รายงานการประเมินสมรรถนะการควบคุมยาสูบของประเทศไทย โดยคณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกที่เพิ่งเปิด พบว่า แม้ประเทศไทยจะมีการควบคุมยาสูบที่จัดได้ว่าดีมากประเทศหนึ่ง แต่ก็ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงอีกมาก เช่นการบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่ยังหย่อนยาน โครงสร้างงานควบคุมยาสูบของทั้งภาครัฐและเอกชนยังอ่อนแอ และอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยยังอยู่ในระดับที่สูงมากคือ 37% และที่สำคัญคือ
การช่วยให้ผู้ติดบุหรี่เลิกสูบของประเทศไทย ยังได้รับความสำคัญในระดับต่ำ ไม่มีระบบการให้บริการเลิกบุหรี่ในระดับชาติ ยังเบิกค่ารักษาพยาบาลการเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ ประชาชนยังมาใช้บริการเลิกบุหรี่ในระดับต่ำ ยังไม่มี National guideline การรักษาการเลิกสูบบุหรี่ ยังไม่มีระบบฝึกอบรมผู้ที่จะให้คำแนะนำการเลิกสูบบุหรี่.
ระหว่าง พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2549 ประมาณว่ามาตรการควบคุมยาสูบต่างๆ ที่เราทำกันมา เช่น ขึ้นภาษีบุหรี่ ห้ามโฆษณาบุหรี่ ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ พิมพ์คำเตือนบนซองบุหรี่ ทำให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่ไป 2.4 ล้านคน หรือปีละ 160,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อคิดจากฐานคนสูบบุหรี่ทั่วประเทศ 10 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน.
หรือใน 100 คนนั้น เลิกสูบได้ปีละ 2-3 คน ทั้งๆ ที่ผู้สูบบุหรี่ในกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 70 และผู้สูบบุหรี่ในต่างจังหวัดประมาณครึ่งหนึ่งอยากเลิกสูบ.
นั่นคือผู้สูบบุหรี่ต้องการการช่วยในการที่จะเลิกสูบบุหรี่.
คณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกมีข้อเสนอแนะดังนี้
ควรจัดให้มีระบบการบริการเลิกบุหรี่ไว้ในระบบบริการสาธารณะสุขของประเทศ.
ควรเน้นการพัฒนา "Brief treatment interventions" บูรณาการเข้าสู่ระบบบริการโดยเฉพาะ ณ จุด primary care โดยอย่างน้อยต้องมีระบบการถามและบันทึกประวัติผู้สูบบุหรี่ทุกคนที่เข้ามารับการรักษาตัวไม่ว่าจะด้วยโรคอะไรในสถานบริการทุกระดับ ให้ brief advice ให้เลิกสูบบุหรี่ ติดตามส่งต่อให้คลินิกอดบุหรี่ หรือ Quitline ควรสนับสนุนการเลิกบุหรี่ให้อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพและประกันสังคม ควรทำ National guideline ในการรักษาการเลิกสูบบุหรี่ และพัฒนา Quitline ระดับชาติ.
กรณีการบันทึกประวัติการสูบบุหรี่ของคนไข้ไทย ในความเป็นจริงนักศึกษาแพทย์นักศึกษาพยาบาลและแพทย์ประจำบ้าน รวมทั้งแพทย์ของเราเองได้มีการซักประวัติและเขียนประวัติการสูบบุหรี่ของคนไข้ไทยแทบทุกรายมานานแล้ว.
แต่ไม่ได้มีการเขียนไว้ที่การวินิจฉัยโรค การแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่หรือการส่งต่อให้รับการรักษาการเลิกสูบบุหรี่ จึงยังไม่เป็นระบบ.
ศาสตราจารย์ไมเคิล ฟิโอเร ศูนย์วิจัยยาสูบ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา พบว่า "brief doctor's advice is effective but rarely done" จึงใช้ความพยายามผลักดันให้ประวัติการสูบบุหรี่เป็นหนึ่งใน Vital sign พบว่าการที่แพทย์มีการบันทึกประวัติการสูบบุหรี่ในเวชระเบียนทำให้สถิติการแนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก.
ศาสตราจารย์ไมเคิล ฟิโอเร ได้ผลักดันให้การบันทึกประวัติการสูบบุหรี่ในเวชระเบียนเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะรับรอง HA และประเทศออสเตรเลียก็กำหนดมาตรการเช่นเดียวกันนี้ ประเทศไทยเราก็อยู่ระหว่างการผลักดันเรื่องนี้เช่นกัน พรพ ทราบแล้วเปลี่ยน.
เพราะการเริ่มต้นด้วยการบันทึกประวัติการสูบบุหรี่ที่เป็นระบบและทั่วถึงเท่านั้น ที่จะเป็นจุดที่จะนำไปสู่การเตือน/แนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่.
จะโดยแพทย์แนะนำเองทั้งหมด หรือแนะนำเองสั้นๆ แล้วส่งต่อให้บุคลากรอื่นเช่น พยาบาล เภสัชกร แนะนำต่อ หรือแนะนำให้ไปปรึกษาทาง Quitline 1600.
คำพูดที่ว่า "สำหรับคนสูบบุหรี่ สิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดที่จะทำให้สุขภาพของเขาดีขึ้น คือการเลิกสูบบุหรี่" เป็นคำพูดที่อยากจะฝากต่อสำหรับแพทย์ไปยังผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ทุกคน.
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
- อ่าน 4,216 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้