ในโอกาสที่หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย ร่วมกันรณรงค์ไม่สูบบุหรี่มาครบยี่สิบปี
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์เดวิด เลวี จากสถาบันแปซิฟิก เพื่อการวิจัยและประเมินผล มหาวิทยาลัยบัลติมอร์ ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้มาตรการควบคุมยาสูบของประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2534 -.2549.
การประเมินผลใช้ SimSmoke Simulation Model ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่พัฒนาขึ้นใช้ประเมินผลผลกระทบนโยบายต่างๆ ที่ใช้ในการควบคุมยาสูบ ที่เป็นที่ยอมรับกันในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายๆ ประเทศ.
สาเหตุที่ใช้ข้อมูลเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา แทนที่จะเป็นข้อมูล พ.ศ. 2529 ปีที่เริ่มรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ เพราะข้อมูล พ.ศ. 2534 มีความสมบูรณ์มากกว่า รวมทั้งนโยบายควบคุมยาสูบเริ่มใช้ พ.ศ. 2532.
มาตรการทางนโยบายควบคุมยาสูบของประเทศไทย ประกอบด้วยการห้ามโฆษณาสินค้ายาสูบ พ.ศ. 2532 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2535 พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 การขึ้นภาษีบุหรี่ 7 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 2537-2549 การนำภาษียาสูบมารณรงค์ พ.ศ. 2546 และการใช้รูปภาพเป็นคำเตือน พ.ศ. 2548.
ผลการวิเคราะห์ พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ ระหว่าง พ.ศ. 2534-2549 ลดลงร้อยละ 25 จำนวนผู้สูบบุหรี่ในปี พ.ศ. 2549 ที่มี 9.5 ล้านคน น้อยกว่าที่ควรจะมี 4 ล้านคน ซึ่งหากไม่ได้มีการนำมาตรการควบคุมยาสูบต่างๆ มาใช้ จำนวนผู้สูบบุหรี่ของไทย ควรจะเป็น 13.5 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2549.
ในจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น 4 ล้านคน เป็นผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ 2.4 ล้านคน และเป็นผู้สูบบุหรี่ใหม่ที่ติดบุหรี่น้อยลง 1.6 ล้านคน.
ผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ระหว่าง พ.ศ. 2534-2549 มีจำนวนลดลง 31,867 คน เฉพาะปี พ.ศ. 2549 ผู้เสียชีวิตลดลง 5,729 คน.
จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จะลดลง 319,458 คน ระหว่าง พ.ศ. 2534- 2569 และเฉพาะปี พ.ศ. 2569 ปีเดียว จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 18,409 คน.
สัดส่วนผลกระทบที่เกิดจากนโยบายแต่ละมาตรการ พบว่า เป็นผลจากมาตรการทางภาษี 61 % การห้ามโฆษณา 22 % การรณรงค์ 7 % การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ 6 % และการพิมพ์ คำเตือนเป็นรูปภาพ 4 %.
เนื่องจากระบบบริการเพื่อช่วยให้ผู้ที่เสพติดบุหรี่เลิกสูบ ยังทำกันน้อยมากในประเทศไทย และไม่มีข้อมูลวิจัยเป็นหลักฐานประจักษ์ รวมทั้งการเข้าถึงยาอดบุหรี่ยังมีน้อยมาก ศ.เลวี มีความเห็นว่า การช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ มีบทบาทน้อยต่อผลการรณรงค์ที่ผ่านมา.
เซอร์ริชาร์ด ปีโต ซึ่งมาประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เน้นให้ผู้ที่ทำงานด้านการควบคุมยาสูบของประเทศไทย เพิ่มความพยายามในการช่วยให้ผู้สูบบุหรี่ไทยเลิกสูบ เพื่อลดความสูญเสียจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในทศวรรษนี้ และทศวรรษหน้า เพราะการป้องกันไม่ให้เด็กติดบุหรี่ จะลดความสูญเสียในอีกยี่สิบถึงสามสิบปีข้างหน้า แต่จะไม่มีผลต่อความสูญเสียในปัจจุบัน และระยะเวลาอันใกล้จากนี้.
บุคลากรสาธารณสุขทุกสาขา จึงมีความสำคัญยิ่งในการที่จะเพิ่มบทบาทในการช่วยให้ผู้ที่มาใช้ บริการ รวมทั้งครอบครัวเลิกสูบบุหรี่.
ซึ่งทำได้ด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมของสถานบริการสาธารณสุขให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด มีระบบการบันทึกผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ ระบบการให้คำแนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบ ระบบการส่งต่อผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ไปยังคลินิกที่ช่วยให้เลิกบุหรี่ ทั้งนี้ต้องพัฒนาระบบเหล่านี้ให้เข้าสู่งานประจำ เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระงาน และเพื่อความยั่งยืนของการดำเนินการ.
คำขวัญวันไม่สูบบุหรี่โลก พ.ศ. 2550 คือ 100 % Smoke free environment, create and enjoy หรือ "สุขกาย สบายใจ ที่ไหนๆ ก็ปลอดควันบุหรี่" และกระทรวงสาธารณสุข กำลังจะออกประกาศให้โรงพยาบาลทั่วประเทศปลอดบุหรี่ 100 % รวมทั้งกำลังศึกษาถึงความเป็นไปได้ ที่จะกำหนดให้ยาอดบุหรี่เป็นยาที่เบิกได้.
การทำให้คนเลิกสูบบุหรี่มีความสำคัญเพราะงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของโครงการหลักประกันสุขภาพยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และบุหรี่เป็นสาเหตุของภาระโรคอันดับที่สามของคนไทย.
ในด้านนโยบายควบคุมยาสูบ รัฐบาลได้ทำครบเกือบหมดแล้ว.
การช่วยให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ 9.5 ล้านคน ลดลงกว่าที่เป็นอยู่ในอนาคตอันใกล้ จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะช่วยกันคนละไม้คนละมือ.
แม้การทำให้คนเลิกสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย แต่อย่างไรเสียก็ยังง่ายกว่าการรักษาคนที่ป่วยจากการสูบบุหรี่แล้ว.
- อ่าน 3,527 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้