing radiation).
"เลขอะตอม" (atomic number) เทียบเท่ากับจำนวนโปรตอนในอะตอมของแต่ละธาตุ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของธาตุแต่ละชนิด และแสดงถึงคุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมีของมัน เช่น ไฮโดรเจน มี 1 โปรตอน "เลขอะตอม" จึง = 1.
"มวลอะตอม" (atomic mass) เทียบเท่ากับผลบวกของจำนวนโปรตอนกับนิวตรอน เช่น คาร์บอน มี 6 โปรตอน (ดังนั้น "เลขอะตอม" = 6) และมี 6 นิวตรอน ดังนั้น "มวลอะตอม" จึง = 12 แต่ไฮโดรเจนธรรมดามีแต่โปรตอน ไม่มีนิวตรอน "เลขอะตอม" และ "มวลอะตอม" จึงเหมือนกัน = 1.
"ไอโซโทป" คืออะตอมที่มีจำนวนโปรตอนเท่ากัน (นั่นคือ เป็นธาตุเดียวกัน และมี "เลขอะตอม" เหมือนกัน) แต่มี "มวลอะตอม" ไม่เท่ากัน ตัวอย่าง "ไอโซโทป" ของไฮโดรเจน เช่น hydrogen-2 หรือ deuterium มี 1 โปรตอน กับ 1 นิวตรอน ส่วน hydrogen-3 หรือ tritium มี 1 โปรตอน กับ 2 นิวตรอน เป็นต้น.
อะตอมที่มีจำนวนนิวตรอนผิดจากจำนวนโปรตอนมาก จะไม่เสถียร และจะสลายตัวด้วยการแผ่ รังสีเป็นอนุภาค และ/หรือพลังงานอื่นจนกว่าจะเสถียร.
การแผ่รังสีแอลฟา (alpha-radiation) คือ การแผ่รังสีอนุภาคแอลฟา ซึ่งประกอบด้วยนิวเคลียสของฮีเลียม (มี 2 โปรตอนกับ 2 นิวตรอน) จึงหนักและไปได้ไกลเพียง 1-2 ซม. ในอากาศ และถูกหยุดได้ด้วยกระดาษแผ่นเดียว หรือชั้นนอกของผิวหนัง แต่ถ้าสูดดมหรือกินเข้าไป จะเกิดอันตรายมาก ธาตุที่ให้รังสีแอลฟา เช่น uranium, plutonium, americium, radon เป็นต้น.
การแผ่รังสีเบตา (beta-radiation) คือการแผ่รังสีอนุภาคเบตา ซึ่งเป็นอิเล็กตรอนที่หลุดออกจากการวิ่งรอบนิวเคลียสที่ไม่เสถียร ไปได้ไกลประมาณ 1 เมตรในอากาศ และทะลุทะลวงผ่านผิวหนังชั้นนอกๆได้ ทำให้ผิวหนังไหม้ แต่จะถูกดูดไว้หมดด้วยผ้าหนาๆ/พลาสติก/แก้ว/metal foils บางๆได้ แต่ถ้าสูดดมหรือกินเข้าไป จะเกิดอันตรายได้ ธาตุที่ให้รังสีเบตา เช่น tritium, radiostrontium เป็นต้น.
การแผ่รังสีนิวตรอน (neutron radiation) จะเกิดขึ้นเมื่อนิวตรอนถูกแยกออกจากนิวเคลียสที่ไม่เสถียร ด้วยการแยกนิวเคลียส (nuclear fission) เช่น ในระเบิดปรมาณู (atomic bomb) หรือในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (nuclear reactor) นิวตรอนจะทะลุทะลวงได้มาก และเมื่อกระทบสิ่งอื่น จะทำให้เกิดการแผ่รังสีเบตาและแกมมา (secondary beta and gamma radiation).
การแผ่รังสีแกมมา (gamma-radiation) คือ การแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแกมมาที่เกิดจากนิวเคลียสที่ไม่เสถียร (ส่วนเอกซเรย์ เป็นคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าที่เกิดจากอิเล็กตรอนชั้นนอกๆของอะตอม) ทั้งแกมมาเรย์ และเอกซเรย์จะทะลุทะลวงได้มากและทำให้ได้รับ "ขนาดรังสี" (radiation doses) จำนวนมากโดยไม่ต้องสูดดมหรือกินเข้าไป.
