8. การดูแลหลังตาย
สำหรับผู้ที่เชื่อถือในเรื่องของ จิตวิญญาณหลังตาย ส่วนใหญ่จะเชื่อว่า หลัง ตายใหม่ๆ จิตวิญญาณของผู้ป่วยจะยังคงวนเวียนอยู่ในที่นั้น ถ้าญาติมิตรแสดงความโศกเศร้าเสียใจ ร้องห่มร้องไห้มากมาย อาจทำให้จิตวิญญาณของผู้ป่วยเกิดความห่วงกังวล และไม่สามารถจากไปสู่สุคติได้.
ผู้ดูแลผู้ป่วย (แพทย์ พยาบาล และอื่นๆ) จึงต้องพยายามพูดคุยให้ญาติมิตรของผู้ป่วยเข้าใจความจริงของธรรมชาติและความจริงของชีวิตตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มเจ็บหนัก เพื่อให้ญาติมิตรเหล่านั้นเตรียมกาย เตรียมใจ และสามารถระงับการแสดงออก (อากัปกิริยา) ของความเศร้าโศกเสียใจ ความสลดหดหู่ และ อารมณ์อันไม่เป็นมงคลเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ป่วยได้.
ถ้าญาติมิตรของผู้ป่วยได้เตรียมกายเตรียมใจแต่เนิ่นๆ และสามารถปฏิบัติตนไม่ให้ผู้ป่วยต้องเกิดความห่วงกังวลหรือความสลดหดหู่ในขณะที่เจ็บหนักและใกล้ตายแล้ว หลังผู้ป่วยตาย ญาติมิตรเหล่านี้ก็จะสามารถปฏิบัติตน ให้จิตวิญญาณของผู้ป่วยไม่ต้องพะวักพะวน ห่วงหน้าพะวงหลัง และสามารถจากไปด้วยความสุขสงบได้.
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อเกี่ยวกับเรื่องของจิตวิญญาณหลังตายผู้ดูแลผู้ป่วยควรให้การดูแลหลังตายต่อผู้ป่วย ต่อญาติมิตรของผู้ป่วย ต่อตนเอง และต่อสังคมดังนี้
8.1 การดูแลร่าง (ศพ) ของผู้ป่วยด้วยความรัก เสมือนกับว่าผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่ ด้วยการอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเรียบร้อยอย่างนุ่มนวลอ่อนโยน แต่งกายให้เรียบร้อยสวยงามตามประเพณี แต่งหน้าแต่งผมให้แลดูสดชื่น จัดท่าทางของศพ ห่อศพ และ/หรือกระทำการอื่นๆ ต่อศพให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมประเพณีของสังคมของผู้ป่วย.
การกระทำต่อศพ ควรกระทำด้วยความรักและความเคารพ เพราะอย่างน้อยก็จะเป็นคุณเป็นกุศลต่อผู้กระทำเช่นนั้น และทำให้ผู้อื่นที่เห็นการกระทำเช่นนั้นเกิดความชื่นชมและเป็นคุณเป็นกุศลไปด้วย.
8.2 การปลอบขวัญและให้กำลังใจ แก่ญาติมิตรของผู้ป่วยที่เสียขวัญ ตกใจ เสียใจ หรืออื่นๆ โดยอาจให้ญาติมิตรเหล่านั้นได้ร้องไห้ คร่ำครวญกับ ร่าง (ศพ) ของผู้ป่วยตามต้องการสักครู่หนึ่ง แล้วพึงให้สติแก่ญาติมิตรเหล่านั้นว่า การร้องไห้คร่ำครวญอาจทำให้จิตวิญญาณของผู้ป่วยเกิดความกังวลห่วงใย ไม่อาจจากไปสู่สุคติหรือสู่อ้อมกอดของพระผู้เป็นเจ้าได้.
สำหรับญาติมิตรที่ไม่สามารถคุมสติได้ อาจต้องให้ยากล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพม (diazepam) ขนาด 2 หรือ 5 มิลลิกรัม แล้วพาออกนอกห้องที่ผู้ป่วยนอนอยู่ เพื่อไปนั่งหรือนอนพัก โดยมีผู้ดูแลคอยปลอบขวัญและให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ.
