ช่วงชีวิต (อายุขัย)
สิ่งมีชีวิตต่างๆ ย่อมมีช่วงเวลาแห่งการมีชีวิตอยู่ (ช่วงชีวิต อายุ อายุขัย) ที่แตกต่างกัน บางชนิดมีช่วงชีวิตที่สั้นมาก (เป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน) บางชนิดมีอายุยืนเป็นร้อยปีพันปี เช่น ต้น Norway Spruce (ซึ่งเป็นต้นสนชนิดหนึ่งที่ใช้ประดับเป็นต้นคริสต์มาส) ต้นหนึ่งในประเทศสวีเดน มีอายุประมาณ 9,550 ปี (เก่าแก่ที่สุดในโลก).
มนุษย์เราแต่ละเผ่าพันธุ์ แต่ละสายเลือด แต่ละสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ก็มีช่วงชีวิตที่แตกต่างกัน ยิ่งมีโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็ยิ่งแตกต่างกันมากขึ้น.
ความมุ่งหวังหรือความคาดหวังที่จะให้ตนหรือคนที่ตนรักต้องมีอายุยืนหรืออยู่ได้นานเท่านั้นเท่านี้ จึงเป็นความมุ่งหวังหรือความคาดหวังที่ก่อ "ความทุกข์" มากกว่า "ความสุข" ก่อ "ความเครียด" มากกว่า "ความสว่าง" และ "ความสงบ" และก่อให้เกิดสังคมที่เห็นแก่ตัวมากกว่าสังคมที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น.
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ ทำให้เราสามารถยืดกระบวนการตายออกไปได้เป็นเดือนเป็นปีหรือเป็นสิบๆ ปีด้วยยา เครื่องมือ และการปลูกถ่ายอวัยวะในปัจจุบัน และอาจจะเป็นหลายสิบปีในอนาคตด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (stem cells) ให้แก่อวัยวะต่างๆที่กำลังจะตายหรือตายแล้วเพื่อให้กลับมาทำงานได้ใหม่ หรือโดยการ "ถ่ายพันธุ์" (cloning) ตนเองหรือคนที่ตนรักให้คงอยู่ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด.
ในกรณีเช่นนั้น ผู้ที่มีอำนาจวาสนาทั้งหลาย (จอมเผด็จการ เจ้าขุนมูลนาย นายทุน ฯลฯ) คงจะถ่ายพันธุ์ตนเองไว้กดขี่ข่มเหงผู้ด้อยอำนาจวาสนาต่างๆ ได้เป็นเวลานานๆ.
ประเทศที่ร่ำรวยทุนและเทคโนโลยีก็จะมีโอกาสเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาต่างๆ มากขึ้นอีกร้อยเท่าพันทวีกว่าที่ผ่านมาในอดีตและที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน.
แต่โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ที่มีอายุยืนกว่า 100 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ ตาม ป่าตามเขา และแม้แต่ในถิ่นทุรกันดาร ที่ประชาชนเข้าไม่ถึงการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น ในประเทศไทย จังหวัดเลย โดยเฉพาะในอำเภอภูหลวง ภูเรือ และภูกระดึง จะมีสัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปมากกว่าจังหวัดอื่นแม้แต่กรุงเทพฯ.
แสดงว่า ช่วงชีวิตของมนุษย์เราจะยืนยาวยิ่งขึ้นถ้าเราดำรงชีวิตตามธรรมชาติและไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปกับความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพราะปรากฏว่า เมื่อความเจริญทางวัตถุได้เข้าครอบงำจังหวัดเลย ลูกหลานของผู้เฒ่าที่มีอายุยืนกว่า 100 ปีเหล่านั้น กลับมีอายุสั้นลงมาก เข้าใจ ว่าเป็นเพราะลูกหลานเหล่านั้นได้ดำรงชีวิตแบบใหม่ ผิดกับผู้เฒ่าเหล่านั้นที่ยังดำรงชีวิตแบบเดิมอยู่.
อย่างไรก็ตาม การมีอายุยืนกว่า 100 ปี ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดีเสมอไป ถ้าไม่มีลูกหลานคอยดูแล หรือได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ และการไม่สามารถช่วยตนเองได้จากการเปลี่ยนแปลงของสังขารตามอายุที่มากขึ้น.
"ตายดี" หมายความว่าอย่างไร
คำว่า "ตายดี" นอกจากจะมีความหมายหลากหลาย ขึ้นกับความคิดเห็น ความเชื่อ และความต้องการ ของแต่ละบุคคลแล้ว ยังขึ้นกับวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี และค่านิยมของสังคมและท้องถิ่นแต่ละแห่งด้วย.