"ขนาดดูดซึม" (absorbed dose) คือปริมาณของ ionizing radiation ที่อยู่ในเนื้อเยื่อ หรือสิ่งอื่น วัดเป็น "rad" (radiation absorbed dose) หรือ "gray" (Gy) ซึ่ง 1 gray = 1 joule/kilogram หรือเทียบเท่ากับ 100 rads.
"ขนาดเทียบเท่า" (equivalent dose) คือ "ขนาดดูดซึม" คูณด้วย "ปัจจัยแต่ง" (qualifying factor) ที่ทำให้ผลกระทบ (อันตราย) ทางชีววิทยาเท่ากัน เช่น "ปัจจัยแต่ง" ของเอกซเรย์ แกมมาเรย์ และอนุภาคเบตา = 1 ดังนั้น "ขนาดเทียบเท่า" ของสิ่งทั้ง 3 นี้ จึงเท่ากับ "ขนาดดูดซึม".
ส่วน "ปัจจัยแต่ง" ของอนุภาคแอลฟา = 20, ของนิวตรอน = 5-20 ขึ้นอยู่กับพลังของแต่ละนิวตรอน "ขนาดเทียบเท่า" ของสิ่งทั้ง 2 นี้จึงสูงกว่า "ขนาดดูดซึม" หลายเท่าตัว.
ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต
ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต จึงขึ้นกับ
1. การแผ่รังสี คือ ชนิด(type), มวล (mass), ประจุไฟฟ้า (electrical charge) และพลังงาน (energy) ของการแผ่รังสีนั้นๆ.
2. ปัจจัยอื่น ที่สำคัญคือ ระยะห่าง(dis-tance), เวลา(time) ที่ได้รับ, และกะบัง(shield) "ขนาดดูดซึม" จะลดลงโดยแปรตาม 1/(ระยะทาง)2 กะบังตะกั่ว/คอนกรีต จะช่วยลดหรือป้องกันอันตรายจากการแผ่รังสีได้ เป็นต้น.
กัมมันตภาพรังสี ของสารจะลดลงตามเวลา "ครึ่งอายุ" (half-life) ของไอโซโทป คือระยะเวลาที่ไอโซโทปนั้น จะเสียครึ่งหนึ่งของกัมมันตภาพรังสีของมันไป และในกรณีส่วนใหญ่ มันจะหมดสภาพไปด้วยไอโซโทปบางชนิดมีครึ่งอายุเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน บางชนิดเป็น 10 หรือ 100 ปีได้.
การแผ่รังสีไออ็อน (ionizing radiation) จะทำปฏิกิริยากับเซลล์ที่มีชีวิต ทำให้เกิด free hy- droxyl radicals จากน้ำ หรือไป ionize DNA (deoxyribonucleic acid) โดยตรง เซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว (เช่น ไขกระดูก กระเพาะลำไส้) จะถูกกระทบมาก ทำให้เกิด
1. อาการพิษรังสีเฉียบพลัน (acute radiation syndrome, ARS) ซึ่งมักเกิดจากการได้รับรังสีแกมมาทั้งร่างกาย ทำให้เกิดอาการเป็น 4 ช่วง
1.1 ช่วงอาการนำ (prodromal phase) เกิดเร็วมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณรังสีที่ได้รับ และจะคงอยู่ไม่เกิน 2 วัน ทำให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อุจจาระร่วง อ่อนเพลีย ไข้ หายใจลำบาก และกระสับกระส่าย ให้รักษาตามอาการ.
1.2 ช่วงไม่มีอาการ (latent phase) อาจนานถึง 3 สัปดาห์ ถ้าได้รับรังสีน้อย แต่จะสั้นถ้าได้รับรังสีมาก.
1.3 ช่วงอาการมาก (illness phase) จากการติดเชื้อเพราะเม็ดเลือดขาวต่ำ เลือดออกเพราะเกล็ดเลือดต่ำ อุจจาระร่วง เกลือแร่ผิดปกติ ช็อก สมอง บวม เป็นตัน.
1.4 ช่วงตายหรือฟื้น (death or recovery phase) มักจะเกิดขึ้นภายในเวลาเป็นสัปดาห์ หรือเดือน (ดูตารางที่ 13 ประกอบ).
