• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัวใจวาย-หัวใจล้มเหลว

หัวใจวาย-หัวใจล้มเหลว

ถาม : กัมพล/กรุงเทพฯ
ขอถามปัญหาเกี่ยวกับ "หัวใจ" ภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ หลายปีแล้ว  แต่ยังไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของกรุงเทพฯ กังวลว่าสักวันอาจจะหัวใจวายจากสิ่งแวดล้อมที่ผจญอยู่ ขอถามว่าหัวใจวาย-หัวใจล้มเหลวเกี่ยวข้องกันอย่างไร


ตอบ : นพ.สันต์ หัตถีรัตน์
คำว่า "หัวใจวาย" ไม่ได้เป็นโรค แต่เป็นสภาวะที่หัวใจหยุดทำงาน มีการใช้ "หัวใจวาย" หลายความหมาย อาทิ

- หัวใจหยุดทำงาน หมายถึง ตาย หรือถึงแก่กรรม

- หน้ามืดเป็นลม ใจสั่น ใจหวิว ใจวูบหาย ไม่ได้เป็นอาการจากหัวใจ แต่เป็นอาการจากจิตใจ

- อาการหอบ เหนื่อย บวม จากการที่หัวใจทำงานไม่ไหว ซึ่ง น่าจะเรียกว่าหัวใจล้ม หรือหัวใจล้มเหลวมากกว่า เพราะฟังดูแล้วสบายใจกว่าหัวใจวาย เนื่องจากอะไรที่ "วาย" แล้ว จะตายไปหรือหมดสิ้นไป ส่วนของอะไรที่ "ล้ม" แล้วยังลุกขึ้นใหม่ได้ เช่น ล้มหมอน นอนเสื่อ ล้มป่วย เป็นต้น

คำว่า "หัวใจวาย" ใช้ร่วมกับ คำว่า "ตาย" มานาน ผู้ป่วยได้ยินคำนี้เข้าเลยพานจะตายเอาจริงๆ ขออธิบายเพิ่มเพื่อความกระจ่าง
ภาวะหัวใจล้ม เกิดจากสาเหตุอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือไม่เป็นโรคหัวใจ ถ้าหัวใจสู้งานต่อไปไม่ไหว ก็จะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มขึ้นเหมือนกับคนแบกของหนักๆ เดินไปๆ ในที่สุดแบกไม่ไหวก็ต้องล้มลง แต่หลังจากล้มลงแล้วได้พักสักครู่ ได้น้ำได้อาหาร ก็อาจจะลุกขึ้นแบกของหนักเดินต่อไปได้ ส่วนภาวะหัวใจหยุดทำงาน อาจเกิดขึ้นเพราะหัวใจทำงานต่อไปไม่ไหว (ระยะสุดท้ายของภาวะหัวใจล้ม) หรือเพราะหัวใจเต้นผิดปกติอย่างรุนแรงจากสาเหตุต่างๆ เช่น ขาดเลือด ถูกไฟฟ้าช็อต จมน้ำที่เย็นจัด เป็นต้น คนที่หัวใจหยุดทำงาน จะต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างรีบด่วน (ภายในเวลา ๓-๕ นาที ด้วยการทุบหน้าอก ช่วยหายใจ เช่น เป่าปาก นวดหัวใจ และอื่นๆ เพื่อให้หัวใจกลับทำงานใหม่ ถ้าฟื้นชีวิตไม่สำเร็จ ผู้ป่วยก็จะอยู่ในสภาพเดิม คือ ตายแล้ว คนที่อยู่ในภาวะหัวใจล้ม แพทย์ให้การรักษาโดย

๑. ให้นอนพัก หรือนั่งพักจนอาการหายไป

๒. กินยาขับปัสสาวะ เพื่อลดการคั่งของน้ำ และเกลือที่เกิดขึ้น เนื่องจากหัวใจทำงานไม่ไหว

๓. กินยากระตุ้นหัวใจ เพื่อบังคับให้หัวใจทำงานดีขึ้น

๔. รักษาสาเหตุที่ทำให้หัวใจล้ม

สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ สามารถมีชีวิตอยู่ได้ค่อนข้างสะดวกสบาย  ไม่ต้องทุกข์ทรมานเหมือนผู้ป่วยโรคระบบอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก