ความหมาย
"แพทย์ฉุกเฉินรุ่นแรก" ในที่นี้หมายถึง แพทย์ที่ได้วุฒิบัตรเวชศาสตร์ฉุกเฉินจาก แพทยสภาใน พ.ศ. 2550 ซึ่งเข้ารับการฝึกอบรมใน พ.ศ. 2547 จำนวน 38 คน แต่ลาออกก่อนและระหว่างการฝึกอบรม 5 คน และไม่ได้สิทธิเข้าสอบ 2 คน จึงเหลือผู้มีสิทธิเข้าสอบ 31 คน และสอบผ่าน 28 คน หรือร้อยละ 90.3
เพื่อให้ทราบว่า ผลผลิตรุ่นแรกประสบความสำเร็จในการประกอบวิชาชีพ "แพทย์ฉุกเฉิน" มากหรือน้อยอย่างไร และ "ผู้ใช้" ผลผลิตรุ่นแรกเห็นคุณประโยชน์ และพึงพอใจในผลผลิตรุ่นแรกนี้หรือไม่
ผู้เขียนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน (อฝส.ฉ.) ของแพทยสภาโดยความเห็นชอบของ อฝส.ฉ. จึงได้ทำการสำรวจความเห็นของ "แพทย์ฉุกเฉินรุ่นแรก" และของผู้บังคับบัญชากับผู้ร่วมงานของแพทย์เหล่านั้น หลังจากที่แพทย์ฉุกเฉินรุ่นแรกได้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล (ร.พ.) ต่างๆ มาประมาณ 1 ปี (เริ่มสำรวจในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551).
วิธีการ
แบบประเมิน "แพทย์ฉุกเฉินรุ่นแรก" สำหรับผู้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงาน ได้ส่งถึงผู้อำนวยการ ร.พ.ทั้ง 20 แห่งที่ "แพทย์ฉุกเฉินรุ่นแรก" ได้ไปปฏิบัติงานอยู่ เพื่อให้ผู้อำนวยการฯประเมิน และถ่ายสำเนาแจกจ่ายแก่หัวหน้างานฉุกเฉินและผู้ร่วมงานได้ประเมินด้วย.
แบบประเมินตนเองสำหรับ "แพทย์ฉุกเฉินรุ่นแรก" ได้ส่งไปถึงแพทย์ฉุกเฉินโดยตรงทั้งหมด 27 คน (เพราะ 1 คนไปทำงานต่างประเทศตั้งแต่จบการฝึกอบรม) ซึ่งทำงานอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ 15 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 5 แห่ง.
ผล
1. จำนวน ร.พ. ที่ตอบแบบประเมิน = 12 แห่ง หรือร้อยละ 60 โดยเป็น ร.พ. ของรัฐ 10 แห่ง (จาก 15 แห่ง หรือร้อยละ 67) และ ร.พ. เอกชน 1 แห่ง (จาก 5 แห่ง หรือร้อยละ 20).
2. จำนวนผู้ตอบแบบประเมิน
2.1 ผู้อำนวยการฯ และ/หรือหัวหน้างาน 14 คน.
2.2 ผู้ร่วมงาน 53 คน (แพทย์ 9 คน พยาบาล 44 คน).
2.3 แพทย์ฉุกเฉินรุ่นแรก 13 คน จากจำนวนที่เหลืออยู่ในประเทศขณะทำการประเมินผล 24 คน (เนื่องจากอีก 3 คนไปดูงานที่ต่างประเทศ) หรือ ร้อยละ 54 โดยเป็นแพทย์ฉุกเฉินใน ร.พ. ของรัฐ 12 คนจาก 19 คน หรือร้อยละ 63 และใน ร.พ. เอกชน 1 คนจาก 5 คน หรือร้อยละ 20.
3. ผลการประเมินจากผู้อำนวยการและ/หรือหัวหน้าหน่วยงาน (ตารางที่ 1) ต่างก็คิดว่า"แพทย์ฉุกเฉินฯ" ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการดูแลรักษาดีขึ้นมากและดีขึ้นร้อยละ 43 และ 57 ตามลำดับ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ให้ดูในตารางที่ 1.
4. ผลการประเมินจากแพทย์ผู้ร่วมงาน (ตารางที่ 2) ซึ่งก็คิดว่า "แพทย์ฉุกเฉินฯ" ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการดูแลรักษาที่ดีขึ้นมากและดีขึ้นร้อยละ 56 และ 33 ตามลำดับ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ให้ดูในตารางที่ 2.
5. ผลการประเมินจากพยาบาลผู้ร่วมงานใน ร.พ. ราชวิถี (ตารางที่ 3) ซึ่งก็คิดว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินได้ รับการดูแลรักษาดีขึ้นมากและดีขึ้นร้อยละ 7 และ 86 ตามลำดับ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ให้ดูในตารางที่ 3.
