หน้าที่ของโรงเรียนแพทย์
หน้าที่หลักของโรงเรียนแพทย์ คือ การผลิตแพทย์เพื่อออกไปรับใช้ประชาชนทั้งประเทศ ส่วนหน้าที่รองๆ ลงไป คือ การป้องกันรักษาและฟื้นฟูสุขภาพให้แก่ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป การค้นคว้า วิจัยหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการป้องกันรักษาและฟื้นฟูสุขภาพ การทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น.
แต่ในระยะที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน หน้าที่หลักของโรงเรียนแพทย์หลายแห่งกลับกลายเป็น
1. การแข่งขันเพื่อการเป็น "เจ้ายุทธจักร" ในการตรวจและ/หรือการรักษา เหนือตติยภูมิ (supertertiary investigations & treatments) ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการ "นำเข้า" หรือ "ลอกเลียนแบบ" จากต่างประเทศ ทำให้แพทย์ที่ผลิตได้ผูกพันกับการตรวจรักษาเหนือตติยภูมิ และไม่มีความรู้ความสามารถในด้านปฐมภูมิและทุติยภูมิเพียงพอที่จะไปรับใช้ประชาชนทั้งประเทศ.
2. การแข่งขันกันหารายได้ เพื่อแสดงความ "เหนือชั้น" ในการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ ทำให้มีการตรวจและการรักษาที่ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น ก่อให้เกิดการรักษา "ผลแล็บ" มากกว่าการรักษา "โรค" และมากกว่าการรักษา "คน" ตามลำดับ แล้วยัง "มีนอกมีใน" กับบริษัทยาและอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ทำให้แพทย์ที่ผลิตได้มีทัศนคติเชิง "พาณิชย์" เพิ่มขึ้นๆ.
3. การผลิตแพทย์เพื่อรับใช้อาจารย์แพทย์ โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลเอกชน ทำให้อาจารย์แพทย์จำนวนไม่น้อย สามารถใช้เวลาราชการไปประกอบอาชีพในโรงพยาบาลเอกชนในเวลาราชการ ปล่อยให้การตรวจรักษาผู้ป่วยในโรงเรียนแพทย์อยู่ในมือของแพทย์ประจำบ้าน และนักศึกษาแพทย์ โดยไม่มีอาจารย์คอยควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด.
หลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้เจ็บ/ป่วยฉุกเฉินในโรงเรียนแพทย์ จึงถูกตรวจรักษาโดยแพทย์จบใหม่และแพทย์ฝึกหัดหรือนักศึกษาแพทย์ โดยไม่มีอาจารย์คอยควบคุมดูแล ซึ่งเป็นผลเสียทั้งต่อผู้ป่วยและต่อแพทย์จบใหม่ ที่ "มะงุม มะงาหลา" ตรวจรักษาผู้เจ็บ/ป่วยฉุกเฉินไปอย่างไม่รู้ว่าผิดหรือถูก.
กำเนิด "เวชศาสตร์ฉุกเฉิน" ในประเทศไทย
แม้ว่า "เวชศาสตร์ฉุกเฉิน" ในสหรัฐอเมริกา จะพัฒนาและเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วมา 40 ปี แต่มีแพทย์ไทยไปฝึกอบรมในสาขานี้น้อยมาก (ทั้งที่มีแพทย์ไทยไปฝึกอบรมในสาขาอื่นมากมาย) เพราะผู้บริหารโรงพยาบาลในประเทศไทยไม่เห็นความสำคัญของสาขานี้ โดยเฉพาะในโรงเรียนแพทย์ จึงมีแพทย์ไทยเพียง 1 คนที่ไปฝึกอบรมในด้านนี้ และกลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทยที่โรงพยาบาลภูมิพลฯ เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน แล้วก็ไม่มีผู้ใดไปฝึกอบรมในด้านนี้เพื่อกลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทยอีก จนเมื่อประมาณ 5 ปีก่อนจึงมีมาอีก 1 คน.
