ความหมาย
"สุดยอดแห่งชีวิต" ของคนๆ หนึ่งน่าจะหมายถึง สภาวะที่คนๆนั้นมีความสุขความสมหวังมากที่สุดในชีวิตของตน ซึ่งอาจเกิดขึ้นแล้ว หรือใฝ่ฝันว่าจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่งในชีวิต.
ความสุขความสมหวังของคนทั่วไปหรือปุถุชน (คนที่ยังมีกิเลสหนาหรือสามัญชน) ย่อมวนเวียนอยู่ในเรื่อง "กิน-กาม-เกียรติ-โก้" เช่น
กรณีที่มีข่าวครึกโครมไปทั่วโลกในเดือนตุลาคม 2551 ว่าหนุ่มใหญ่ชาวเม็กซิกัน นายมานูเอล อูริเบ อายุ 43 ปี มีความสุขกับการ "กิน" ตั้งแต่วัยเด็ก จนอ้วนที่สุดในโลก (ได้ลง "กินเนสส์ บุ๊ก ออฟ เรคคอร์ด" ว่าเป็นชายที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลก คือ 590 กิโลกรัม ใน พ.ศ. 2550... "โก้" ซะเหลือเกิน) จนลุกจากเตียงไม่ได้ ต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงมาโดยตลอดกว่า 20 ปี โดยไม่ได้ออกนอกบ้าน เห็นเดือนเห็นตะวันเลย.
หลังตกหลุมรักกับ น.ส.คลอเดีย โซลิส จึงได้เปิดตัวต่อหน้าจอโทรทัศน์ใน พ.ศ. 2549 ขอความช่วยเหลือจากผู้ใจบุญให้ช่วยออกค่ารักษาพยาบาลลดน้ำหนักของตนลงเพื่อจะได้แต่งงานกับ น.ส.คลอเดีย จึงมีคณะแพทย์เข้าช่วยเหลือลดน้ำหนักลงได้ถึง 280 กิโลกรัม (ได้ลง"กินเนสส์ บุ๊กฯ" อีกครั้งในฐานะที่เป็นบุคคลที่ลดน้ำหนักได้มากที่สุดในโลก... "โก้" ซะอีกครั้ง).
เมื่อน้ำหนักเหลือ 310 กิโลกรัม จึงเข้าพิธีวิวาห์กับ น.ส.คลอเดีย อายุ 38 ปี ที่คบหากันมานาน 3 ปี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2551 ทั้งที่นายมานูเอล ยังลงจากเตียงเองไม่ได้ต้องใช้รถเข็นปั้นจั่น (รถเครน) ยกเตียงเหล็กและตัวเขาออกจากบ้านขึ้นไว้บนรถ เพื่อออกจากบ้านไปยังศาลาประชาคม สถานที่จัดวิวาห์ หลังเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียน และประกาศให้ทั้งสองเป็นสามีภรรยา นายมานูเอลถึงกับร้องไห้โฮ น้ำตาไหลพรากด้วยความดีใจ เพราะเป็นความสมหวังสูงสุดของชีวิต (เรื่อง ของ "กาม").
แล้วยังได้ "เกียรติ" โดยมีผู้สื่อข่าวนานาชาติไปทำข่าวเผยแพร่ไปทั่วโลกและสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่องสารคดี "ดิสคัฟเวอรี่" ยังติดตามถ่ายภาพทำเป็นรายการพิเศษออกอากาศไปทั่วโลกอีกด้วย.
นายมานูเอล อูริเบ เป็นตัวอย่างหนึ่งแห่งความ "สุดโต่ง" หรือบางคนอาจถือว่าเป็น "สุดยอด" แห่งชีวิต เพราะประสบความสำเร็จในทุกด้านของ "กิน-กาม-เกียรติ-โก้" ที่ปุถุชนจำนวนมากปรารถนา ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเป็นอย่างน้อย.
แต่ "สุดยอดแห่งชีวิต" ของคนบางคนอาจเป็นเรื่องของ "ความร่ำรวย" ไม่ว่าความร่ำรวยนั้นจะทำ ให้คนอื่นหรือสิ่งแวดล้อมต้องได้รับความเดือดร้อนเพียงใด.
เมื่อคนๆ หนึ่งรวยขึ้นๆ จะต้องมีอีกหลายๆ คนจนลงๆ และสิ่งแวดล้อมจะถูกทำลายมากขึ้นเสมอแล้วในที่สุด วิบากกรรมแห่งความร่ำรวยนั้นจะตกสู่คนร่ำรวยนั้น หรือลูกหลานเหลนโหลนของคนร่ำรวยนั้นเสมอ ตาม "กฎแห่งกรรม" หรือ "อิทัปปัจจยตา" ที่ไม่มีผู้ใดจะหลีกพ้นได้.
