"แพทย์นั้นเหมือนช่างปะหม้อคือหม้อทะลุแล้วมาช่วยกันปะ
ครูนั้นเหมือนช่างปั้นหม้อจะปั้นให้สวยงามอย่างไรก็ได้
เพราะฉะนั้น ครูต้องสำคัญกว่าแพทย์
การศึกษาเป็นระบบที่ใหญ่กว่าระบบการแพทย์
ถ้าการศึกษาดี คนก็จะมีสุขภาพดี
ถ้าการศึกษาดี คนก็จะมีความสุขหรือคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย"
จากหนังสือของ ศ.นพ ประเวศ วะสี
คำคมวันนี้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษากับการแพทย์ แน่นอนว่าทั้งสองอย่างสำคัญทั้งคู่ แต่น้ำหนักดูจะเอนเอียงไปทางอย่างแรก สมัยเด็กผมคุ้นเคยกับการเรียนการสอนเพราะคุณพ่อและคุณแม่เป็นคุณครูทั้งคู่ แต่เมื่อโตขึ้นผมสนใจงานด้านสาธารณสุขจึงเข้ามาเรียนแพทย์ ทำให้มีโอกาสสัมผัสทั้งสองอย่าง พอได้อ่านข้อความข้างต้นผมก็รู้สึกเห็นด้วยทันที.
ก่อนอื่นต้องย้ำก่อนว่า "ครู" หมายถึงทุกคนที่เป็นผู้ให้ความรู้ เช่นผู้ปกครองเปรียบเสมือนครูคนแรก เป็นต้น ถ้าครูทั้งหลายมีความเข้าใจในความรู้การแพทย์ทั่วไปอย่างถูกต้อง การสาธารณสุขของไทยคงดีกว่านี้.
ผมเห็นด้วยกับการที่จะให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาแก่เยาวชนอย่างเจาะลึก เผื่อพลาดพลั้งจะได้มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและไม่ต้องท้องจนต้องไปทำแท้งเถื่อน. พูดถึงเรื่องท้องก็อยากจะพูดถึงเรื่องการทำหมัน ชาวบ้านมีความเชื่อว่าทำแล้วร่างกายจะอ่อนแรงทนงานหนักไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เมื่อไม่ทำหมันก็ต้องหันไปคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่นการกินยาหรือฉีดยาคุม ไม่นานก็เห็นมาฝากครรภ์อีกแล้วเพราะกินยาคุมไม่สม่ำเสมอ บางคนท้องตอนอายุมากๆ ทารกก็เสี่ยงกับภาวะปัญญาอ่อนอีก.
ผู้เขียนจึงอยากฝากทุกท่านให้ความสำคัญกับการศึกษา และขอเชิญชวนร่วมมือร่วมใจกันปั้นหม้อใบน้อยๆ ทั้งหลายให้แข็งแรง จะได้ไม่ทะลุจากโรคที่ป้องกันได้.
ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.
โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี
E-mail : [email protected]
- อ่าน 5,452 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้