อย่างไรก็ตาม มีแพทย์จำนวนหนึ่งเห็นความสำคัญของ "เวชศาสตร์ฉุกเฉิน" เพราะทนเห็นผู้เจ็บ/ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาพยาบาลแบบ "มือใหม่หัดขับ" โดยไม่มีผู้ใดสนใจไม่ได้ จึงร่วมกันจัดตั้ง "สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน" ประกอบด้วยสมาชิกทั้งแพทย์และพยาบาลที่สนใจปฏิบัติงานด้านเวชศาสตร์ ฉุกเฉินขึ้นใน พ.ศ. 2543 (ได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2544).
และขอความร่วมมือจากตัวแทนราชวิทยาลัย และวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ สร้าง "หลักสูตรแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน" ขึ้น และผลักดันจนแพทยสภาอนุมัติให้มีหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางสาขานี้ในปลาย พ.ศ. 2546 จึงมีการเปิดการฝึกอบรม "แพทย์ฉุกเฉิน" ใน พ.ศ. 2547 และทางสภาการพยาบาลก็ได้อนุมัติให้มีการฝึกอบรม "พยาบาลฉุกเฉิน" ในปีเดียวกัน.
โดยในปีแรก มีโรงเรียนแพทย์ 4 แห่ง และ โรงพยาบาลใหญ่อีก 5 แห่ง เปิดการฝึกอบรม "แพทย์ฉุกเฉิน" ประมาณ 40 คน/ปี และในปีนี้ (พ.ศ. 2551) มีโรงเรียนแพทย์ 8 แห่ง และโรงพยาบาลใหญ่ อีก 8 แห่ง เปิดการฝึกอบรม "แพทย์ฉุกเฉิน" ได้ประมาณ 70 คน/ปี.
มาตรฐาน "เวชศาสตร์ฉุกเฉิน" ในประเทศไทย
หลังจากที่ "แพทย์ฉุกเฉิน" รุ่นแรกสำเร็จการศึกษาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 และออกไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลต่างๆ กรมการแพทย์ โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ ร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี และสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยได้จัดสัมมนา เพื่อหาแนวทางพัฒนาคุณภาพระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉินในโรงพยาบาลระดับต่างๆ เพื่อให้เป็นมาตรฐาน เดียวกันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 3-5 กันยายน พ.ศ. 2550 ที่โรงพยาบาลราชวิถี.
โดยมี แพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉินจากโรงพยาบาลในระดับต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงเรียนแพทย์ เข้าร่วมสัมมนา เพื่อหา "แนวทางพัฒนาระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉินสำหรับโรงพยาบาลระดับต่างๆ" (The Guideline for Development of Hospital-Based Emergency Care System) ในระยะ 5 ปีแรก และจะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เจ็บ/ป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาลระดับต่างๆ ในประเทศไทย.
หลังการสัมมนา ได้มีการสำรวจเยี่ยมโรงพยาบาลในระดับต่างๆ เพื่อให้ผู้บริหารโรงพยาบาลและผู้ปฏิบัติงานรักษาพยาบาลฉุกเฉินในโรงพยาบาลเหล่านั้น ได้วิพากษ์วิจารณ์ "ร่างแนวทางพัฒนาระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉินสำหรับโรงพยาบาลในระดับต่างๆ" และนำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เป็นแนวทางพัฒนาฯ ที่เหมาะสมอย่างน้อยในระยะ 5 ปีแรก.
แนวทางพัฒนาระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ครอบคลุมเรื่อง
1. อาคารสถานที่ (structures) ของห้องฉุกเฉิน ซึ่งควรแบ่งเป็นพื้นที่ต่างๆ เช่น บริเวณที่รับและขึ้นทะเบียนผู้ป่วย ที่คัดแยก ที่รอตรวจ ที่ฟื้นคืนชีพ ที่รักษาฉุกเฉิน ที่ทำหัตถการ ที่ล้างพิษ ที่สังเกตอาการ ที่พักเจ้าหน้าที่ เป็นต้น.
2. บุคลากร (personnel) แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยประเภทต่างๆ นักสังคมสงเคราะห์ นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา เวรเปล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย/ความสะอาด เป็นต้น.
3. การรักษาพยาบาล (patient care) การคัดแยก การฟื้นคืนชีพ การรักษาให้ผู้ป่วยเสถียรก่อนส่งต่อ (เข้าหอผู้ป่วยใน หรือไปโรงพยาบาลอื่น) การส่งต่อ การรักษาต่อเนื่อง เป็นต้น.
