หลักการการดูแลผู้ป่วยให้ตายดี
อันที่จริง การดูแลผู้ป่วยให้ "ตายดี" ไม่ควรจะจำกัดอยู่เฉพาะสำหรับ "ผู้ป่วยที่หมดหวัง" และ "ผู้ป่วยระยะสุดท้าย" เท่านั้น เพราะผู้ป่วยทุกคนแม้แต่ผู้ป่วยเฉียบพลัน เช่น ผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลันอาจจะตายเมื่อใดก็ได้ (ส่วนใหญ่หรือ > 70 % มักจะตายภายใน 24 ชั่วโมงแรก โดยส่วนใหญ่จะตายก่อนไปถึงโรงพยาบาล).
แม้แต่คนทั่วไปก็อาจจะตายเมื่อใดก็ได้เช่นกัน เช่น เกิดอุบัติเหตุหรือภัยพิบัติรุนแรง ดังกรณีพายุไซโคลน "นาร์กีส" (Nargis) ถล่มภาคใต้ของพม่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2551 และแผ่นดินไหวที่เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวนของจีน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 ที่คร่าชีวิตคนทั่วไป (ที่ส่วนใหญ่ไมได้เจ็บป่วย) ไปกว่าแสนคน เป็นต้น.
ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยรวมทั้งคนทั่วไปให้ "ตายดี" จึงควรเริ่มตั้งแต่เด็กโดยให้การศึกษาในเรื่องของธรรมชาติทั่วไป ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต และธรรมชาติของคน โดยเฉพาะในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) การขัดแย้งที่ทำให้เป็นทุกข์ (ทุกขัง) และการพึ่งพิงกันและกัน เพื่อให้ดำรงอยู่ได้ จึงไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา).
ดังจะเห็นได้จากการที่ธาตุต่างๆ (คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน ฯลฯ) พึ่งพิงกันและรวมตัวกันจนเกิดเป็นตัวเรา และเปลี่ยนแปลง (แก่-เจ็บ) ไปตามธรรมชาติ จนแตกสลาย (ตาย) กลับไปเป็นธาตุต่างๆดังเดิม.
ถ้าเราเข้าใจในความจริงที่เป็นสัจธรรมนี้ เราก็จะลดละความเป็น "ตัวเรา-ของเรา" หรือ "ตัวกู-ของกู" ลงได้.
เมื่อไม่มี "ตัวเรา" การแก่-การเจ็บ-การตาย ก็ไม่ใช่ตัวเรา นั่นคือ "เรา" ไม่ได้แก่ ไม่ได้เจ็บ และไม่ได้ตาย สิ่งที่แก่ เจ็บ และตาย คือ การรวมตัวกันของธาตุต่างๆที่ต้องเปลี่ยนแปลง (แก่ เจ็บ และตาย) ไปตามสัจธรรมของการรวมตัวกันของธาตุต่างๆเหล่านั้น.
แม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น น้ำ ก็อาจเปลี่ยนแปลงเป็นก๊าซ (ไอน้ำ) เป็นของแข็ง(น้ำแข็ง) และอาจแตกตัวออกเป็นธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจน (ตายจากสภาพของการเป็นน้ำ) เช่นเดียวกัน.
การที่เราคิดว่า "ตัวเรากำลังแก่ กำลังเจ็บ หรือกำลังตาย" จึงเป็นความคิดจากความยึดมั่นว่ามี "ตัวเรา" ที่เป็น "ของเรา" จริงๆ แต่ความจริงมันไม่ใช่ เพราะตัวเราเกิดจากธาตุต่างๆมารวมตัวกัน แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามสภาพของการรวมตัวนั้น จึงเป็นการเกิดการเปลี่ยนแปลง (แก่-เจ็บ) และการแตกสลาย (ตาย) ของการรวมตัวกันของธาตุเหล่านั้นต่างหาก.
ถ้าเราเข้าใจและเข้าถึงสัจธรรมนี้ ไม่ว่าเราจะตายในขณะใด (จะเจ็บป่วยหรือไม่เจ็บป่วย) เราก็จะ "ตายดี" อย่างแน่นอน.
