คำประกาศของแพทยสมาคมโลกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับองค์กรธุรกิจ (THE WORLD MEDICAL ASSOCIATION STATEMENT CONCERNING THE RELATIONSHIP BETWEEN PHYSICIANS AND COMMERCIAL ENTERPRISES)*
ก. อารัมภบท
1. การรักษาพยาบาลผู้ป่วยนั้น แพทย์จะต้องใช้ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือวินิจฉัยโรค เครื่องมือและวัสดุต่างๆ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและพัฒนาโดยองค์กรธุรกิจต่างๆ โดยภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเจ้าของทรัพยากรต่างๆ ได้อุดหนุนลงทุนวิจัยและพัฒนาที่ใช้เงินจำนวนมาก เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และประสบการณ์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของแพทย์ นอกจากนั้น ภาคอุตสาหกรรมยังสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าในการวิจัยทางการแพทย์, การจัดประชุมวิชาการต่างๆ และการศึกษาต่อเนื่องของแพทย์ อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยและระบบดูแลสุขภาพทั้งมวล การร่วมมือกันระหว่างแหล่งเงินทุนและความรู้ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากภาคอุตสาหกรรม ความรู้ทางการแพทย์ ทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการวินิจฉัยโรค, ผลิตภัณฑ์ยา และวิธีการรักษาแบบใหม่ ซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าทางการแพทย์อย่างมาก.
2. อย่างไรก็ตาม การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ขององค์กรธุรกิจกับแพทย์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยและชื่อเสียงของวิชาชีพเวชกรรม หน้าที่ของแพทย์คือ การประเมินอย่างเป็นภาวะวิสัยว่าสิ่งใดจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากที่สุด ในขณะที่องค์กรธุรกิจจะคาดหวังที่จะสร้างผลกำไรให้แก่เจ้าของกิจการด้วยการขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตนและแข่งขันกันเพื่อหาลูกค้า ผลประโยชน์ทางธุรกิจจะมีผลกระทบต่อภาวะวิสัยของแพทย์ โดยเฉพาะกรณีที่แพทย์นั้นมีความผูกพันกับองค์กรธุรกิจ.
3. สิ่งที่ควรพิจารณายิ่งกว่าการห้ามความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับองค์กรธุรกิจคือ การจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับความสัมพันธ์ดังกล่าว แนวปฏิบัติดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยหลักการสำคัญเรื่องการเปิดเผยข้อมูล, การหลีกเลี่ยงเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน และการวินิจฉัยทางคลินิกของแพทย์เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย.
4. แนวปฏิบัติเหล่านี้ควรใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาทบทวนแนวปฏิบัติที่มีอยู่และพัฒนาปรับปรุงแนวปฏิบัติที่จะทำขึ้นในอนาคตต่อไป.
ข. การจัดประชุมวิชาการทางการแพทย์
5. แพทย์อาจเข้าร่วมประชุมวิชาการทางการแพทย์ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินทั้งหมดหรือบางส่วนจากองค์กรทางธุรกิจได้ หากการประชุมนั้น มีหลักการ ดังต่อไปนี้
5.1 วัตถุประสงค์หลักของการจัดประชุมคือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการประกอบวิชาชีพ.
5.2 การจัดเลี้ยงรับรองในระหว่างการประชุมเป็นเรื่องรองไปจากการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ทางวิชาชีพ และต้องไม่จัดเลี้ยงรับรองที่ฟุ่มเฟือยเกินกว่าการจัดเลี้ยงตามประเพณีของท้องถิ่นและเป็นที่ยอมรับกันได้ทั่วไป.
5.3 แพทย์จะต้องไม่รับเงินค่าใช้จ่ายต่างๆโดยตรงจากองค์กรธุรกิจ เช่น ค่าเดินทาง, ค่าห้องพักและค่าอาหารในการประชุมหรือเงินค่าตอบแทนที่เข้าประชุม เว้นแต่มีกฎหมายหรือนโยบายของแพทยสมาคมของแต่ละประเทศกำหนดอนุญาตไว้.
5.4 ชื่อขององค์กรธุรกิจที่การสนับสนุนทาง การเงินในการจัดประชุมจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อให้บรรดาแพทย์ทั้งหลายและสาธารณชนทราบข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินที่สนับสนุนการประชุม นอกจากนี้ ผู้จัดประชุมและวิทยากรจะต้องเปิดเผย ให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบถึงผลประโยชน์ทางการเงินที่อาจโยงใยกับบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีกล่าวถึงในการประชุมหรือบริษัทคู่แข่งของผลิตภัณฑ์นั้นๆ.
5.5 แพทย์ที่เสนอข้อมูลในที่ประชุมจะต้องเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้องแม่นยำในทางวิทยาศาสตร์ การเสนอทางเลือกในการรักษาที่เป็นไปได้ต่างๆ ต้องมีความเหมาะสมไม่ลำเอียง และต้องไม่ถูกครอบงำโดยองค์กรที่ให้การสนับสนุนการจัดประชุม.