บางคนอาจคิดว่า การ "ตายดี" คือ การตายในขณะที่มีความสุข ถ้าเช่นนั้น การ "ตายคาอก" (ตายขณะมีความสุขสุดขีดในขณะร่วมเพศ) จะถือว่าเป็นการ "ตายดี" หรือไม่.
บางคนอาจคิดว่า การ "ตายดี" คือ การตายในขณะหลับโดยไม่ได้เจ็บป่วย (ทุกข์ทรมาน) มาก่อน ถ้าเช่นนั้น การ "ใหลตาย" (SUNDS, sudden unexpected nocturnal death syndrome) จะถือว่าเป็นการ "ตายดี" หรือไม่.
บางคนอาจคิดว่า การ "ตายดี" คือ การสละชีวิต หรือพลีชีพเพื่อ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" หรืออื่นๆ ถ้าเช่นนั้น การพลีชีพของสมาชิกกลุ่มอัลเคด้าใน การถล่มอาคาร World Trade Center ในกรุงนิวยอร์ก และตึกเพ็นตากอนในกรุงวอชิงตันของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการ "ตายดี" หรือไม่ เพราะบุคคลที่พลีชีพเหล่านั้นได้รับการยกย่องบูชาเป็น "ผู้ที่ยอมทุกข์ทรมานและพลีชีพเพื่อศาสนา" (martyr) จากสังคมของเขาเหล่านั้น.
ไม่ว่าการ "ตายดี" จะมีความหมายที่แตกต่างหลากหลายอย่างไร คนส่วนใหญ่ (เกือบทุกคน) คงต้องการที่จะตายอย่างสงบ ตายอย่างไม่เจ็บปวด/ทรมาน ตายอย่างมีความสุข (ใน "อ้อมกอด" ของคนที่ตนรักและรักตน ในสถานที่ที่ตนชอบ และในบรรยากาศที่ตนชอบ) เป็นต้น.
ผู้ที่เชื่อว่า "ตายแล้วจักไปอยู่ในที่ใหม่" ย่อมคิดว่า การ "ตายดี" คือ การ "ตายแล้วได้ไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า" "ตายแล้วได้ไปอยู่ในสวรรค์หรือภพภูมิต่างๆที่สูงกว่าอบายภูมิ (นรก)" เป็นต้น.
ในศาสนาพุทธ "ภพ" หมายถึง ภาวะชีวิตหรือโลกที่อยู่ของสัตว์ ได้แก่ กามภพ (ภพของสัตว์ที่ยังเสวยกามคุณ) รูปภพ (ภพของสัตว์ที่เข้าถึงรูปฌาณหรือชั้นรูปพรหม) และอรูปภพ (ภพของสัตว์ที่เข้าถึงอรูปฌาณหรือชั้นอรูปพรหม).
ส่วน "ภูมิ" หมายถึงระดับชั้นแห่งชีวิต/จิตใจ ซึ่งแบ่งเป็น
1. กามาวจรภูมิ 11 (ระดับชั้นแห่งจิตใจที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม นั่นคือ ยังอยู่ใน กามภพ ที่ประกอบด้วย "นรก""โลกมนุษย์" และ "สวรรค์" ในภาษาชาวบ้าน) ในภาษาธรรม ประกอบด้วย
1.1 อบายภูมิ 4 (ภูมิที่ปราศจากความเจริญ) คือ นิรยะ (นรก ความร้อนใจ) ดิรัจฉานโยนิ (เดรัจฉาน ความโง่) ปิตติวิสัย (เปรต ความโลภ) อสุรกาย (อสูร ความกลัว).
1.2 กามสุคติภูมิ 7 (ภูมิที่เป็นสุคติที่ยังเกี่ยวข้องกับกาม) คือ มนุษย์ (ระดับจิตของมนุษย์) จาตุมหาราชิกา (สวรรค์ชั้นที่ท้าวมหาราช 4 ปกครอง) ดาวดึงส์ (แดนแห่งเทพ 33 มีท้าวสักกะเป็นใหญ่) ยามา (แดนแห่งเทพผู้ปราศจากทุกข์) ดุสิต (แดนแห่งเทพผู้อิ่มเอิบด้วยสิริสมบัติของตน) นิมมานนรดี (แดนแห่งเทพผู้ยินดีในการเนรมิต) ปรนิมมิตวสวัตดี (แดนแห่งเทพผู้ยังอำนาจให้เป็นไปในสมบัติที่ผู้อื่นเนรมิตให้).
