ผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยได้รับการจัดบริการยาต้านไวรัสเอชไอวีจากกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543 กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มให้บริการยาต้านไวรัสแก่ผู้ป่วยเอดส์ โดยใช้ยาต้านไวรัสในสูตรยา 3 ชนิดพร้อมกัน กระทั่งปี พ.ศ. 2545 ได้มีการผลิตยาต้านไวรัสโดยองค์การเภสัชกรรมเป็นผลทำให้ราคายาถูกลง และในปีงบประมาณ 2547 ได้มีการขยายโอกาสการเข้าถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ ภายใต้โครงการการ เข้าถึงบริการยาต้านไวรัสเอดส์ระดับชาติสำหรับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ National Access to Antiretroviral Programs for Program for people with HIV/AIDS หรือที่รู้จักกันว่า NAPHA ซึ่งประสบผลสำเร็จบรรลุเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 50,000 ราย โดยมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัส สะสมจำนวน 50,752 ราย และกระทรวงสาธารณสุขได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับยาต้านไวรัสให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
ต่อมารัฐบาลได้กำหนดให้การบริการยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประกาศให้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยศูนย์บริหารจัดการโรคเอดส์ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ได้รับโอนงานการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา โดยกำหนดเป้าหมายให้ผู้ป่วยเอดส์รับยาสูตรพื้นฐานไว้ที่ 100,000 ราย และผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาสูตรดื้อยาจำนวน 8,000 ราย รวมทั้งการจัดบริการด้านการป้องกัน การตรวจคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย การรักษา และการให้คำปรึกษาและความรู้ในการปฏิบัติตน การติดตามระดับเม็ดเลือดขาว การตรวจหาจำนวนภูมิต้านทาน CD4 และการติดตามส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยบริการทุกระดับทั่วประเทศ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อจึงทำให้ สปสช. สามารถจัดระบบการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์อย่างองค์รวม ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้
สิทธิประโยชน์ : บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์
1. การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ (สูตรพื้นฐานและสูตรดื้อยา) ในเด็กและผู้ใหญ่
2. การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงอันเนื่องมาจากรับประทานยาต้านไวรัส
3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อติดตามการรักษา
♦ การตรวจพื้นฐาน ได้แก่ CBC, FBS, Cr, Chol, TG, sGPT/ALT 2 ครั้ง/ปี
♦ CD4 2 ครั้ง/ปี
♦ Viral load 1 ครั้ง/ปี
♦ Resistance testing 1 ครั้ง/ปี
4. การให้คำปรึกษาและตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ
♦ Anti-HIV antibody 2 ครั้ง/ปี
5. การตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อเอชไอวีในทารกที่คลอดจากมารดาติดเชื้อเอชไอวี
♦ PCR testing 2 ครั้ง/ราย
6. ถุงยางอนามัยสำหรับการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีในผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยที่มารับบริการ
การปรับเปลี่ยนสูตรยาต้านไวรัสเอดส์
เพื่อการควบคุมการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้แบ่งสูตรยาออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม A, B, C และ D และจัดเงื่อนไขการใช้ยาในแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม ยาในกลุ่ม A และ B อยู่ในสูตรพื้นฐานซึ่งแพทย์ผู้ให้การรักษาทั่วไปสามารถจ่ายได้ ส่วนยาในกลุ่ม C (สูตรพื้นฐานใช้เฉพาะกรณีมีผลข้างเคียงจากยา) และกลุ่ม D (สูตรดื้อยา) จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ การใช้ยาในกลุ่มดังกล่าวต้องได้รับการอนุมัติจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการแต่งตั้งจาก สปสช. ก่อน
ข้อแนะนำเกี่ยวกับการลงทะเบียนรับยาต้านไวรัสเอดส์
1. กรณีเป็นผู้ป่วยรายใหม่ ควรเลือกลงทะเบียนรับยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่เดียวกับหน่วยบริการประจำที่ระบุในบัตรทอง
2. หากไม่สามารถปฏิบัติในข้อ 1 ได้ ควรลงทะเบียนที่หน่วยบริการซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกันกับหน่วยบริการประจำที่ระบุในบัตรทอง ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด
3. กรณีต้องการลงทะเบียนข้ามจังหวัด เช่น ทำงานต่างจังหวัด สามารถเลือกปฏิบัติได้สองวิธี คือ
• วิธีแรก ให้ย้ายหน่วยบริการประจำที่ระบุในบัตรทอง เป็นหน่วยบริการที่จ่ายยา ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ สปสช. กำหนด
• วิธีที่สอง หากไม่ต้องการย้ายหน่วยบริการประจำที่ระบุในบัตรทอง ให้ลงทะเบียนรับยาที่หน่วยบริการประจำก่อน แล้วจึงโอนย้ายมารับยายังหน่วยบริการที่ต้องการ (โดยได้รับความยินยอมจากหน่วยบริการแห่งใหม่)
4. กรณีหน่วยบริการจ่ายยาต้านไวรัสเอดส์ มิใช่หน่วยบริการประจำที่ระบุในบัตรทอง ต้องมีใบส่งตัวจากหน่วยบริการประจำเพื่อประกอบการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบางรายการที่ไม่ครอบคลุมโดยกองทุนเอดส์ หากไม่มีใบส่งตัว ผู้ป่วยจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง
การติดต่อประสานงานและสอบถามรายละเอียด
1. ประชาชนที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อทางโทรศัพท์สายด่วน สปสช. โทร. 1330
2. หน่วยบริการในพื้นที่ติดต่อประสานงานได้ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาเขต พื้นที่ หรือกองทุนเพื่อบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2831-4000 ในเวลาราชการ
- อ่าน 9,794 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้