การดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้ดื่มทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบนั้นสามารถเกิดได้กับอวัยวะต่างๆ เช่น ทางเดินอาหาร ตับ สมอง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น.
ผลของการดื่มแอลกอฮอล์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด พบว่าเกิดทั้งโทษและประโยชน์ ซึ่งโดยทั่วไปประโยชน์มักจะพบได้ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลาง.ส่วนผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากมักจะพบโทษได้เป็นส่วนใหญ่. ผลกระทบที่พบได้แก่ ตัวอย่างเช่น การทำงานของหัวใจเสื่อมลง, การเกิดภาวะความดันเลือดสูง, หัวใจเต้นผิดปกติ, อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือแม้แต่การเสียชีวิตเฉียบพลัน เป็นต้น.1
ผลของแอลกอฮอล์ต่อการทำงานของหัวใจ
การดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อหัวใจได้จากหลายกลไก1,2 ได้แก่
1. ผลจากพิษโดยตรงของแอลกอฮอล์ต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ.
2. ผลจากพิษของสารที่เปลี่ยนรูป (metabolite) จากแอลกอฮอล์ เช่น acetaldehyde, ethylester ต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ.
3. การขาดสารอาหาร เช่น วิตามินบี 1 (thiamine), ซีลิเนียม (selenium) โดยเฉพาะในผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานาน.
4. ผลจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจทำให้เกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่ในเลือด เช่น ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ, ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ, ภาวะฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ เป็นต้น.
5. พิษจากส่วนผสมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น โคบอลต์, ตะกั่ว เป็นต้น.
เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นเวลานานพบว่าทำให้การทำงานของหัวใจเสื่อมลงทั้งในช่วงการคลายตัว (left ventricular diastolic dysfunction) โดยอาจตรวจพบความผิดปกติได้จากการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiogram) ได้ถึงร้อยละ 50 ในผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ3 ส่วนการบีบตัวของหัวใจก็พบว่ามีการเสื่อมลงเช่นกัน (left ventri-cular systolic dysfunction) โดยความผิดปกติดังกล่าวพบได้จากการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจได้ถึงร้อยละ 30 ในผู้ป่วยยังไม่มีอาการ4 และเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ต่อไปก็พบว่าผู้ดื่มมักจะเกิดอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวจาก dilated cardiomyopathy ในที่สุด โดยโอกาสการเกิด dilated cardiomyopathy จากการดื่มแอลกอฮอล์พบว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับทั้งปริมาณของแอลกอฮอล์และระยะเวลาที่ดื่ม. โอกาสจะสูงในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากกว่า 7-8 drinks ต่อวัน
(1 drinks เท่ากับแอลกอฮอล์ 12 กรัม หรือเท่ากับไวน์ประมาณ 120 มล., เบียร์ประมาณ 360 มล., สุราประมาณ 30-40 มล.) และเป็นเวลานานอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป.5 อย่างไรก็ตาม โอกาสในการเกิด dilated cardiomyopathy ในผู้ดื่มแอลกอฮอล์แต่ละรายก็แตกต่างกัน โดยบางรายอาจจะเกิดหรือไม่ก็ได้ ทั้งๆ ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณและระยะเวลาเท่ากัน ทั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมด้วย.6
