4.4 การปรึกษาหารือร่วมกันเป็นประจำระหว่าง
ก. ผู้ดูแลผู้ป่วยด้วยกันเอง โดยเฉพาะถ้าดูแลผู้ป่วยด้วยคณะ(ทีม) การประชุมปรึกษาหารือกันเป็นประจำจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง อันได้แก่ แพทย์ทั้งหมด (ถ้ามีแพทย์หลายสาขาที่ร่วมดูแลผู้ป่วย หรือในโรงเรียนแพทย์ จะมีแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ฝึกหัด และนักศึกษาแพทย์ด้วย) พยาบาลทั้งหมด (เพราะมีพยาบาลจำนวนมากทั้งเวรเช้า-บ่าย-ดึก พยาบาลพิเศษและอาจมีนักศึกษาพยาบาลด้วย) ผู้ดูแลอื่นๆ (เช่น นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด เภสัชกร โภชนากร นักบวช/พระ) เป็นต้น.
ในความเป็นจริงในสังคมไทยปัจจุบัน การปรึกษาหารือร่วมกันเป็นประจำของคณะ (ทีม) ผู้ดูแลผู้ป่วย มีความเป็นไปได้น้อยมากหรือเป็นไปไม่ได้เลย เพราะแม้แต่แพทย์หลายสาขาที่มาร่วมดูแลผู้ป่วยก็ยังไม่ปรึกษาหารือกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะต่างก็ตรวจรักษาเฉพาะอวัยวะหรือระบบที่ตนชำนาญเท่านั้น จนหลายครั้งไม่ได้ดูด้วยซ้ำว่า การรักษาที่ตนสั่งให้แก่ผู้ป่วยนั้น ซ้ำหรือขัดกับการรักษาของแพทย์อื่น เช่น
- สั่งยาตัวเดียวกัน แต่อยู่ในชื่อการค้าที่ต่างกัน ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเป็น 2 เท่า.
- สั่งยาที่ไปต่อต้านหรือเสริมฤทธิ์ยา ที่แพทย์อื่นสั่งไว้ ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย
- สั่งการรักษาที่ขัดแย้งกัน เป็นต้น.
ดังนั้น การคาดหวังให้แพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลผู้ป่วยทั้งหมดได้ปรึกษาหารือกันเป็นประจำ จึงเป็นสิ่งที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก.
ผู้เขียนจึงเห็นว่า "แพทย์เจ้าของไข้" (ที่ได้ดูแลผู้ป่วยมาโดยตลอดหรือเป็นผู้ที่ผู้ป่วยและญาติเชื่อถือศรัทธา และมอบหมายให้เป็น "ตัวเอก"ในการรักษาผู้ป่วย) เป็นผู้ที่มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง/ระยะสุดท้าย เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยและญาติ โดยอาจขอคำปรึกษาจากผู้ดูแลอื่นๆ แล้วชี้แจงให้ผู้ดูแลอื่นๆ เข้าใจในแนวทางการดูแลที่เป็นประโยชน์สูงสุดดังกล่าว.
แต่เป็นที่น่าเสียใจที่แพทย์เจ้าของไข้ (ที่ตรวจรักษาผู้ป่วยจนผู้ป่วยเข้าสู่สภาพที่หมดหวังหรือระยะสุดท้าย) มักจะ "โอน/โยน" ผู้ป่วยที่หมดหวังเหล่านั้นให้แพทย์อื่นดูแลต่อ อาจเพราะมีภาวะแทรกซ้อนในระบบอื่นที่ตนไม่เชี่ยวชาญ ทั้งที่ภาวะแทรกซ้อนนั้นเกิดจากการตรวจรักษาของตน หรือเป็นเพราะว่าตนไม่ชอบดูแลผู้ป่วยที่หมดหวังหรือระยะสุดท้ายจากการกลัวความตายหรือกลัวที่จะเห็นผู้ป่วย "ตายคามือ" ของตน.
