ไขมันในเลือดสูง
มีผู้ป่วยบางคนวิ่งมาหาหมอด้วยความตกใจซึ่งที่จริงไม่ใช่ผู้ป่วย เพราะไม่ได้เจ็บป่วยอะไร เพียงแต่อ้วนกว่าปกติไปสักหน่อย และก็กังวลเรื่องไปวัดไขมันในเลือด และพบว่าสูง 240
240 หมายถึง 240 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ซีซี หรือ 100 มิลลิลิตร หรืออาจเรียกว่า 240 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (240 มก.%) ซึ่งถ้าใช้หน่วยใหม่ที่สากลโลกเขาเปลี่ยนมาใช้กัน ก็จะประมาณ 6.2 มิลลิโมลต่อเลือด 1 ลิตร หรือ 1,000 ซีซี
ไขมันในเลือดชนิดนี้ หมายถึง โคเลสเตอรอล (cholesterol) ซึ่งในคนปกติ ค่าของไขมันชนิดนี้ (หรือค่าของโคเลสเตอรอล) ในเลือดจะอยู่ระหว่าง 150-250 มก.% หรือ 3.9-6.5 มิลลิโมลต่อลิตร
คนที่กลัวไขมันในเลือดสูงบางคนอาจจะต้องการให้ไขมัน (โคเลสเตอรอล) ในเลือด ต่ำกว่า 200 มก.% (หรือ 5.2 มิลลิโมลต่อลิตร)
เพราะโคเลสเตอรอลที่สูงมากในเลือด โดยเฉพาะตั้งแต่ 300 มก.% (หรือ 7.8 มิลลิโมลต่อลิตร) ขึ้นไป จะมีอัตราการเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่าคนที่มีระดับต่ำกว่า 200 มก.% หลายเท่า (นี่เป็นผลของการวิจัยในคนฝรั่ง สำหรับในคนไทยยังไม่มีการวิจัยในเรื่องนี้ที่น่าเชื่อถือได้)
และเป็นที่เชื่อกันว่า ถ้าโคเลสเตอรอลในเลือดสูงมากอยู่นานๆ หลอดเลือดแดงจะตีบแข็งเร็วกว่าปกติ เพราะไขมันชนิดนี้จะแทรกตัวเข้าสู่ผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดหนาแข็งและรูหลอดเลือดตีบแคบลง
แต่จากผลการวิจัยปรากฏว่าหลอดเลือดแดงที่เสี่ยงมากคือหลอดเลือดแดงที่หัวใจเป็นสำคัญ ส่วนหลอดเลือดแดงที่ตีบแข็งในอวัยวะอื่น เช่น ที่สมอง (ทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต) หรือที่แขนขา (ทำให้เกิดอาการตะคริวหรือปวดเมื่อยเวลาออกกำลังเพียงเล็กน้อย) ไม่ค่อยเกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้องกับระดับโคเลสเตอรอลสูงในเลือดมากนัก
อนึ่ง ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดที่สูงขึ้น ไม่ใช่ว่าสูงในวันนี้แล้ว พรุ่งนี้มะรืนนี้หรือเดือนหน้าปีหน้าจะเกิดเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ระดับโคเลสเตอรอลต้องสูงอยู่ในเลือดอย่างถาวรเป็นเวลานานหลายปี (ส่วนใหญ่ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปในผู้ใหญ่ ในเด็กจะต้องนานกว่านั้นอีกมาก) จึงจะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
หญิง : “คุณหมอคะ ดิฉันจะมาลดไขมันในเลือดค่ะ”
หมอ : “ไขมันในเลือดของคุณสูงเท่าไรครับ”