การหยุดดื่มหรือลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ สามารถทำให้ภาวะการทำงานของหัวใจที่เสื่อมลงกลับ มาดีขึ้นได้ โดยการทำงานของหัวใจอาจจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ 6 เดือนแรกจนถึง 2-4 ปี. ส่วนผู้ที่ยังคงดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากต่อไปก็พบว่าหน้าที่การทำงานของหัวใจมักจะเสื่อมลงเรื่อยๆ เช่นกัน.7
แอลกอฮอล์กับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากพบว่ามีความสัมพันธ์กับอุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่สูงขึ้น โดยกลไกเชื่อว่าเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นในผู้ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก เช่น ภาวะความดันเลือดสูง, ภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง, ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ หรือแม้แต่การสูบ บุหรี่ ซึ่งมักพบร่วมด้วยบ่อยๆ ในผู้ดื่มแอลกอฮอล์.1
ในทางกลับกันก็มีหลักฐานจำนวนมากที่แสดงถึงประโยชน์จากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยจนถึงปานกลาง (ประมาณ 1 drinks ต่อวัน) โดยทำให้อุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน, ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน รวมถึงการเสียชีวิตจากโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดลดลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย.8-16 ประโยชน์ดังกล่าวพบได้ทั้งในวัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ,8 ทั้งในเพศชายและหญิง,9-12 หรือแม้แต่ผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน13 และได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นไวน์, เบียร์ หรือสุรา ถึงแม้ในบางการศึกษาจะแสดงผลดีที่ชัดเจนกว่าบ้างจากการดื่มไวน์ก็ตาม.14,15
กลไกที่อธิบายผลดีของการดื่มแอลกอฮอล์ต่อการลดลงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน พบว่ามีหลายประการ เช่น ผลที่ทำให้ระดับ HDL-cholesterol เพิ่มขึ้น, มีระดับของapolipoprotein A1 เพิ่มขึ้น, ทำให้มีการลดลงของปัจจัยการแข็งตัวของเลือดต่างๆ (coagulatory factors) ทั้งระดับ fibrinogen ในเลือด, factor VII, von-Willebrand factor รวมทั้งทำให้ plasma viscosity ลดลงด้วย. นอกจากนี้ก็ยังทำให้ thrombolytic profile ดีขึ้นด้วย เช่น มีการเพิ่มของระดับ tissue-type plasminogen activator antigen เป็นต้น.17,18
ตัวอย่างการศึกษาถึงผลของการดื่มแอลกอฮอล์ต่ออัตราการเสียชีวิต ตัวอย่างหนึ่งมีการศึกษาในประชากร 490,000 คน ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ติดตามนานประมาณ 9 ปี8 พบว่าผู้ดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 drink ต่อวัน มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงร้อยละ 30 ในเพศชาย และร้อยละ 40 ในเพศหญิง โดยอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงชัดเจน ได้แก่ การเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน. อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ดื่มแอลกอฮอล์มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มจากสาเหตุอื่นๆ โดยเฉพาะจากโรคตับแข็ง, ภาวะแอลกอฮอลิซึม, มะเร็งที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ (มะเร็งช่องปาก, หลอดอาหาร, หลอดคอ, กล่องเสียง และตับ) โดยอัตราการเสียชีวิตดังกล่าวพบสูงขึ้นถึง 3-7 เท่า โดยเฉพาะในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 4 drinks ต่อวันขึ้นไป. ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บ พบว่าในผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์เกิด ขึ้นสูงกว่าผู้ไม่ดื่มร้อยละ 30. ส่วนในผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 drink ต่อวัน พบว่าเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้ไม่ดื่มร้อยละ 30 เช่นกัน.