"สุดยอดแห่งชีวิต" ของคนบางคน อาจเป็นเรื่อง "อำนาจ" ไม่ว่าการได้มาซึ่งอำนาจนั้นจะเกิดจากการฆ่าบิดาหรือญาติพี่น้อง หรือได้มาจากสงครามที่ทำให้ทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้อไปเป็นจำนวนมาก.
อำนาจทำให้เกิดการลืมตัว เหลิง และโลภ-โกรธ-หลง เพิ่มขึ้น จึงเกิดเป็นวงจรอุบาทว์ (ดังรูป) ซึ่งในที่สุดก็จะทำลายผู้ที่มีอำนาจนั้นตาม "กฎแห่งกรรม" หรือ "อิทัปปัจยตา" เช่นกัน.
"สุดยอดแห่งชีวิต" ในความรู้สึกหรือความต้องการของคนทั่วไปจึงเป็นเพียงสิ่งฉาบฉวย ไม่ยั่งยืน และไม่ก่อให้เกิดความสุขสงบที่แท้จริงต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมได้.
เพราะยิ่ง "กิน" มาก ก็ยิ่งอ้วนมาก (จนลุกจากเตียงไม่ได้ ดังในกรณีของนายมานูเอล อูริเบ) ยิ่งอ้วนมาก ก็ยิ่งเหนื่อยง่ายและเป็นโรคต่างๆ ง่าย (คนอ้วนจนเป็นโรคเบาหวาน เห็นแล้วน่าสงสาร เพราะเขาไม่สามารถหยุดกินของหวานและอาหารโปรดได้ จนในที่สุด โรคเบาหวานที่คุมไม่ได้ดีก็จะทำให้ตาบอด ไตวาย หัวใจวาย เป็นอัมพาต และ/หรือถูกตัดเท้าตัดขาเพราะหลอดเลือดไปเลี้ยงเท้า/ขาตีบตัน เป็นต้น).
เพราะยิ่งเสพ "กาม" มาก ก็ยิ่งสำส่อนมากติดกามโรคมาก โดยเฉพาะโรคเอดส์ ซึ่งในระยะแรกไม่มีอาการและอาการแสดง แต่ติดต่อกันได้ แม้แต่เจ้าใหญ่นายโตที่มีอำนาจวาสนา ก็ไม่อาจคลาดคลาจากโรคนี้ได้ และเมื่อผิดลูกผิดเมียเขาบ่อยๆ "กฎแห่งกรรม" ย่อมตามทันอย่างแน่นอน.
เพราะยิ่งมี "เกียรติ" มาก/ "โก้" มาก ก็ยิ่ง "จมไม่ลง" ทำให้เกิดความทุกข์ และอาจทำให้ต้องล่มจม เพื่อดำรง "เกียรติ" หรือ "ความโก้" นั้นไว้ ด้วยการกู้หนี้ยืมสิน หรือทุจริตฉ้อฉล เป็นต้น.
เพราะยิ่ง "รวย" มาก ยิ่งมีคนอิจฉาริษยามาก มีคนจ้องจี้/ปล้น/ขโมย/ยึดทรัพย์ อยู่ตลอดเวลาคนที่รวยแล้วมีความสุขจึงมีน้อยมาก เพราะ "ยิ่งรวย ยิ่งโลภ" และเมื่อ "ยิ่งโลภ ยิ่งเบียดเบียนตนเองและ ผู้อื่น" จึงหาความสุขยาก.
เพราะยิ่งมี "อำนาจ" มาก ยิ่งลืมตัว กลายเป็นเผด็จการ ทุจริตฉ้อฉล จนต้องประสบความวิบัติไม่ช้าก็เร็ว เป็นต้น
"สุดยอดแห่งชีวิต" ในความหมายทั่วไปจึงเป็น "ยาพิษเคลือบน้ำตาล" หลอกล่อให้ลิ้มลอง แล้วติดใจ ไม่สามารถถอนตนออกจากการเสพนั้นได้ ในที่สุดจึงต้องจบลงด้วยความทุกข์ทรมานในรูปแบบต่างๆ.
ในความหมายที่แท้จริงและเป็นนิรันดร์ "สุดยอดแห่งชีวิต" น่าจะหมายถึง "ยอดสุด หรือ สูงสุด หรือ ปลายสุด" แห่งชีวิต นั่นคือ "ความตาย".