หญิง : “320 ค่ะ”
หมอ : “คุณไปเจาะเลือดเมื่อไหร่ครับ”
หญิง : “เมื่อวานนี้ค่ะ”
หมอ : “เมื่อวานนี้ ช่วงเช้าหรือช่วงบ่ายครับ และอดอาหารก่อนไปเจาะหรือเปล่า”
หญิง : “เจาะตอนเช้าค่ะ งดอาหารหลังมื้อเย็น แล้วมาเจาะเลือดตอนเช้าค่ะ”
หมอ : “แล้วมื้อเย็น คุณจะกินอาหารกี่โมงครับ”
หญิง : “บังเอิญวันนั้นดึกหน่อยค่ะ ไปกินเลี้ยงกับเพื่อนกว่าจะเสร็จเกือบ 5 ทุ่มค่ะ”
หมอ : “แล้วคุณเจาะเลือดกี่โมงครับ”
หญิง : “7 โมงเช้าค่ะ”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้นคุณยังไม่ต้องตกใจว่าไขมันในเลือดของคุณสูง เพราะคุณเพิ่งเจาะเลือดตรวจเพียงครั้งเดียว และคืนก่อนตรวจเลือดคุณยังไปกินเลี้ยงกับเพื่อน นอนดึก และอดอาหารก่อนตรวจเลือดน้อยกว่า 12 ชั่วโมง เมื่อไรคุณว่างๆ ไม่ได้กินเลี้ยง ไม่ป่วย นอนหลับได้ดี ไม่เครียด แล้วลองตรวจเลือดอีกครั้งนะครับ”
การเจาะเลือดหาระดับโคเลสเตอรอลในเลือดเพียงครั้งเดียวแล้วพบว่าสูง จึงไม่ได้หมายความว่าโคเลสเตอรอลในเลือดสูงอย่างแน่นอน และต้องรีบรักษาในวันนี้พรุ่งนี้
ทางที่ดีควรเจาะเลือดดูอีกสัก 2-3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 2-3 สัปดาห์ หลังจากที่ได้ปฏิบัติตนตามสมควร เช่น กินอาหารตามปกติ ไม่กินเลี้ยง ลดของมันและของหวานจัด ไม่เครียด ไม่นอนดึก นอนหลับได้ ไม่เจ็บป่วยในระยะ 2-3 สัปดาห์ก่อนเจาะเลือด ถ้ากินยาลดไขมันควรหยุดยาลดไขมันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ แล้วจึงเจาะเลือด
ควรเจาะเลือดในตอนเช้าหลังนอนหลับพักผ่อนมาอย่างดี และงดอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ยกเว้นน้ำเปล่า เป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง (ถ้าจะให้ดีควร 24 ชั่วโมงขึ้นไป)
ถ้าเจาะเลือดหลังปฏิบัติตนตามสมควรดังกล่าวข้างต้นแล้ว 2-3 ครั้งไขมันยังสูง จึงจะถือว่าน่าจะมีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงอย่างค่อนข้างแน่นอนได้
ผู้ป่วยอีกรายหนึ่งหน้าตาตื่นเข้ามาหาหมอ บอกว่าไขมันในเลือดสูง เจาะ 2 ครั้งแล้วก็ยังสูง พื่อนบอกว่าเป็นโรคหัวใจ จึงตกใจใหญ่รีบกระหืดกระหอบมาหาหมอ
ชาย : “ผมมารักษาโรคหัวใจครับ”
หมอ : “ทำไมคุณถึงรู้ว่าคุณเป็นโรคหัวใจ”
ชาย : “เพราะไขมันในเลือดของผมสูงครับ”
หมอ : “สูงเท่าไรครับ”
ชาย : “สูง 340 ครั้งหนึ่ง และ 280 อีกครั้งหนึ่ง”
หมอ : “ก่อนคุณตรวจทั้ง 2 ครั้ง คุณปฏิบัติตนตามหมอสั่งก่อนตรวจหรือเปล่าครับ”
ชาย : “ครับ ผมงดงานเลี้ยง งดนอนดึก และงดอาหารก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 12 ชั่วโมงครับ”
