อาการนอนกรน (snoring) เป็นปัญหาและความผิดปกติของการนอนหลับที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติ. อาการนอนกรนเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea : OSA). ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นในทางเดินหายใจมากจนกระทั่งทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะนอนหลับ. อาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับ (sleep-disordered breathing) ที่พบได้บ่อย.
อาการนอนกรน มี 2 ประเภท คือ
1. อาการนอนกรนธรรมดา (primary snoring) (ไม่อันตรายเพราะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) ถึงแม้ไม่มีผลกระทบมากนักต่อสุขภาพของผู้ป่วยเอง แต่จะมีผลกระทบต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้อื่น โดยเฉพาะกับคู่นอน, บุคคลอื่นๆ ในครอบครัว, เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงาน เช่น ทำให้ผู้อื่นนอนหลับยาก หรืออาจมากจนกระทั่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดังกล่าวได้ เช่น อาจทำให้เกิดการหย่าร้างของคู่สามีภรรยา.
2. อาการนอนกรนอันตราย (มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) นอกจากจะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างแล้ว ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพ คือเมื่อเกิดการหยุดหายใจขณะหลับ จะทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่สนิท มีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ ส่งผลให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่. ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะมีแนวโน้มที่จะเรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน (excessive daytime sleepiness) และมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุในท้องถนน และในโรงงานอุตสาหกรรมได้มากถึง 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ1 เนื่องจากการหลับในขณะขับขี่รถ และขณะทำงานกับเครื่องจักรกล. นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆหลายโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคความดันโลหิตในปอดสูง, โรคของหลอดเลือดในสมอง2 ตลอดจนการมีสมรรถภาพทางเพศที่เสื่อมลง.
ผู้ที่มีอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับจำเป็นที่ต้องให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและให้ การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม.
อุบัติการณ์
อุบัติการณ์ของอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับในคนไทย ยังไม่ทราบแน่ชัดสำหรับต่างประเทศ ในคนอายุ 30-35 ปี พบว่าประมาณร้อยละ 20 ของเพศชาย และร้อยละ 5 ของเพศหญิงจะมีอาการนอนกรน และเมื่ออายุมากขึ้นถึง 60 ปี ประมาณร้อยละ 60 ของเพศชาย และร้อยละ 40 ของเพศหญิงจะกรนเป็นนิสัย3 จะเห็นได้ว่าอุบัติการณ์ของอาการนอนกรนจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ส่วนภาวะหยุดหายใจขณะหลับพบได้ประมาณร้อยละ 4 ในเพศชายและร้อยละ 2 ในเพศหญิง.4 จากการศึกษาพบว่าอุบัติการณ์ของภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้ได้ เพิ่มขึ้นสูงกว่าเมื่อก่อนมาก.
สรีรวิทยาของการนอนหลับ (sleep physiology)
ก่อนที่จะเรียนรู้ถึงอาการนอนกรนและภาวะ หยุดหายใจขณะหลับซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับ ควรมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการนอนหลับที่ปกติก่อน. คนปกติ (ผู้ใหญ่) ต้องการเวลานอนในแต่ละคืนประมาณ 7-8 ชั่วโมง ขณะนอนหลับนั้นเราสามารถแบ่งระยะ (stage) ของการนอนหลับได้โดยใช้คลื่นไฟฟ้าสมอง (electroencephalograph : EEG) การเคลื่อนไหวของลูกตา (electrooculograph : EOG) และการวัดความตึงตัว (tone) ของกล้ามเนื้อที่คาง (chin eletromyograph : EMG) ดังนี้5
1. Non-rapid eye movement (NREM) sleep เป็นช่วงที่ EEG มีลักษณะของ cortical sedation หรืออาจเรียกว่า quiet stage of sleep คือเป็นช่วงที่มีอัตราการเต้นของหัวใจและอัตราหายใจช้า และความดันเลือดต่ำ ซึ่งยังแบ่งออกเป็น 4 stages ย่อยคือ
- stage 1
} เป็นช่วงของการหลับตื้น
- stage 2
- stage 3
} เป็นช่วงของการหลับลึกหรือที่เรียกว่า slow wave หรือ delta sleep
- stage 4
2. Rapid eye movement (REM) sleep เป็นช่วงที่ EEG มีลักษณะของ cortical activation โดยจะมีการเคลื่อนไหวของลูกตาอย่างรวดเร็ว (rapid eye movement) เป็นลักษณะเด่น และมี muscle atonia และ muscle twitching ซึ่งใน stage นี้มีความสัมพันธ์กับการฝัน (dreaming) มีการเปลี่ยน แปลงทางสรีรวิทยาหลายชนิดเกิดขึ้นในช่วง REM นี้ เช่นมีการหายใจน้อยลงโดยกล้ามเนื้อ intercostal ทำงานน้อยลง ซึ่งจะทำให้มีปริมาตรปอดที่น้อยลง ทำให้เกิดการขาดออกซิเจน (hypoxemia) ได้ง่าย และมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ ของอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือด. การที่ความตึงตัวของกล้ามเนื้อน้อยลง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ genioglossus จะทำให้ลิ้นตกไปด้านหลัง เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่าย ภาวะเหล่านี้ทำให้ช่วง REM มีโอกาสที่จะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ คือเกิดอาการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ง่าย.
ภาพที่ 1. กราฟแสดง stage ต่างๆ ของการนอนหลับในผู้ใหญ่อายุน้อย (young adult) ในช่วง
แรกของคืนจะเห็นว่าเกิดการหลับลึกถึง stage 3 และ 4 เกิดขึ้น 1-2 cycles แล้วตาม
ด้วย stage ที่ตื้นขึ้นเรื่อยๆ จนเกิด REM stage ส่วนใหญ่ REM stage ครั้งแรกของคืน
จะเกิดขึ้นประมาณ 60-100 นาที หลังจากที่หลับ และจะมีการสลับกันระหว่าง REM
และ NREM ตลอดทั้งคืน โดยมีช่วงห่างกันประมาณ 100 นาที ในช่วงหลังของการ
นอนหลับ ระยะเวลาของ REM stage จะยาวมากขึ้น ขณะที่ช่วงของการเกิด slow
wave จะน้อยลงเรื่อยๆ.
รูปแบบของการนอนในผู้ใหญ่อายุน้อย (young adult) (ภาพที่ 1) จะเริ่มจาก stage 1 NREM ประมาณ 2-3 นาที หลังจากนั้นจะไปยัง stage 2 ซึ่งเป็น stage ที่มีการหลับลึกขึ้น ใช้เวลาประมาณ 10-25 นาที แล้วไปยัง stage 3 และ 4 ซึ่งเป็นการหลับที่ลึกขึ้นเรื่อยๆ โดย stage 3 ใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที ส่วน stage 4 ใช้เวลาประมาณ 20-40 นาที. หลังจากนั้นก็อาจหลับตื้นขึ้นไปยัง stage 2 และ stage 1 หรือ REM โดยช่วงแรกๆของการนอน ช่วงของ REM จะสั้น และค่อยๆ ยาวขึ้นเรื่อยๆ โดยรวมจะเป็น stage ของ NREM ประมาณร้อยละ 80 และ stage ของ REM ประมาณร้อยละ 20. เด็กจะมี stage ของ REM และ stage 3 และ 4 NREM ค่อนข้างยาว เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ และจะมีรูปแบบของการนอนเหมือนผู้ใหญ่เมื่ออายุ 10 ปี ในคนอายุมาก stage 3 และ 4 NREM จะน้อยลงอย่างชัดเจน และมีการตื่นบ่อยๆ.
พยาธิสรีรวิทยาของการนอนกรน
เสียงของการกรน เกิดจากการที่อากาศเคลื่อนผ่านทางเดินหายใจที่แคบลง เช่นบริเวณที่มีเนื้อเยื่อ อ่อนที่นุ่ม หรือหย่อนเกินไป หรือบริเวณซึ่งไม่มีอวัยวะส่วนแข็งค้ำยัน ซึ่งบริเวณเหล่านี้สามารถเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่าย (collapsible airway) เช่น ส่วนของเพดานอ่อน (soft palate) ลิ้นไก่ (uvula) tonsillar pillars โคนลิ้น (base of tongue) กล้ามเนื้อและเยื่อบุของลำคอ (pharynx) (ภาพที่ 2) บริเวณ ที่แคบลงนี้ทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจบางส่วน (incomplete obstruction).
