ทั่วโลกมีคนที่เสียชีวิตจากมาลาเรียประมาณ 1 ล้านคนต่อปีผมยังเล่าให้ฟัง แล้ววัณโรคที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี ถ้าผมไม่พูดถึงมันคงจะน้อยใจแย่เลย.
วัณโรคเป็นโรคที่พบมานานแล้ว มักเป็นภายในครอบครัวสมัยก่อนจึงเชื่อว่าถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกหลาน จนค.ศ. 1865 นักวิทยาศาสตร์ถึงพบว่าเป็นโรคติดต่อ ผู้ที่เป็นโรคนี้จึงถูกสังคมรังเกียจ. ต่อมา ค.ศ. 1882 Robert Koch พบว่าเชื้อแบคทีเรียรูปแท่งชื่อ Tubercle bacilli เป็นสาเหตุของโรคนี้ (ปัจจุบันคือ Mycobacterium tuberculosis) และพิสูจน์ได้ว่าโรคนี้แพร่เชื้อผ่านทางเสมหะทำให้ควบคุมการระบาดได้. นอกจากนี้ Koch ยังพยายามผลิตวัคซีนชื่อ Tuberculin ซึ่งล้มเหลวในการป้องกันโรค แต่พอจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้จึงยังคงมีใช้อยู่ในปัจจุบัน.
ทุกวันนี้ทราบแล้วว่าเชื้อวัณโรคอยู่ในสกุล Mycobacterium ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดเช่น M. tuberculosis, M. bovis และ Mycobacterium avium complex เป็นต้น โดยเชื้อที่ก่อโรคในคนมากที่สุดคือ M. tuberculosis.
ต่อมาค.ศ. 1918 A. Calmette และ A. Guerin สองนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบัน Pasteur ก็ผลิตวัคซีนขึ้นมาเรียกว่า Bacille Calmette-Guerin (BCG) และเริ่มใช้ในปี ค.ศ. 1921 สำหรับวัคซีน BCG นั้นจากการศึกษาพบว่าป้องกันโรคได้ไม่แน่นอนมีตั้งแต่ 0% (การศึกษาที่อินเดีย) จนถึง 77% (การศึกษาที่อังกฤษ) จึงสรุปได้ว่ามันไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค แต่หลายการศึกษาเห็นตรงกันว่าช่วยลดอุบัติการณ์ของวัณโรคที่รุนแรงได้เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มสมองและวัณโรคชนิด Miliary องค์การอนามัยโลกจึงยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ในประเทศที่เป็นแหล่งของวัณโรคซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น.
สมัยก่อนอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยวัณโรคสูง มากเพราะยังไม่มีการรักษาที่ดีพอ จนกระทั่งค.ศ. 1946 ก็พบว่า Streptomycin [ค้นพบโดย Selman Abraham Wacksman (1888-1973) ในปีค.ศ. 1944] มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคนี้ แต่ไม่นานก็มีรายงานการดื้อยา จึงต้องให้ยาเสริมเข้าไปอีกตัวคือ Para amino salicylic acid (PAS). ต่อมาค.ศ. 1952 ก็มีความหวังใหม่เมื่อ Robitzek และคณะพบว่า Isoniazid (สังเคราะห์โดย Meyer และ Mally ตั้งแต่ ค.ศ. 1912) มีประสิทธิภาพในการรักษาวัณโรคแม้ให้เพียงตัวเดียว แต่ไม่นานก็มีรายงานเชื้อดื้อยาอีก การรักษาจึงต้องใช้ยาทั้ง 3 ตัวร่วมกันและให้ยานานเป็นปี ถึงกระนั้นก็ตามอัตราการกลับเป็นซ้ำก็ยังคงสูงอยู่.
ค.ศ. 1965 มีการค้นพบยาใหม่ชื่อ ansamycin (ปัจจุบันคือ rifampicin) ไม่มีใครคิดจะทดลองใช้มันเพียงตัวเดียวเพราะเกรงว่าจะเกิดการดื้อยาอีก จึงทดลองให้ยานี้เสริมเข้าไปพบว่าทำให้ระยะเวลาในการรักษาสั้นลงเหลือเพียง 6 เดือน.
เนื่องจาก PAS มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก จึงมีการพัฒนายาใหม่มาทดแทนคือ ethambutol ต่อ มาค.ศ. 1970 บริษัท Squib ก็ผลิต pyrazinamide เข้ามาเสริมทัพทำให้อัตราการหายสูงขึ้นกว่า 90%.
ขอเล่าด้านการตรวจวินิจฉัยบ้าง ปัจจุบันทำได้โดยการตรวจเอกซเรย์ปอดและนำเสมหะมาย้อมสีเพื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องหาเชื้อ แต่หากเชื้อมีปริมาณน้อยก็อาจตรวจไม่พบ ส่วนการเพาะเลี้ยงหาชนิดของเชื้อนั้นก็ต้องรอ 2-4 เดือนกว่าจะได้ผล. ค.ศ. 1995 บริษัท Roche จึงพัฒนาวิธีตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโดยใช้เทคนิค PCR คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับ BIOTEC และ NSTDA ก็พัฒนาชุดตรวจ PCR ขึ้นมาเช่นกันซึ่งตรวจหาพันธุกรรมของเชื้อได้ภายใน 1-2 สัปดาห์.
มิถุนายน ค.ศ. 1998 Stewart T. Cole แห่งสถาบัน Pasteur ก็ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมด (genome) ของเชื้อ M. tuberculosis ได้สำเร็จและตีพิมพ์ในวารสาร Nature เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การคิดค้นยาและวัคซีนตัวใหม่.
ต่อมา Marcus Horwitz ได้ปรับปรุงวัคซีน BCG เป็น rBCG30 ซึ่งปัจจุบันกำลังทดลอง phase IV ในแอฟริกาใต้. นอกจากนี้บริษัท Corixa และ Glaxo SmithKline ก็พัฒนาวัคซีนใหม่ชื่อ Mtb72f และพึ่งเริ่มทดลอง phase I ในอเมริกาเมื่อมกราคม ค.ศ. 2004 ล่าสุดเดือนมีนาคม ค.ศ. 2004 บริษัท Intercell AG และ Statens Serum Institut ก็คิดค้นวัคซีนใหม่และวางแผนจะทดลอง phase I ในปีค.ศ. 2005.
เชื้อวัณโรคมีความสามารถสูงมาก เชื่อว่าไม่ช้าก็คงจะดื้อยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนายาตัวใหม่ๆ อยู่รวมถึงมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย แล้วเราจะช่วยอะไรได้บ้างไหม? ผู้เขียนคงต้องบอกว่าช่วยได้โดยบริโภคยาปฏิชีวนะให้เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยวัณโรคต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง อย่าหยุดยาหรือหาซื้อยาเองเพราะจะทำให้เชื้อมีโอกาสดื้อยาสูง.
ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.
โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี
E-mail : [email protected]
- อ่าน 5,073 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้