โดยองค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ทั่วโลกช่วยกันทำให้เด็กๆ มีชีวิต และเติบโตขึ้นใน สิ่งแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่.
ทั้งสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การเสพติดบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่มือสอง.
โดยการสำรวจล่าสุดขององค์การอนามัยโลกพบว่า มีเยาวชนอายุ 10-24 ปี 1.8 พันล้านคน อยู่ในความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าหมายของบริษัทบุหรี่ กลายเป็นคนสูบบุหรี่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของเยาวชนโลกไปอีกหลายทศวรรษ.
ทั้งนี้หลักฐานชี้ว่าบริษัทบุหรี่ใช้ลูกไม้ทางการตลาดที่ครบวงจร ในการที่จะให้ได้มาซึ่งลูกค้าใหม่ เพื่อทดแทนลูกค้าผู้ใหญ่ที่หยุดสูบหรือเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่.
บันทึกของผู้บริหารบริษัทบุหรี่ระบุว่า "ถ้าหากบริษัทบุหรี่ต้องหยุดทำการตลาดที่ พุ่งเป้าไปที่เด็กๆ บริษัทจะล้มละลายภายใน 25-30 ปี เพราะจะไม่มีลูกค้าที่เพียงพอให้ธุรกิจอยู่รอดได้".
ธนาคารโลกระบุว่าในแต่ละวันมีเด็กติดบุหรี่ใหม่ 82,000 ถึง 99,000 คน.
ถ้าใช้ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยเฉลี่ยเด็กไทยติดบุหรี่อายุ 18 ปี เฉพาะในคนที่เลิกสูบได้ อายุเฉลี่ยคือ 41 ปี นั่นคือจะติดบุหรี่ไป 23 ปี แต่ส่วนใหญ่จะติดบุหรี่ไปจนเสียชีวิต.
นอกจากการตลาดของบริษัทบุหรี่แล้ว สิ่งแวดล้อมอื่นในสังคมที่สนับสนุนให้เด็กๆ เอาอย่าง เข้าไปทดลอง และเกิดการเสพติดบุหรี่ขึ้น คือ พ่อแม่หรือคนอื่นในบ้าน บุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม ครู และบุคลากรสาธารณสุขที่สูบบุหรี่.
ข้อมูลการสำรวจขององค์การอนามัยโลกในเด็กนักเรียนอายุ 13-15 ปี จาก 151 ประเทศ ยังพบว่า ร้อยละ 9.8 มีการใช้ยาสูบ ร้อยละ 47 ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ร้อยละ 60 ได้รับควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะ.
การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นจะลดลง ตามหลังการลดลงของอัตราการสูบบุหรี่ของผู้ใหญ่.
องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ ทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุนนโยบายห้ามโฆษณาบุหรี่ ทำให้สถานที่สาธารณะ ที่ทำงาน และบ้านเป็นเขตปลอดบุหรี่.
และสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ขอให้เป็นแบบอย่างที่ไม่สูบบุหรี่ ทำที่ทำงานให้ปลอดบุหรี่ ช่วยประชาชนที่ติดบุหรี่ให้เลิกสูบบุหรี่ และเตือนถึงความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่ของ ผู้ปกครองกับการป่วยของเด็กๆ ที่มารับการรักษา.
และเพื่อตอบรับคำเรียกร้องขององค์การอนามัยโลก
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จะริเริ่มรณรงค์ให้สถานบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเด็กทั่วประเทศ รณรงค์ให้ผู้ปกครองผู้ป่วยเด็กตระหนักถึงผลกระทบการสูบบุหรี่ของบุคคลในบ้านที่มีต่อเด็กๆ และการเพิ่มความเสี่ยงที่ลูกๆ จะติดบุหรี่ ด้วยการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่.
จรรยาปฏิบัติสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการควบคุมยาสูบ
องค์การอนามัยโลก
1. เป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่
2. สำรวจสถิติการสูบบุหรี่ในหน่วยงานและกำหนดนโยบายที่เหมาะสม
3. จัดเขตปลอดบุหรี่ในสถานบริการและสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ
4. มีหัวข้อเรื่องการควบคุมยาสูบในการประชุมวิชาการ
5. ซักประวัติการสูบบุหรี่ การได้รับควันบุหรี่มือสอง และแนะนำวิธีเลิกสูบบุหรี่ โดยสอดแทรกอยู่ในการปฏิบัติงานประจำ
6. สอดแทรกเนื้อหาการควบคุมยาสูบในหลักสูตรการเรียนการสอน
7. ห้ามจำหน่ายบุหรี่ในหน่วยงาน
- อ่าน 2,557 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้