ปัจจัยทางกายวิภาคที่มีส่วนร่วมทำให้เกิดอาการกรน คือ6
1. ความตึงตัวของกล้ามเนื้อเพดานอ่อน ลิ้น ลำคอ อ่อนตัว (incompetent tone of palatal, pharyngeal, and glossal muscles) สาเหตุนี้มักทำให้เกิดอาการนอนกรนในผู้ใหญ่ โดยในขณะหลับลึก กล้ามเนื้อจะมีความตึงตัวต่ำ ไม่สามารถทำให้ทางเดินหายใจเปิดกว้างได้ขณะหายใจเข้าเหมือนขณะตื่นได้ ถ้าผู้ป่วยนั้นได้ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ รับประทานยานอนหลับ หรือยาแก้แพ้ชนิดง่วง หรือมีโรคประจำตัวที่ทำให้เกิด hypotonia ได้ เช่น hypothyroidism, cerebral palsy, muscular dystrophy, myasthenia gravis ก็จะช่วยเสริมทำให้กล้ามเนื้อมีความตึงตัวต่ำลงมากขึ้น และมีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น. อย่างไรก็ตาม ขณะตรวจร่างกายผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรน ขณะตื่นอาจไม่พบลักษณะที่บ่งบอกว่าความตึงตัวของกล้ามเนื้อต่ำ.
ภาพที่ 2. ภาพ sagittal view แสดงถึงลักษณะทางกายวิภาคของส่วนที่สามารถเกิดการอุด
กั้นทาง เดินหายใจส่วนบนได้ง่าย เนื่องจากไม่มีอวัยวะส่วนแข็งค้ำยัน.
2. ก้อน (space-occupying masses) ที่ขวางอยู่ในระบบทางเดินหายใจ เช่น ต่อมทอนซิล และต่อมอดีนอยด์ที่โต ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการนอนกรนที่สำคัญในเด็ก ผู้ป่วยที่อ้วนมากอาจเกิดจากเนื้อเยื่อผนังคอที่หนา ผู้ป่วยที่มีคางเล็ก (micrognathia) หรือคางถอยร่นมาด้านหลัง (receding chin or retrognathia) ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยที่มี craniofacial anomalies จะทำให้ลิ้นตกไปด้านหลัง อุดกั้นทางเดินหายใจได้ ผู้ป่วย Down's syndrome หรือ acromegaly จะมีลิ้นขนาดใหญ่ อุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่าย เช่นกัน นอกจากนั้นเนื้องอก หรือซิสต์ที่เกิดจากอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในระบบทางเดินหายใจ ก็อาจทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้.
3. เพดานอ่อน และลิ้นไก่ มีความยาวผิดปกติ ซึ่งจะทำให้ทางผ่านของลมหายใจหลังจมูก (nasopharyngeal aperture) แคบ. จากการตรวจร่างกายโดยเฉพาะถ้าให้ผู้ป่วยนอนราบ แล้วส่อง กล้องดู อาจเห็นรูเปิดจากจมูกไปยังคอหอยแคบ (slit-like opening).
4. การอุดกั้นของโพรงจมูก ซึ่งจะทำให้เกิดความดันที่เป็นลบเพิ่มมากขึ้นระหว่างการหายใจเข้า ทำให้ส่วน collapsible airway เข้ามาชิดกัน เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น อาจเห็นตัวอย่างได้จากบางคนไม่มีปัญหานอนกรน เมื่อเป็นหวัด คัดจมูก หรือสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ แล้วมีอาการคัดจมูก จะทำให้เกิดอาการนอนกรน. สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการคัดจมูกและเกิดอาการนอนกรนได้แก่ ความผิดปกติของผนังกั้นช่องจมูก เยื่อบุจมูกบวม เนื้องอกในจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ เป็นต้น.
ปัจจัยทางกายวิภาคเหล่านี้ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนแคบ ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มแรงในการพยายามนำลมหายใจเข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจมากขึ้น ทำให้เกิดความดันเป็นลบในทางเดินหายใจมากขึ้น ทำให้ส่วน collapsible airway ตีบแคบมากยิ่งขึ้น ยิ่งมีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น. การที่ลมผ่านทางเดินหายใจที่แคบนั้น จะทำให้เกิด turbulent flow เกิดการสั่นสะเทือนของอวัยวะที่ลมผ่าน เช่น ลิ้นไก่ เพดานอ่อน tonsillar pillars โคนลิ้น ทำให้เกิดเสียงดังออกมาเป็นเสียงกรน.
พยาธิสรีรวิทยาของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ7 (แผนภูมิที่ 1)
การเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เริ่มจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ต้องหายใจเข้ามากขึ้น เกิดความดันที่เป็นลบบริเวณทางเดินหายใจเหนือกล่องเสียง เมื่อร่วมกับปัจจัยอื่นๆ (แผนภูมิที่ 1) จะทำให้เกิดการหยุดหายใจ. ระหว่างที่หยุดหายใจ จะมีการลดลงของความดันก๊าซออกซิเจนในเลือด และมีการเพิ่มขึ้นของความดันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในเลือด ทำให้เลือดมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น (acidosis) ภาวะที่เป็นกรดนี้จะกระตุ้น chemoreceptor ให้ผู้ป่วยตื่นขึ้น มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อกลับมาดังเดิม เพื่อให้หายใจได้ปกติ แล้วก็หลับต่อเป็นวงเวียนเช่นนี้ การลดลงของระดับออกซิเจนในเลือด จะกระตุ้นให้มีการหลั่ง catecholamine ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกาย และหลอดเลือดในปอดหดตัว เกิดความดันโลหิตสูงและโรคความดันโลหิตในปอดสูง (pulmonary hypertension) ตามลำดับ ซึ่งการที่มีโรคความดันโลหิตในปอดสูงนี้จะทำให้เกิด right ventricular hypertrophy และเกิด right heart failure ตามมาได้. นอกจากนี้การขาดออกซิเจนในระยะเวลาที่นาน จะกระตุ้นให้มีการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น (erythropoiesis) เกิดภาวะเลือดขึ้น (polycythemia) ตามมาได้ และยังสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrhythmia)ได้ ซึ่งจะเพิ่มอัตราตายแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ.
การที่ต้องสะดุ้งตื่น (arousal) บ่อยๆ จะทำให้ ผู้ป่วยมีอาการง่วงในเวลากลางวันมากกว่าปกติ ทำให้สมรรถภาพต่างๆ ในการทำงานลดน้อยลง ไม่สามารถมีสมาธิในการทำงานได้ ทำให้มีปัญหาทางบุคลิกภาพ และการอยู่ร่วมในสังคมตามมา. ความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับแบบอุดกั้น (obstructive sleep-disordered breathing) นั้น มีลักษณะทางคลินิกที่แตกต่างกันไป เริ่มตั้งแต่น้อยสุดคือ ถ้ามีการอุดกั้นของทางเดินหายใจเพียงอย่างเดียว จะมีอาการนอนกรนอย่างเดียว (primary snoring) โดยยังหายใจปกติ ถ้ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น แต่ยังไม่มีการหยุดหายใจที่ชัดเจน จะเป็น upper airway resistant syndrome (UARS). ส่วนในรายที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากจนกระทั่งมีการหยุดหายใจชัดเจนจะเป็น obstructive sleep apnea syndrome (OSAS) ตัวแปรที่กำหนดรูปแบบของโรคคือ ความรุนแรงของการอุดกั้นทางเดินหายใจ.
การหยุดหายใจ (apnea) คือ ภาวะที่ไม่มีลมหายใจเข้า หรือออกบริเวณรูจมูก หรือปากเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 วินาทีในผู้ใหญ่ และ 6 วินาทีในเด็ก (ภาพที่ 3) และมักจะตามด้วยการสะดุ้งตื่น. ส่วนใหญ่ระยะเวลาของการหยุดหายใจในช่วง REM มักยาวกว่า NREM เนื่องจาก arousal threshold ใน REM สูงกว่า NREM และกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจที่ทำให้ทางเดินหายใจเปิดโล่งจะมีความตึงตัวที่ต่ำกว่าในช่วง REM.8
ภาวะหยุดหายใจ มี 3 ชนิดคือ (ภาพที่ 3)
1. Obstructive apnea คือ ภาวะหยุดหายใจในขณะที่มีการพยายามหายใจเข้า (inspiratory effort) โดยสังเกตจากการเคลื่อนไหวของทรวงอกและท้อง.
2. Central apnea คือ ภาวะหยุดหายใจโดยไม่มีการพยายามหายใจเข้า สาเหตุมักเกิดจากพยาธิสภาพในระบบประสาทส่วนกลาง.
3. Mixed apnea คือ ภาวะหยุดหายใจที่ในช่วงแรกไม่มีการพยายามหายใจเข้า (central apnea) แต่ในช่วงหลังมีการพยายามหายใจเข้า (obstructive apnea).