4. ความสามารถในการรองรับภัยพิบัติ (disaster management).
5. ระบบการรับและส่งต่อผู้ป่วย (referral system).
6. การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (access to other specialist consultation).
7. ระบบสนับสนุน (access to support services) เช่น
7.1 ด้านการรักษาพยาบาล เช่น ห้องตรวจเลือดและอื่นๆ ห้องเอกซเรย์ (รวม CT, MRI, U/S) ห้องผ่าตัด ห้องจ่ายยาฉุกเฉิน.
7.2 ด้านอื่นๆ เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย/ความสะอาด ระบบสื่อสาร ระบบประสานงาน ระบบรายงานและฐานข้อมูลด้านต่างๆ.
8. ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล (EMS system).
9. ระบบบริหารจัดการ (administration system) รวมถึงด้านธุรการ การเงินการคลัง และแผนพัฒนา.
10. ระบบข้อมูลข่าวสาร (information system) รวมทั้งการบริหารจัดการข้อมูล (data management).
11. การพัฒนาคุณภาพ (quality management) รวมทั้งการวิจัยเพื่อการพัฒนา (research and development).
12. การศึกษาและการวิจัย (research and education) เพื่อพัฒนาการฝึกอบรมบุคลากรฉุกเฉินและการบริหารจัดการแผนกฉุกเฉิน ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น.
มาตรฐาน "เวชศาสตร์ฉุกเฉิน" ในระดับโรงเรียนแพทย์
โรงเรียนแพทย์ทั้ง 8 แห่ง และโรงพยาบาลใหญ่ (ในระดับโรงพยาบาลศูนย์) อีก 8 แห่ง ที่กำลังผลิต "แพทย์ฉุกเฉิน" อยู่ในปัจจุบัน จัดว่าอยู่ในระดับโรงพยาบาลเหนือตติยภูมิ (supertertiary level) เกือบทั้งสิ้น จึงต้องพยายามให้มีองค์ประกอบต่างๆ ทั้ง 12 ข้อ ดังที่กล่าวไว้ใน "แนวทางพัฒนาระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน" ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งมีรายละเอียดที่หาอ่านเพิ่มเติมได้ในรายงานดังกล่าว.
อย่างไรก็ตาม "แนวทางพัฒนาระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน" มุ่งเน้นเฉพาะ "ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน" สำหรับโรงพยาบาล ไม่ได้เอ่ยถึง "ระบบป้องกันการเจ็บ/ป่วยฉุกเฉิน" ซึ่งรวมถึง
1. การป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อไม่ให้เจ็บป่วย ("การป้องกันโรค").
2. การป้องกันและการดูแลรักษาตนเองไม่ให้เจ็บ/ป่วยฉุกเฉิน ("การป้องกันการเจ็บ/ป่วยฉุกเฉิน").
3. การป้องกันโรคที่เป็นอยู่ไม่ให้กำเริบ ("การป้องกันและยุติอาการกำเริบ") เป็นต้น.
โรงเรียนแพทย์และสถาบันฝึกอบรม "แพทย์ฉุกเฉิน" ต่างๆ จึงจำเป็นต้องฝึกอบรมให้ "แพทย์ฉุกเฉิน" มีความสามารถใน "ระบบป้องกันการเจ็บ/ป่วยฉุกเฉิน" ด้วย นั่นคือต้องฝึกอบรมให้ "แพทย์ฉุกเฉิน" มีคุณสมบัติแห่งการเป็น "ครู" และการเป็น "นักรณรงค์" สร้างจิตสำนึกและความรู้ความสามารถในการป้องกันรักษาสุขภาพของตนเองให้แก่ผู้เจ็บ/ป่วยฉุกเฉิน และญาติของผู้ป่วย ตลอดจนประชาชนทั่วไปด้วย เช่น การป้องกันอุบัติเหตุบนถนน/ที่ทำงาน/ในบ้าน การป้องกันและหยุดยั้งอาการกำเริบของโรคที่เป็นอยู่ เป็นต้น.
