3 ใน 6 วัตถุประสงค์ของแพทยสภา คือ หนึ่ง การส่งเสริมการศึกษาวิจัยและการประกอบวิชาชีพในทางการแพทย์ สอง ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ และสาม เป็นตัวแทนของแพทย์. ด้วยเหตุนี้เอง แพทยสภาภายใต้การนำของท่านนายกแพทยสภา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ตั้งแต่วาระที่แล้ว พ.ศ. 2546-2548 และวาระนี้ได้ ไปเยี่ยมเพื่อนแพทย์ตามจังหวัดต่างๆ มาแล้วประมาณ 50 จังหวัด.
คราวนี้ท่านนายกฯ ได้นำทีม ประกอบด้วย ผม, ท่านรองเลขาธิการฯ นายแพทย์สมศักดิ์ เจริญชัย ปิยกุล, นายแพทย์อรุณ โรจนสกุล และเจ้าหน้าที่แพทยสภาไปเยี่ยมโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ซึ่งเป็น โรงพยาบาลทั่วไปของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเราต้องบินไปเชียงใหม่ จากเชียงใหม่บินต่อด้วยเครื่อง ART72 ไปยังแม่ฮ่องสอน-เมืองสามหมอก วันหนึ่งมีเครื่องบินจากเชียงใหม่ไปกลับ 4 เที่ยว แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ห่างไกลความเจริญ หรือเมืองอื่นๆ มาก ห่างจากเชียงใหม่ 234 กิโลเมตร ถึง 300 กว่ากิโลเมตร แล้วแต่จะไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ ถ้าไปทางรถจะต้องใช้เวลาเร็วสุด 4 ชั่วโมงครึ่งถึง 6 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้เครื่องบินก็ใช้เวลาเพียง 30 นาที.
โรงพยาบาลศรีสังวาลย์มี 130 เตียงเท่านั้น มีแพทย์ 12 คน คือ อายุรแพทย์ 3 คน, ศัลยแพทย์ 1 คน!, สูตินรีแพทย์ 2 คน, กุมารแพทย์ 2 คน, ศัลยแพทย์กระดูก 1 คน, จักษุแพทย์ 1 คน, วิสัญญีแพทย์ 1 คน, รังสีแพทย์ 1 คน เท่านั้น! และแพทย์เพิ่มพูนทักษะ อีก 4 คน. จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีประชากรประมาณ 2.4 แสนกว่าคน 49,000 คน อยู่ในอำเภอเมือง ซึ่งน้อยกว่าอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งมี 52,000 คน. จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีเนื้อที่มากเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ คือมีเนื้อที่ 12,000 ตารางกิโลเมตร แต่ร้อยละ 80 เป็นภูเขา. แม่ฮ่องสอนมีแพทย์ทั้งหมดเพียง 41 คน ซึ่งถ้าคิดตามระบบ GIS ของกระทรวงสาธารณสุขควรมี 85 คน แต่ถ้าคิดตามผมและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุชัย เจริญรัตนกุล หรือปัจจุบันนี้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควรมีแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งก็ควรมีแพทย์ 240 คน!.
ในความเห็นของผม โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ยังขาดแพทย์อีกมาก ซึ่งผมยอมรับว่าโรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศไทยขาดแพทย์ทั้งนั้น แต่ในกรณีของโรงพยาบาลศรีสังวาลย์นี้พิเศษกว่าโรงพยาบาลอื่นคือ อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลที่จะต้องส่งต่อ คือ เชียงใหม่ (โรงพยาบาลสวนดอก หรือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์) ถึง 5-6 ชั่วโมงโดยรถยนต์! ซึ่งถนนหนทางคดเคี้ยวมาก ฉะนั้นเมื่ออยู่ห่างไกลโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า โรงพยาบาลศรีสังวาลย์น่าที่จะมีศักยภาพสูงกว่านี้มาก. ควรมีแพทย์ทุกสาขาอย่างเพียงพอ ไม่ใช่สาขาละ 1 คนอย่างศัลยศาสตร์ เพราะจะไม่มีใครคอยช่วยทำงาน อยู่ เวร นอกจากบุคลากรแล้วยังต้องการมีเครื่องมือพร้อมอีกด้วย เช่น เครื่อง computer scan โดยสรุปจะต้องมีทุกอย่างพร้อมเพื่อที่จะช่วยตัวเองได้มากที่สุดโดยไม่ต้องส่งต่อ (บ่อยนัก).
โรคที่พบบ่อยและที่เป็นปัญหาที่สุด คือ โรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก การฆ่าตัวตาย และอัตราการตายของมารดาและเด็กแรกคลอดยังสูงอยู่. นอกจาก โรงพยาบาลศรีสังวาลย์แล้ว แม่ฮ่องสอนยังมีโรงพยาบาลชุมชน (อำเภอ) อีก 6 แห่ง ที่ใหญ่ที่สุดในจำนวนนี้คือ โรงพยาบาลชุมชนแม่สะเรียง แต่ก็มีแพทย์เพียง 8 คน สำหรับประชากร 52,000 คน.
ผมจึงขอฝากกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านพินิจ จารุสมบัติ ท่านรักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข โปรดกรุณาพิจารณา สนับสนุนเพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้โรงพยาบาลศรีสังวาลย์อย่างเพียงพอโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ รวมทั้งแพทย์เพิ่มพูนทักษะจาก 4 คนให้เป็น 8 คน และเครื่องมือทางการแพทย์โดยเฉพาะ computer scan ต้องพยายามวางแผนให้โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ใหญ่พอที่จะดูแลตนเอง (self sufficient) ได้โดยไม่ต้องส่งต่อ เพราะกว่าจะส่งต่อได้ผู้ป่วยอาจมีอันตราย และควรมีระบบส่งต่อที่ดีมากๆ.
ท่านผู้อ่านที่มีกำลังพอ โดยเฉพาะท่านที่มีเงินเป็นพันๆ ล้าน อาจพิจารณาบริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่อง computer scan (ประมาณ 20 ล้านบาท) เพราะว่าถ้าจะส่งผู้ป่วยไปตรวจหรือส่งไปรักษาต่อที่อื่นต้องไปตามถนนที่วกวนมาก และใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง. ขอความกรุณาท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรองนายกฯ สุชัยฯ ท่านรัฐมนตรีพินิจฯ ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข งบประมาณ ก.พ. ฯลฯ โปรดช่วยลูกน้องของท่านด้วยครับ.
พินิจ กุลละวณิชย์ พ.บ. ,ศาสตราภิชาน, เลขาธิการแพทยสภา
- อ่าน 8,228 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้