สิ่งแสดงความรุนแรงของ ARS เช่น
(1) ความเร็วของอาการ หลังได้รับรังสี ถ้ามีอาการเกิดขึ้นเร็วเท่าใด การพยากรณ์โรคจะเลวลงเท่านั้น.
(2) จำนวนลิมโฟซัยท์ (absolute lymphocyte count, ALC) ถ้า ALC ลดลง > 50% ใน 24 ชั่วโมงหลังได้รับรังสี แสดงว่าอาการมาก แต่ถ้า 48 ชั่วโมงหลังได้รับรังสีแล้ว ALC > 1200 ผู้ป่วยมักไม่ตาย ส่วน ALC ระหว่าง 300-1200 ควรรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ถ้า ALC < 300 การพยากรณ์โรคไม่ดี (การพยากรณ์โรคโดยใช้ ALC จะไม่แน่นอน ถ้าผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุอื่นด้วย เช่น แผลไฟไหม้ แผลจากสะเก็ดระเบิด เป็นต้น).
2. อาการทางผิวหนังจากรังสี (cutaneous radiation syndrome, CRS) ซึ่งเกิดจากการได้รับรังสีเบตา และ/หรือแอลฟา ต่อผิวหนังส่วนหนึ่ง ทำให้เกิดลักษณะคล้ายถูกไฟไหม้/น้ำร้อนลวก โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง เช่นกัน
2.1 ช่วงอาการนำ (prodromal phase) หลังได้รับรังสีเป็นชั่วโมง ผิวหนังส่วนนั้นจะแดงหรือคัน อยู่ช่วงหนึ่ง.
2.2 ช่วงไม่มีอาการ (latent phase) ผิวหนังส่วนนั้นมีลักษณะปกติ และไม่มีอาการอยู่เป็นนาที หรือเป็นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับ "ขนาดรังสี" ที่ได้รับ.
2.3 ช่วงอาการมาก (illness phase) ผิวเป็นตุ่มพอง และ/หรือหลุดลอกแบบแห้ง (dry desquamation) หรือแบบเปียก (wet desquamation) จากการแตกของตุ่มพอง (blisters & bullae) การหลุดลอกมักเกิดภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือ 2-4 สัปดาห์หลังได้รับรังสี ส่วนขน (ผม) ร่วงมักเกิด 2-3 สัปดาห์หลังได้รับรังสี ต่อมาผิวหนังจะตายเพราะขาดเลือด กระดูกที่ชิด (ติด) ผิวส่วนนั้นอาจตายด้วยหลังได้รับรังสีแล้วเป็นเวลาเป็นวันหรือเป็นเดือน.
2.4 ช่วงตายหรือฟื้น (death or recovery phase) หลังพ้นช่วงอาการมาก ผิวหนังอาจตายดังกล่าวไว้ข้างต้น หรืออาจหายเหลือเป็นแผลเป็นอยู่ แต่หลังจากนั้นเป็นเดือนหรือเป็นปี หลอดเลือดที่เลี้ยง ผิวหนังส่วนนั้นอาจตีบตัน ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นตาย หรือเกิดเป็นแผลเรื้อรังได้.
3. พิษรังสีระยะยาว เช่น มะเร็งในระบบต่างๆ (เม็ดเลือดขาว ผิวหนัง กระดูก ปอด ไทรอยด์ เต้านม เป็นต้น) ความพิการแต่กำเนิด
สาเหตุที่ทำให้ได้รับกัมมันตภาพรังสี ที่สำคัญ คือ
1. ความประมาทเลินเล่อ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ที่ประเทศบราซิล เมื่อ พ.ศ. 2530 คนเก็บขยะกลุ่มหนึ่งพบกล่องโลหะหนาทิ้งไว้ในกองขยะ จึงนำมาผ่าเปิดออก ทำให้แคปซูลที่บรรจุ cesium-137 เพียง 20 กรัมแตกและแผ่รังสีถูกคนเหล่านั้น โดยไม่รู้ตัวว่าได้รับกัมมันตภาพรังสี ในเวลาต่อมาไม่นาน คน 13 คนก็ล้มป่วยและไปพบแพทย์ ต่อมา 4 คนเสียชีวิต กว่าแพทย์จะรู้ว่าอาการป่วยเกิดจากการได้รับกัมมันตภาพรังสี คนอีก 249 คนก็มีอาการป่วย และคนอีกหลายพันคนก็แห่กันไปห้องฉุนเฉิน เพราะกลัวว่าตนจะได้รับกัมมันตภาพรังสีด้วย (ในการทำความสะอาดพื้นที่ทั้งหมดที่แปดเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในครั้งนั้น ต้องใช้เงินหลายล้านดอลลาร์ และต้องนำสิ่งของ (เสื้อผ้า เครื่องใช้ ดิน สิ่งของต่างๆ ที่เปื้อน) ประมาณ 6000 ตัน บรรจุใส่ถังเหล็กกล้า แล้วผนึกปิดแน่นหนา นำไปฝังที่รกร้างห่างไกล).
