ครั้งแรกที่ผมขึ้นปฏิบัติงานในตึกอัษฎางค์ ภาพที่ผมได้พบคือผู้ป่วยสูงอายุนอนไม่ได้สติ บริเวณคอถูกเจาะรูเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ พอดีผู้ป่วยเหนื่อยหายใจมีเสียงเสมหะ รุ่นพี่จึงมาสาธิตการใช้สายสอดเข้าไปในหลอดลมเพื่อดูดเสมหะ. ขณะที่ดูดเสมหะใบหน้าของผู้ป่วยก็เปลี่ยนจากสงบนิ่งเป็นสีหน้าของความทรมาน. ผมเปิดดูแฟ้มประวัติพบว่าผู้ป่วยอยู่ในสภาพนี้มาเป็นเดือนแล้ว จึงเกิดคำถามขึ้นในใจผมว่า "การแพทย์เป็นศิลป์แห่งการบำบัดทุกข์หรือเป็นแค่ศาสตร์แห่งการยืดชีวิต?".
ค.ศ. 1973 ที่ Netherlands มีแพทย์คนหนึ่งทนเห็นมารดาทุกข์ทรมานจากโรคร้ายแรงระยะสุดท้ายไม่ไหว จึงฉีดมอร์ฟีนขนาดสูงเพื่อให้มารดาจากไปอย่างสงบ แต่เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับจึงถูกจับกุม หลังจำคุก 1 สัปดาห์ ศาลก็พิพากษาว่ามีความผิดจริง แต่เจตนาดีจึงให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี.
ขออธิบายเรื่องนี้สักหน่อยนะครับ การที่แพทย์ทำให้ผู้ป่วยจากโลกไปอย่างสงบมีศัพท์ทางเทคนิคว่า Euthanasia ซึ่งแบ่งเป็นสองแบบ แบบแรกคือ ผู้ป่วยที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการรักษาของแพทย์ ถ้า แพทย์หยุดการรักษานั้นผู้ป่วยก็จะเสียชีวิต แบบนี้เรียกว่า Passive Euthanasia. แบบที่สองคือ ผู้ป่วยที่ทนทรมานจากโรคที่เป็นอยู่ไม่ไหวจึงมาขอให้แพทย์ทำให้ตัวเองตาย แบบนี้เรียกว่า Active Euthanasia. หลังเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1973 แพทย์ได้ประชุมกันเพื่อหาแนวทางในเรื่องนี้ แม้จะถูกต่อต้านไม่น้อยแต่ ค.ศ. 1995 กฎหมาย Euthanasia ก็ผ่านรัฐสภาของ Netherlands เป็นประเทศแรก ของโลก.
มาดูบ้านเรากันบ้าง แม้จะยังไม่มีกฎหมายรองรับแต่ Passive Euthanasia ก็มีในไทยมานานแล้ว. ตัวอย่างคือ ผู้ป่วยหนักในไอซียู ถ้าญาติเห็นว่าไม่มีทางรอดแล้วมักจะขอนำผู้ป่วยกลับไปนอนตายที่บ้าน (ตามความเชื่อที่ว่าห้ามนำศพเข้าบ้าน) ศีลข้อแรกบอกไว้ว่า "ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต" ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่ากฎหมาย Euthanasia คงเป็นไปได้ยากในเมืองพุทธอย่างบ้านเรา.
ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.
โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี
E-mail : [email protected]
- อ่าน 2,510 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้