อย่างไรก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด) ในปัจจุบันไม่ได้ตระหนักถึงสัจธรรมนี้ จึงยึดมั่นถือมั่นว่านี่เป็น "ตัวเรา" ที่กำลังแก่ กำลังเจ็บ และ/หรือกำลังจะตาย.
ผู้ที่จะดูแลผู้ป่วยให้ "ตายดี" จึงมีความยากลำบากมากขึ้นในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะถ้าผู้ดูแลก็ยังยึดมั่นถือมั่นว่านี่คือ "ตัวเรา" และ "ของเรา".
ถ้าผู้ป่วยตาย แปลว่า "เรา" ดูแลรักษาผู้ป่วย "ของเรา" ไม่เก่ง ไม่เป็น หรือผิดพลาด (ซึ่งก็อาจเป็นไปได้) ทำให้เกิดความเศร้าโศก เสียใจ หดหู่ ท้อถอย ฯลฯ ทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยอื่นลดลง.
ซึ่งพบได้เสมอในหมู่แพทย์และพยาบาลที่ต้องรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่หมดหวังหรืออยู่ในระยะสุดท้าย หรือในภาวะภัยพิบัติต่างๆ ที่ผู้ป่วยบางรายที่เจ็บหนักมากหรือกำลังจะตาย จะไม่ได้รับการรักษา เพราะต้องให้การรักษาผู้ป่วยที่เจ็บหนักน้อยกว่าและน่าจะรักษาให้รอดได้มากกว่า เพื่อจะไม่เสียเวลาไปรักษาผู้ป่วยที่ไม่น่าจะรอด เป็นต้น ทำให้แพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลอื่นๆ เกิดความเศร้าสะเทือนใจที่ไม่สามารถ ช่วยผู้ป่วยที่กำลังจะตายได้.
การตระหนักถึงสัจธรรมเรื่อง "อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา" และการเห็นว่าการ "เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย" เป็นของธรรมดา ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ให้การรักษาพยาบาลคนที่กำลังจะเกิดหรือเกิดมาแล้ว/คนที่กำลังจะแก่หรือแก่แล้ว/คนที่กำลังจะเจ็บป่วยหรือเจ็บป่วยแล้ว/คนที่กำลังจะตายหรือตายแล้ว.
แต่หมายความว่า การรักษาพยาบาลใดๆ จะต้องยึดหลักสำคัญข้อแรกของวิชาชีพแพทย์-พยาบาลไว้เสมอคือ อย่าทำอันตรายผู้ป่วย (First principle is to do no harm) และให้ประโยชน์สูงสุดเกิดแก่ผู้ป่วยจำนวนมากที่สุด.
การรักษาพยาบาลใดๆที่เพิ่มความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วยโดยไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายหรือดีขึ้นจากโรคจนสามารถช่วยตนเองได้ ย่อมเป็นการทรมาน (torture) มากกว่าการดูแลรักษา (care) ผู้ป่วย แล้วยังเป็นการเบียดเบียนประโยชน์ที่ผู้ป่วยอื่นๆ และสังคม ควรจะได้รับไปอีกด้วย เช่น
ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยใน ระยะ 6 เดือนสุดท้ายของชีวิตของชาวอเมริกันมีมูลค่า ประมาณ 70-80 % ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ของชาวอเมริกันทั้งประเทศ.
นั่นคือ ค่าใช้จ่ายในกระบวนการยืดการตาย (ยืดชีวิต) ของคนอเมริกันพียงไม่กี่คนไปอีก 6 เดือนมีมูลค่ามากกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของคนอเมริกันอื่นๆทั่วทั้งประเทศหลายเท่าตัว.
เงินที่จะนำไปใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ให้การศึกษา และอื่นๆที่เป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่จึงต้องลดลงไปมาก.
ในระยะประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี้ จึงมีผู้พยายามสร้างการดูแลรักษาแบบใหม่ที่จะไม่พยายามยืดการตายของผู้ป่วยที่หมดหวัง/ระยะสุดท้าย เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล และทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นแบบองค์รวมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรียกว่า "การดูแลให้สบาย" (palliative care ที่มีผู้แปลว่า "การรักษาแบบประคับประคอง" ซึ่งไม่ตรงกับความหมายของศัพท์นี้ ดังจะกล่าวถึงต่อไป).
"การดูแลให้สบาย" (palliative care)
Dr. Balfour Mount เป็นผู้ตั้งคำว่า "palliative care" โดยมาจากรากศัพท์ภาษาลาติน "pallium" ที่หมายถึงสิ่งปกคลุมหรือหุ้มห่อคนหรือสิ่งของ เพื่อให้ "palliative care" หมายถึง การดูแลรักษาที่สามารถปกคลุม (ปกป้อง) ผู้ป่วยจากอาการต่างๆของการเจ็บป่วยในระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึก สุขสบายขึ้น.
แต่ความหมายของ "palliative care" ยังแตกต่างกันไปในแต่ละสถาบัน องค์การอนามัยโลก (WHO, The World Health Organization) ได้ให้คำจำกัดความว่า
"An approach which improves the quality of life for patients and their families facing life-threatening illness through the prevention, assessment, and treatment of pain and other physical, psychosocial and spiritual problem" ซึ่งอาจจะแปลว่า
"การดูแลให้สบาย" เป็นวิธีการหนึ่งที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวที่กำลังเผชิญการเจ็บป่วยที่คุกคามชีวิตด้วยการป้องกัน ประเมิน และรักษาความเจ็บปวดและปัญหาต่างๆทั้งทางกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณด้วย.
จะเห็นว่า องค์การอนามัยโลกเน้นว่า เป็นเพียงวิธีการหนึ่งสำหรับการเจ็บป่วยที่คุกคามชีวิต (ไม่ได้บอกว่า "หมดหวัง" หรือ "ระยะสุดท้าย") และต้องเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วยและต่อครอบครัวของเขาด้วย โดย
♦ บรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการรุนแรงอื่นๆ (Provides relief from pain and other distressing symptoms).
♦ เห็นคุณค่าชีวิตและตระหนักว่าการตายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิต (Affirms life and regards dying as a part of the life cycle).
♦ ตั้งใจที่จะไม่ย่นหรือยืดความตาย (Intends neither to hasten nor postpone death).
♦ เสนอระบบที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองเท่าที่จะทำได้จนกว่าจะตาย (Offers a support system to help patients live actively as possible until death).
♦ เสนอระบบที่จะช่วยเหลือครอบครัวของผู้ป่วยให้ปรับตัวได้กับการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและความโศกเศร้า รวมทั้งลูกหลานที่ได้รับผลกระทบด้วย (Offers a support system to help the family cope during the patients illness and their own bereavement, including affected children).
♦ ทำงานเป็นทีมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อผ่อนคลายความโศกเศร้าถ้ามีข้อบ่งชี้ (Uses a team approach to address the needs of patients and their families, including bereavement counseling if indicated).
♦ เพิ่มคุณภาพของชีวิต และพยายามให้การดำเนินโรคเป็นไปในด้านบวก (Enhances the quality of life, and possibly influences the courses of a patient's illness in a positive way).
ในอดีต "การดูแลให้สบาย" มักจะครอบคลุมเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ต่อมาจึงขยายไปถึงผู้ป่วยเอดส์ แต่ในปัจจุบันได้ครอบคลุมผู้ป่วยทุกประเภท และครอบคลุมถึงครอบครัวของผู้ป่วย คนใกล้ชิดและบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยด้วย.
ในอดีต "การดูแลให้สบาย" มักจะเริ่มเมื่อแพทย์เจ้าของไข้หมดความสามารถที่จะรักษาผู้ป่วยให้หาย และผู้ป่วยเข้าสูระยะสุดท้ายของชีวิต จึงจะส่งผู้ป่วยไปให้แพทย์-พยาบาลอื่นเพื่อการดูแลผู้ป่วยให้สบายขึ้น แต่ในปัจจุบัน แพทย์เจ้าของไข้ควรจะได้ปรึกษาคณะผู้ดูแลให้สบาย ("ทีมดูแลให้สบาย" หรือ palliative care team) ตั้งแต่เมื่อเริ่มวินิจฉัยโรคร้ายแรงได้ เพื่อให้ทีมฯ นี้ได้รู้จักและสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วยและครอบครัวแต่เนิ่นๆและได้ติดตามการรักษาโรคและการดำเนินโรคตั้งแต่ต้นด้วยดังภาพที่ 1.
