การดูแลผู้ป่วยให้ "ตายดี" (11) ภาคผนวก : พินัยกรรมชีวิต (Living Wills) หรือหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธราณสุข (Advance Medical Directives)
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 (ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2550) มีบัญญัติในมาตรา 12 ดังนี้
"มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากรับผิดทั้งปวง"
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงได้มอบหมายให้มีการจัดทำกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้น โดยมีศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์และคณะ ร่วมกับศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำ (ร่าง) กฎกระทรวงตามความในมาตราที่ 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และจัดประชุมขอความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายอาชีพและหลายสถานะ โดยมี (ร่าง)กฎกระทรวงตามความในมาตราที่ 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ฉบับล่าสุดที่แก้ไขปรับปรุงเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ดังนี้
(ร่าง)
กฎกระทรวง
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนา
ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต
หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. ...
....................................................
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้
"หนังสือแสดงเจตนา" หมายความว่า หนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้าของบุคคลผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาที่ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย โดยให้มีผลเมื่อผู้ทำหนังสืออยู่ในภาวะที่ไม่อาจจะแสดงเจตนาด้วยตนเองได้ โดยวิธีสื่อสารตามปกติ
"บริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย" หมายความว่า วิธีการทางการแพทย์หรือวิธีการอื่นใด ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตัดสินใจนำมาใช้กับผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา เพื่อวัตถุประสงค์จะยืดกระบวนการตายออกไปโดยไม่ทำให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาพ้นไปจากความตาย หรือพ้นจากการทรมานโดยสิ้นเชิงได้โดยรวมถึงการช่วยการหายใจ การให้ยาช่วยความดันโลหิตหรือชีพจร การถ่ายเลือด การล้างไต และวิธีการอื่นที่เพิ่มความเจ็บปวด/ทรมานแก่ผู้ป่วย แต่ไม่รวมถึงการให้ยาหรือวิธีการใดที่จะระงับความเจ็บปวดเฉพาะคราว
"วาระสุดท้ายของชีวิต" หมายความว่า ภาวะของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอันเกิดจากการบาดเจ็บโรค ที่ไม่อาจจะรักษาให้หายได้และจากการพยากรณ์โรคตามมาตรฐานทั่วไปในทางวิชาชีพเห็นว่า ภาวะนั้นจะนำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะเวลาที่ไม่นาน และให้รวมถึงภาวะที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาพผักถาวรด้วย
"สภาพผักถาวร" หมายความว่า ภาวะของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยตามมาตรฐานทางวิชาการแพทย์ว่า มีการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ ที่ทำให้ขาดความสามารถในการรับรู้และสื่อสารได้อย่างรู้เรื่อง โดยอาจมีเพียงปฏิกิริยาสนองตอบอัตโนมัติเท่านั้น
"การทรมานจากการเจ็บป่วย" หมายความว่า ความทุกข์ทรมานทางกาย ทางจิตใจของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา อันเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานน้อยลงพอที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น หรือหายจากการบาดเจ็บหรือโรคนั้นได้ เช่น การเป็นอัมพาตสิ้นเชิงตั้งแต่คอลงไป โรคสมองเสื่อม โรคที่มีความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและข้อที่มีสาเหตุจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นต้น
ข้อ 2 หลักเกณฑ์วิธีการทำหนังสือแสดงเจตนามีดังต่อไปนี้
2.1 เพื่อให้หนังสือแสดงเจตนา มีความชัดเจนที่จะดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ทำหนังสือดังกล่าว หนังสือแสดงเจตนาควรมีข้อมูลให้สามารถสื่อความหมายได้ ดังนี้
ก. รายการที่แสดงข้อมูลของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา (เช่น ชื่อ สกุล อายุ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้)
ข. วัน เดือน ปี ที่ทำหนังสือแสดงเจตนา
ค. ชื่อพยานและคุณสมบัติของพยานที่รับรองสติสัมปชัญญะของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา (ถ้ามีใบรับรองแพทย์ก็ให้แนบไว้กับหนังสือแสดงเจตนาด้วย)
ง. ระบุประเภทของบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการจะได้รับ และกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพให้บริการไป ก่อนหน้าแล้ว ก็ให้ระบุข้อความว่า ให้ระงับการให้บริการนั้นได้
จ. กรณีที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา มิได้เขียนหนังสือแสดงเจตนาด้วยตนเอง ให้ระบุชื่อผู้เขียนหรือผู้พิมพ์หนังสือแสดงเจตนาด้วย
ฉ. ลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา ลายมือชื่อของพยาน และผู้เขียนหรือผู้พิมพ์