นอกจากนั้น โรงเรียนแพทย์และสถาบันฝึกอบรม "แพทย์ฉุกเฉิน" ต่างๆ จำเป็นต้องสร้าง "แพทย์ฉุกเฉิน" ให้มีจิตใจเปี่ยมด้วย "พรหมวิหาร 4" (คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) เพื่อทำให้เกิดคุณสมบัติที่จะทำงานให้สำเร็จ ("อิทธิบาท 4") คุณสมบัติที่ทำให้เกิดความไว้วางใจและยึดเหนี่ยวใจคน ("สังคหวัตถุ 4") และคุณสมบัติในการครองชีวิตและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ("ฆราวาสธรรม 4") ดังจะกล่าวไว้ในเรื่อง "มาตรฐานเวชศาสตร์ฉุกเฉินสำหรับแพทย์และพยาบาล" ในฉบับต่อไป.
อนึ่ง โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลในระดับเหนือตติยภูมิ มักจะสนใจในการตรวจรักษาแบบเหนือ ตติยภูมิ ทำให้ผลผลิตแพทย์ของตนขาดความรู้และทักษะในการตรวจรักษาแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ โรงเรียนแพทย์และสถาบันฝึกอบรม "แพทย์" จึงจำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้แพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ได้หมุนเวียนไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลระดับต่างๆ เพื่อให้ได้รับความรู้และประสบการณ์รอบด้าน และสามารถเพิ่มพูนทักษะในการตรวจรักษาผู้เจ็บ/ป่วยฉุกเฉินในแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิด้วย.
อย่างไรก็ตาม โรงเรียนแพทย์และสถาบันฝึกอบรมต่างๆ ต้องเป็น "ตัวอย่างที่ดี" ในการฝึกอบรม "แพทย์ฉุกเฉิน" ให้มีความรับผิดชอบ คิดถึงประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นประโยชน์สูงสุด (ไม่ตกเป็นเครื่องมือของบริษัทยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อการขูดรีดหรือใช้ผู้ป่วยเป็นสัตว์ทดลองยาและเวชภัณฑ์ เหล่านั้น) และประพฤติปฏิบัติตนตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพทุกประการ.
มาตรฐานในด้านคุณธรรมจริยธรรมของ โรงเรียนแพทย์และสถาบันฝึกอบรม "แพทย์ฉุกเฉิน" มีความสำคัญยิ่งกว่ามาตรฐานในด้านอื่นๆ เพราะผู้เจ็บ/ป่วยฉุกเฉิน ไม่มีเวลาและโอกาสที่จะเลือกหมอและโรงพยาบาลได้.
อาจารย์ผู้ฝึกอบรม "แพทย์ฉุกเฉิน" จึงต้องตระหนักถึงความจริงข้อนี้ และประพฤติปฏิบัติตน เป็น "ตัวอย่างที่ดี" ของการเป็น "ครู" และการเป็น "แพทย์" และจะต้องฝึกตนเองให้มี "มาตรฐานแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน" อย่างสมบูรณ์พอที่จะฝึกอบรมลูกศิษย์ของตน เพราะอาจารย์ที่ฝึกอบรม "แพทย์ฉุกเฉิน" ส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมให้เป็น "แพทย์ฉุกเฉิน" อย่างเป็นทางการมาก่อน และส่วนใหญ่เป็นแพทย์เฉพาะทางในสาขาอื่น จึงมีความรู้แคบกว่าที่จะสามารถตรวจ รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินทุกเพศ ทุกวัย และทุกโรคภัยไข้เจ็บได้ จึงต้องพัฒนาตนเองให้เพียบพร้อมมากขึ้น.
อนึ่ง การรักษาพยาบาลผู้เจ็บ/ป่วยฉุกเฉิน จะมุ่งที่การรักษาภาวะการเจ็บ/ป่วยฉุกเฉินให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อเนื่องต่อไป ดังนั้นจึงเป็นการรักษา "ภาวะเจ็บ/ป่วยฉุกเฉิน" มากกว่าการรักษา "โรค" และมากกว่าการ "นอนแช่" ผู้ป่วยไว้ในห้องฉุกเฉินเพื่อรอการตรวจพิเศษต่างๆ เพื่อหาสาเหตุของโรคที่ไม่ต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน หรือที่ไม่ทราบว่า จะรักษาสาเหตุนั้นได้อย่างไร ดังที่เป็นประเพณีปฏิบัติของแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ ที่มุ่งจะหา "โรค" และสาเหตุของโรคก่อนจะให้การรักษาผู้ป่วย.