2. รูปาวจรภูมิ 16 (ภูมิที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปหรือชั้นรูปพรหม) คือ ปฐมฌาณภูมิ 3 ทุติยฌาณภูมิ 3 ตติยฌาณภูมิ 3 จตุตถฌาณภูมิ 7.
3. อรูปาจรภูมิ 4 (ภูมิที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป หรือชั้นอรูปพรหม) คือ อากาสานัญจายตนภูมิ (ภูมิที่เข้าถึงภาวะมีอากาศไม่มีที่สุด) วิญญาณัญจายตนภูมิ (ภูมิที่เข้าถึงภาวะมีวิญญาณไม่มีที่สุด) อากิญจัญญายตนภูมิ (ภูมิที่เข้าถึงภาวะไม่มีอะไร) เนวสัญญาณาสัญญายตนภูมิ (ภูมิที่เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่).
4. โลกุตตรภูมิ (ภูมิที่พ้นจากโลก ระดับจิตใจของพระอริยเจ้าอันพ้นแล้วจากโลกียภูมิทั้ง 3 ข้อข้างต้น) ซึ่งไม่มีอยู่ในภพภูมิของลัทธิศาสนาอื่นๆ และเป็นภูมิในระดับนิพพานนั่นเอง.
จะเห็นได้ว่า ภพภูมิต่างๆ ในพุทธศาสนา เป็นภพภูมิต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ พระพุทธองค์ทรงนำสิ่งที่ชาวอินเดียเชื่อถือในขณะนั้นมาเปรียบเปรยให้เห็นว่า "นรก สวรรค์ ชั้นพรหม" นั้นเป็นภาวะชีวิต (ภพ) และระดับชั้นของจิตใจ (ภูมิ) ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง.
ในที่นี้ ขอใช้คำว่า "ตายดี" ให้หมายถึง การตายด้วยจิตใจที่ยอมรับและรับรู้ความตายด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญา การตายด้วยจิตใจที่อยู่เหนือความตาย นั่นคือ ไม่กลัว ไม่ห่วงกังวล ไม่กระวนกระวาย และปล่อยวางทุกอย่าง (ไม่มีเรา-ไม่มีเขา ไม่มีฉัน-ไม่มีเธอ ไม่มีของฉันและไม่มีของเธอ) มีแต่ธรรมชาติและการกลับคืนสู่ธรรมชาติด้วยความสงบศานติเท่านั้น.
การ "ตายดี" หรือ "ตายให้เป็น" คือ การฝึกให้รู้จัก "ตายก่อนตาย" นั้นเอง นั่นคือ ให้ตายจากกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน หรือตายจาก "ตัวกู-ของกู" ก่อนที่จะสิ้นชีวิต โดยการเจริญมรณานุสสติ (มรณสติ) อยู่เสมอ.
ด้วยการตระหนักอยู่เสมอว่า ตัวเราจะต้องเปลี่ยนไป (จะต้องแก่ เจ็บ และตาย) ไม่สามารถคงอยู่ได้อย่างเดิม (อนิจจัง) จึงเป็นทุกข์ (ทุกขัง) เพราะขัดแย้งกับความ "ใคร่มี-ใคร่เป็น" ของเรา ทั้งที่ตัวเรา นั้นประกอบด้วยธาตุ "ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ" หรือธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน แคลเซียม โซเดียม โปแตสเซียม เหล็ก ทองแดง สังกะสี คลอรีน ฯลฯ ที่รวมตัวกันเป็นสังขาร (ร่างกาย) จึงหาใช่ตัวตนที่แท้จริงไม่ (อนัตตา) เพราะจะสลายกลับไปเป็นธาตุเหล่านั้น.
เมื่อเราปล่อยวางจาก "ตัวเรา-ของเรา" หรือ "ตัวกู-ของกู" ได้ เราก็จะบรรลุนิพพานได้ เพราะ "นิพพาน" ไม่ได้หมายถึงการสิ้นชีวิต แต่หมายถึงการดับสนิทของกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน หรือการดับสนิทจาก "ตัวกู-ของกู" นั่นเอง.
ดังนั้น "นิพพาน" จึงเกิดขึ้นได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ เช่น
นิพพานที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เพราะสิ่งแวดล้อมหรือจิตที่ "ว่าง" ขึ้นมาเองในขณะใดขณะหนึ่ง ที่เรียกว่า "ตทังคนิพพาน".