จากภาพที่ 1 ในอดีต แพทย์เจ้าของไข้จะรักษาโรคเพื่อให้หายอย่างเต็มที่จนถึงจุดๆหนึ่งที่แพทย์และ/หรือผู้ป่วยยุติเป้าหมายที่จะรักษาโรคให้หาย เพราะแพทย์หมดความสามารถแล้วหรือผู้ป่วยทนผลข้างเคียงของการรักษาไม่ได้แล้ว ผู้ป่วยก็จะถูกส่งไปตายที่บ้านหรือสถานพยาบาลระยะสุดท้าย (hospice).
ในระยะ 2-10 ปีที่ผ่านมา ได้มีความพยายามจะเสริม "การดูแลผู้ป่วยให้สบาย" เข้ามาแทรกระหว่างระยะแรก (ระยะรักษาโรคเพื่อให้หายขาด) กับระยะสุดท้าย (end-of-life or hospice care).
แต่ในปัจจุบัน ได้มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนให้ “การดูแลผู้ป่วยและครอบครัวให้สบาย” เริ่มในทันทีที่เริ่มให้การรักษาโรค และไม่ได้มุ่งรักษาโรคให้หายขาด เพียงอย่างเดียว แต่พยายามประสานงานกันเพื่อให้การรักษาเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากที่สุด แม้โรคจะไม่หายก็ตาม แต่ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด และในระยะสุดท้าย "ทีมดูแลให้สบาย" จะกลายเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยเต็มที่ แต่ในระยะแรกจะเป็นเพียงทีมที่ร่วมช่วยแพทย์เจ้าของไข้เท่านั้น โดยบทบาทของทีมจะเพิ่มขึ้นๆ จนถึงระยะสุดท้ายและระยะหลังตาย.
ใน พ.ศ. 2539 ได้มีการสำรวจความเห็นของคนอเมริกัน โดย Gallup Organization พบว่า คนอเมริกันร้อยละ 88 ต้องการที่จะได้รับการดูแลรักษาที่บ้านของตนเองหรือของญาติ ถ้าตนป่วยในระยะ สุดท้าย (มีชีวิตอยู่ได้ < 6 เดือน) แต่กลับปรากฏว่า 61 % ตายในโรงพยาบาล และ 17 % ตายในสถานพยาบาลอื่นๆ มีเพียง 15 % เท่านั้นที่ได้ตายในบ้านของตนหรือญาติ.
แสดงว่า แพทย์อเมริกันไม่ค่อยทำตามความปรารถนาของผู้ป่วยในระยะหลัง จึงมีการออกกฎหมายให้แพทย์ต้องทำตาม "คำสั่งการรักษาล่วงหน้า" (Advance Medical Directives) ของผู้ป่วย.
แต่ก็ยังมีแพทย์จำนวนมากที่ยังไม่ทำตามความ ปรารถนาของผู้ป่วยและพยายามให้ความหวัง (ที่ไม่อาจเป็นจริงได้) แก่ญาติของผู้ป่วย เพื่อจะสามารถ "ดันทุรัง" ยืดการตายออกไป และไม่ยอมปรึกษา "ทีมดูแลให้สบาย" (palliative care team) ให้ร่วมดูแลผู้ป่วย.
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ACGME (The Accreditation Council for Graduate Medical Education) ของประเทศสหรัฐอเมริกา จึงอนุมัติเวชศาสตร์เฉพาะทางต่อยอดสาขาใหม่ คือ subspecialty of Hospice and Palliative Care โดยได้รับการสนับสนุนจาก Boards ต่างๆ เช่น อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ฉุกเฉิน กุมารเวชศาสตร์ จิตเวชศาสตร์ ประสาทวิทยา วิสัญญีวิทยา รังสีวิทยา เวชศาสตร์ฟื้นฟู โสต-ศอ-นาสิก-ลาริงซ์วิทยา เป็นต้น.