เพราะ "ความตาย" เป็นจุดสุดท้ายแห่งชีวิต ทุกชีวิตหลังกำเนิดขึ้นแล้ว (ในแต่ละคนแต่ละชาติ) เนื่องจาก "เรามีความตายเป็นธรรมดาเราจะพ้นความตายไปไม่ได้" (มรณธมฺโมมหิ มรณํ อนตีโต).
"ความตาย" จึงเป็น ยอดสุดแห่งชีวิต ที่คนทุกคนที่เกิดมาแล้วจำต้องดิ้นรนต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เสมือนหนึ่งการเดินทางไกลเป็นปีๆ หรือหลายสิบปี จนถึงจุดหมายปลายทาง คือปลายสุดแห่งชีวิต เพื่อให้ปลายสุดแห่งชีวิตเป็นจุดยอดสุดแห่งชีวิตหรือจุดสูงสุดแห่งชีวิต ที่ทำให้เกิด
1. ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในธรรมชาติและ กฎของธรรมชาติ.
2. ความสงบเย็น และความเบิกบาน เมื่อสามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งความเป็น "ตัวกู-ของกู" ลงได้
เพื่อกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสมบูรณ์.
"ความตาย" ซึ่งไม่มีผู้ใดจะหลีกพ้นได้ จึงควรจะเป็น "
ความตายที่ดีที่สุด" เพราะเป็นสิ่งสุดท้าย หรือปลายสุดแห่งชีวิต ที่ควรจะเป็น "ยอดสุด" หรือ "สุดยอด" แห่งชีวิตของคนทุกคน.
หนทางสู่ "สุดยอดแห่งชีวิต"
หนทางสู่ "สุดยอดแห่งชีวิต" ในความหมายทั่วไป คงไม่ต้องชี้แจงในที่นี้ เพราะคนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดในสังคมปัจจุบันต่างรู้เห็นและกระทำการเพื่อ "กิน-กาม-เกียรติ-โก้" อยู่แล้วไม่มากก็น้อย และจำนวนมากก็สามารถไต่เต้าสู่ "ความร่ำรวย"และ "ความมีอำนาจ" ด้วยวิธีการต่างๆ.
อีกทั้ง "สุดยอดแห่งชีวิต" ในความหมายทั่วไป ก็หาใช่ "สุดยอดแห่งชีวิต" ที่แท้จริงหรือยั่งยืนไม่ และส่วนใหญ่หรือทั้งหมดจะนำมาซึ่งความทุกข์ต่อตนเองและผู้อื่นไม่เร็วก็ช้าอย่างแน่นอน.
ในที่นี้ จึงขอกล่าวถึงหนทางสู่ "สุดยอดแห่งชีวิต" ในความหมายที่เป็นนิรันดร์ คือ "ความตายที่ดีที่สุด" เป็นสำคัญ แม้ท่านอาจารย์พุทธทาสจะรจนาไว้ว่า
แต่ปุถุชนทั่วไปที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติตนให้รู้วิธี"ตายก่อนตาย" ไว้ก่อน เมื่อถึงนาทีสุดท้ายแห่งชีวิต ย่อมยากยิ่งที่จะสามารถทำจิตให้ว่าง และปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้ง "ตัวเรา-ของเรา" ได้.
ดังนั้น ถ้าเราต้องการ "ตายดีที่สุด" เราต้อง ฝึกปฏิบัติตนแต่เนิ่นๆ โดย
1. ตระหนักอยู่เสมอ (ในทุกครั้งที่มีสติระลึกได้) ว่า ชีวิตของเราจะต้องเปลี่ยนไป ไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเดิมได้ (อนิจจัง) และชีวิตของเราจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอ จึงเป็นทุกข์ (ทุกขัง) ก็เพราะความ ใคร่มี-ใคร่เป็น ของเรา และเพราะเรายึดมั่นถือมั่นว่ามี "ตัวเรา-ของเรา".
ทั้งที่ "ตัวเรา" เกิดจากการรวมตัวกันของธาตุต่างๆ ซึ่งใน "ภาษาธรรม" เรียกว่า "ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ" หรือใน "ภาษาวิทยาศาสตร์" เรียกว่า คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน แคลเซียม โซเดียม โปแตสเซียม เหล็ก ทองแดง สังกะสี คลอรีน ฯลฯ ที่มาพึ่งพิงกันและก่อกำเนิดเป็นสังขาร (ร่างกาย) ของเรา จึงหาใช่ตัวตนที่แท้จริงไม่ (อนัตตา) เพราะร่างกายของเราจะแตกสลายกลายเป็นธาตุต่างๆ เหล่านั้นหลังชีวิตสิ้นสุดลง.