6. ผลการประเมินจากพยาบาลผู้ร่วมงานใน ร.พ. อื่นๆ (ตารางที่ 4) ซึ่งก็คิดว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับ การดูแลรักษาดีขึ้นมากและดีขึ้นร้อยละ 64 และ 33 ตามลำดับ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ให้ดูในตารางที่ 4.
7. ผลการประเมินการปฏิบัติงานของตนเองโดย "แพทย์ฉุกเฉินฯ"
7.1 ใน ร.พ. ของรัฐขนาด 200-500 เตียง จำนวน 6 แห่ง โดย "แพทย์ฉุกเฉินฯ" 6 คน (แห่งละ 1 คน) ปรากฏว่า ร้อยละ 100 มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถที่ฝึกอบรมมา พึงพอใจในการปฏิบัติงานของตน ทำให้ผู้ป่วยกำลังจะตายรอดได้ ประสานงานกับพยาบาลได้ และช่วยบริการสังคมด้านงานฉุกเฉินนอก ร.พ. ได้ ในระดับมากถึงมากที่สุด ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ให้ดูในตารางที่ 5.
7.2 ใน ร.พ. ของรัฐ ขนาด 800-1100 เตียง จำนวน 4 แห่งโดย "แพทย์ฉุกเฉินฯ" 5 คน (มีแห่งหนึ่งที่มี "แพทย์ฉุกเฉินฯ" 2 คน) ปรากฏว่า ร้อยละ 100 มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถที่ฝึกอบรมมา ในระดับมาก ร้อยละ 80 ประสานงานกับสถานพยาบาลอื่นได้ และช่วยบริการสังคมด้านงานฉุกเฉินนอก ร.พ. ได้ในระดับมาก ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ดูได้ในตารางที่ 6.
7.3 ใน ร.พ. ค่ายทหาร ขนาด 60 เตียง แห่งหนึ่งในจังหวัดชายแดนโดย "แพทย์ฉุกเฉินฯ" 1 คน ปรากฏว่า มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถที่ฝึกอบรมมาเพียงปานกลาง และพึงพอใจในการปฏิบัติงานของตนน้อย รายละเอียดอื่นๆ ดูได้ในตารางที่ 7.
7.4 ในร.พ.เอกชนที่มีชื่อแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ ขนาด 200 เตียง โดย"แพทย์ฉุกเฉินฯ" 1 คน ปรากฏว่า มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถที่ฝึกอบรมมาและพึงพอใจในการปฏิบัติงานในระดับปานกลางเท่านั้น รายละเอียดอื่นๆ ดูได้ในตารางที่ 8.
8. ความคิดเห็นเพิ่มเติมจาก "แพทย์ฉุกเฉินฯ" ให้ดูได้ในตารางที่ 9. ก. จาก "ผู้บังคับบัญชาและหัวหน้างาน" ในตารางที่ 9 ข. และจาก "ผู้ร่วมงาน " ในตารางที่ 9 ค.
วิจารณ์
มีผู้ตอบแบบประเมินทั้งหมด 67 คน จากร.พ. ของรัฐ 64 คน (ร้อยละ 96) จาก ร.พ. เอกชน 3 คน (ร้อยละ 4) เป็น "แพทย์ฉุกเฉินฯ" จาก ร.พ.ของรัฐร้อยละ 63 และ ร.พ.เอกชนร้อยละ 20 (ดูข้อ 2.3 ในผล) แสดงว่าผู้ที่ทำงานใน ร.พ. ของรัฐทั้งผู้บังคับบัญชากับผู้ร่วมงาน และ "แพทย์ฉุกเฉินฯ" ให้ความร่วมมือมากกว่าใน ร.พ. เอกชนอย่างมาก ซึ่งแสดงถึงความใส่ใจในการร่วมพัฒนาสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินนี้.
ผลการประเมินจากผู้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงานที่เป็นแพทย์ (ตารางที่ 1-2) แสดงให้เห็นว่า"แพทย์ฉุกเฉินฯ" ได้ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการที่ดีขึ้นมากและดีขึ้นถึงร้อยละ 80-100 ในทุกประเด็น ยกเว้นในอัตราตาย/พิการในห้องฉุกเฉินที่ได้เพียงร้อยละ 78 (18 คนจาก 23 คน) และห้องฉุกเฉินมีการพัฒนาดีขึ้นมากและดีขึ้นถึงร้อยละ 89-100 ส่วนการรณรงค์การป้องกันอุบัติเหตุบนถนนและอื่นๆ ดีขึ้นเพียงร้อยละ 35 (8 คนจาก 23 คน) ซึ่งการฝึกอบรมเวชศาสตร์ฉุกเฉินยังต้องพัฒนาระบบการป้องกันสุขภาพยามฉุกเฉินให้มากขึ้น.
