4 Basic Questions For every doctor when taking care of every patient.
1. Does the care of this patient meet professional standard?
2. Has patient ' s satisfaction been met?
3. Are the use of resources appropriate? (Investigation, treatment)
4. Has selfcare instruction been given for preventive and promotive action?
แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงสำหรับวงการแพทย์ไทย คือ ความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจที่ผู้ป่วยและญาติ รวมถึงสังคมที่มีต่อแพทย์และโรงพยาบาล เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนกับผู้ป่วย ในการตรวจรักษาขึ้น หรือเมื่อผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่ผู้ป่วยและญาติคาดหวัง ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยพัฒนาไปในทิศทางด้านลบมากขึ้นมากขึ้น. เมื่อเกิดกรณีที่มีปัญหาขึ้น ผู้ป่วยและญาติจะคิดในแง่ร้ายและเรื่องจะปรากฏเป็นข่าวในสื่ออยู่เนืองๆ.
การประชุมวิชาการต่างๆ ของแพทย์จะมีหัวข้อบ่อยๆว่า " ทำอย่างไรเมื่อแพทย์ถูกฟ้องร้อง" มากกว่าหัวข้อ "ทำอย่างไรแพทย์จึงจะไม่ถูกฟ้องร้อง"
โดยลักษณะงานแล้ว แพทย์เป็นเหมือนนักสืบที่ต้องสืบให้ได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร หลังจากนั้นจะต้องเป็นเหมือนช่างที่ต้องซ่อมหรือแก้โรคที่ผู้ป่วย เป็น แต่โดยที่ผู้ป่วยเป็นสิ่งมีชีวิตมีความนึกคิด การค้นหาสาเหตุของโรคและการรักษาผู้ป่วยจึงไม่เหมือนกับการซ่อมรถหรือซ่อมคอมพิวเตอร์. ถ้าสัมพันธภาพระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเป็นไปอย่างดี ผู้ป่วยจะสามารถที่จะช่วยแพทย์ในกระบวนการสืบหาสาเหตุของโรคและช่วยในการทำให้โรคหายหรือรักษาง่าย ขึ้น. ในอีกทางหนึ่งหากแพทย์และผู้ป่วยและญาติขาดการสื่อสารที่ดี
การแก้ปัญหาของผู้ป่วยยากที่จะมีประสิทธิภาพดี และมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาระหว่างผู้ป่วยและญาติกับแพทย์ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในกระบวนการตรวจรักษาโรคขึ้น.
ที่สำคัญในปัจจุบันนี้โรคส่วนใหญ่ที่ผู้ป่วยเป็นมีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยและวิถีการใช้ชีวิต บทบาทของแพทย์ที่ถูกต้องและความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วย จึงมีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้ผลการรักษาโรคดีที่สุด เพราะต้องได้รับความไว้วางใจเพื่อที่จะโน้มน้าวให้ผู้ป่วยหรือครอบครัวปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและวิถีการใช้ชีวิต เพื่อให้หายจากโรคที่เป็นหรือลดความรุนแรงของโรค.
เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้ดีที่สุด จึงขอเสนอ แนวปฏิบัติเพื่อแพทย์ทุกท่านพิจารณาดังนี้
คำถามพื้นฐานในการดูแลผู้ป่วย
1. การดูแลผู้ป่วยได้มาตรฐานตามวิชาชีพหรือไม่?
2. ได้คำนึงถึงและตอบสนองความต้องการของ ผู้ป่วยหรือไม่?
3. ได้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรในการตรวจรักษาอย่างเหมาะสมหรือไม่?
4. ได้ซักซ้อมความเข้าใจถึงบทบาทการดูแลรักษาตัวเองของผู้ป่วยและหรือญาติหรือไม่?
1. การดูแลผู้ป่วยได้มาตรฐานตามวิชาชีพ
- การวินิจฉัยโรคถูกต้อง.
- การรักษาถูกต้อง.
- ได้อธิบายถึงขั้นตอน ประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตรวจรักษาให้แก่ผู้ป่วยและญาติ.
- ถ้าไม่แน่ใจว่าเราจะดูแลรักษาผู้ป่วยได้ดีที่สุดต้องค้นคว้าตำรา ปรึกษาเพื่อนแพทย์ หรือส่งต่อให้แพทย์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในปัญหาผู้ป่วยมากกว่า.
2. คำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วย
- จะต้องเอาใจใส่อย่างแท้จริงในการดูแลผู้ป่วยแต่ละราย.
- ถามผู้ป่วยและหรือญาติว่าเข้าใจโรคที่เขา เป็นหรือไม่.
- มีอะไรที่เขาไม่เข้าใจหรืออยากรู้เกี่ยวกับโรคที่เป็น มีอะไรที่ไม่สบายใจหรือไม่.
- มีปัญหาอะไรที่เขาอยากปรึกษาเราหรือไม่จะเป็นเรื่องการตรวจรักษาหรือค่าใช้จ่ายในการตรวจ รักษา.
- อยากจะให้หมอช่วยอะไร มีอะไรติดใจที่จะถามหมอหรือไม่.
- ถ้าผู้ป่วยรายนี้เป็นญาติเรา เราจะยังคงให้การตรวจรักษาอย่างที่เราจะทำหรือไม่.
3. คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรในการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม
- การส่งตรวจอะไรที่จำเป็นและไม่จำเป็น.
- การตรวจนี้อาจทำให้เกิดความลำบาก ความเจ็บป่วยหรือความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นหรือไม่.
- ได้อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงเหตุผลที่จะต้องทำการตรวจ ประโยชน์ที่จะได้และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการตรวจรักษาหรือไม่.
- การตรวจนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการรักษาหรือไม่ ถ้าหากคำตอบคือไม่ เราจะยังตรวจหรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร.
- ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตรวจรักษาคุ้มค่าหรือไม่ สร้างภาระแก่ผู้ป่วยและครอบครัวหรือสังคม เกินความจำเป็นหรือไม่.
4. การดูแลรักษาตนเอง
- ทำไมผู้ป่วยจึงเป็นโรคนี้.
- ผู้ป่วยมีพฤติกรรมเสี่ยงอะไรบ้าง.
- ผู้ป่วยและหรือญาติต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรบ้าง.
- ปัจจัยอะไรที่จะทำให้โรคของเขาเป็นมากขึ้น รักษายากขึ้น.
- ปัจจัยอะไรที่ทำให้โรคของเขาดีขึ้น รักษาง่ายขึ้นหรือแม้แต่หายขาด.
- สิ่งแวดล้อมอะไรที่ต้องแนะนำให้ผู้ป่วยและ/หรือญาติปรับเปลี่ยน.
ถ้าหากแพทย์ทุกคนสามารถปฎิบัติตามคำถามพื้นฐานในการดูแลผู้ป่วยทุกรายตามที่ได้กล่าวแล้วจะมั่นใจได้ว่า
- ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยจะดีมาก.
- การดูแลรักษาผู้ป่วยจะราบรื่นมีประสิทธิภาพสูงเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย.
- ลดหรือขจัดโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วย.
ดังนั้นจงพยายามถามคำถาม 4 ข้อในผู้ป่วยทุกรายที่แพทย์ให้การตรวจรักษา.
ประกิต วาทีสาธรกิจ พบ., ศาสตราจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 4,532 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้