เวลาของการใช้ทุนของแพทย์เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่สำคัญของชีวิตแพทย์..... บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการไปใช้ทุนในชนบทของนักศึกษาแพทย์ และเป็นกำลังใจแก่แพทย์จบใหม่ที่กำลังทำงานอย่างหนัก ในโรงพยาบาลชุมชน
พลังแห่งการแนะนำ
"หมอ...ลุงยังเหนื่อยอยู่เลย ให้ยาไปไม่เห็นหายเลย" ชายคนหนึ่งซึ่งโอพีดีการ์ด ระบุว่าอายุ 55 ปีบ่นกับผม. ผมพลิกดูรายละเอียดพร้อมกับบอกว่า "ลุงเป็นโรคปอดยืด และเบาหวาน ลุงยังสูบบุหรี่อยู่หรือเปล่าครับ" ผมอดถามไม่ได้ ทั้งๆที่คิดว่าคนไข้คงไม่ได้สูบแล้ว ก็หอบอย่างนี้. "แฮะ แฮะ ก็ยังสูบอยู่บ้างแหละหมอ" ลุงอมยิ้มแล้วตอบ "แล้วเหล้าล่ะ ลุงกินหรือเปล่า" ผมถามต่อ "ก็กินบ้างละหมอ".
นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบลุงอำนวย ลุงอำนวยเป็นโรคเบาหวาน และมีอาการเริ่มต้นของการเป็นถุงลมโป่งพอง เนื่องจากสูบบุหรี่. หมอผู้รักษาในหลายครั้งก่อน ไม่ได้แนะนำให้เลิกบุหรี่ และเหล้า อาจเป็นเพราะว่าไม่ทราบ หรืออาจจะบอกแล้ว แต่ลุงยังไม่ยอมเลิกก็เป็นได้.
ผมใช้เวลากว่า 15 นาทีในการพยายามชักจูงให้ลุงอำนวยเลิกบุหรี่และเหล้า โดยผมส่งลุงอำนวยไปเอกซเรย์ปอด แล้วชี้ให้ดูว่าปอดของลุงยาวกว่าปอดปกติเท่าไหร่โดยใช้ไม้บรรทัดวัดเทียบกับเอกซเรย์ของคนปกติที่ผมเตรียมไว้ใช้เป็นประจำ.
ผมบอกถึงผลของเบาหวาน ซึ่งเสริมฤทธิ์ด้วยบุหรี่และเหล้า จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดหัวใจตีบอย่างไร. นอกจากนี้คุณลุงอำนวย ยังยอมรับว่ากินยาเป็นบางวัน บางมื้อ "ก็มันไม่มีอาการอะไรนี่หมอ บางทีก็ลืมบ้าง". ผมบอกลุงอำนวยว่า "ถ้าลุงกลัวลืม ก็เขียนใส่กระดาษใบโตๆไว้ที่บันไดบ้านซิ เดินผ่านไปผ่านมาเห็นจะได้กินยา. อ้อ! แล้วเขียนไว้ด้วยว่า อย่าสูบบุหรี่ ดื่มเหล้านะ" ผมแนะนำและพยายามคะยั้นคะยอให้ทำ.
หลังจากวันนั้น ผมก็ลืมลุงอำนวยไป เพราะบางทีลุงอำนวยก็ถูกส่งไปให้ตรวจกับหมออีกคน จนวันหนึ่งนักเทคนิคการแพทย์ คุณสายรุ้ง ก็มาบอกผมด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า "หมอ จำลุงอำนวยได้ไหม ตอนนี้แกเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ได้แล้วนะ. สายรุ้งไปบ้านแกโดยบังเอิญ แล้วเห็นป้ายที่แกเขียน ไว้ที่หน้าบ้าน น่ารักดีนะ แกเขียนว่า หมอบอย บอกให้เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ ถ้าไม่เช่นนั้นอายุจะไม่เกิน 60 ปี แล้วให้กินยาเบาหวานตามเวลาด้วย". ผมรู้สึกดีใจด้วยกับลุงอำนวย ดีใจที่ผมไม่ท้อที่จะแนะนำแกอย่างเต็มที่.