ส่วนญาติมิตรที่เสียสติ คลุ้มคลั่งโวยวาย ต้องรีบพาออกนอกห้องผู้ป่วย ถ้าจำเป็น อาจต้องจับมัดและให้ยา haloperidol ขนาด 2-5 มิลลิกรัม กินหรือฉีด และให้มีคนดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น.
ญาติมิตรหลายคนอาจไม่เกิดอาการเศร้าโศกเสียใจในระยะแรก เพราะต้องวุ่นกับการจัดงานศพและอื่นๆ แต่หลังจากนั้นเป็นเดือนหรือบางครั้งเป็นปี จะเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น จึงควรติดตามดูแลเป็น ระยะๆ จะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที.
8.3 การจัดการเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ให้เรียบร้อยและรวดเร็ว เช่น ใบรับรองการตาย หรือแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยอาจเขียนใบรับรองแพทย์ให้ไว้กับญาติในกรณีที่ญาติต้องการพาผู้ป่วยกลับไปตายที่บ้าน โดยระบุว่า “ผู้ป่วยเป็นโรค........ในระยะสุดท้าย และคงจะเสียชีวิตจากโรค.........ในเวลาไม่นานหลังกลับไปถึงบ้าน เป็นต้น เพื่อที่ญาติจะได้นำใบรับรองการตาย หรือใบรับรองแพทย์ไปยื่นที่อำเภอหรือเขต เพื่อทำใบมรณบัตรได้.
ในกรณีที่ต้องการเคลื่อนย้ายศพข้ามเขตจังหวัด ควรจะแนะนำญาติให้ขอทำใบเคลื่อนย้ายศพด้วย เป็นต้น.
8.4 การช่วยประสานงานเรื่องต่างๆ เช่น การฉีดยากันศพเน่า การจัดหาโลงศพ การจัดหาพาหนะเคลื่อนย้ายศพไปวัดหรือไปสุสาน การจัดหาดอกไม้ธูปเทียนหรือสิ่งจำเป็นอื่นๆ เป็นต้น.
เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตใหม่ๆ ญาติอาจอยู่ในภาวะโศกเศร้าเสียใจ จับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะจัดการกับศพอย่างไร ผู้ดูแลผู้ป่วยควรช่วยแนะนำ ให้คำปรึกษาหารือ และ/หรือช่วยจัดการให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วย (ในกรณีที่ผู้ป่วยสั่งไว้ และไม่มีญาติจัดการให้) และ/หรือตามความต้องการของญาติ เป็นต้น.
8.5 การจัดพิธีกรรมทางศาสนาหรือตามวัฒนธรรมประเพณีของสังคมให้พอเหมาะกับสภาวะทางเศรษฐกิจสังคมของผู้ป่วยและสังคม ไม่ควรจะจัดงานศพประเภท"ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" หรือ "คนตายเผาคนเป็น" (การจัดงานศพแบบหรูหราฟุ่มเฟือย จนญาติมิตรและสังคมเกิดหนี้สินมากมาย).
ผู้ดูแลผู้ป่วยควรแนะนำญาติให้ตระหนักถึงความสุขสงบสำหรับผู้ป่วยหลังตาย และหลีกเลี่ยงพิธีกรรมต่างๆ ที่เกินความพอดี ซึ่งจะยังความเดือดร้อนต่อจิตวิญญาณของผู้ตาย ต่อญาติ และต่อสังคมด้วย.
8.6 การดูแลสื่อมวลชนและสังคม ผู้ป่วยที่เป็นบุคคลสาธารณะหรือเป็นข่าวอยู่ ผู้ดูแลผู้ป่วยจำเป็นจะต้องดูแลสื่อมวลชนและสังคมด้วย เพื่อให้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะการเจ็บป่วยและสาเหตุการตายอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิด การเข้าใจผิด จนเป็นผลเสียต่อผู้ป่วย ญาติมิตรของ ผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย และ/หรือสังคมได้.