นอกจากนั้น "แพทย์ฉุกเฉิน" ยังต้องรับภาระเป็น "หนังหน้าไฟ" ให้แก่แพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ ที่เป็นเจ้าของไข้ แต่ไม่ค่อยจะได้พูด "ความจริง" เกี่ยวกับโรคที่เรื้อรังและร้ายแรงให้แก่ผู้ป่วยและญาติจนเป็นที่เข้าใจ ทำให้ "แพทย์ฉุกเฉิน" ต้องแบกรับภาระการ "แจ้งความจริง" แก่ผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นการ "รักษาคน" (คนป่วย ครอบครัว และสังคม) มากกว่าการ "รักษาโรค" ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานมากขึ้นจนต้องไปรับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินบ่อยๆ.
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอุปสรรคต่างๆ มากมาย แต่ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยก็ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และสร้างความเชื่อถือให้แก่ผู้ป่วย ประชาชนทั่วไป และแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ เพิ่มขึ้น.
โรงเรียนแพทย์และสถาบันฝึกอบรม "แพทย์ฉุกเฉิน" ต่างๆ จึงต้องร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือกันและกัน ฝึกอบรม "แพทย์ฉุกเฉิน" ให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรที่แพทยสภาอนุมัติหรือเหนือกว่า และสร้างมาตรฐาน "การป้องกันรักษาและฟื้นฟูสุขภาพ ยามฉุกเฉิน" ของผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมให้ดีขึ้นๆ ด้วย.
สรุป
มาตรฐานเวชศาสตร์ฉุกเฉินในระดับโรงเรียนแพทย์ คือ การผลิต "แพทย์ฉุกเฉิน" ที่ได้มาตรฐาน และการป้องกันรักษาและฟื้นฟูสุขภาพยามฉุกเฉินของผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น โดยยึดหลัก "ถูกต้อง ปลอดภัย ฉับไว และสุขใจ ร่วมกัน" ทั้งผู้ป่วย ครอบครัว สังคม และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานฉุกเฉินทุกประเภททุกคน.
*เนื้อหาสาระของบทความนี้ได้บรรยายไว้ในการประชุมวิชาการประจำป•ของสมาคมเวชศาสตร์ ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยเรื่อง "มาตรฐานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน" ที่โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
เอกสารอ้างอิง
1. สันต์ หัตถีรัตน์. เจ็บป่วยฉุกเฉิน ทำอย่างไร. ในหนังสือ "การประชุมวิชาการเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 1" ณ โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ วันที่ 28-29 สิงหาคม 2543 จัดโดย ศูนย์กู้ชีพ นเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี ร่วมกับ สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน (ที่กำลังก่อตั้ง) หน้า 93-98.
2. สันต์ หัตถีรัตน์. การแก้ปัญหาห้องฉุกเฉินในโรงเรียนแพทย์. คลินิก 2543;16:767-71.
3. สันต์ หัตถีรัตน์. ระบบป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน. คลินิก 2543; 16:852-9.
4. สันต์ หัตถีรัตน์. ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน. คลินิก 2544; 17:25-32.
5. คณะทำงานพัฒนาข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพยามฉุกเฉิน. ข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพยามฉุกเฉิน สำหรับคณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มกราคม 2544.
6. สันต์ หัตถีรัตน์. แพทย์-พยาบาลพันธุ์ใหม่. คลินิก 2547; 20:555-9.
7. คณะกรรมการพัฒนามาตรฐานระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน กรมการแพทย์. แนวทางพัฒนาระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉินสำหรับโรงพยาบาลในระดับต่างๆ (The Guideline for Development of Hospital-Based Emergency Care System) ในระยะ 5 ปีแรก. กันยายน 2550.
สันต์ หัตถีรัตน์ พ.บ.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 5,018 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้