ในประเทศไทย ก็เคยมีคนเก็บของเก่าขาย ไปนำเอากล่องโลหะที่บรรจุ cobalt-60 ไปแยกชิ้นส่วน เพื่อนำโลหะไปขาย ทำให้กัมมันตภาพรังสีกระจายไปถูกเจ้าของร้านรับซื้อของเก่าและลูกจ้าง 2 คนเสียชีวิต และมีผู้ป่วยกว่า 40 คนในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 โดยมีประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นไปรับการตรวจร่างกายเกือบ 1000 คนหลังได้ทราบข่าว.
สารกัมมันตภาพรังสีทั้ง 2 ตัวข้างต้น ได้หมดอายุการใช้งานในด้านการแพทย์และการอุตสาหกรรมแล้ว จึงถูกเก็บใส่กล่องโลหะที่ผนึกปิดแน่นหนา เพื่อนำไปฝังกลบเพื่อให้หมดสภาพไปตามธรรมชาติ แต่ความประมาทเลินเล่อ และการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้กล่องโลหะนั้นถูกนำไปผ่าออก จึงเกิดอันตรายขึ้น เพราะยังมีกัมมันตภาพรังสีเหลืออยู่.
2. อุบัติเหตุ ในปัจจุบัน เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในการทำไฟฟ้า อุตสาหกรรม การแพทย์ การเกษตร และการวิจัย โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรืออุบัติภัยจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือจากความผิดพลาดของมนุษย์หรือเครื่องจักรกล จนทำให้เตาระเบิด หรือรั่ว ทำให้กัมมันตภาพรังสีแพร่กระจายออกมาได้.
อุบัติเหตุเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุด เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2529 ที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล (Chernobyl) ซึ่งเดิมอยู่ในสหภาพโซเวียต แต่ปัจจุบันอยู่ในประเทศยูเครน ระหว่างที่ทำการตรวจสอบเตาปฏิกรณ์ฯ เจ้าหน้าที่บังเอิญเพิ่มพลังงานขึ้นเกินพิกัดถึง 100 เท่า ทำให้เกิดการหลอมละลายของเตาส่วนหนึ่ง ตามมาด้วยการระเบิดและเพลิงไหม้ ทำ ให้มีผู้เสียชีวิต 31 คน และมีคนบาดเจ็บและเจ็บป่วย เฉียบพลันและเรื้อรังนับไม่ถ้วน และกัมมันตภาพรังสี แผ่ข้ามไปสู่หลายประเทศใกล้เคียง.
3. สงครามและการก่อการร้าย เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณู ลูกแรกทำลายเมืองฮิโรชิมา (Hiroshima) ประเทศญี่ปุ่น ระเบิดมีอานุภาพประมาณ 15 KT (kilotons) ของระเบิด TNT (trinitrotoluene) ทำให้ 1 ใน 3 ของประชากร 300,000 คนเสียชีวิตภายใน 4 เดือน และที่เหลือบาดเจ็บและล้มป่วยจากแรงระเบิด ไฟลวก อันตรายของกัมมันตภาพรังสี และปัญหาทางจิตใจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว.
พลังทำลายจากระเบิดปรมาณู (ระเบิดนิวเคลียร์) ประมาณ 50% เกิดจากแรงระเบิด (blast effects), 35% จากความร้อน (thermal radiation), 4% จากรังสีไออ็อนในนาทีแรก (initial ionizing radiation), 10% จากกัมมันตภาพรังสีที่กระจายออก (residual nuclear fallout), 1% จากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic pulse).