ในกรณีดังกล่าวข้างต้น ผู้ดูแลผู้ป่วย (ถ้ามีหลายคน) จะต้องปรึกษาหารือกันตั้งแต่เริ่มดูแลผู้ป่วย และให้ผู้หนึ่งผู้ใดเท่านั้นเป็นผู้ให้ข่าว หรือแจ้งผลการตรวจรักษา เพื่อป้องกันความสับสนและการเข้าใจผิด ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว การแก้ไขอาจยุ่งยาก และอาจทำให้เกิดผลเสียหายในวงกว้างได้.
8.7 การดูแลตนเอง ผู้ดูแลผู้ป่วยที่หมดหวังหรือระยะสุดท้าย มักจะเกิดความเครียด เกิดอาการเหนื่อยหน่าย ท้อถอย สลดหดหู่ หรือซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะหลังผู้ป่วยเสียชีวิต.
ดังนั้น ถ้าตนเองหรือญาติมิตรรู้สึกว่าตนหรือผู้ร่วมงานกำลังเกิดภาวะดังกล่าว ควรรีบนำตนหรือผู้ร่วมงานนั้นออกจากบริเวณที่เครียดหรือสลดหดหู่ แล้วให้โอกาสระบายความรู้สึกทั้งหลายที่อัดแน่น (เก็บกด) มาตลอดช่วงเวลาที่ดูแลผู้ป่วย จะช่วยผ่อนคลายความเครียดและอารมณ์ที่เป็นผลเสียต่อกายและใจได้ ถ้ายังไม่ดีขึ้น ควรกินยาไดอะซีแพมขนาด 2-5 มิลลิกรัม หรือยานอนหลับเพื่อให้หลับสนิทสักช่วงหนึ่ง จะช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าวลงได้.
8.8 การให้การศึกษาแก่ญาติมิตรและสังคม ในกรณีที่ผู้ป่วยสามารถ "ตายดี" และเป็นที่ชื่นชมของญาติมิตรและสังคม เช่น ในกรณีของนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวเบลเยี่ยม นายฮูโก คลอส (Hugo Claus) และในกรณีที่ผู้ป่วยต้อง "ตายลำบาก" เช่น ในกรณีของนางชองตาล เชอบิเร่ (Chontal Sebire) ชาวฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 (ดูเรื่อง"การตายแบบฝรั่ง" ในบท "การตายคืออะไร") หรือในกรณีของท่านอาจารย์พุทธทาส คุณครูจูหลิง ปงกันมูล หรืออื่นๆ เพื่อให้สังคมได้ตระหนักว่า ประโยชน์สุดท้าย และเป็นประโยชน์สูงสุดที่สังคมและญาติมิตรจะให้แก่ผู้ที่ตนรัก เคารพ หรือศรัทธาได้นั้นก็คือ ทำให้ผู้นั้นได้ "ตายดี" นั่นเอง.
สิ่งที่ไม่พึงกระทำสำหรับการ "ตายดี"
บทก่อนๆ ได้กล่าวถึง"วิธีการดูแลผู้ป่วยให้ "ตายดี" สำหรับประเทศไทย" แล้ว บทนี้จึงจะกล่าวถึง สิ่งที่ไม่พึงกระทำสำหรับการ "ตายดี".
เพราะปุถุชนทั่วไปย่อมมีความรักความห่วงใย ในญาติมิตรที่ตนรัก/ชอบ/ผูกพัน/สนิทสนม ดังนั้น เมื่อญาติมิตรคนใดเกิดเจ็บป่วยโดยเฉพาะเมื่อมีอาการรุนแรง/เจ็บหนัก/หมดหวัง หรือระยะสุดท้าย ความรักความห่วงใยย่อมทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมักจะนำไปสู่การกระทำหรือพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมกับวิธีการที่จะให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบ และมีความสุขความสบายตามสมควรแก่อัตภาพและสภาวการณ์ในขณะนั้น เช่น
1. การปกปิดความจริงเกี่ยวกับการเจ็บป่วย
ผู้ป่วยไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวบ้านทั่วไปมักจะเกรงใจแพทย์ ไม่กล้าถามแพทย์ว่า ตนเป็นโรคอะไร ต้องดูแลรักษาตนเองอย่างไร ต้องรักษา นานไหม เสียค่าใช่จ่ายเท่าใด จะหายหรือจะมีโรคแทรก (ภาวะแทรกซ้อน) อะไรบ้าง เป็นต้น.