แอลกอฮอล์กับภาวะความดันเลือดสูง
มีการศึกษาพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับภาวะความดันเลือดสูง หลายการศึกษา19,20 โดยลักษณะความสัมพันธ์คล้ายคลึงกันคือ พบว่าความดันเลือดสูงในผู้ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณไม่มากคือ ไม่เกิน
2-3 drinks ต่อวัน ไม่แตกต่างหรือมีแนวโน้มต่ำกว่าผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์. ส่วนผู้ที่ดื่มในปริมาณมากคือ
2-3 drinks ต่อวันขึ้นไป มีอุบัติการณ์ของภาวะความดันเลือดสูงขึ้น ตั้งแต่ประมาณร้อยละ 20 จนถึงประมาณ
2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวพบได้ทั้งในเพศชายและหญิง และมีลักษณะเดียวกันไม่ว่าดื่มแอลกอฮอล์ประเภทใด (ไวน์, เบียร์ หรือสุรา). กลไกที่อธิบายผลดังกล่าวยังไม่ทราบชัดเจน โดยมีสมมติฐานหลายประการ เช่น ผลของแอลกอฮอล์ต่อการกระตุ้น renin-angiotensin- aldosterone axis หรือต่อ adrenergic nervous system, ผลต่อการไหลเวียนของไอออน (ionic fluxes), การหลั่งคอร์ติซอล, ผลต่อความไวของอินซูลิน (insulin sensitivity) แต่ทั้งนี้ก็พบว่ากลไกใดกลไกหนึ่งยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าว ได้ทั้งหมด.19,22
แอลกอฮอล์กับภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
การดื่มแอลกอฮอล์พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ทั้งชนิดห้องบน (supra-ventricular arrhythmias) และชนิดห้องล่าง (ventricular arrhythmias) โดยชนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ atrial fibrillation1,23 พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด atrial fibrillation โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ยังอายุไม่มากนัก และการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติดังกล่าวมักเป็นภายหลังการดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมากซึ่งเกิดบ่อยๆ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ จนมีคำเรียกว่า " Holiday Heart ".23 สำหรับภาวะผิดปกติดังกล่าวและภาวะหัวใจเต้นผิดปกติอื่นๆ ก็พบได้ เช่นกันจาก การดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็น atrial premature beats, supraventricular tachycardia, atrial flutter, ventricular tachycardia หรือ ventricula fibrillation. กลไกอาจอธิบายจากหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นผลโดยตรงของแอลกอฮอล์กับการนำไฟฟ้าของหัวใจเอง, ผลจากภาวะผิดปกติอื่นๆ ที่มักพบร่วมด้วยในผู้ดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือด (ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ, ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำเป็นต้น) หรือจากการ สูบบุรี่ ซึ่งมักพบบ่อยในผู้ดื่มแอลกอฮอล์ และภาวะหัวใจเต้นผิดปกติดังกล่าวมักหายได้ในผู้ที่หยุดดื่มแอลกอฮอล์.
แอลกอฮอล์กับการเสียชีวิตเฉียบพลัน
มีการศึกษาพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก (มากกว่า 5-6 drinks ต่อวัน) มีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตเฉียบพลัน (sudden cardiac death) ที่เพิ่มขึ้น.24 ส่วนการดื่มในปริมาณน้อยถึงปานกลาง
2-6 drinks ต่อวัน กลับพบว่าสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตเฉียบพลันที่ลดลง25ทั้งนี้ก็อาจอธิบายจากความสัมพันธ์ของการดื่มแอลกอฮอล์กับการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตัน หรือเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้.
สรุป
ผลของการดื่มแอลกอฮอล์ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด มีข้อมูลถึงความสัมพันธ์ในแง่ดีและไม่ดี แต่ทั้งนี้ยังไม่ควรนำผลของการศึกษาอันใดอันหนึ่งมา ใช้เป็นคำแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเป็นการรักษาหรือป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยควรคำนึงถึงผลเสียของแอลกอฮอล์ต่อระบบอวัยวะอื่นๆ เช่น การเกิดโรคตับแข็ง, มะเร็ง หรือแม้แต่อุบัติเหตุ มาประกอบกันด้วยเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยโดยรวม.
เอกสารอ้างอิง
1. Lange RA, Hillis L. Toxins and the heart. In : Zipes DP, Libby P, Bonow RO, Braunwald E, eds. Braunwaldีs Heart Disease : A textbook of cardiovascular medicine. 7th ed. Philadelphia : Elsevier Saunders, 2005:1731-40.
2. Patel VB, Why HJ, Richardson PJ, et al. The effects of alcohol on the heart. Adverse Drug React Toxicol Rev 1997;16:15-43.
3. Lazarevic AM, Nakatani S, Neskovic AN, et al. Early changes in left ventricular function in chronic asymp-tomatic alcoholics : Relation to the duration of heavy drinking. J Am Coll Cardiol 2000;35:1599-606.
4. Urbano-Marguez A, Estruch R, Fernandez-Sola J, et al. The greater risk of alcoholic cardiomyopathy and myopathy in women compared with men. JAMA 1995;274:149-54.