จะรู้หรือสงสัยว่าการระเบิดที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากระเบิดปรมาณู ถ้าพื้นที่ที่ถูกทำลายอย่างสมบูรณ์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง > 2 กิโลเมตร ผู้ที่อยู่ไกลจากจุดระเบิด (ground zero) หลายกิโลเมตรได้รับผลกระทบจากลมระเบิด (blast winds) การเห็นควันระเบิดพวยพุ่งขึ้นในรูปลักษณะของดอกเห็ดยักษ์ เป็นต้น.
อัตราตายประมาณ 50% ในพื้นที่รอบจุดระเบิดปรมาณูขนาด 10 KT เกิดจากอันตรายดังนี้ :
ในพื้นที่ 590 เมตรรอบจุดระเบิด ตายจากแรงระเบิด (blast effects)
ในพื้นที่ 1800 เมตรรอบจุดระเบิด ตายจากไฟลวก (thermal burns)
ในพื้นที่ 790 เมตรรอบจุดระเบิด ตายจากรังสีไออ็อน 4 Gy ในนาทีแรก
ในพื้นที่ 9600 เมตรรอบจุดระเบิด ตายจากรังสีไออ็อน 4 Gy ใน 4 ชั่วโมง
(ผู้ที่ได้รับอันตรายหลายอย่าง อัตราตายยิ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราตายของอันตรายแต่ละอย่างรวมกัน)
การส่งหน่วยกู้ภัย/กู้ชีพ เข้าในพื้นที่ดังกล่าว จึงต้องมีเครื่องป้องกันตน และมีเครื่องวัดรังสีติดตัว (dosimeter) ซึ่งถ้าได้รับรังสีเกิน 1 Sv (sievert) หรือ 100 rem (radiation equivalent, man) ต่อชั่วโมง ต้องรีบออกจากพื้นที่อันตรายนั้น แต่ในกรณีที่ต้องทำการกู้ชีพ อาจยอมให้ถึง 5 Sv ต่อชั่วโมงได้.
กัมมันตภาพรังสีที่กระจายออก (nuclear fallout) จะลดลงเหลือ 1 ใน 10 ของชั่วโมงแรกทุกๆ 7 เท่าของชั่วโมงถัดไป เช่น ถ้ากัมมันตภาพรังสีที่กระจายออกมีค่า = 1 ในชั่วโมงแรกหลังระเบิด, 7 ชั่วโมงต่อมา จะเหลือเพียง 0.1, และเมื่อ 7 เท่าของ 7 หรือ 49 ชั่วโมงต่อไป จะเหลือ 0.1 ด 0.1 = 0.01, และเมื่อ 7 ด 7 ด 7 หรือ 343 ชั่วโมง (ประมาณ 14 วัน) จะเหลือ 0.1 ด 0.1 ด 0.1 = 0.001 เป็นต้น ดังนั้นจึงควรหลบอยู่ในที่หลบภัยอย่างน้อย 14 วัน (กฎนี้เรียกว่า "กฎ 7/10" หรือ 7/10 rule).
ส่วนในการก่อการร้าย น่าจะออกมาในรูปแบบที่ทำให้เกิดความตื่นตกใจแก่ประชาชนหมู่มาก โดยทำเลียนแบบเครื่องปล่อยรังสี (radiation emission device, RED) หรือระเบิดรังสี (radiation dispersion device, RDD หรือ "dirty bomb") ที่เอาสารกัมมันตภาพรังสีใส่ปนไว้ในระเบิดทั่วไป เป็นต้น ซึ่งอันตรายจากกัมมันตภาพรังสีจะมีน้อยมาก ยกเว้นแต่ในกรณีที่สารรังสีนั้นถูกฝังเข้าในร่างกายจากแรงระเบิด.
อย่างไรก็ตาม การก่อการร้ายโดยการระเบิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หรือการทำระเบิดปรมาณูขนาดเล็ก ก็อาจจะเป็นไปได้ในอนาคต เมื่อสาร Uranium-235 และสาร Plutonium-239 มีความแพร่หลายในตลาดมืดมากขึ้น.
ก่อนเกิดเหตุ : โรงพยาบาลควรวางแผนเผชิญภัยพิบัติจากกัมมันตภาพรังสี คล้ายกับภัยพิบัติจากสารเคมี แต่มักจะอันตรายน้อยกว่าสารเคมี เพราะผู้ป่วยที่ได้รับรังสีแอลฟา เบตา และแกมมา จากภายนอกร่างกาย จะไม่นำพารังสีเหล่านั้นมาเปื้อน หรือส่งผลกระทบต่อแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ ที่เข้าไปช่วยดูแลรักษาผู้ป่วย.