โดยทั่วไป "ทีมดูแลให้สบาย" (palliative care team) ควรจะประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และนักบวช (chaplain) ที่สนใจและชำนาญงานนี้ วิชาชีพอื่นที่อาจจะร่วมอยู่ในทีมด้วย เช่น โภชนากร นักกายภาพบำบัด เภสัชกร อาสาสมัคร นักการแพทย์ทางเลือก (complimentary and alternative medicine practitioners) เป็นต้น.
บทบาทของ "ทีมดูแลให้สบาย" คือเป็นที่ปรึกษาและให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น
- การควบคุมอาการเจ็บปวดและอาการรุนแรงอื่นๆ.
- การแจ้งข่าวร้าย (breaking bad news).
- การปรึกษาหารือกันเรื่องเป้าหมายของการดูแล (goal-of-care discussions).
- การจัดประชุมญาติและครอบครัว.
- การช่วยเหลือครอบครัวแก้ปัญหาที่ยุ่งยาก.
- การช่วยเหลือด้านจิตวิทยาสังคมและจิตวิญญาณ (psychosocial and spiritual support) เป็นต้น.
โดยเน้นว่า palliative care ไม่ใช่ hospice และไม่ใช่ primary service (การบริการผู้ป่วย โดยตรง หรือเจ้าของไข้) เป็นเพียงการให้คำปรึกษา (เป็น consultant) และไม่มีเป้าหมายที่จะแข่งขันหรือรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยแทนแพทย์เจ้าของไข้.
การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (hospice care)
Hospice มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน "Hospitium" ที่หมายถึง สถานที่ที่แขก (ที่มาพัก) จะได้รับการเอาใจใส่ดูแลให้สะดวกสบาย ในปัจจุบัน คำว่า "hospice" ถูกใช้กันในหลายความหมาย เช่น สถานพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (สถานพยาบาลสุดท้าย) องค์กรเพื่อการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน โครงการของรัฐ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่จะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน 6 เดือน (ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกว่า "Medicare Hospice Benefit").
ในสมัยกรีกและโรมัน มีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในสถานที่ทางศาสนา (ปัจจุบันในประเทศไทยก็มีที่ วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี, วัดคำประมง จังหวัดสกลนคร เป็นต้น).
ใน พ.ศ. 2510 Dr. Cicely Saunders (ซึ่งเดิมเป็นพยาบาลแล้วต่อมาเป็นนักสังคมสงเคราะห์ และต่อมาเป็นแพทย์) ได้เริ่มสร้างสถานพยาบาลระยะสุดท้ายที่โด่งดังไปทั่วโลกครั้งแรกในกรุงลอนดอนภายใต้ชื่อว่า "St. Christopher's Hospice".
ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีสถานพยาบาลระยะสุดท้ายเพียงแห่งเดียวใน พ.ศ. 2517 และเพิ่มอย่างรวดเร็วเป็น 3,650 แห่งใน พ.ศ. 2547 โดยมี ผู้ป่วยประมาณ 1,060,000 คน เป็นโรคมะเร็ง 46% โรคหัวใจ 12% โรคสมองเสื่อม 9% โรคปอด 7% โรคไต 3% และอื่นๆ โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา "Hospice is a Medicare benefit that pays for palliative care for patients with a prognosis of 6 months or less" (สถานที่ดูแลระยะสุดท้ายเป็นผลประโยชน์อย่างหนึ่งของ Medicare ที่จะให้การดูแล ผู้ป่วยที่จะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน 6 เดือนให้สะดวกสบาย).
แต่เนื่องจากการอนุมานโรค (prognosis) ที่จะบอกเวลาตายได้ถูกต้องนั้นยังคลาดเคลื่อนมาก ผู้ป่วย ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่แพทย์คาดว่าจะอยู่ได้อีก 6 เดือนนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ได้ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น เพราะแพทย์ส่วนใหญ่จะมีทัศนะทางบวกและให้ความคาดหวังมากกว่าที่เป็นจริงประมาณ 5 เท่า.
ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ก็พยายามปรับเปลี่ยน hospice care ให้หมายรวมถึง การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านด้วย โดยมี "Home Health Care agencies" เพิ่มขึ้น.
อย่างไรก็ตาม การจะสร้างสถานพยาบาลระยะสุดท้าย (hospice) ขึ้นในประเทศไทย นอกจากจะต้องคำนึงถึงเรื่องค่าใช้จ่าย ศักยภาพและคุณภาพของบุคลากรที่จะดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ และทรัพยากรอื่นๆแล้ว ยังต้องคำนึงถึงวัฒนธรรม ประเพณี และค่านิยมของสังคม ตลอดจนความปรารถนาของผู้ป่วยด้วย.
แม้แต่ในวัฒนธรรมอเมริกันที่ความผูกพันในครอบครัว (พ่อ แม่ ลูก ฯลฯ) จะค่อนข้างต่ำกว่าในวัฒนธรรมไทยมาก ดังจะเห็นได้จากการที่คนชราจำนวนมากต้องไปอยู่ใน "สถานที่พักคนชรา" (เหมือน "บ้านบางแค" ของไทย แต่หลายแห่งอาจแย่กว่า) เพราะลูกหลานปฏิเสธที่จะดูแล แต่ Gallup Poll ก็ยังพบว่าคนอเมริกันร้อยละ 88 ต้องการการดูแลรักษาที่บ้านของตนเองหรือของญาติในระยะสุดท้ายของชีวิต.
ดังนั้น การสร้าง "สถานพยาบาลระยะสุดท้าย" ในประเทศไทยย่อมเปิดโอกาสให้ลูกหลานผลักไสพ่อแม่ปู่ย่าตายายของตนไปตายใน "สถานพยาบาลระยะสุดท้าย" มากขึ้น ดังที่ได้ผลักไสพ่อแม่ปู่ย่าตายายของตนให้ไปตายที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นๆในปัจจุบัน.
ทั้งที่ผู้ป่วยจำนวนมากต้องการกลับไปตายที่บ้าน แต่ลูกหลานมักจะอ้างอุปสรรคต่างๆนาๆในการดูแลญาติผู้ใหญ่ของตน และปล่อยให้ญาติผู้ใหญ่ของตนเองต้องตายอย่างโดดเดี่ยวหรือตรงข้ามกับความต้องการของผู้ป่วย และตายอย่างไม่สงบในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นๆ.
การสร้าง "บ้านพักคนชรา" และ "สถานพยาบาล ระยะสุดท้าย" จึงต้องคำนึงถึงการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย เช่น ค่านิยมแห่งการทอดทิ้งพ่อแม่ปู่ย่าตายาย/ ผู้มีพระคุณ วัฒนธรรมแห่งการขาดน้ำใจ ขาดความเมตตากรุณา และขาดความรับผิดชอบ.
การดูแลผู้ป่วยให้ "ตายดี" จึงไม่ได้อยู่ที่การมี "ทีมดูแลให้สบาย" (palliative care team) หรือการมี "สถานพยาบาลระยะสุดท้าย" (hospice) เพื่อผลักภาระความรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยไปให้ผู้อื่นและผลักไสผู้ป่วยให้ไปตายอย่างไม่สงบในสถานที่ที่ผู้ป่วยไม่ต้องการ เป็นต้น.
สรุป
หลักการการดูแลผู้ป่วยให้ตายดี คือ การดูแลผู้ป่วยให้สามารถตายได้อย่างสบาย ปราศจากความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานต่างๆ ทั้งทางกายและทางใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และถ้าสามารถทำให้ผู้ป่วยปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างยกเว้นการยึดมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนศรัทธาเพียงเท่านั้น หรือปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่มีความเป็น "ตัวกู-ของกู" เหลืออยู่ ก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถตายดีที่สุดตามอัตภาพของตนได้.
สันต์ หัตถีรัตน์ พ.บ.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 8,965 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้