5. Wilke A, Kaiser A, Ferency I, et al. Alcohol and myocarditis. Herz 1996;21:248-57.
6. Fernandez-Sola J, Nicolas JM, Oriola J, et al. Angiotensin-converting enzyme gene polymorphism is associated with vulnerability to alcoholic cardiomyopathy. Ann Intern Med 2002;137:321-6.
7. Nicolas JM, Fernandez-Sola J, Estruch R, et al. The effect of controlled drinking in alcoholic cardiomyopathy. Ann Intern Med 2002;136:192-200.
8. Thun MJ, Peto R, Lopez AD, et al. Alcohol consumption and mortality among middle- aged and elderly U.S. adults. N Engl J Med 1997;337:1705-14.
9. Mukamal KJ, Conigrave KM, Mittleman MA, et al. Roles of drinking pattern and type of alcohol consumed in coronary heart disease in men. N Engl J Med 2003;348:109-18.
10. Camargo CA Jr, Stampfer MJ, Glynn RJ, et al. Moderate alcohol consumption and risk for angina pectoris or myocardial infarction in U.S. male physicians. Ann Intern Med 1997;126:372-5.
11. Solomon CG, Hu FB, Stampfer MJ, et al. Moderate alcohol consumption and risk of coronary heart disease among women with type 2 diabetes mellitus. Circulation 2000;102:494-9.
12. Fuchs CS, Stampfer MJ, Colditz GA, et al. Alcohol consumption and mortality among women. N Engl J Med 1995;332:1245-50.
13. Ajani UA, Gaziano M, Lotufo PA, et al. Alcohol consumption and risk of coronary heart disease by diabetes status. Circulation 2000;102:500-5.
14. Gronback M, Becker U, Johansen D, et al. Type of alcohol consumed and mortality from all causes, coronary heart disease and cancer. Ann Intern Med 2000;133:411-9.
15. DiCastelnuovo A, Rotondo S, Iacoviello L, et al. Meta-analysis of wine and beer consumption in relation to vascular risk. Circulation 2002;105:2836-44.
16. Hein HO, Suadicani P, Gyntelberg F. Alcohol consumption, serum low density lipoprotein cholesterol concentration, and risk of ischaemic heart disease : six year follow up in the Copenhagen male study. BMJ 1996;312:736-41.
17. Rimm EB, Williams P, Foscher K, et al. Moderate alcohol intake and lower risk of coronary heart disease : meta-analysis of effects on lipids and haemostatic factors. BMJ 1999;319:1523-8.
18. Mukamal KJ, Jadhav PP, DีAgostino RB, et al. Alcohol consumption and haemostatic factors-analysis of the Framingham offspring cohort. Circulation 2001;104:1367-73.
19. Fuchs FD, Chambless LE, Whelton PK, et al. Alcohol consumption and the incidence of hypertension. The Atherosclerosis Risk in Communities Sudy. Hypertension 2001;37:1242-50.
20. Klatsky AL, Friedman GD, Siegelaub AB, et al. Alcohol consumption and blood pressure-Kaiser-Permanente Multiphasic Health Examination Data. N Engl J Med 1977;296:1194-200.
21. Thadthani R, Camargo CA Jr, Stampfer MJ, et al. Prospective study of moderate alcohol consumption and risk of hypertension in young women. Arch Intern Med 2002;162:569-74.
22. Klatsky AL. Alcohol and hypertension. Clin Chim Acta 1996;246:91-105.
23. Ettinger PO, Wu CF, Delacruz C Jr, et al. Arrhythmias and the " Holiday Heart " : alcohol-associated Cardiac rhytum disorders. Am Heart J1978;95:555-62.
24. Wannamethee G, Shaper AG. Alcohol and sudden cardiac death. Br Heart J 1992;68:443-8.
25. Albert LM, Manson JE, Cook NR, et al. Moderate alcohol consumption and the risk of sudden cardiac death among US male physicians.Circulation 1999;150:944-5.
ดิลก ภิยโยทัย พ.บ.,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาอายุรศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)
- อ่าน 75,611 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้