แต่ผู้ป่วยที่ได้รับรังสีนิวตรอนจำนวนมาก หรือ มีสารรังสีแอลฟาหรือเบตาฝังอยู่ในร่างกาย เช่น ในสะเก็ดระเบิด อาจส่งผลกระทบต่อแพทย์ที่ไปคีบสะเก็ดนั้นออกจากแผลได้ เป็นต้น.
ดังนั้นในกรณีที่สงสัย ควรตามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเครื่องวัดกัมมันตภาพรังสี (Geiger counter) ให้นำเครื่องมาตรวจวัดระดับรังสีในตัวผู้ป่วยหรือวัตถุที่น่าสงสัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือในพื้นที่เสี่ยง เช่น มีโรงงานนิวเคลียร์ หรือหน่วยวิจัยนิวเคลียร์อยู่ใกล้โรงพยาบาล อาจจะมีเครื่อง (Geiger counter ไว้ในห้องฉุนเฉินของโรงพยาบาลด้วย.
ขณะเกิดเหตุ : ควรแยกผู้ป่วยเป็น 4 ประเภท
1. ได้รับการแผ่รังสี (irradiation) โดยไม่ได้สัมผัส ผู้ป่วยประเภทนี้จะไม่มีอันตรายต่อผู้อื่น.
2. เปื้อนสารรังสี (external contamination) ผู้ป่วยประเภทนี้ต้องได้รับการชะล้างร่างกายก่อนนำเข้าโรงพยาบาล เช่นเดียวกับการล้างพิษในภัยพิบัติจากสารเคมี (ดูภัยพิบัติสารเคมี ในคลินิกฉบับเดือนธันวาคม 2550).
ควรระวังฝุ่นกัมมันตภาพรังสีตามเสื้อผ้า จึงควรถอดด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้น อาจหายใจเอาฝุ่นเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย หรือทำให้ฝุ่นเหล่านี้ไปปนเปื้อนอยู่ในน้ำ อาหาร และยาที่จะบริโภคเข้าไปได้ ก่อนถอดเสื้อผ้าจึงควรใส่หน้ากาก ใส่ถุงมือ และห้ามการบริโภคต่างๆ ในบริเวณนั้น สิ่งเปรอะเปื้อนต่างๆ ควรใส่ถุงเก็บแยกต่างหาก.
สิ่งของและพื้นที่ต่างๆ ในห้องฉุนเฉิน ควรแยกส่วนที่อาจเปรอะเปื้อน และส่วนที่สะอาดออกจากกัน วัตถุ (สะเก็ดระเบิด ฯลฯ) ในบาดแผล ต้องใช้คีมยาวคีบออก ห้ามใช้มือหยิบออก เพราะอาจเกิดอันตรายได้ และถ้าเอาออกได้ยาก อย่าพยายามเอาออกในเบื้องต้น ให้ช่วยกู้ชีพและให้การรักษาอื่นๆ ที่สำคัญก่อน.
3. ได้รับสารรังสีเข้าในร่างกาย (internal contamination) โดยการกินหรือการหายใจเข้าไป หรือสะเก็ดสารรังสีฝังอยู่ในร่างกาย การกิน จะทำให้สารรังสีทำอันตรายต่อทางเดินอาหารในระยะแรก การหายใจเข้าไปจะทำอันตรายต่อปอด และทางหายใจในระยะแรก.
ส่วนสะเก็ดสารรังสีที่ฝังอยู่ลึกในร่างกายอาจจะต้องปล่อยไว้ ถ้าการผ่าตัดเอาออกทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยมากกว่า. การผ่าตัดในผู้ป่วยที่ได้รับรังสีมาก ควรทำใน 48 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นควรชะลอการผ่าตัดไปหลัง 3 เดือนแล้ว มิฉะนั้นจะเกิดภาวะแทรกซ้อนและอัตราตายสูง.
การรักษาที่สำคัญ คือ การกู้ชีพและการรักษาตามอาการ ถ้ารู้ชนิดของสารรังสีและวิธีลดสารรังสี ก็ควรลดสารรังสีลงด้วย (ดูตารางที่ 14).
4. ซึมซ่านทั่วร่างกาย (incorporation) มักเกิดจากการกินหรือหายใจเอาสารรังสีเข้าไป แล้วต่อมาสารรังสีนั้นซึมซ่านจากทางเดินอาหาร หรือทางเดินหายใจไปสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะที่มันชอบ เช่น ไอโอดีน-125 และไอโอดีน-131 จะไปสู่ต่อมไทรอยด์ เป็นต้น (ดูตารางที่ 14).
ขณะเกิดเหตุ หน่วยกู้ภัย/กู้ชีพที่จะเข้าสู่จุดเกิดเหตุ ควรสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อน และเตรียมตัวและเครื่องป้องกันตัว (personal protective equipment, PPE) พร้อมเครื่องวัดระดับรังสี (Geiger counter) และเครื่องวัดรังสีประจำตัว (dosimeter) ไปด้วย พยายามอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุให้มากที่สุด และออกจากบริเวณนั้นถ้าเครื่องวัดรังสีประจำตัวได้เตือนขึ้น.
โดยทั่วไป บุคลากรสาธารณสุขที่ใส่เสื้อฝน หมวก หน้ากาก (mask) ถุงมือยาง 2 ชั้น และถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า แล้วอยู่ในที่เปื้อนตามเวลาที่กำหนด จะได้รับกัมมันตภาพรังสีน้อย และไม่เกิดผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากรังสี (ไม่จำเป็นต้องใช้ ผ้าตะกั่ว หรือถุงมือตะกั่ว).
สารกัมมันตภาพรังสีที่เปื้อนตามตัว สามารถกำจัดออกได้ง่ายด้วยการถอดเสื้อผ้าอย่างระมัดระวัง (ไม่ให้ฝุ่นรังสีกระจาย จนหายใจเอาเข้าไป หรือไปเปื้อนสิ่งของรวมทั้งอาหาร และน้ำดื่ม) แล้วล้างร่างกายด้วยน้ำ และสบู่ หลังจากนั้นใช้เครื่องวัดระดับรังสีให้แน่ใจว่าปลอดภัย ก่อนให้เข้าไปในห้องฉุกเฉิน.
พื้นที่ที่ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการชะล้างร่างกาย เดินเพ่นพ่านเข้าไปให้ถือว่าเป็น "โซนร้อน" (hot zone) และพื้นที่ใกล้เคียงกันให้ถือว่าเป็น "โซนอุ่น" (warm zone) จนกว่าจะได้กำจัดสารรังสีจากพื้นที่เหล่านั้น.
ให้การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับรังสีเหมือนกับผู้ที่ไม่ได้รับรังสี โดยตรวจและแก้ปัญหาตามขั้นตอน A B C D E ตรวจหาอาการนำ (prodromal symptoms) ตรวจเม็ดเลือดโดยเฉพาะจำนวน lymphocytes ทุก 4-6 ชั่วโมง เป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง ทำ nasal swab เพื่อวัดปริมาณรังสี (ปริมาณรังสีที่ตกค้างในจมูก จะประมาณ 5% ของปริมาณรังสีที่ปอดได้รับ) เก็บอุจจาระ 48 ชั่วโมง เพื่อวัดปริมาณรังสี เป็นต้น.
ในกรณีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด หรือระเบิดปรมาณูระเบิด โรงพยาบาลที่อยู่ในรัศมีของการทำลาย ล้างจากแรงระเบิด และกัมมันตภาพรังสี ต้องรีบโยกย้ายผู้ป่วย และบุคลากรไปสู่ที่ปลอดภัยก่อน.
ส่วนโรงพยาบาลที่อยู่นอกเขตอันตราย จะต้องเตรียมรับมือผู้ป่วยจำนวนมาก จึงควรเร่งเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วยที่ยัง "สะอาด" อยู่ ไปอยู่ในที่ปลอดภัยกว่า เป็นต้น.
หลังเกิดเหตุ
ควรดำเนินการตามแผนฟื้นฟูโรงพยาบาล และชุมชนหลังภาวะภัยพิบัติ รวมทั้งการติดตามดูแลสุขภาพของบุคลากรในระยะยาวด้วย.
สันต์ หัตถีรัตน์ พ.บ.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล
- Login to post comments
- อ่าน 9,258 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้