หมอ : “คุณมีอาการทางหัวใจอะไรบ้างครับ”
ชาย : “รู้สึกเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม และหัวใจหวิวๆครับ”
หมอ : “คุณมีอาการตั้งแต่เมื่อไรครับ”
ชาย : “ตั้งแต่รู้ว่าไขมันในเลือดสูงครับ”
หมอ : “ก่อนหน้านั้นไม่เคยเป็นหรือ”
ชาย : “ไม่เคยเป็นครับ”
หมอ : “แล้วคุณอยู่ดีๆทำไมไปตรวจไขมันในเลือด”
ชาย : “เห็นหนังสือพิมพ์เขาลงข่าวหลายครั้งว่า ถ้าไขมันในเลือดสูงจะเป็นโรคหัวใจ แล้วเพื่อนฝูงเขาก็ไปเจาะกันทั้งนั้น จึงไปเจาะบ้าง”
หมอ : “แล้วของเพื่อนเขาสูงมั้ยครับ” (เพราะถ้าของทุกคนสูงหมดต้องสงสัยว่าห้องตรวจเลือด (ห้องแล็บ) อาจผิดพลาดในด้านมาตรฐานการตรวจ ต้องเปลี่ยนที่ตรวจหรือเปลี่ยนโรงพยาบาลใหม่)
ชาย : “เมื่อของผมสูงคนเดียว เพื่อเขาเลยบอกว่าผมเป็นโรคหัวใจ”
หมอ : “คุณเลยใจหวิว เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม ใช่มั้ยครับ”
ชาย : “ครับ แต่ก่อนนี้ผมคงไม่ค่อยได้สังเกตตนเอง พอเพื่อนเขาทักจึงรู้สึก”
หมอ : “เพื่อนคุณนี่ดีเหลือเกิน ช่วยทำให้คุณไม่สบายได้ จากประวัติที่คุณเล่าให้ฟังนี่คุณยังไม่มีโรคหัวใจ มีแต่เรื่องไขมันในเลือดสูง คุณเจาะตรวจไขมันในเลือดตัวเดียวหรือ 2 ตัวครับ”
ชาย : “ตัวเดียวครับ มีตัวอื่นด้วยหรือครับ”
ไขมันในเลือดที่พูดถึงกันบ่อยมี 2 ตัว หรือ 2 ชนิด คือ
1. โคเลสเตอรอล (cholesterol)
2. ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride)
ไขมันทั้งสองชนิดได้จากอาหารและการสร้างขึ้นเองในร่างกายเป็นสาระสำคัญสำหรับร่างกาย ไม่ใช่สารพิษ ถ้ามีมากเกินไปหรือน้อยเกินไปจึงจะเกิดโทษ ประโยชน์ของไขมันมีมาก เช่น
โคเลสเตอรอล
1. เป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์ ทำให้ผนังเซลล์อ่อนนุ่มและยืดหยุ่นได้ดีถ้าขาดโคเลสเตอรอล ผนังเซลล์จะแข็ง เปราะ และใช้การไม่ได้ดี และถ้ามากเกินไปจนแทรกเข้าไปในผนังหลอดเลือดจะทำให้ผนังหลอดเลือดหนา แข็ง และตีบ
2. เป็นส่วนประกอบหลักของฮอร์โมนสำคัญๆจำนวนมาก (ฮอร์โมนเป็นสารหลั่งจากต่อมไร้ท่อในร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมและพัฒนาการทำงานของระบบต่างๆ) เช่น ฮอร์โมนเพศ ควบคุมการเจริญเติบโตของอวัยวะเพศและของร่างกาย ทำให้มีความแตกต่างทางเพศ เป็นต้น
3. เป็นส่วนประกอบสำหรับการสร้างวิตามินบางชนิดในร่างกาย เช่น วิตามินดี ร่างกายจึงพยายามรักษาระดับโคเลสเตอรอลในเลือดให้ค่อนข้างคงที่เสมอ เช่น ถ้ากินเข้าไปน้อย ร่างกายโดยเฉพาะตับก็จะสร้างโคเลสเตอรอลออกมามาก ถ้ากินเข้าไปมากร่างกายก็จะสร้างออกมาน้อย เป็นต้น