และแพทย์ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะมีเวลา หรือ"ขี้เกียจ" ที่จะชี้แจงให้ผู้ป่วยทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการดูแลรักษา โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรงหรือโรคที่รักษายากหรือรักษาแล้วมักทรุดลง เป็นต้น.
ผู้ป่วยจึงมักไม่ทราบรายละเอียดแห่งการเจ็บป่วยของตน หรือในหลายต่อหลายครั้ง ไม่รู้แม้แต่โรคที่ตนเป็น หรือหมอผ่าตัดเอาอะไรออกไปจากร่างกายของตนบ้าง (เช่น ตัดกระเพาะลำไส้บางส่วนไป) เป็นต้น.
อนึ่ง ญาติของผู้ป่วยจำนวนมากก็ไม่ยอมให้แพทย์บอกความจริงเกี่ยวกับความเจ็บป่วยแก่ผู้ป่วย เพราะกลัวผู้ป่วยจะเสียกำลังใจหรืออื่นๆ.
ผู้ป่วยบางคนเมื่อทราบข่าวร้าย แทนที่จะตกใจหรือเสียใจ กลับปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นโรคนั้น แล้วก็เปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลไปเรื่อยๆ เพื่อจะให้ตนได้เป็น "โรคที่ตนอยากจะเป็น" หรือไม่ได้เป็น "โรคที่ตนไม่อยากจะเป็น" เป็นต้น.
ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้หรือรู้แต่ไม่ยอมรับ/ไม่ยอมเข้าใจ รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการเจ็บป่วยของตน จึงรู้สึกไม่พึงพอใจ ไม่สบายใจ หรือสับสน เมื่อยิ่งรักษายิ่งมีอาการมากขึ้น โรคแทรกซ้อนมากขึ้น ทุกข์ทรมานมากขึ้น เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลบ่อยขึ้น และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดความกังวลเพิ่มขึ้น ทำให้อาการทรุดลง หรือรู้สึกว่าอาการของตนเป็นมากขึ้นๆ ทั้งที่โรคดีขึ้น.
2. การให้ความหวังที่ไม่อาจเป็นจริงได้
แพทย์และพยาบาลจำนวนมากมักให้ความหวังที่ไม่อาจเป็นจริงได้แก่ผู้ป่วยและญาติโดยเฉพาะในการเจ็บป่วยระยะสุดท้าย ทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความหวังผิดๆ และยอมรับการรักษาที่มีผลเพียงแต่การยืด "กระบวนการการตาย" ออกไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าการกระทำเช่นนั้นอำนวยประโยชน์ให้แก่แพทย์ พยาบาล และ/หรือโรงพยาบาล การกระทำเช่นนั้นก็เป็นการผิดมรรยาทหรือจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ เพราะเป็นการรักษาพยาบาลที่ทำให้ผู้ป่วยและญาติต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น และเป็นการ "เลี้ยงไข้" แบบหนึ่ง.
ญาติบางคนก็หวังว่าจะเกิด "ปาฏิหาริย์" ทำให้ผู้ป่วยหายจากการเจ็บป่วย จึงไม่บอกความจริงแก่ผู้ป่วย และหลอกผู้ป่วยไปเรื่อยๆ อีกทั้งขอร้องให้แพทย์และพยาบาลร่วมมือในการหลอกผู้ป่วยด้วย.