ส่วนผลการประเมินจากพยาบาลผู้ร่วมงาน ส่วนใหญ่ (ตารางที่ 4) จะเห็นว่า ได้คะแนนในระดับดีขึ้นมากและดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่ในทุกประเด็น และ ในหลายประเด็น ดีกว่าของผู้บังคับบัญชาและแพทย์ผู้ร่วมงานด้วย.
ส่วนผลการประเมินจากพยาบาลใน ร.พ.ราชวิถี (ตารางที่ 3) แตกต่างจาก 2 กลุ่มข้างต้นอย่างชัดเจนในหลายประเด็น ซึ่งคงต้องศึกษาเพิ่มเติมถ้าต้องการทราบเหตุผลที่ค่อนข้างแตกต่างจากกลุ่มอื่น.
ผลการประเมินตนเอง ของ "แพทย์ฉุกเฉินฯ" ปรากฏว่า มีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างแพทย์ใน รพ.ของรัฐขนาดกลาง (200-500 เตียง) กับใน ร.พ.ของรัฐขนาดใหญ่ (800-1100 เตียง) ดังในตารางที่ 5-6.
ใน ร.พ.ของรัฐขนาดกลาง "แพทย์ฉุกเฉินฯ" มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถที่ฝึกอบรมมา พึงพอใจการปฏิบัติงานของตน ทำให้ผู้ป่วยที่กำลังจะตายรอดได้ ประสานงานกับพยาบาลได้ และช่วยบริการสังคมด้านงานฉุกเฉินนอก ร.พ. ได้ ในระดับมากที่สุดถึงมากได้เต็มที่ (ร้อยละ 100) ต่างกับผู้ที่อยู่ ใน ร.พ. ของรัฐขนาดใหญ่ ที่คำตอบในระดับมากที่สุดมีเพียง 3 ประเด็นเกี่ยวกับการประสานงานเท่านั้น แต่ถ้านับรวมระดับมากที่สุดและมากเข้าด้วยกันแล้ว ทุกประเด็นจะอยู่ระหว่างร้อยละ 60-100 ยกเว้นเรื่องการช่วยรณรงค์ป้องกันการเจ็บ/ป่วยฉุกเฉิน ที่ทั้งสองกลุ่มประเมินใกล้เคียงกัน คือ อยู่ในระดับมากเพียงร้อยละ 40-50.
ส่วนแพทย์ที่อยู่ใน ร.พ.เอกชน (200 เตียง) และใน ร.พ.ค่ายทหาร (60 เตียง) แม้จะมีเพียงแห่งละ 1 คน ก็พอแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในประเด็นต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งคงจะอธิบายได้ว่าแพทย์ฉุกเฉินที่อยู่ใน ร.พ.เอกชน ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมากนัก เพราะสามารถรับผู้ป่วยไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลได้ง่าย และผู้ป่วยฉุกเฉินส่วนใหญ่ไม่ได้เจ็บหนัก ในขณะที่แพทย์ใน ร.พ.ค่ายทหาร เล็กๆ ในจังหวัดชายแดนก็ไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมากนักเพราะผู้ป่วยน้อย แต่ได้ทำงานใน "สนาม" (จุดเกิดเหตุ และการรณรงค์ป้องกันการเจ็บ/ป่วยฉุกเฉิน) เพิ่มขึ้น.
ส่วนความคิดเห็นเพิ่มเติมต่างๆ ที่รวบรวมไว้ในตารางที่ 9 ล้วนเป็นส่วนที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรเวชศาสตร์ฉุกเฉินต่อไป.
สรุป"แพทย์ฉุกเฉินรุ่นแรก" สามารถใช้ความรู้ ความสามารถที่ฝึกอบรมมา ได้ในระดับมากถึงมากที่สุด พึงพอใจในการปฏิบัติงานของตนในระดับมาก เป็นส่วนใหญ่ และสามารถประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ได้ในระดับมากถึงมากที่สุดเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งการช่วยบริการสังคมด้านงานฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลด้วย ซึ่งก็ตรงกับความคิดเห็นของผู้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงานทั้งแพทย์และพยาบาลเกือบทั้งหมด.
นับว่า การผลิตแพทย์ฉุกเฉิน เป็นประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน แก่แพทย์ฉุกเฉิน แก่โรงพยาบาล และแก่ระบบบริการสาธารณสุขของประเทศด้วย แม้จะยังมีจุดอ่อนในบางเรื่องที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป.
สันต์ หัตถีรัตน์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 10,883 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้