ประชากรทั่วโลกกว่าร้อยละ 47 ต้องประสบกับภาวะความเจ็บป่วยเรื้อรัง (chronic conditions) ภาวะความผิดปกติทางจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมากกว่า 1 อย่างขึ้นไป ในปี พ.ศ. 2545 และมีการคาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 ในปี พ.ศ. 2563 หากมิได้มีการจัดการเชิงระบบที่มีประสิทธิ-ภาพ ซึ่งข้อมูลโครงสร้างประชากรของประเทศไทยหรือพีรามิดประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2543 พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นแนวโน้มของประชากรที่จะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ที่มีภาวะเสื่อมทางร่างกายตามอายุจะนำไปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรังได้ง่ายอีกจำนวนมาก เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ และภาวะความเจ็บป่วยเรื้อรังมิได้จำกัดอยู่ที่โรคไม่ติดต่อที่พบเห็นโดยทั่วไปเท่านั้น โรคติดต่อบางโรค เช่น เอดส์ วัณโรค โรคหรือความผิดปกติที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และโครโมโซมที่ถ่ายทอดกันอย่างรวดเร็วจากพัฒนาการของโลกาภิวัตน์ การเดินทางติดต่อแต่งงานข้ามเชื้อชาติก็กำลังต้องการการดูแลอย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง
ในอีก 10 ปีข้างหน้า มะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ ความพิการแต่กำเนิด และความพิการจากสาเหตุต่างๆ เป็นภาวะความเจ็บป่วยเรื้อรังที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผล ต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของครัวเรือนไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตระหนักในความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังจึงส่งเสริมสนับสนุนศูนย์ส่งเสริมมิตรบำบัด ด้วยแนวคิด "มิตรภาพบำบัด" ซึ่งพัฒนาจากการทำงานของเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง ที่เป็นการรวมตัวกันระหว่างผู้ป่วย ผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์สาธารณสุข แพทย์ พยาบาลและอาสาสมัคร ด้วยจุดประสงค์หลักคือ การเสริมสร้างกำลังใจซึ่งกันและกันในหมู่ผู้ที่ทำงาน (แพทย์ พยาบาล) ญาติ และผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การต่อสู้กับการเจ็บป่วยร่วมกัน จุดแข็งของเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง คือ ทำให้สังคมได้รับรู้และตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของกาย จิต วิญญาณ ที่เข้มแข็ง กิจกรรมของตัวอย่างกลุ่มผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ในการทำให้สังคมเปลี่ยนการรับรู้ว่าเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข และมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างยอดเยี่ยม
ศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด จึงไม่ได้หมายถึงเพียงสถานที่ หากเป็น "พื้นที่" ที่เป็นศูนย์รวมของมิตรจิต มิตรใจ จากเพื่อนผู้ให้ที่เป็นผู้ป่วย ผู้ดูแล อาสาสมัคร แพทย์ พยาบาลผู้ให้บริการ มาร่วมกันเยียวยารักษาผู้มารับบริการด้วยหัวใจและมิตรภาพ นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์ กิจกรรมสำคัญของศูนย์ ฯ มีดังนี้
- ศูนย์กลางข้อมูล การให้การช่วยเหลือตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยเรื้อรัง มีฐาน ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค อาสาสมัคร ที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยและญาติ
- แหล่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมของชมรม และผลงานของชมรม
- จุดนัดพบ ของผู้ป่วย ญาติ อาสาสมัครและผู้สนใจ
- แหล่งให้ความรู้ อบรมและพัฒนาทักษะให้แก่อาสาสมัคร และสมาชิก
- ศูนย์กลางการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพศูนย์อย่างมีส่วนร่วม เช่น ดนตรีบำบัด อรรถบำบัด หัวเราะบำบัด
- บริการข้อมูลผ่าน เว็บไซต์ และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข้อมูลเครือข่ายทั้งในและนอกประเทศ
มิตรภาพบำบัด จึงเป็นวิถีใหม่ของการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการจัดให้มีพื้นที่เพื่อการดูแลเยียวยารักษาจิตใจด้วยความเอื้ออาทร เพิ่มเสริมจากการรักษาพยาบาลด้วยเทคนิควิธีการทางการแพทย์ เพราะผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ไม่ได้ต้องการเพียงยาหรือการตรวจรักษาเท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องการมากกว่าคือ "กำลังใจ" ที่จะเป็นพลังต่อสู้กับโรคร้ายได้ พลังของ "มิตรภาพ" ที่มาจากครอบครัว ผู้ดูแล แพทย์ พยาบาล ผู้ให้บริการ รวมถึงมิตรสหายที่รายรอบตัว อันอาจถือได้ว่าเป็น "มิตรภาพบำบัด" ที่เป็นยาขนานวิเศษที่ช่วยเยียวยาผู้ป่วยเรื้อรัง
ผู้สนใจร่วมสมทบทุน กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่องานมิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดกองทุนย่อย และกิจกรรมมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน ในโรงพยาบาลต่างๆ ส่งเสริมและเชิดชูเครือข่ายองค์กร อาสาสมัครที่ทำงานมิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน สนับสนุนการเคลื่อนไหว รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับงานมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน และเผยแพร่สู่การรับรู้ของสังคม รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ยกระดับความตื่นตัวของสังคมในเรื่องจิตอาสา และอาสาสมัคร เพื่อช่วยเหลือสังคมส่วนรวม โดยโอนเงิน ผ่านธนาคารกรุงไทย สาขาแจ้งวัฒนะ บัญชีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่องานมิตรภาพบำบัด) เลขบัญชี 096-0-09547-0
- อ่าน 8,462 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้