การพยายามสร้าง "ทีมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย" ขึ้น จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะผลักภาระการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ไปจากตน รวมทั้งการพยายามสร้าง "สถานพยาบาลระยะสุดท้าย" (hospice) ด้วย เพราะผู้ป่วยจะได้พ้นไปจากความรับผิดชอบของตน.
อนึ่ง ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหมดหวังหรือระยะสุดท้ายส่วนใหญ่จะมีสภาพจิตใจที่อ่อนไหวง่าย ถ้าคณะ (ทีม) ผู้ดูแลพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติในทิศทางเดียวกัน จิตใจของผู้ป่วยและญาติก็จะสงบลง แต่ถ้าแพทย์คนหนึ่งบอกว่า "หมดหวัง" แต่แพทย์และพยาบาลคนอื่นบอกว่า "ยังไม่หมดหวัง" ความสับสน กังวล และความไม่สบายใจจะเกิดขึ้น ทำให้ ไม่สามารถทำใจให้เข้าสู่ความสงบได้.
การดูแลผู้ป่วยด้วยคนหลายคน จึงต้องมั่นใจว่าผู้ดูแลผู้ป่วยทุกคนจะเข้าใจในแนวทางการดูแลรักษาตรงกัน พูดเป็นเสียงเดียวกัน และให้การดูแลรักษาในแนวทางเดียวกัน (ซึ่งเป็นไปได้ยากในสังคม "พหุลักษณ์" ในปัจจุบัน หรือแม้แต่ใน อดีต ที่มีคำพังเพยว่า ""มากหมอมากความ" นั่นเอง).
ข. ผู้ดูแลผู้ป่วยกับผู้ป่วย และ/หรือญาติ การประชุมปรึกษาหารือกันระหว่างแพทย์ (พยาบาล)เจ้าของไข้ กับ ผู้ป่วย/ญาติเป็นประจำ (อาจจะทุกวันถ้าผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงบ่อย) จะช่วยลดช่องว่างระหว่างแพทย์ (พยาบาล) กับผู้ป่วย/ญาติลงได้ ทำให้ผู้ป่วย/ญาติมีความกังวลลดลง ทำให้แพทย์ (พยาบาล) ได้รับทราบความคิดเห็นและความต้องการของผู้ป่วย/ญาติที่แท้จริงมากขึ้น และทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย สามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการดูแลผู้ป่วยได้ตลอดเวลาเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วย สูงสุด.
หลายต่อหลายครั้งจะพบปัญหาที่ญาติเพียงคนเดียว (ในจำนวนญาติหลายๆ คน) ที่ต้องการ "ยื้อ" การตายของผู้ป่วยออกไปให้นานที่สุด ถ้าแพทย์ (พยาบาล) เจ้าของไข้ไม่สามารถพูดให้ญาติคนนั้นเข้าใจได้ว่า การทำเช่นนั้นทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานมากขึ้นและนานขึ้น ก็ควรจะปล่อย ให้หมู่ญาตินั้นไปตกลงกันเอง
และให้ผู้ที่มีสิทธิ์อันชอบธรรมสูงสุด ตามกฎหมายและตามวัฒนธรรมของครอบครัวนั้นเป็นผู้ให้คำตอบสุดท้ายแก่แพทย์ (พยาบาล) เจ้าของไข้ว่า จะให้แพทย์ (พยาบาล) เจ้าของไข้ช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างไร (ช่วย "ยื้อ" หรือยืดเวลาให้ผู้ป่วยอยู่อย่างทรมานไปเรื่อยๆ หรือช่วยดูแลให้ผู้ป่วยทรมานน้อยที่สุดและสั้นที่สุด) เป็นต้น.
ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะอยู่ หรือได้แสดงเจตนารมณ์ไว้อย่างชัดเจนหลายต่อหลายครั้งว่า ตนต้องการและไม่ต้องการการรักษาแบบใด ผู้ดูแลผู้ป่วยควรจะแนะนำ/ชักจูงให้ญาติยอมทำตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสบายใจและสามารถ "ตายตาหลับ" ได้.