ในเวชปฏิบัติของแพทย์ ซึ่งมีเวลาให้ผู้ป่วยไม่เกิน 3-5 นาที แพทย์จึงมักจะไม่ได้เตือนหรือลืมเตือน ผู้ป่วยให้เลิกพฤติกรรมบางอย่างที่ก่อให้เกิดโรค หรือบางครั้งหมออาจจะเตือนแต่ผู้ป่วยเลิกพฤติกรรมนั้นไม่ได้. ผมเคยพบคนไข้ตับแข็งที่ยังดื่มเหล้าเป็นประจำ เลิกไม่ได้จนพยาบาลหลายคนเอือมระอา คนไข้เมาประสบอุบัติเหตุมาโรงพยาบาลครั้งแล้วครั้งเล่า คนไข้ติดเหล้ารุนแรงที่ผมเคย admit ให้นอนในโรงพยาบาล 2 สัปดาห์จนเลิกเหล้าได้ เมื่อกลับบ้านไปก็ดื่มเหล้าอีก. ปัญหาการติดสารเสพติดนั้นมีมากกว่าแค่สารเสพติด แต่หมายถึงสภาพชีวิตของเขาที่ดำรงอยู่ ความเครียดที่เขาเผชิญ ทางออกที่เขามี ผมนึกถึงตัวเองเวลาที่เครียด ผมก็จะเล่นกีฬา ฟังเพลง ดูหนัง ไปคาราโอเกะ สาระพัดสิ่งบันเทิงและงานอดิเรกที่จะมี. แต่เขาเหล่า นั้น แค่ทำไร่ ทำนา ก็เหนื่อยแล้ว กลับมาต้องคิดกับปัญหาหนี้สิน ไหนจะต้องซื้อหนังสือให้ลูก ซื้อปุ๋ยลงนา ทำทุกอย่างเพื่อให้ผ่านชีวิตไปวันๆ โดยไม่ต้องคิดถึงอนาคต เพราะปัจจุบันยังไม่มี เขาจึงต้องหาอะไรบางอย่างเพื่อคลายทุกข์ไปในแต่ละวัน เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่. การแก้ปัญหาด้วยการทำชุมชนเข้มแข็ง และเศรษฐกิจพอเพียงแบบในพื้นที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งพี่อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร สนับสนุนอยู่นั้นน่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่ในฐานะหมอ หลายคนที่ทำงานแต่เพียงเวชปฏิบัติ การแนะนำผู้ป่วย ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมแล้ว.
ทุกครั้งที่ท้อ เหนื่อย หรือเบื่อที่จะแนะนำ ผมจะนึกถึงคุณพ่อของผม ซึ่งโชคดีที่ได้พบอาจารย์ภากร ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยหลังตรวจพบว่า เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เอนไซม์ตับผิดปกติแล้ว. อาจารย์ได้แนะนำคุณพ่อของผมให้ออกกำลังกาย รวมทั้งสำทับว่า ถ้ายังสูบบุหรี่หรือทานเหล้าต่อไป อาจจะอยู่กับลูกๆ ได้ไม่เกิน 5 ปี แล้วนับแต่วันนั้นคุณพ่อของผมก็หยุดบุหรี่และเหล้าอย่างเด็ดขาด. จนถึงวันนี้คุณพ่อของผมยังคงมีชีวิตอยู่ และยังคงเดินออกกำลังกายทุกเช้า ตัวอย่างนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผม อยากที่จะแนะนำคุณพ่อของคนอื่นๆบ้าง.
การใช้ผลแล็บ เอกซเรย์ของตัวเขาเอง ที่นอกจากเพื่อการตรวจรักษาแล้ว ยังอาจจะได้ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไข้ ซึ่งจะส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพของคนแต่ละคน.
เมื่อนึกถึงภาพของกระดาษเก่าๆ เทปขุ่นๆที่แปะลายมือที่เขียน และรอยยิ้มเล็กๆของลุงอำนวย ทำให้ผมอดเกิดรอยยิ้มในใจไม่ได้ สิ่งนี้คงเป็นรางวัลอันสำคัญสำหรับผมที่จะพยายามแนะนำผู้ป่วยต่อไป แม้ว่าหลายคนจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้หรือไม่ได้ก็ตาม.
พงษ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ พ.บ.
เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท และอดีตประธานชมรมแพททย์ชนบท
- อ่าน 4,503 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้