โคเลสเตอรอล จะถูกทำลายในตับและขับออกทางน้ำดีที่หลั่งเข้าไปในกระเพาะลำไส้ และขับถ่ายออกทางอุจจาระ ส่วนหนึ่งอาจถูกดูดซึมกลับไปใช้ใหม่ (ตับจึงเป็นทั้งตัวสร้างและตัวทำลายโคเลสเตอรล)
ถ้าระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินไป เช่น สูงกว่า 250 มก.% นานๆจะพบว่ามีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การเกิดนิ่วในถุงน้ำดี วงขาวรอบตาดำ (corneal arcus) ต่อมไขมัน(xanthoma) ตามเอ็นร้อยหวาย ข้อศอก หลังมือ เปลือกตา เป็นต้น
แต่ถ้าระดับโคเลสเตอรอลในเลือดต่ำเกินไป เช่น ต่ำกว่า 150 มก.% นานๆ จะพบว่ามีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุการฆ่าตัวตาย อารมณ์แปรปรวน จิตวิปริต เป็นต้น
ไตรกลีเซอไรด์
เป็นไขมันที่ร่างกายนำไปเผาผลาญ เพื่อให้เกิดเป็นพลังงานสำหรับการทำงานของร่างกาย ไตรกลีเซอ
ไรด์ ถูกสร้างขึ้นในตับและอวัยวะอื่นๆของร่างกาย (อวัยวะอื่นๆของร่างกายสร้างโคเลสเตอรอลน้อยมาก) และถูกเผาผลาญ (ทำลาย) เป็นพลังงานในอวัยวะต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อเนื้อมัน (adiposetissue) เป็นต้น
ระดับไตรกลีเซอไรด์ จะสูงๆ ต่ำๆ ในเลือดได้ง่ายจากการกินอาหารไขมัน ร่างกายไม่สามารถรักษาระดับไตรกลีเซอไรด์ให้คงที่ได้ดีเท่ากับระดับโคเลสเตอรอล
ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดในคนปกติที่งดอาหารมาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง จะอยู่ระหว่าง 50-150มก.% (หรือ 0.6-1.7 มิลลิโมล/ลิตร) ถ้าระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเกินไป เช่น สูงกว่า 600 มก.% นานๆ มักเกิดตุ่มแผลไขมัน (eruptive xanthoma) บริเวณหลัง สะโพก ข้อศอก และเข่า และถ้าสูงกว่า 900 มก.% นานๆ อาจเกิดอาการปวดท้องรุนแรงจากตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันได้
ส่วนอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าไตรกลีเซอไรด์โดยตัวของมันเองจริงๆแล้วสามารถทำให้อัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่
ถ้าระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดต่ำเกินไป มักพบในโรคขาดอาหาร ทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีกำลัง เป็นต้น
ชาย : “หมอจะให้ผมเจาะเลือดดูไตรกลีเซอไรด์ด้วยก็ได้ครับ”
หมอ : “ที่จริงก็ไม่จำเป็นเท่าไรแต่ถ้าคุณกลัวมาก ควรเจาะดูโดคเลสเตอรอลชนิดหนักด้วย”
ชาย : “โคเลสเตอรรอลชนิดหนักเป็นอย่างไรครับ”
โคเลสเตอรอลมรหลายชนิด เพื่อให้เข้าใจง่าย ขอแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆคือ
1. โคเลสเตอรอลชนิดหนัก (High-Density-Lipoprotein หรือ HDL cholesterol) ซึ่งถ้าชนิดหนักนี้สูงในเลือดจะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบลดลง หรือพูดภาษาชาวบ้านอาจจะพูดว่า ถ้าชนิดหนักนี้มีมากจะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
ถ้าชนิดหนักนี้มีน้อย (ระดับในเลือดต่ำ) จะทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น
เห็นมั้ยครับ ธรรมชาติจะมีการถ่วงดุลกันเองเสมอ ถ้าโคเลสเตอรอล (รวมชนิดต่างๆทั้งหมด) สูง จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่โคเลสเตอรอลชนิดหนักนี้กลับทำให้การเสี่ยงลดลงทั้งที่เป็นโคเลสเตอรอลเหมือนกัน แต่ต่างชนิดกันเท่านั้น
ระดับของโคเลสเตอรอล ชนิดหนักในเลือดของคนปกติอยู่ ระหว่าง 35-80 มก.% (หรือ 0.9-2 มิลลิโมล/ลิตร)
2. โคเลสเตอรอลชนิดเบา (Low-Density-Lipoprotein หรือ LDL cholesterol) ซึ่งมีทั้งเบามาก (Very-Low-Density-Lipoprotein หรือ VLDL cholesterol) เบาปานกลาง (Intermediate-Density-Lipoprotein หรือ IDL cholesterol) และเบา (หรือ LDL cholesterol) ซึ่งทั้งหมดนี้ถ้าสูงมากในเลือดนานๆ จะทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น
ระดับของโคเลสเตอรอลชนิดเบา (LDL cholesterol) ในเลือดจะอยู่ระหว่าง 100-200 มก.%
ชาย : “โอ้โฮ หมอทำให้ผมมึนไปหมดแล้วครับ”
หมอ : “อ้าว ถ้าคุณอยากรู้อะไรต้องพยายามรู้ให้หมด อย่ารู้ครึ่งๆกลางๆ แล้วก็เก็บเอาไปกังวลว่าจะเป็นโรคนั้นโรคนี้”
ชาย : “ตกลงหมอจะให้ผมเจาะเลือดตรวจดูไขมันอีก 2-3 ตัวใช่มั้ยครับ”
หมอ : “เปล่าเลย หมอต้องการให้คุณได้รับความรู้แล้วพิจารณาตัดสินใจเองว่า คุณตรวจเลือดแล้วได้ประโยชน์อะไรหรือเปล่า”
ชาย : “ก็ได้สิครับ ผมรู้ว่าไขมันในเลือดผมสูงและทำให้ผมเป็นโรคหัวใจ”
หมอ : “อ้าว กลายเป็นอย่างนั้นไป หมอบอกคุณแล้วว่าอาการที่คุณเล่าให้หมอฟังนั้นไม่ได้แสดงว่าคุณเป็นโรคหัวใจ แต่เป็นภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งอาจจะเป็นหรือไม่เป็นโรคก็ได้
ว่าแต่คุณตั้งใจจะแก้ปัญหาของคุณจริงๆก่อนที่คุณจะไปตรวจเลือดหรือไม่ หรือไปตรวจดูเล่นๆ ถ้าคุณไม่ตั้งใจจะดูแลรักษาตัวคุณเอง แล้วคุณไปเจาะเลือดตรวจก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร”
ชาย : “ผมตั้งใจครับ ตั้งใจจะดูแลรักษาตนเองครับ”
หมอ : “แน่หรือ”
ชาย : “แน่สิครับ”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้น คุณต้องลดความอ้วนลง โดยการลดอาหารมันๆ อาหารหวาน และอาหารประเภทแป้งลงให้มากๆ”