การฝืนเจตนารมณ์ของผู้ป่วย โดยอ้างว่าผู้ป่วยหมดสติแล้ว สมองเสื่อมแล้ว ตัดสินใจเอง ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ควรทำตามความเห็นของแพทย์ ของญาติ หรือ ของ "ผู้มากบารมีนอกระบบวงศาคณาญาติ และนอกระบบอันชอบธรรมตามกฎหมาย"ดังเช่น ในกรณีของท่านอาจารย์พุทธทาส อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำร้ายกาย ใจ จิตวิญญาณ และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของท่านอาจารย์พุทธทาสและสังคม เพราะเป็นสิ่งที่ผิด "ธรรม" คือ ธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ การทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และผลจากการทำหน้าที่นั้น ตามที่ท่านอาจารย์ได้พร่ำสอนไว้.
ค. ผู้ดูแลผู้ป่วยกับสังคม ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นบุคคลสาธารณะหรือมีผู้รู้จักมาก ผู้ดูแลผู้ป่วยให้ "ตายดี" จะต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมสูงและสามารถอธิบายข้อเท็จจริงทางการแพทย์ให้สังคมเข้าใจสภาพที่แท้จริงของผู้ป่วย ความทุกข์ทรมานอันเกิดจากการ "ยื้อ" หรือ "ยืด" เวลาตายของผู้ป่วยออกไปเรื่อยๆ แล้วไม่ทำตามคำเรียกร้องต่างๆ ที่ผิด "ธรรม" ซึ่งนำความทุกข์ทรมานอย่างยาวนานมาสู่ผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม ดังในกรณีของคุณครูจูหลิง ปงกันมูล เป็นต้น.
5. การสร้างบรรยากาศแห่งความสงบ
การจะทำให้ผู้ป่วยมีความสุขสบายและความสงบได้นั้น นอกจากจะต้องบรรเทาอาการทางกายและทางใจดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว ยังต้องทำให้บรรยากาศโดยรอบผู้ป่วยอยู่ในความสงบด้วย.
ผู้ป่วยที่นอนอยู่ในห้องที่พลุกพล่าน มีคน เข้าๆ ออกๆ มากมาย มีเสียงจ้อกแจ้กจอแจหรือเสียงกระซิบกระซาบอยู่ทั่วไป มีเสียงอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ที่ทำงานตลอดเวลามีการฉีดยา ให้ยา วัดไข้ วัดชีพจร วัดความดันเลือด เจาะเลือด ฯลฯ เป็นพักๆ และอื่นๆ คงยากที่จะทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย และหลับสนิทได้.
โรงพยาบาลจึงไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสำหรับการ "ตายดี" สถานที่ที่เหมาะสำหรับการ "ตายดี" คือ สถานที่ที่ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย ปราศจากสิ่งรบกวนต่างๆ ซึ่งรวมถึงแพทย์ พยาบาล ญาติมิตร และอื่นๆ ที่สร้างความรำคาญ ความวิตก กังวล ความสับสน และ/หรือความไม่สบายใจแก่ผู้ป่วย.
เสียงพูดคุย เสียงกระซิบกระซาบ เสียงร้องไห้ หรืออื่นๆ จากญาติมิตรที่ยัง "ทำใจ" ไม่ได้ จะสร้างบรรยากาศแห่งความสลดหดหู่ เศร้าหมอง และความไม่สบายใจให้แก่ผู้ป่วย แม้บางครั้งผู้พูดคุยกันอาจจะคิดว่าผู้ป่วยหลับหรือหมดสติ แต่ในความเป็นจริงนั้น ผู้ป่วยยังรับรู้สิ่งต่างๆ นั้นได้.
ควรให้ผู้ป่วยได้อยู่ในสถานที่หรือบ้านที่ตนรัก ในสิ่งแวดล้อมที่สงบสบาย และมีสิ่งรบกวนน้อยที่สุด โดยเฉพาะจากญาติมิตรที่ผู้ป่วยไม่คุ้นเคยหรือไม่ชอบ จากแพทย์และพยาบาลที่ชอบสั่งการตรวจรักษาที่สร้างความเจ็บปวดหรือความรำคาญแก่ผู้ป่วย และจากสิ่งอื่นๆ ที่ผู้ป่วยไม่ปรารถนาจะได้เห็น ได้ยิน หรือได้สัมผัส.