นิพพานที่เกิดขึ้นจากการควบคุมจิต และปล่อยวางจิตให้ว่างได้เป็นครั้งคราว ที่เรียกว่า "วิกขัมภนนิพพาน"
หรือนิพพานที่เกิดจากการสิ้นไปแห่งกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน อย่างแท้จริง ที่เรียกว่า "สมุจเฉทนิพพาน" นั่นเอง.
ซึ่งไม่ว่าจะเป็น "นิพพาน" ชนิดใด ก็ให้ความเย็นความสงบ เหมือนกันหมด แต่จะคงอยู่สั้นหรือยาวต่างกันเท่านั้น.
ดังนั้น ท่านอาจารย์พุทธทาส จึงสอนว่า จะเป็นคนชั่วคนดีอย่างไร ถ้าอยากจะ "ตายดี" แล้ว ในนาทีสุดท้ายต้องตั้งสติให้ได้ และปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ดับความเป็น "ตัวกู-ของกู" ให้หมดสิ้น แล้วก็จะ "ตายดี" ได้ดังนี้
"อย่าเข้าใจ ไปว่า ต่องเรียนมาก ต้องปฏิบัติ ลำบาก จึ่งพ้นได้
ถ้ารู้จริง สิ่งเดียว ก็ง่ายดาย : รู้ดับให้ ไม่มีเหลือ เชื่อก็ลอง.
เมื่อเจ็บไข้ ความตาย จะมาถึง อย่าพรั่นพรึง หวาดไหว ให้หม่นหมอง
ระวังให้ ดีดี "นาทีทอง" คอยจดจ้อง ให้ตรงจุด หลุดได้ทัน.
ถึงนาที สุดท้าย อย่าให้พลาด ตั้งสติ ไม่ประมาท เพื่อดับขันธ์
ด้วยจิตว่าง ปล่อยวาง ทุกสิ่งอัน สารพัน ไม่ยึดครอง เป็นของเรา.
ตกกระได พลอยกระโจน ให้ดีดี จะถึงที่ มุ่งหมาย ได้ง่ายเข้า
สมัครใจ ดับไม่เหลือ; เมื่อไม่เอา ก็ดับ "เรา" ดับตน ดลนิพพาน ฯ"
คนดูแลผู้ป่วยให้ "ตายดี"
ผู้ที่จะดูแลผู้ป่วยให้ "ตายดี" ควรจะมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. มี "ใจ" ที่เปี่ยมด้วย "พรหมวิหาร 4" ที่ทำให้เกิด "อิทธิบาท 4" "สังคหวัตถุ 4" และ "ฆราวาสธรรม 4" (ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนแรก).
2. มีจิตใจมั่นคงหนักแน่นและไม่กลัวการตายและความตาย โดยเฉพาะการตายและความตายตามธรรมชาติ โดยเข้าใจและเข้าถึงความหมายและแก่นแท้ของการตายและความตาย.
3. มีความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าพูดความจริง มีความจริงใจ และพูดจริงทำจริง โดยเหมาะสมกับกาลเทศะ.
4. มีความสามารถทำให้ผู้ป่วย (และครอบครัว) สงบ พ้นจากความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจได้ตามสมควรแก่สภาพของของผู้ป่วย (และครอบครัว).
5. มีความสามารถที่จะดูแลตนเอง ผู้ร่วมงาน ญาติมิตรผู้ป่วยและชุมชนให้สถานการณ์หลังผู้ป่วยตายเป็นไปอย่างเรียบร้อยตามสมควรแก่อัตภาพ.
อันที่จริง คุณสมบัติข้อ 1 ถึง 4 เป็นคุณสมบัติที่ควรมีในแพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลผู้ป่วยทุกประเภท ไม่เฉพาะแต่ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยที่หมดหวังเท่านั้น.
แต่ในผู้ป่วยที่หมดหวัง (ผู้ป่วยด้วยโรคทางกายและ/หรือทางใจที่ไม่มีโอกาสจะพ้นจากความทุกข์ทรมาน และไม่สามารถใช้เวลาที่เหลือในชีวิตของ ตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้) และผู้ป่วยระยะสุดท้าย (ผู้ป่วยที่น่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ไม่เกิน 3-6 เดือน ดูตารางที่ 1-2) คุณสมบัติทั้ง 5 ข้อข้างต้นจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และจะต้องฝึกฝนจนคุณสมบัติดังกล่าวปรากฏเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติได้อย่างมั่นใจและมั่นคงในสถานการณ์ต่างๆได้.
สันต์ หัตถีรัตน์ พ.บ.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 4,393 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้