ชาย : “แล้วความอ้วนมันเกี่ยวอะไรกับไขมันในเลือดเล่าครับ ความอ้วนมันเกิดจากไขมันใต้ผิวหนังและในท้องไม่ใช่หรือครับ”
หมอ : “ใช่ครับ ความอ้วนเกิดจากไขมันใต้ผิวหนังและในท้อง แต่ความอ้วนทำให้ไขมันในเลือดสูงขึ้นด้วยครับ”
ความอ้วนทำให้ไขมันในเลือดสูงขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะไขมันไตรกลีเซอไรด์
อ้วนมากเท่าไร ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดก็สูงเท่านั้น เกือบเรียกได้ว่าเป็นสัดส่วนกันโดยตรงผอมลงเท่าไร ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดก็ลดลงเท่านั้น
ส่วนโคเลสเตอรอลก็คล้ายกัน เมื่ออ้วนโคเลสเตอรอลในเลือดก็สูงขึ้น แต่ไม่เป็นสัดส่วนกันโดยตรงเท่านั้น
ชาย : “ถ้าอย่างไขมันในเลือดของผมสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าผมเป็นโรคสิครับ มันเพียงแต่แสดงว่าผมอ้วนเท่านั้น”
หมอ : “ครับ มันคงจะเป็นเช่นนั้น หมอจึงบอกว่าภาวะไขมันในเลือดสูงของคุณอาจจะเป็นโรคหรือไม่เป็นโรคก็ได้
ถ้าคุณลดน้ำหนักลงจนหายอ้วนแล้ว ไขมันในเลือดกลับเป็นปกติ ก็แสดงว่าไขมันในเลือดสูงของคุณเป็นเพียงภาวะที่เกิดร่วมกับความอ้วน ไม่ได้เป็นโรคอะไร”
ชาย : “แล้วผมจะต้องลดน้ำหนักสักเท่าไรครับ”
หมอ : “ลดจนหายอ้วนแหละครับ”
ชาย : “แล้วผมจะรู้ว่าหายอ้วนได้อย่างไร”
หมอ : “ที่จริง เกณฑ์ที่ใช้ดูว่าอ้วนหรือไม่อ้วนอย่างง่ายๆคุณก็รู้อยู่แล้ว เช่น หน้าอูม คอใหญ่ คางหลายชั้น ลงพุง สะโพกใหญ่ ต้นแขนและต้นขาอวบอ้วน เป็นต้น ซึ่งคุณก็มีอยู่ครบ
แต่ถ้าคุณต้องการให้มันละเอียดขึ้น น้ำหนักที่น่าจะเหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปอาจใช้สูตรดังนี้
น้ำหนัก (กิโลกรัม) = ความสูง (เซนติเมตร) ลบด้วย 100 ถึง 110
นั่นคือ น้ำหนักต่ำสุดที่ยังเหมาะสม = ความสูง – 110
น้ำหนักสูงสุดที่ยังเหมาะสม = ความสูง – 100
ซึ่งง่ายต่อการคิดและติดตาม เพราะความสูงของคุณจะคงที่หรือเกือบคงที่ หลังจากคุณเป็นผู้ใหญ่แล้ว เพราะฉะนั้นคุณชั่งน้ำหนักอย่างเดียวก็พอ”
ชาย : “โอ้โฮ หมอจะให้ผมลดตั้ง 20 กิโลเชียวหรือครับ เพราะผมสูง 160 เซนติเมตร และหนัก 80 กิโลกรัมนะครับ”
หมอ : “ใช่ครับ หมอถึงถามคุณว่าคุณไปเจาะเลือดดูไขมันในเลือดทำไม เพราะมันไม่ได้ให้ประโยชน์อะไร ถ้าคุณจะไม่ตั้งใจดูแลรักษาตนเอง
เมื่อคุณรู้อยู่แล้วว่าคุณอ้วนมาก แต่คุณไม่ยอมดูแลรักษาตนเองด้วยการลดน้ำหนักลงก่อน เมื่อคุณไปตรวจเลือด มันก็ต้องได้ผลอย่างนี้
แล้วก็เลยทำให้คุณพลอยกังวลว่าจะเป็นโรคหัวใจ จึงมีอาการแบบที่คุณคิดว่าน่าจะเป็นอาการของโรคหัวใจขึ้นมา