อันที่จริง "ปาฏิหาริย์" หรือสิ่งที่ไม่คาดฝันในด้านดีเกิดขึ้นน้อยมากๆ จนอาจเรียกได้ว่าไม่เกิดขึ้นเลย แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันในด้านไม่ดี เช่น ผลข้างเคียงต่างๆ จากการตรวจรักษามักเกิดขึ้นเสมอๆ เป็นประจำ ทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับความทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้น ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงควรชี้แจงให้ผู้ป่วยและญาติได้ทราบความจริงดังกล่าว.
3. การให้การรักษาพยาบาลที่เพิ่มความทุกข์ทรมาน
การรักษาพยาบาลเพื่อ "ยื้อ" (ยืดเวลา) การตายเกือบทั้งหมดเป็นการรักษาพยาบาลที่เพิ่มความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วย ครอบครัว และ/หรือสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ทางกาย ทางใจ ทางจิตวิญญาณ ทางเศรษฐกิจ โดยไม่จำเป็น และทำให้เกิด "ค่านิยม" ผิดๆ ว่านั่นเป็น "การรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด".
การรักษาพยาบาลเพื่อ "ยื้อ" การตาย เช่น การ "ปั๊ม" หัวใจ (การกู้ชีพ) การช่วยหายใจ การให้ออกซิเจน การให้อาหารไม่ว่าทางสายยาง (ท่อให้อาหารทางจมูกหรือทางหน้าท้อง) หรือทางเส้นเลือด (total parenteral nutrition, TPN) การให้เลือด/น้ำเกลือ/ยา เพื่อ "ยื้อ" การตาย เป็นต้น ล้วนเป็น การรักษาพยาบาลเพื่อทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานมากขึ้นและนานขึ้นเท่านั้น.
4. การให้การรักษาพยาบาลที่ตรงข้ามกับความต้องการของผู้ป่วย
ความต้องการของผู้ป่วยแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน แพทย์ พยาบาล ผู้ดูแลผู้ป่วย และญาติมิตร ควรจะให้การรักษาพยาบาลตามที่ผู้ป่วยต้องการหรือแสดงเจตนารมณ์ไว้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยได้ "สมหวัง" ในสิ่งที่ตนต้องการในช่วงเวลาที่เหลืออยู่.
เช่น ถ้าผู้ป่วยไม่ต้องการไปโรงพยาบาล ก็ ควรอนุโลมให้ผู้ป่วยได้อยู่ในสถานที่ที่ผู้ป่วยต้องการ ผู้ป่วยไม่ต้องการการเจาะเลือด/เจาะคอ หรืออื่นๆ ก็ไม่ควรทำในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เป็นต้น.
เพราะการ "ฝืนใจ" หรือฝืนความต้องการของผู้ป่วย จะเป็นการ "ทำร้าย" จิตใจและจิตวิญญาณ ของผู้ป่วยอย่างรุนแรง และทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถตายอย่างสงบและอย่างมีความสุขได้.
5. การปฏิเสธที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้ป่วย
แพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลผู้ป่วย และ/หรือญาติมิตร มักจะคิดว่าผู้ป่วยที่เจ็บหนักหรือใกล้ตาย มักจะมีสติฟั่นเฟือน/สับสน หลง/เลอะเลือน หรืออื่นๆ ซึ่งในบางครั้งหรือบางช่วงเวลาอาจจะเป็นเช่นนั้นได้ แต่ในบางครั้งหรือหลายครั้ง ผู้ป่วยอาจจะรู้เรื่องดีและแสดงความคิดเห็นได้ถูกต้อง/สมเหตุสมผล.
การปฏิเสธที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้ป่วยแม้แต่ในภาวะที่คิดว่า ผู้ป่วยสับสน/หลง/เลอะเลือน ย่อมทำให้ผู้ป่วยขัดเคืองใจ/โกรธแค้น และทำให้สุขภาพจิตของผู้ป่วยยิ่งเสื่อมทรุดลงเร็วขึ้น ความอดทน/อดกลั้น รับฟังความคิดเห็นของผู้ป่วย จะทำให้ผู้ป่วยได้ระบายสิ่งที่ตนคับข้องใจ หรืออยากให้ผู้อื่นได้รับฟังความเห็นของตน ทำให้จิตใจของผู้ป่วยสงบลง.