ญาติมิตรรอบข้างผู้ป่วยควรจะรักษาจิตใจ ของตนให้สงบ มีความเมตตากรุณาต่อผู้ป่วย ต้องการให้ผู้ป่วยสบายใจ ไม่กังวลในเรื่องใดๆ และเปล่ง (ปล่อย) กระแสจิตแห่งความเมตตาและความปรารถนาดีให้อบอวลไปทั่วบรรยากาศโดยรอบตัวผู้ป่วย จะช่วยให้เกิดบรรยากาศแห่งความสงบและเป็นคุณประโยชน์ต่อการจากไปของผู้ป่วยได้.
การถกเถียงกันถึงวิธีการรักษาพยาบาล ต่างๆ จนอาจถึงขั้นทะเลาะกัน การร้องห่มร้องไห้/รำพึงรำพัน และการแสดงอารมณ์รุนแรงต่างๆ จะทำลายบรรยากาศ แห่งความสงบสบายลงได้.
6. การตั้งสติและการ "ปล่อยวาง"
เมื่อผู้ป่วยเจ็บหนัก/ใกล้ตาย ผู้ป่วยและญาติมิตรตลอดจนผู้ที่ดูแลผู้ป่วย (แพทย์ พยาบาล และอื่นๆ) จะรู้สึกตื่นเต้น กังวล มีอารมณ์อ่อนไหวและรุนแรงได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บหนัก/ใกล้ตายขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่ได้คาดหมายกันมาก่อน และไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน.
ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ผู้ป่วยและญาติมิตรของผู้ป่วยตั้งสติให้ได้ การจะทำเช่นนั้นได้ ผู้ดูแลผู้ป่วยจะต้องสามารถตั้งสติของตนเองให้ได้ก่อน ซึ่งแพทย์และพยาบาลส่วนใหญ่ที่ได้ผ่านการดูแลรักษาคนเจ็บป่วยมาหลายๆ ปี และผ่านประสบการณ์ผู้ป่วย "ตายคามือ" มามาก มักจะตั้งสติได้ดีกว่าแพทย์จบใหม่และพยาบาลจบใหม่.
ผู้ดูแลผู้ป่วยที่ตั้งสติได้เร็วจะช่วยประคับประคองและฟื้น "สติ" (ในที่นี้ หมายถึง ทำให้ตระหนักรู้ความจริงหรือทำให้ระลึกถึงความจริง) ของผู้ป่วยและญาติได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยและญาติผ่อนคลายความตื่นเต้นตกใจ ความกลัว ความกังวล และอารมณ์รุนแรงอื่นๆ ลงได้.
ด้วยการพูดปลอบขวัญ ให้กำลังใจ ให้ความหวังและความสบายทางใจแก่ผู้ป่วยและญาติโดยเฉพาะในระยะแรกๆ.
เมื่อผู้ป่วยและญาติเริ่มตั้งสติได้แล้ว จึงค่อยๆ ชักนำให้ผู้ป่วยและญาติได้เข้าใจข้อเท็จจริงของการเจ็บป่วยของผู้ป่วย.
เมื่อผู้ป่วยและญาติเข้าใจข้อเท็จจริงของการเจ็บป่วย และยอมรับความจริงนั้นแล้ว จึงอธิบายถึงกลไกแห่งการตายและความตายตามธรรมชาติของการเจ็บป่วยนั้น ซึ่งจะไม่น่ากลัวและไม่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานมากเท่ากับการพยายามฝืนธรรมชาติ หรือการ "ยื้อ" (ยืดเวลาแห่งการตาย) ให้ยาวนานออกไป.
เมื่อผู้ป่วยและญาติยอมรับความจริงของการเจ็บป่วยและการตายแล้ว ผู้ป่วยและญาติจะคลายความกังวลและจิตใจจะสงบลง ผู้ดูแลผู้ป่วยควรจะแนะนำผู้ป่วยและญาติถึงวิธีการบรรเทาอาการเจ็บปวด และอาการอื่นๆ ทั้งทางกายและทางใจดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว.