การหายใจน้อยลง (hypopnea) คือภาวะที่ลมหายใจลดลงอย่างน้อยร้อยละ 30 ของการหายใจปกติ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 วินาที (ภาพที่ 3) และมีการลดลงของความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด (desaturation) อย่างน้อยร้อยละ 4 ร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดการสะดุ้งตื่นตามมาได้ apnea index (AI) คือ จำนวนครั้งของการหยุดหายใจใน 1 ชั่วโมง. ผู้ใหญ่ปกติมักมี AI ไม่เกิน 5 เนื่องจากทั้ง apnea และ hypopnea สามารถทำให้เกิดการรบกวนเวลานอนหลับ (sleep disruption) ได้เหมือนกัน จึงมีการนับจำนวน apnea และ hypopnea รวมกันใน 1 ชั่วโมง เรียกว่า apnea-hypopnea index (AHI). ส่วน respiratory disturbance index (RDI) คือ AHI รวมกับ respiratory effort-related arousal (RERA). RERA เป็นภาวะที่เกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้มีการสะดุ้งตื่น เกิด sleep fragmentation ได้โดยไม่มีลักษณะของ apnea หรือ hypopnea ที่ชัดเจน แต่เมื่อทำการวัดความดันในหลอดอาหาร (esophageal pressure) จะพบว่ามีความดันที่เป็นลบในช่องอก (negative intrathoracic pressure) และมีการทำงานของกล้ามเนื้อกะบังลม หรือ intercostals เพิ่ม ขึ้น ซึ่งวัดโดย EMG (diaphragmatic or intercostal EMG activity) และมีการลดลงของความดันของลมหายใจที่ผ่านเข้าออกทางจมูก (nasal pressure flow limitation) โดยทั่วไปถือว่าถ้า AHI > 5 ในผู้ใหญ่ หรือ AHI > 1 ในเด็กถือว่าผิดปกติ. มีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มี AHI สูงกว่า 20 จะมีการเพิ่มขึ้นของอัตราตายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ.9,10
ภาพที่ 3. ลักษณะของการหยุดหายใจ (apnea) แบบต่างๆ และการหายใจน้อยลง
(hypopnea) โดยการวัดลมหายใจผ่านเข้าออกทางจมูก หรือปาก (nasal or
oral airflow) การเคลื่อนไหวของทรวงอก (chest movement) และท้อง
(abdominal movement) ในการตวรจการนอนหลับ.
Primary snoring เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการนอนกรน เสียงดัง แต่ไม่มีอาการง่วงในเวลากลางวันมากกว่าปกติ เมื่อตรวจการนอนหลับ (polysomnography: PSG) พบว่า AHI น้อยกว่า 5 ในผู้ใหญ่ หรือน้อยกว่า 1 ในเด็ก.
Upper airway resistance syndrome เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกรน และมีอาการง่วงในเวลากลางวันมากกว่าปกติ เนื่องจากมี arousal ค่อนข้างบ่อย ซึ่งทำให้เกิด sleep fragmentation ทั้งๆที่การตรวจการนอนหลับ พบว่า AHI น้อยกว่า 5 ในผู้ใหญ่ หรือน้อยกว่า 1 ในเด็ก ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์วินิจฉัยของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่จะมีการเพิ่มขึ้นของ RERA พบ UARS ในผู้หญิงได้บ่อยเท่ากับผู้ชาย พบได้ในคนไม่อ้วน และมักพบในผู้ใหญ่อายุน้อย บ่อยกว่าผู้ใหญ่อายุมาก.
Obstructive sleep apnea syndrome (OSAS) คือภาวะที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากจนมีการหยุดหายใจ หรือมีการลดลงของลมหายใจที่เข้าสู่ปอด และทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากมาย เช่น ทำให้ประสิทธิภาพในการคิด จดจำ สื่อสาร เรียน และทำงานด้อยลง มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง รวมทั้งโรคต่างๆ เช่น โรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด. ลักษณะภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กอาจแตกต่างจากผู้ใหญ่11 (ตารางที่ 1) ได้มีการแบ่งความรุนแรงของ OSAS เป็นน้อย, ปานกลาง และมาก ตามค่าของ RDI และระดับออกซิเจนในเลือดที่ต่ำที่สุด (lowest oxygen saturation : LSAT) ดังนี้
ปารยะ อาศนะเสน พ.บ.,
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยามหิดล
- อ่าน 16,968 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้