6. การทอดทิ้งผู้ป่วย
ผู้ป่วยบางคนหรือหลายคนอาจจะจู้จี้จุกจิกขี้บ่น หรือปากร้าย โดยเฉพาะในขณะที่เจ็บป่วย บางคนอาจจะพูดแต่เรื่องเก่าๆ ซ้ำซากไปมา บางคนอาจจะหงุดหงิด ท้อแท้ หรือมีอารมณ์ที่ทำให้ผู้ดูแล (แพทย์ พยาบาล ญาติมิตร) เกิดอารมณ์อันไม่เป็นมงคลขึ้นได้ง่าย บางคนอาจจะอยู่ในสภาพที่น่าสมเพชเวทนา จนผู้ดูแลเกิดความหดหู่เศร้าหมอง และไม่อยากเห็น/ดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย.
ผู้ป่วยเหล่านั้นจึงมักถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่าง โดดเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล/สถานสงเคราะห์แห่งใด.
การทอดทิ้งผู้ป่วยให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย จะสร้างความทุกข์ทรมานยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ยกเว้น แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการเช่นนั้น.
7. การพูดและ/หรือการแสดงอากัปกิริยาอันไม่สมควร
ผู้ป่วยที่เจ็บหนัก หมดหวัง หรืออยู่ในระยะสุดท้าย มักจะอ่อนไหวต่อคำพูด และอากัปกิริยาของแพทย์ พยาบาล ผู้ดูแล และ/หรือญาติมิตรได้มากๆ การพูดจา (แม้ว่าจะเป็นการพูดจาระหว่างกันโดยไม่พูดกับผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยได้ยิน) ก็อาจจะกระทบกระเทือนจิตใจที่อ่อนไหว/บอบบางของผู้ป่วยได้ รวมทั้งอากัปกิริยาที่แสดงออกถึงความสมเพชเวทนา ความเศร้าหมอง/หดหู่ หรือความไม่เป็นมงคลอื่นๆ.
การร้องห่มร้องไห้/คร่ำครวญ การหา "แพะรับบาป"สำหรับอาการทรุดลงของผู้ป่วย การทะเลาะเบาะแว้ง/ขัดแย้งเกี่ยวกับวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไป หรืออื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความกังวล/สับสน หรือความไม่สงบแก่ผู้ป่วย ย่อมเพิ่มความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น.
8. การกู้ชีพผู้ป่วยที่หมดหวัง/ระยะสุดท้าย
ยกเว้นในกรณีที่เสียชีวิตทันทีจากหัวใจหยุดเต้น/สมองถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง/อื่นๆ คนที่เสียชีวิตมักจะมีภาวะอื่นๆ เกิดนำมาก่อนการเสียชีวิต เช่น ภาวะช็อก (เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของ ร่างกายไม่เพียงพอ) ภาวะเขียว (เลือดและเนื้อเยื่อ ต่างๆ ขาดออกซิเจน) ภาวะหอบลึก (เพราะภาวะกรดจากการแปรสภาพหรือ metabolic acidosis) การหายใจครืดคราดก่อนตาย (death rattle) เป็นต้น.
การพยายามช่วยหายใจ ใส่ท่อเข้าในหลอดลมเพื่อดูดเสมหะ ให้ออกซิเจน ให้ยา ฯลฯ เพื่อยื้อการตายไว้ หรือแม้กระทั่งการพยายามปั๊มหัวใจและกู้ชีพผู้ป่วยที่หมดสติและเสียชีวิตแล้ว ดังในกรณีของ ปู่เย็น (นายเย็น แก้วมณี "เฒ่าทระนงแห่งลุ่มน้ำเพชรบุรี" ที่พยาบาลไปพบว่าเสียชีวิตอยู่ในเรือเมื่อเช้าวันที่ 12 ตุลาคม 2551 ในวัย 108 ปี แล้วถูกนำไปปั๊มหัวใจที่โรงพยาบาลกว่า 1 ชั่วโมง) ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง.