ถ้าผู้ป่วยและญาติต้องการกลับไปตายที่บ้าน ควรจะจัดการให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางกลับบ้านโดยปลอดภัย เช่นให้รถพยาบาลพาผู้ป่วยไปส่งที่บ้าน หรือแนะนำวิธีรักษาพยาบาลผู้ป่วยระหว่างการเดินทางโดยให้อุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ ไปด้วย เป็นต้น.
ถ้าผู้ป่วยต้องการกลับไปตายที่บ้าน แต่ญาติไม่ยอม ก็ควรจะพูดคุยกับญาติให้เข้าใจว่า นี่เป็นการ "ทำบุญ" ครั้งสุดท้ายให้ผู้ป่วย การฝืนเจตนารมณ์ของผู้ป่วยจะเป็น "บาป" และจะติดตรึงอยู่ในใจของตนตลอดไป.
ถ้าผู้ป่วยไม่ต้องการกลับไปตายที่บ้าน ก็ควรจะให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนและจากไปในสถานที่ที่ผู้ป่วยต้องการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้สมปรารถนาในวาระสุดท้าย.
เมื่อผู้ป่วยและญาติยอมรับวาระสุดท้ายของ ผู้ป่วยแล้ว ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยหรือผู้ที่เชี่ยวชาญในทางศาสนาหรือลัทธิที่ผู้ป่วยและญาติเชื่อถือศรัทธา ควรจะพูดคุยให้ผู้ป่วย "ปล่อยวาง" (ทิ้ง) ความห่วงกังวลต่างๆ โดยระลึกถึงแต่พระผู้เป็นเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ตนเคารพบูชา หรือ "ปล่อยวาง" ทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ความเป็น "ตัวเรา-ของเรา" เพื่อให้กาย ใจ และจิตวิญญาณได้กลับคืนสู่ธรรมชาติโดยสมบูรณ์.
7. การกล่าวลาและการ "บอกทาง"
การ "กล่าวลา" คือ การพูดจาที่ทำให้ผู้ป่วยใกล้ตายเกิดความสบายใจและสามารถจากไปด้วยความสุข ไร้ความกังวลห่วงใย เช่น
"ที่รัก...ฉันรักเธอมากนะ...เธอดีกับฉันมาตลอด...ฉันขอโทษถ้าฉันได้ทำอะไรที่ทำให้เธอไม่พอใจหรือผิดหวัง...ฉันไม่อยากให้เธอจากไป แต่ฉันก็ไม่อยากให้เธอต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป...ที่รัก เธอหลับเสียเถิด ไม่ต้องห่วงกังวลในเรื่องใดๆ อีก...ฉันจะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยตามที่เธอเคยสั่งไว้ ขอให้เธอจากไปแบบไม่ห่วงกังวลอะไร...หลับให้สบายนะ ที่รัก"
"แม่จ๋า...ผมรักแม่มาก ผมขอโทษสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมทำให้แม่ไม่สบายใจ...ผมอยากให้แม่อยู่กับผมนานๆ แต่แม่ลำบากมานานแล้ว เพื่อผมและน้องๆ ทุกคน...แม่ไม่ต้องกังวลนะครับ ผมจะดูแลน้องๆทุกคนให้ดีเหมือนกับที่แม่ได้ดูแลพวกเรามา...ผมจะอยู่กับแม่ เฝ้าดูแลแม่ให้หลับอย่างสบาย แม่หลับให้สบายนะครับ ผมรักแม่ครับ" เป็นต้น.
แม้ผู้ป่วยจะอยู่ในสภาพหมดสติหรือไม่รู้สึกตัว การ "กล่าวลา" ก็เป็นสิ่งสำคัญ และจิตวิญญาณของผู้ป่วยจะสามารถรับรู้ได้ หรืออย่างน้อย ก็ทำให้จิตใจของผู้กล่าวคำอำลานั้น เกิดความรู้สึกดีๆขึ้น เป็นกุศลแก่จิตใจของตนเองและแก่ผู้อื่นที่ได้ยินคำกล่าวอำลานั้น.