2.2 หนังสือแสดงเจตนาอาจระบุชื่อบุคคลใกล้ชิด ที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาให้ความไว้วางใจ ซึ่งต้องเป็นผู้มีความสามารถสมบูรณ์ตามกฎหมายไว้ด้วยก็ได้ เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจตามความประสงค์ที่แท้จริงของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา รวมทั้งกรณีที่หนังสือแสดงเจตนาระบุให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ตัดสินใจปฏิเสธการรักษาใดๆ แทนตนก็ได้ บุคคลผู้ถูกระบุชื่อดังกล่าวต้องแสดงการยอมรับโดยต้องลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือแสดงเจตนาไว้ด้วย
2.3 ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอาจเปลี่ยนแปลงหนังสือแสดงเจตนาได้ตลอดเวลาในกรณีมีหนังสือแสดงเจตนาหลายฉบับให้ถือฉบับที่ทำครั้งสุดท้ายเป็นฉบับที่มีผลบังคับ
2.4 หนังสือแสดงเจตนาอาจระบุรายละเอียดอื่นๆ เช่น ความประสงค์ในการเสียชีวิตที่บ้าน ความปรารถนาของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาที่จะได้รับการเยียวยาทางจิตใจ ซึ่งหมายรวมถึงการสวดมนต์ การปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรมของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา ทั้งนี้สถานพยาบาลควรให้ความร่วมมือตามความเหมาะสม
ข้อ 3 หลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนา มีดังต่อไปนี้
3.1 ผู้เก็บรักษาหนังสือแสดงเจตนาของผู้ใดไว้ เมื่อผู้แสดงเจตนาเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลใดให้แสดงหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วยหรือข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขของสถานพยาบาลนั้นโดยไม่ชักช้า และให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขนำหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วยเก็บเข้าในแฟ้มเวชระเบียนของผู้ป่วย พร้อมทั้งให้รายงานให้ผู้บริหารสถานพยาบาลนั้นได้ทราบ
กรณีที่ผู้ป่วยยังไม่ถึงวาระสุดท้ายของชีวิตและมิได้ปฏิบัติตามหนังสือเจตนาเมื่อผู้ป่วยออกจากสถานพยาบาลให้ส่งคืนหนังสือแสดงเจตนานั้นแก่ผู้ป่วย
3.2 ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะดีพอที่จะสื่อสารกับผู้อื่นได้ตามปกติให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้รับผิดชอบการรักษาผู้ป่วย ทำความเข้าใจโดยอธิบายภาวะและความเป็นไปของโรคของผู้ป่วยให้ผู้ป่วยทราบ พร้อมทั้งขอคำยืนยันการปฏิเสธบริการสาธารณสุขตามหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว รวมทั้งอธิบายถึงวิธีปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนานั้นให้ผู้ป่วยเข้าใจให้ชัดแจ้ง
ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในภาวะที่จะรับรู้ สื่อสารกับผู้อื่นได้ตามปกติ ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผิดชอบการรักษาผู้ป่วยดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนา
3.3 ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะดีพอที่จะสื่อสารกับผู้อื่นได้ตามปกติ และผู้ป่วยมีความประสงค์จะทำหนังสือแสดงเจตนาที่สถานพยาบาลก็ให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องให้ความสะดวกตามสมควร ดังนี้
ก. อำนวยความสะดวกในการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วย โดยอาจจัดเตรียมแบบฟอร์มหนังสือแสดงเจตนาที่สถานพยาบาลจัดทำขึ้น
ข. ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยในการทำหนังสือแสดงเจตนาตามข้อ 2
3.4 กรณีที่มีปัญหาการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนา หรือการตีความหนังสือแสดงเจตนาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้รับผิดชอบการรักษาผู้ป่วย ควรปรึกษาหารือกับบุคคลใกล้ชิดตามข้อ 2.2 หรือญาติผู้ป่วย เพื่อกำหนดแนวทางการดูแลรักษาต่อไป โดยควรทำการรักษาเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย และคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
3.5 ในกรณีที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ให้หนังสือแสดงเจตนามีผลก็ต่อเมื่อผู้นั้นพ้นจากสภาพการตั้งครรภ์
ข้อ 4 สถานพยาบาลอาจกำหนดแนวปฏิบัติหรือระเบียบภายใน เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาล สามารถปฏิบัติงานได้สะดวกตามกฎกระทรวงนี้
ข้อ 5 กฎกระทรวงฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
...............................................................................................................................................................................
...............................................................................................................................................................................
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศกฎกระทรวงฉบับนี้ เพื่อให้หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาตามมาตรา 12 แห่งกระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีผลในทางปฏิบัติได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
สันต์ หัตถีรัตน์ พ.บ.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 15,329 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้