"โครงการนี้จึงไม่ใช่การสังคมสงเคราะห์ธรรมดาๆ แต่เป็นการปรับระบบสาธารณสุขไทยที่เกี่ยวกับเรื่องการรักษาและล้างจำนวนผู้ป่วยสะสมกว่าแสนรายที่ทุกข์ทรมานจากโรคตาต้อกระจกให้หมดไป"
จำนวน 100,000 ราย คือตัวเลขผู้ป่วยตาต้อกระจกในประเทศไทย ยังไม่นับรวมกับตัวเลขผู้ป่วยตาต้อกระจกรายใหม่ที่มีเกิดขึ้นในทุกๆปีอีกจำนวน 60,000 ราย นั่นเท่ากับว่า หากระบบสาธารณสุขของไทยยังหามาตรการดีๆที่จะมาจัดการกับเรื่องการรักษาผู้ป่วยตาต้อกระจกเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ ตัวเลขผู้ป่วยจะมีมากขึ้น เพราะมีรายใหม่เกิดขึ้นทุกปี ขณะที่รายที่สะสมก็ยังรออยู่เป็นแสนๆราย
นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการโรคเฉพาะ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อธิบายว่า โรคตาต้อกระจกเหมือนกับผมหงอก แต่ร้ายแรงยิ่งกว่าผมหงอกหลายร้อยเท่าตัว แต่ที่เปรียบว่าเหมือนกับผมหงอก เพราะโรคตาต้อกระจกคือโรคแห่งความเสื่อม จึงพบเห็นได้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีถึง 60 % ต่ำกว่า 50 ปี มีพบน้อยมาก ขณะที่ในอายุ 40 ปีแทบจะไม่พบเลย สำหรับเด็กนั้นก็พบน้อยมากเช่นกันคือประมาณ 1-2 % เท่านั้น สาเหตุคือจอประสาทตาเสื่อมมาแต่กำเนิด
"หมอจึงเปรียบเทียบโรคตาต้อกระจกว่าเหมือนกับผมหงอก เพราะเป็นโรคแห่งความเสื่อม เมื่ออายุมากขึ้นจอประสาทตาเสื่อม ผู้สูงอายุทุกคนจึงมีความเสี่ยงเป็นโรคตาต้อกระจกกันทุกคน"
โรคตาต้อกระจกเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมสภาพตามวัย ทำให้เลนส์ตาที่เคยมีสีใส กลับกลายขุ่นมัวลง อาการของโรคต้อกระจก จะมีสายตาค่อยๆ มัวลงเหมือนมีฝ้า หรือหมอกบัง เห็นภาพซ้อน บางรายอาจมีสายตาสั้นขึ้นเรื่อยๆ ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยๆ จนกระทั่งแว่นตาไม่สามารถช่วยได้ หรือเห็นสีต่างๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม มัวมากตอนกลางวันหรือที่มีแสงจ้า เห็นชัดกว่าตอนกลางคืน ในระยะเริ่มแรกที่ตายังมัวไม่มากนัก ก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่หากโรคเป็นมากขึ้น ตาที่มัวก็จะขุ่นและมัวมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา จะเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นตาบอด
ปี 2550 เป็นปีที่มีการระดมจักษุแพทย์ทั่วประเทศไทยเพื่อผ่าตัดตาต้อกระจกโดยตั้งเป้าไว้ที่ 80,000 ราย ในชื่อโครงการผ่าตัดตาต้อกระจก 80,000 ราย เฉลิมพระเกียรติ 80/84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข สปสช. ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิพอ.สว. มูลนิธิโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มูลนิธิโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์กร มหาชน) และจักษุแพทย์ทั่วประเทศ จัดโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 80,000 คนทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ โดยให้บริการฟรี ใช้งบประมาณกว่า 480 ล้านบาท
จนถึงขณะนี้ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยตาต้อกระจกที่ได้รับการผ่าตัดทะลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยได้ผ่าตัดไปแล้วกว่า 90,000 ราย นอกเหนือจากเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และช่วยให้ผู้สูงอายุของไทยที่ทุกข์ทรมานจากโรคตาต้อกระจกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว โครงการนี้มีนัยยะที่มากกว่านั้น
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. ) ระบุว่า ในปี 2550 นี้ผ่าตัดผู้ป่วยไปแล้ว 90,000 ราย เมื่อนำไปลบกับผู้ป่วยสะสม 100,000 ราย และผู้ป่วย รายใหม่ 60,000 รายที่เกิดขึ้นในปีนี้ (100,000+60,000-90,000 = 70,000) ก็ยังเหลือผู้ป่วยสะสมอีก 70,000 ราย ที่จะต้องเร่งทำต่อไป ดังนั้นโครงการต่อเนื่องในปี 2551 จึงต้องรณรงค์ครั้งใหญ่อีกครั้งเพื่อล้างจำนวนผู้ป่วยสะสมให้หมด และให้ปีต่อๆไปสามารถทำการผ่าตัดผู้ป่วยตาต้อกระจกได้ตามปกติ
เมื่อผ่านไป 1 ปี ด้วยวิธีการแบบนี้ที่เป็นแบบตั้งรับและเชิงรุกกลายๆ เราผ่าตัดผู้ป่วยได้ 90,000 ราย ดังนั้นในปีต่อไปจำนวนผู้ป่วยที่เหลือก็คือ ผู้ป่วยตกค้าง หลงเหลืออยู่ตามพื้นที่ห่างไกล มาหาหมอยากลำบาก ไม่รู้ว่ามีโครงการนี้ สิ่งที่เราต้องทำคือ กิจกรรมเชิงรุก คือ รุกเข้าไปในพื้นที่ ใช้เครือข่ายที่มีตรวจคัดกรอง โดยโรงพยาบาลซึ่งมีทีมอยู่แล้ว อาจจะเพิ่มทีมค้นหาเข้าไป เพื่อหาผู้ป่วยตาต้อกระจกมาผ่าตัด ด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยสะสมก็จะไม่มี โดยในปี 2551 จะเป็นปีสุดท้ายที่ประเทศไทยจะระดมทีมครั้งใหญ่ผ่าตัดผู้ป่วยตาต้อกระจก ซึ่งหากทำสำเร็จไทยจะเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย ที่ทำเรื่องนี้ได้เร็วภายใน 2-3 ปี ไม่ให้คนไข้ต้องรอจนตาบอด
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ 73 แห่ง บางโรงพยาบาลที่ไม่มีจักษุแพทย์ก็ใช้วิธียืมจักษุแพทย์มาและนัดวัดผ่าตัดพร้อมๆกัน เช่นที่โรงพยาบาล จอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งไม่มีจักษุแพทย์แต่ก็เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการก็ใช้วิธียืมจักษุแพทย์จากโรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่มาช่วยผ่าตัด โดยผ่าตัดผู้ป่วย 112 คน ในเวลา 3 วัน ปัจจุบันโรงพยาบาลจอมทองผ่าตัดผู้ป่วยตาต้อกระจก 401 ราย จำนวนนี้เป็นสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 381 ราย
ขณะที่ภาพรวมของโครงการในปี 2550 นั้นผ่าตัดไปแล้วกว่า 90,000 ราย โครงการนี้จึงไม่ใช่การสังคมสงเคราะห์ธรรมดาๆ แต่เป็นการปรับระบบสาธารณสุขไทยที่เกี่ยวกับเรื่องการรักษาและล้างจำนวนผู้ป่วยสะสมกว่าแสนรายที่ทุกข์ทรมานจากโรคตาต้อกระจกให้หมดไป ด้วยการระดมทีมจักษุแพทย์เพื่อผ่าตัด เพื่อต่อไปคนไทยที่ป่วยจะได้รับการผ่าตัดโดยไม่ต้องรอคิวนาน และไม่ต้องทนทุกข์ทรมานข้ามปีกับโรคนี้อีกต่อไป
- อ่าน 5,600 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้