ผู้ที่กล่าวคำอำลา ควรจะกล่าวด้วยเสียงและสำเนียงที่นุ่มนวล อ่อนโยน เต็มไปด้วยความรัก ความเมตตา และความปรารถนาดี ที่จะให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบ ไร้ความห่วงกังวลใดๆ.
ผู้ที่กล่าวคำอำลา จึงต้องตั้งสติและซ้อมพูดให้ดีก่อนเข้าไปพูดกับผู้ป่วย เพื่อที่จะไม่ไปร้องห่มร้องไห้ ครำครวญ สะอึกสะอื้นในขณะที่เข้าไปกล่าวคำอำลา เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเศร้าเสียใจ และไม่อาจจากไปอย่างสงบได้.
ส่วนการ "บอกทาง" ในที่นี้หมายถึง การพูด การสวดภาวนา หรือการกระทำอื่นๆ ที่ผู้ป่วยหรือสังคมนั้นๆ เชื่อถือศรัทธา เพื่อนำพาให้การจากไปของผู้ป่วยได้ไปสู่สุคติ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละศาสนา แต่ละนิกาย และแต่ละลัทธิ เช่น
ในศาสนาคริสต์ เมื่อผู้ป่วยใกล้จะจากไปจะให้นักบวชหรือบาทหลวงมาไถ่บาปให้ผู้ป่วยและให้ศีลสุดท้าย (absolution) แก่ผู้ป่วยที่กำลังจะจากไป โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้ป่วยได้กลับคืนสู่อ้อมอกของ พระผู้เป็นเจ้า บางแห่งจะมีการร้องเพลงสวดให้แก่ผู้กำลังจะจากไปด้วย บางแห่งอาจมีการเจิม (ทา) น้ำมันให้ผู้ป่วยในนามของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมาน เป็นต้น.
ในศาสนาอิสลาม เมื่อผู้ป่วยใกล้จะจากไปจะให้ผู้ป่วยกล่าวถ้อยคำปฏิญาณตนว่า "ลาอิลาฮะอัลลัลลอฮ์" (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์) และอ่านคัมภีร์อัลกุรอานโดยเฉพาะบท "ยาซีน" ("ซูเราะฮ์ยาซีน") ให้ผู้ป่วยฟัง บางท่านอาจอ่าน "ซูเราะฮ์อัลฟะลัก"(บทรุ่งอรุณ) และ "ซูเราะฮ์อันนาส" (บทมนุษยชาติ) ด้วย แล้วเป่าบทกายของผู้ป่วย แล้วจับมือของผู้ป่วยลูบไปตามร่างกายของผู้ป่วยด้วย ผินหน้า ผู้ป่วยไปทางทิศกิบละฮ์ เมื่อผู้ป่วยตายแล้ว ให้จัดสภาพให้เรียบร้อย รีบอาบน้ำ ห่อศพ นำศพไปละหมาด แล้วรีบนำไปฝัง โดยตามไปส่งศพด้วย เป็นต้น.
ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ให้นำร่างของผู้ป่วยใกล้ตายลงจากที่นอนยกสูง ลงนอนบนเสื่อที่เตรียมไว้ หันศีรษะไปทางทิศเหนือเท้าเหยียดไปทางทิศใต้ อ่านคัมภีร์ "ศรีมทุภัควุทคีตา", บทเพลงสวดสรรเสริญพระนารายณ์, การอวตารของพระนารายณ์ (วิษณุสหัสุรนาม) เป็นต้น ให้ผู้ป่วยฟัง จัดเครื่องธรรมทานถวายพราหมณ์ 10 อย่าง (ทศทาน) ได้แก่ โค ที่ดิน งาดำ ทองคำ น้ำมันเนย เสื้อผ้า ธัญพืชชนิดเม็ด ทองเงิน และเกลือ และจัด "วัว" เป็นเครื่องธรรมทานถวายพราหมณ์ (โคทาน).