เมื่อไม่มี "ตัวเรา" ก็จะไม่มี "ของเรา" โดยอัตโนมัติ
สัจธรรมแห่งธรรมชาติทั้ง 3 (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ก็คือ "ไตรลักษณ์" (ลักษณะ 3 ประการที่เป็น "สามัญลักษณะ" หรือลักษณะที่เสมอกันแห่งสังขารธรรมทั้งปวง นั่นเอง).
2. ตระหนักอยู่เสมอ (ในทุกครั้งที่เจอการเกิด-การแก่-การเจ็บ-การตาย) ว่า "เรามีความตายเป็นธรรมดา เราไม่พ้นความตายไปได้" (มรณธมฺโมมฺหิ มรณํ อนตีโต)
ดังนั้นเราจะเตรียมใจและกาย เพื่อไปสู่ "ความตายที่ดีที่สุด" ให้เป็น"สุดยอดแห่งชีวิต" ให้จงได้.
3. พยายาม "ละชั่ว ทำดี มีจิตผ่องใส" โดยปฏิบัติตาม "ทาง 8 ประการอันประเสริฐ" (อริยอัฏฐังคิกมรรค) คือ
3.1 เห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) เช่น เห็นว่า "ไตรลักษณ์" เป็นความจริงและเราไม่พ้น "ความตาย" ไปได้ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น.
3.2 คิดชอบ (สัมมาสังกัปปะ) เช่น คิดแต่สิ่งที่ดีงาม (กุศลวิตก 3 ได้แก่ คิดในทางเสียสละไม่คิดสนองความใคร่/ความอยากของตนหรือ เนกขัมมวิตก, คิดในทางเมตตา ไม่พยาบาทมาดร้ายหรืออพยาบาทวิตก, คิดกรุณา ไม่คิดร้าย ไม่คิดเบียดเบียน หรือ อวิหิงสาวิตก นั่นเอง).
3.3 พูดชอบ (สัมมาวาจา) เช่น ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ, หรือวจีสุจริต 4 นั่นเอง.
3.4 ทำชอบ (สัมมากัมมันตะ) เช่น ไม่ฆ่าหรือเบียดเบียนกัน ไม่ลักขโมยหรือถือเอาของที่เขามิได้ให้ ไม่ประพฤติผิดในกามหรือล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน, หรือ กายสุจริต 3 นั่นเอง.
3.5 เลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ) คือ การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต.
3.6 พยายามชอบ (สัมมาวายามะ) เช่น พยายามระวังยับยั้งอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น, พยายามลดละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว, พยายามทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น, และพยายามทำให้กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งขึ้น หรือ สัมมัปปธาน 4 นั่นเอง.
3.7 ระลึกชอบ (สัมมาสติ) ระลึกรู้ว่านี่เป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา, ระลึกรู้ว่านี่เป็นเพียงเวทนา (สุข-ทุกข์-หรือเฉยๆ) ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา, ระลึกรู้ว่านี่เป็นเพียงจิต (ที่มีหรือไม่มีราคะ-โทสะ-โมหะ- ฯลฯ) ที่ไม่ใช่ สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา, ระลึกว่านี่เป็นเพียงธรรม (เช่น นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 5 โพชฌงค์ 7) ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา, หรือสติปัฏฐาน 4 นั่นเอง.
3.8 ตั้งจิตมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) เช่น เจริญสมาธิแล้ว ไม่หลงเพลิน/ติดหมกมุ่นอยู่ในสมาธิ หรือนำสมาธิ/ฌานที่ได้แล้วไปใช้ในทางที่ผิด ไม่เป็นไปเพื่อญาณทัสสนะและความหลุดพ้น เป็นต้น.
การปฏิบัติตาม "มรรคมีองค์ 8 ดังกล่าวข้างต้นไปเรื่อยๆ จะนำไปสู่ภาวะที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนบรรลุภาวะที่ถูกที่ชอบอันสมบูรณ์ (สัมมัตตะ 10) ซึ่งนอกจากองค์มรรค 8 ข้อข้างต้นแล้ว มีเพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อคือ
3.9 รู้ชอบ (สัมมาญาณ) เช่น รู้เรื่องธรรมชาติและกฎของธรรมชาติ (ไตรลักษณ์ อิทัปปจยตา ตถตา สุญญตา เป็นต้น).
