สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรง พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1900 ที่เมืองนนทบุรี มีพระนามเดิมว่า "สังวาล" ทรงเป็นบุตรีของพระชนกชู และพระชนนีคำ เมื่อพระชนกชูถึงแก่กรรม สมเด็จพระบรมราชชนนียังทรงพระเยาว์มาก ต่อมาได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร. พระองค์ทรงสนพระทัยในวิชาพยาบาลตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และได้ทรงเข้าเรียนวิชาพยาบาลที่โรงเรียนผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ทรงสำเร็จการศึกษาได้ระดับประกาศนียบัตรในปี ค.ศ. 1916 ในปีต่อมาทรงได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อวิชาพยาบาลในระดับสูงขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา.
ในการณ์นี้พระองค์ได้มีโอกาสรู้จักกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระนามในขณะนั้นของสมเด็จ พระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และทรงอภิเษกสมรสเมื่อวันศุกร์ที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1920 ณ วังสระปทุม กรุงเทพมหานคร ทรงมี พระโอรสธิดา 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1923.
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระราชสมภพ ณ เมืองไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมนี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1925.
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชสมภพ ณ เมืองเคมบริดจ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1927.
มิถุนายน ค.ศ. 1928 สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตร์ขั้นเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทรงนำครอบครัวนิวัติกลับเมืองไทย สมเด็จพระบรมราชชนกมีพระราชปณิธานแรงกล้าที่จะใช้ความรู้ที่ทรงเรียนมาดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยหลักแห่งมนุษยธรรม แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามที่มุ่งหวังไว้ วันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1929 สมเด็จพระบรมราชชนก สวรรคต.
ขณะนั้นสมเด็จพระบรมราชชนนีมีพระชนมายุเพียง 29 พรรษา ต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ของพระโอรสธิดาเล็กๆ ทั้ง 3 พระองค์ ทั้งยังทรงเจริญรอยตามอุดมการณ์ของพระสวามีในการทำงานเพื่อผู้ยากไร้ พระองค์โปรดการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย โปรดการทรงงานด้วยพระองค์เอง ทรงใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อนำพระราชทรัพย์ไปใช้ในกิจการกุศล ทรงศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ไม่ทรงยึดถือในลาภ ยศ สรรเสริญ ดังเคยมีรับสั่งว่า "คนเราไม่ควรลืมตัว ไม่อวดดี ไม่ถือดีว่าตนเก่ง".
ค.ศ. 1933 ทรงพาพระโอรสธิดาไปประทับที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ เพื่ออนาคตทางด้านการศึกษาและเพื่อพระอนามัยของพระโอรสพระองค์โตที่ไม่สู้แข็งแรง.
ค.ศ. 1935 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสละพระราชสมบัติ รัฐบาลไทยได้อัญเชิญพระโอรสพระองค์โตซึ่งขณะนั้นพระชนมายุ 9 พรรษากว่าขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี และต่อมาพระราชโอรสองค์เล็กขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1946 ด้วยพระชนมายุเพียง 18 พรรษากว่า สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงถวายการอภิบาลได้อย่างดีเลิศ ทำให้พระราชโอรสทั้งสอง พระองค์ต่างทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐยิ่ง.
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล-อดุลยเดชทรงอภิเษกสมรสในปี ค.ศ. 1950 แล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงแยกพระองค์ออกไปโดยทรงย้ายจากพระตำหนักวิลล่าวัฒนา เมืองพุยยี่ มาประทับ ณ แฟลตเลขที่ 19 ถนนอาวองโปสต์ เมืองโลซานน์ จนถึง ค.ศ. 1964 จึงนิวัติกลับประเทศไทย.
ค.ศ. 1964 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระราชทานกำเนิดหน่วยแพทย์อาสาศรีสังวาลย์ออกเยี่ยมเยียนราษฎรตามถิ่นทุรกันดาร และต่อมา ต้นปี ค.ศ. 1969 ได้ทรงเรียกว่า "แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)" จากการทรงงานก่อนหน้านี้ทรงพบปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ เรื่องโรคฟัน ทรงได้กำชับต่อการออกหน่วยแพทย์ พอ.สว. ไว้ว่า "ต้องมีทันตแพทย์ไปช่วยชาวบ้านทุกครั้ง เนื่องจากคนไข้ในท้องถิ่นทุรกันดารเมื่อปวดฟันจะต้องทนทุกข์ทรมานไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ดังนั้น ต้องมีทันตแพทย์ไปช่วยโดยด่วน" นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงมีทันตแพทย์ ร่วมปฏิบัติงานในหน่วยแพทย์ พอ.สว. ทุกครั้ง.
ค.ศ. 1973 พระองค์ทรงเริ่มนำระบบการสื่อสารทางวิทยุรับ-ส่งมาใช้ให้คำปรึกษาและรักษาผู้ป่วย ซึ่งเรียกว่า "แพทย์ทางอากาศ" ซึ่งต่อมาเรียกว่า "แพทย์ทางวิทยุ".
ค.ศ. 1974 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงกิจการพอ.สว. โดยให้ดำเนินงานในรูปของมูลนิธิและพระราชทานนามมูลนิธิว่า "มูลนิธิแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" โดยพระราชทานเงิน 1 ล้านบาทเป็นทุนเริ่มแรกของมูลนิธิ.
วันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1986 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีปีที่ 86 มูลนิธิ พอ.สว. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขครั้งที่ 1 ขึ้นในจังหวัด พอ.สว. 50 จังหวัด ปีต่อๆ มาได้ขยายการรณรงค์จนครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ค.ศ. 1989. คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ" นอกจากนี้ ทุกคนยังพร้อมใจกันถวายพระ- ราชสมัญญาแก่พระองค์เป็น "พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย" "พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบท" และ "พระมารดาแห่งการสังคมสงเคราะห์".
ค.ศ. 1990 กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีซึ่งให้ความเห็นชอบให้วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันพยาบาลแห่งชาติ" ด้วย.
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรง พระประชวรด้วยโรคพระหทัย และเสด็จเข้ารักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1995 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม เวลา 21 นาฬิกา 17 นาที รวมพระชนมายุ 94 พรรษา 8 เดือนกับอีก 27 วัน.
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 18 กรกฎาคม ของทุกปีซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็น "วันศรีนครินทร์" และได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ พระราชทานพระ-ราชานุญาตให้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1997.
16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ยกย่องพระองค์ว่าเป็น "บุคคลสำคัญของโลก" ที่มีผลงานดีเด่นเพื่อส่วนรวมในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ การพัฒนามนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม.
ค.ศ. 2000 รัฐบาลได้ประกาศเป็นปีเฉลิมฉลองวโรกาสครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์และถวายพระราชสมัญญา "พระมารดาแห่งการสาธารณสุขไทย".
ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.
โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี
E-mail : [email protected]
www.geocities.com/tantanodclub
- อ่าน 5,480 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้