หากใกล้หมดลม มีอาการดิ้นรนทุรนทุรายได้รับทุกขเวทนา ก็ควรทำทาน "อุตกุรานุติเธนุ" วิญญาณจะออกจากร่างได้สงบไม่ทรมาน.
เมื่อสิ้นลมแล้ว ให้อาบน้ำด้วย "ปัญจคัยยะ" (ประกอบด้วยนมโค, นมเปรี้ยวจากนมโค, น้ำมันเนยจากนมโค, ปัสสาวะโค และอุจจาระโค) ผสมน้ำอาบ หรืออาบน้ำด้วย "ปัญจามฤต" (ประกอบด้วย นม, นมเปรี้ยว, เนย, น้ำผึ้ง และน้ำตาล) อาบน้ำเสร็จแล้วให้สวมเสื้อผ้าใหม่ ก่อนเดินทางไปยังสุสาน นำน้ำจากแม่น้ำคงคา ใบกระเพรา ทองคำ และรัตนะต่างๆ ใส่ในปากของผู้เสียชีวิต แล้วให้ญาติมิตรและบริวารพาไปยังสุสานเพื่อประกอบพิธีเผาศพต่อไป .
ในศาสนาพุทธ การ "บอกทาง" ขึ้นอยู่กับนิกายและลัทธิต่างๆ บางนิกาย เช่น นิกายวัชรญาณในทิเบต จะมีการ "บอกทาง"แต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มเจ็บหนัก และมีพีธีกรรมต่างๆ เพื่อชักนำให้ผู้ป่วยไปสู่ภพภูมิต่างๆ ที่สูงขึ้น.
ในเมืองไทย ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท (หินยาน) ไม่มีพิธีกรรมอะไรเป็นพิเศษสำหรับผู้ป่วยเจ็บหนัก หรือใกล้ตาย (ดู "วัฒนธรรมการตายของพุทธบริษัท" ในหัวข้อ "การตายคืออะไร" ในตอนต้นๆ)
บางแห่งอาจมีการนิมนต์พระมาสวด "โพชฌงค์ 7" (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้) เสวนาธรรม หรือให้ศีลให้พร เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสุขใจ คลายกังวล และสงบลง แล้วให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสทำบุญโดยถวายสังฆทาน หรืออื่นๆ.
บางแห่งก็ให้เพียงญาติมิตรเข้ากล่าวคำอำลาผู้ป่วย (ดังที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น) พร้อมกับให้ผู้ป่วย "บอกอรหัง" อันหมายความว่า ให้ผู้ป่วยมีจิตใจระลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์หรือสิ่งที่ดีงามอื่นๆ หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นอีก คือ ให้ผู้ป่วยได้รู้สึกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และดับสลายไปนั้นเป็นธรรมชาติ ไม่มี "ตัวเรา-ของเรา" หรือ "ตัวกู-ของกู" อีกต่อไป จะทำให้ผู้ป่วยสามารถ "ตายดีที่สุด" ตามอัตภาพของตนได้.
อย่างไรก็ตาม บางแห่งและบางคนอาจถือว่า การ "บอกทาง" เป็นการ "แช่ง" ผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยเสียกำลังใจ จึงไม่ยอมให้มีการ "บอกทาง" หรือนิมนต์พระมาพบผู้ป่วย จนเมื่อผู้ป่วยใกล้ตายจริงๆ หรือไม่สามารถรับรู้อะไรได้แล้ว จึงมีการ "บอกทาง" หรือนิมนต์พระมาสวดให้ศีลให้พรผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่สามารถรับรู้ และ "ทำใจ" ของตนให้พ้นจากทุกขเวทนาต่างๆได้.
การ "บอกทาง" แต่เนิ่นๆ ให้ผู้ป่วยสามารถ "ปล่อยวาง" ทุกอย่างโดยไม่ห่วงกังวลในเรื่องใดๆ อีกจะทำให้ผู้ป่วยจากไปด้วยความสุขสงบได้.
สันต์ หัตถีรัตน์ พ.บ.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 8,156 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้