3.10 พ้นชอบ (สัมมาวิมุตติ) เช่น พ้นจากอวิชชา-กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน คือ บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วนั่นเอง.
4. พยายามฝึก "ตายก่อนตาย" อยู่เสมอเมื่อมีโอกาส เช่น ลองคิดว่าถ้าเราจะต้องตายพรุ่งนี้ วันนี้เราจะทำอะไรบ้าง ถ้าเราจะต้องตายเดือนหน้าหรือปีหน้า เวลาที่เหลืออยู่นั้นเราจะทำอะไรบ้าง.
การฝึกคิดและฝึกปฏิบัติเสมือนกับว่า ความตายกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ จะทำให้เราได้มุมมองของชีวิตตรงข้ามกับที่เรามองในปัจจุบัน ที่มัวแต่ดิ้นรน/กระวนกระวาย/ทุรนทุราย ไขว่คว้า "อยากจะได้-อยากจะเป็น" ในสิ่งต่างๆ จนลืมความจริงแห่งชีวิต และลืม “สุดยอดแห่งชีวิต” ที่แท้จริง.
สรุป
"สุดยอดแห่งชีวิต" ที่แท้จริง คือ ปลายสุด หรือ ยอดสุดแห่งชีวิตที่ไม่มีผู้ใดจะหลีกพ้นได้ คือ ความตาย จึงควรที่จะดำเนินชีวิตให้ได้ "ความตายที่ดีที่สุด" เท่าที่จะทำได้ โดยตระหนักรู้ในความจริงแห่งชีวิตและธรรมชาติ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) และปฏิบัติตาม "มรรคมีองค์ 8 จนสามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งความเป็น "ตัวเรา-ของเรา" ได้ในนาทีสุดท้าย แห่งชีวิต ยอดสุดหรือปลายสุดแห่งชีวิตจะได้ เป็น "สุดยอดแห่งชีวิต" ที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง.
เอกสารอ้างอิง
1. สันต์ หัตถีรัตน์. การดูแลผู้ป่วยที่หมดหวัง. กรุงเทพมหานคร : โครงการตำราศิริราช, พ.ศ. 2521
2. พระราชวรมุณี (ปยุทธ์ ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พ.ศ. 2523.
3. พุทธทาสภิกขุ. สุญญตาธรรม ฉบับรวมเล่มสมบูรณ์, กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา, 2535: 331-423.
4. กลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม : พระดุษฎี เมธงฺกุโร, บก. มรณสติ พุทธวิธีต้อนรับความตาย. กรุงเทพมหานคร : ประสิทธิ์สเตชันเนอรี, 2536:1-213.
5. สันต์ หัตถีรัตน์. สิทธิ์ที่จะอยู่หรือตาย และการดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน, 2544:1-208.
6. สกล สิงหะ และคณะ. สรุปผลการสัมมนาบูรณาการ Palliative Care เข้ากับหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษา. หน่วยชีวันตาภิบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2548 ณ โรงแรมเจบี หาดใหญ่ สงขลา.
7. ชมรมชีวันตารักษ์ : เมตฺตานนฺโทภิกขุ, บก. ธรรมะ 5 ศาสนาในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพมหานคร : ที. เอ็น. พี. พริ้นติ้ง, 2549: 1-216.
8. มาโนช โชคแจ่มใส, บก. Death and dying. Manual of Essence and Diversity of Education (M.E.D.E) 2549; 7:1-33.
9. ประเสริฐ เลิศสงวนสินชัย, อิศรางค์ นุชประยูร, พรเลิศ ฉัตรแก้ว, ฉันชาย สิทธิ์พันธุ์, บก. การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย. End of life care : improving care of dying. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2550: 15-42.
10. เครือข่ายพุทธิกา. โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ. ดูได้ที่เว็บไซต์ www.budnet.info หรือโทร 0-2883-0592, 0-2886-9881.
11. World Health Organization. Palliative care. ดูได้ที่เว็บไซต์ www.who.int/cancer/palliative/en/
12. Center to Advance Palliative Care. ดูได้ที่เว็บไซต์ www.capc.org/building-a-hospital-based-palliative-care-program/case/definingpc
13. National Hospice and Palliative Care Organiza-tion (NHPCO). ดูได้ที่เว็บไซต์ www.nhpco.org
สันต์ หัตถีรัตน์ พ.บ.,ศาสตราจารย์เกียรติคุณ
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 6,270 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้