"From my experience reflects 1 case, case after case reflects 2 cases, from our case series reflects 3 cases."
Framingham study
มาดูกันว่าวันนี้ผมเอาอะไรมาฝากทุกคน "จากประสบการณ์ของฉัน" หมายถึง 1 เคส "เคสแล้วเคสเล่า" หมายถึง 2 เคส "จากการศึกษาของพวกเรา" หมายถึง 3 เคส ประโยคนี้เป็นการเปรียบเทียบความน่าเชื่อถือของข้อมูลทางการแพทย์ครับ ถ้าเป็นเพียงความคิดเห็นของแพทย์เพียงหนึ่งคนก็น่าเชื่อถือน้อย แต่ถ้าเกิดกับผู้ป่วยคนแล้วคนเล่าความน่าเชื่อถือก็มีมากขึ้น และสุดท้ายหากเป็นผลสรุปจากหลายๆ การศึกษาก็เป็นที่ยอมรับ.
คำคมนี้ผู้เขียนนำมาจาก Framingham study จึงอยากจะเล่าถึงสักหน่อย Framingham เป็นเมืองหนึ่งในรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1918 เมืองนี้เป็นพื้นที่ศึกษาโรคติดต่อชนิดหนึ่งคือวัณโรค ต่อมาการสาธารณสุขพัฒนาขึ้นทำให้โรคติดต่อลดน้อยลง โรคที่คร่าชีวิตคนอเมริกันกลับเป็นโรคไม่ติดต่อเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ. Gilcin F. Meadors ได้เสนอให้วิจัยระบาดวิทยาของโรคนี้ เมือง Framingham จึงได้รับการนึกถึงอีกครั้ง การศึกษานี้มีชื่อว่า Framingham heart study และเริ่มทำการวิจัยในปีค.ศ. 1948.
การศึกษานี้จะเก็บข้อมูลของผู้เข้าร่วมโครงการและติดตามไปเป็นเวลาหลายปี พบว่ามีความสัมพันธ์ของโรคหลอดเลือดหัวใจกับสิ่งต่างๆ ที่สำคัญคือ ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, การสูบบุหรี่และไขมันในเลือดผิดปกติ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาเหตุเสียทีเดียว ทาง Framingham study จึงบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่เรียกว่า "ปัจจัยเสี่ยง (Risk factor)" ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน.
นับเป็นเวลา 50 กว่าปีแล้ว ทุกวันนี้ Framingham study ก็ยังคงดำเนินอยู่และได้ขยายไปสู่การศึกษาโรคอื่นๆ อีกด้วยเช่น โรคหลอดเลือดสมอง ต้องขอบคุณผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านที่ทำให้โรคกลุ่มนี้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของชาวโลก.
ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.
โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี
E-mail : [email protected]
- อ่าน 4,853 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้