5.6 การจัดประชุมต้องเป็นที่ยอมรับกันว่าสนองต่อวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาต่อเนื่องของแพทย์/พัฒนาการประกอบวิชาชีพต่อเนื่อง (CME/CPD) เท่านั้น โดยที่ต้องยึดหลักการ ดังต่อไปนี้
5.6.1 องค์กรธุรกิจที่ให้การสนับสนุน เช่น บริษัทจำหน่ายยา จะต้องไม่มีอิทธิพลต่อเนื้อหา, วิธีการและเอกสารการนำเสนอ, การคัดเลือกวิทยากร หรือการจัดพิมพ์เผยแพร่ผลงาน.
5.6.2 งบประมาณในการจัดประชุมที่สามารถยอมรับได้มีเพียงกรณีเดียวคือ ค่าใช้จ่ายทั่วไปในการจัดประชุม.
ค. การให้ของขวัญ
6. แพทย์ไม่ควรรับของขวัญขององค์กรธุรกิจ เว้นแต่มีกฎหมายหรือนโยบายของแพทยสมาคมของแต่ละประเทศกำหนดอนุญาตไว้ โดยที่ต้องยึดหลักการดังต่อไปนี้
6.1 ของขวัญที่ให้ต้องมีราคาตามประเพณี ที่ยอมรับกัน.
6.2 ของขวัญนั้นมิใช่เงินสด.
6.3 ของขวัญแม้จะมีราคาตามประเพณีที่ยอมรับกัน จะต้องไม่จูงใจในการสั่งจ่ายยาตัวใดตัวหนึ่งของแพทย์ หรือการใช้เครื่องมือหรือเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือการส่งต่อผู้ป่วยไปรับบริการยังสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ.
ง. การวิจัย
7. แพทย์สามารถดำเนินการวิจัยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากองค์กรธุรกิจได้ ทั้งกรณีที่ดำเนินการในนามองค์กรหรือกระทำในนามบุคคล โดยต้องยึดหลักการดังต่อไปนี้
7.1 แพทย์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ตามหลักจริยธรรมและปฏิญญาเฮลซิงกิ ตลอดจนเกณฑ์การตัดสินใจทำการวิจัยทางคลินิก และต้องไม่ทำการวิจัยภายใต้แรงกดดันจากภายนอก ที่จะมีผลกระทบต่อผลการวิจัยหรือการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานดังกล่าว.
7.2 ถ้าเป็นไปได้ แพทย์หรือองค์กรใดๆ ที่ต้องการศึกษาวิจัย ควรขอทุนวิจัยจากบริษัทมากกว่า 1 แห่งในการสนับสนุนงานวิจัยโครงการใดโครงการหนึ่ง.
7.3 ข้อมูลที่จะบ่งถึงตัวบุคคลของผู้ป่วยหรืออาสาสมัครที่ถูกวิจัย จะต้องไม่ถูกส่งไปยังบริษัทที่ให้การสนับสนุนการวิจัยนั้น โดยปราศจากความยินยอมของเจ้าของข้อมูลที่เกี่ยวข้อง.
7.4 การจ่ายค่าตอบแทนในการทำวิจัยให้แก่แพทย์ ควรต้องพิจารณาจากเวลาและความสามารถของผู้วิจัย โดยต้องไม่มีเกี่ยวโยงกับผลการวิจัยโดยเด็ดขาด.
7.5 ผลการศึกษาวิจัยที่เผยแพร่สู่สาธารณะจะต้องปรากฏชื่อองค์กรผู้ให้การสนับสนุน รวมถึงข้อความที่ระบุชื่อผู้ขอให้ทำงานวิจัยนั้น หลักเกณฑ์ข้อนี้ให้ใช้กับการสนับสนุนโดยตรงและโดยอ้อม การสนับสนุนทั้งหมดหรือบางส่วน.
7.6 องค์กรธุรกิจจะต้องไม่ยับยั้งการตีพิมพ์ผลการศึกษาวิจัยใดๆ โดยเฉพาะกรณีที่ผลการศึกษาวิจัยใดที่มิได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนเพราะเหตุที่ให้ผลเชิงลบ การศึกษาวิจัยที่ทำซ้ำโดยไม่มีความจำเป็นและการวิจัยที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ถูกวิจัยในอนาคตได้.
จ. การร่วมประกอบกิจการกับองค์กรธุรกิจ
8. แพทย์ไม่ควรประกอบธุรกิจร่วมกับองค์กรธุรกิจ เช่น การเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นกรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษา ยกเว้นจะเป็นไปตามหลักการดังต่อไปนี้
8.1 การร่วมประกอบธุรกิจนั้นมิได้มีผลกระทบต่อคุณธรรมและจรรยาของแพทย์.
8.2 การร่วมประกอบธุรกิจนั้นไม่เป็นการขัดกันต่อหน้าที่ ความรับผิดชอบของแพทย์ที่มีต่อผู้ป่วยของตน.
8.3 การร่วมประกอบธุรกิจและ/หรือความสัมพันธ์กับองค์กรธุรกิจนั้นได้รับการเปิดเผยชัดเจนในกรณีต่างๆ เช่น การบรรยาย การเขียนบทความและรายงานผลการวิจัย.
แปลโดย
วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ พ.บ., น.บ., Dr.Med.,
อ.ว. (นิติเวชศาสตร์), ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมาย
สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการกฤษฎีกา,
ไพศาล ลิ้มสถิตย์ น.บ., น.ม.,
นักวิชาการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อ่าน 2,949 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้