ในหลักสูตรการฝึกอบรมการกู้ชีพขั้นสูง (Advanced Cardiovascular Life Support, ACLS) ที่ใช้กันทั่วโลก ก็มีข้อห้ามการกู้ชีพในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิตและกู้ชีพไม่สำเร็จ ณ จุดเกิดเหตุ เพราะระยะเวลาที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุไปโรงพยาบาลย่อมเกินพอสำหรับความตายของสมองที่ขาดเลือดเลี้ยงเป็นเวลานาน ดังนั้น ถ้าบังเอิญกู้ชีพสำเร็จ ผู้ป่วยก็จะอยู่ในสภาพของ "ผักถาวร" (persistent vegetative state) เป็นภาระต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมตลอดไป.
บทสรุปสำหรับการดูแลผู้ป่วยให้ "ตายดี"
การดูแลผู้ป่วยให้ "ตายดี" คือ การดูแลผู้ป่วยที่หมดหวังหรืออยู่ในระยะ 3-6 เดือนสุดท้ายของ ชีวิตให้ปราศจากความทุกข์ทรมานทั้งทางกาย ใจ จิตวิญญาณ และอื่นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถตายอย่างสงบ ปราศจากความเจ็บปวดและความไม่สุขสบายต่างๆ ให้มากที่สุดโดย
1. การบอกความจริงเกี่ยวกับความเจ็บป่วย ของผู้ป่วยตามสมควรแก่กาลเทศะ.
2. การทำให้ผู้ป่วยยอมรับกลไกแห่งการตาย ตามธรรมชาติ ซึ่งจะทุกข์ทรมานน้อยกว่าการตายที่ผิดธรรมดา/ผิดธรรมชาติ.
3. การบรรเทาความเจ็บปวดและอาการรบกวนต่างๆ.
4. การบรรเทาอาการทางใจ.
5. การสร้างบรรยากาศแห่งความสงบ.
6. การให้ตั้งสติและการ "ปล่อยวาง" ทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อสิ้นความห่วงกังวลต่างๆ.
7. การกล่าวลาและการ "บอกทาง" เพื่อให้ผู้ป่วยยึดมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ป่วยเชื่อถือศรัทธาเท่านั้น หรือให้ผู้ป่วยเข้าใจและเข้าถึงความจริงแห่งธรรมชาติ และสามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติด้วยการปล่อยวางความเป็น "ตัวกู-ของกู" อย่างสิ้นเชิง.
8. การดูแลหลังตายเพื่อให้ผู้ป่วย ครอบครัวผู้ดูแล และสังคม เกิดความสุขความสงบหลังการจากไปของผู้ป่วย.
การดูแลผู้ป่วยให้ "ตายดี" จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการกระทำ เช่น
1. การปกปิดความจริงเกี่ยวกับการเจ็บป่วย.
2. การให้ความหวังที่ไม่อาจเป็นจริงได้.
3. การให้การรักษาพยาบาลที่เพิ่มความทุกข์ทรมานแก"ผู้ป่วย.
4. การให้การรักษาพยาบาลที่ตรงข้ามกับความต้องการของผู้ป่วย.
5. การปฏิเสธที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้ป่วย.
6. การทอดทิ้งผู้ป่วย.
7. การพูดและ/หรือการแสดงอากัปกิริยาอันไม่สมควร.
8. การกู้ชีพโดยไม่จำเป็น/ไม่สมควร/ไม่เหมาะสม.
แพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลผู้ป่วยที่หมดหวังหรืออยู่ในระยะสุดท้าย จำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ เพื่อให้เกิดจิตสำนึกแห่งความรักความเมตตา และทักษะแห่งการดูแลผู้ป่วย ที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตได้อย่างสุขสงบ และจากไปสู่สุคติอย่างสมบูรณ์ตามอัตภาพของตนได้.
สันต์ หัตถีรัตน์ พ.บ.,ศาสตราจารย์เกียรติคุณ
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 11,879 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้