พูดง่ายๆตรงๆก็คือ คุณกำลังเป็น “โรคประสาท” หรือหมอบางคนอาจจะใช้คำว่า “โรคประสาทหัวใจ” หรือ “โรคหัวใจอ่อน” หรืออื่นๆ
แต่ก็หมายความอย่างเดียวกัน คือ โรคของจิตใจ นั่นคือ จิตใจอ่อน จิตใจกังวล ไม่มีอะไรผิดปกติที่หัวใจหรอกครับ”
ชาย : “อ้าว หมอมาหาเรื่องผม หาว่าผมไม่รักษาตัว แล้วยังหาว่าผมเป็นโรคประสาทอีก”
หมอ : “เอ...หมอพูดความจริงให้คุณฟังถ้าคุณไม่ยอมรับความจริง คุณอยากจะให้หมอหลอกคุณว่าคุณเป็นโรคหัวใจและโรคไขมันในเลือดสูง แล้วก็ให้ยาคุณไปหลายๆอย่าง จะได้คิดว่ายามากๆ คุณชอบแบบนั้นหรือ”
ชาย : “เปล่าครับ...เปล่าครับ โธ่ ผมล้อหมอเล่นหรอกครับ ใครอยากจะถูกหมอหลอก ผมขอบพระคุณคุณหมอมากและจะไปลดน้ำหนักตนเองให้ได้ แต่ไม่ค่อยมั่นใจครับ หมอให้ยาลดความอ้วนช่วยผมหน่อยสิครับ”
หมอ : “ไม่มีหรอกครับยาลดความอ้วน มีแต่ยาเบื่ออาหาร กินแล้วจะเบื่ออาหาร อาจคลื่นไส้ อาเจียน หงุดหงิด นอนไม่หลับ ใจสั่น มือสั่น และอื่นๆ คุณจะเอาหรือ”
ชาย : “ถ้าอย่างนั้นผมจะลองลดอาหารดูก่อนครับ เออ...ถ้าหมอไม่สั่งยา แล้วจะคิดค่ายาอย่างไรครับ”
หมอ : “ไม่มีค่ายาครับ แต่มีค่าตรวจ หรือจะเรียกว่าค่าปรึกษาก็ได้ คุณหย่อนใส่ในกล่องรับบริจาคข้างนอกตามแต่คุณจะศรัทธาก็แล้วกัน”
ผู้ป่วยเดินออกไปไม่นาน ก็เดินกลับเข้ามาใหม่ พร้อมกับหิ้วถุงข้าวเหนียวมะม่วงมาให้หมอ
ชาย : “คุณหมอครับ ผมเดินผ่านร้านข้าวเหนียวมะม่วงเจ้าอร่อย น้ำลายไหล เลยแวะเข้าไปซื้อ ซื้อเสร็จแล้วคิดถึงคำพูดของหมอ เลยเอามาฝากหมอให้หมออ้วนแทนผมครับ”
หมอ : “อ้าว จะให้หมออ้วนเท่าคุณคงจะลำบาก เพราะถ้าหมอกินข้าวเหนียวมะม่วง หมอก็ต้องงดอาหารอื่นสัก 1-2 มื้อเพื่อชดเชยกัน คุณจะเปลี่ยนใจเอาข้าวเหนียวมะม่วงกลับไปกินก็ได้ แต่คุณต้องงดอาหารอื่นเพื่อชดเชยกัน”
ชาย : “ไม่หรอกครับ ผมพูดเล่น ผมตั้งใจซื้อมาให้หมอจริงๆ”
หมอ : “ขอบคุณครับ กินเสร็จแล้วพรุ่งนี้หมอจะได้ตรวจไขมันในเลือดดูหน่อยจะดีมั้ย”
ชาย : “อ้าว หมอแซวผมอีกแล้ว ก็ไหนหมอบอกว่าถ้าไม่ได้กินอาหารตามปกติ ไม่ควรไปตรวจเลือดไงครับ”
ว่าแล้วผู้ป่วยก็ขยับตัวทรุดลงนั่งบนเก้าอี้หน้าโต๊ะตรวจของหมออย่างหน้าตาเฉย
หมอ : “ครับ หมอก็ล้อคุณเล่นบ้าง หมออยู่ดีๆก็ไม่อยากไปเจ็บตัว แล้วยังเสียเงินค่าตรวจเลือดอีก”
ชาย : “ดีแล้วครับ ถือโอกาสหมอกำลังว่างอยู่ ขอความรู้หมอเพิ่มเติม เพราะหมอเป็นคนบอกผมเองว่า รู้อะไรอย่ารู้ครึ่งๆกลางๆ ผมเลยสงสัยว่านอกจากความอ้วนแล้ว อะไรทำให้ไขมันในเลือดสูงได้อีก”
หมอ : “เออ...หมอไม่น่าพลั้งปากบอกไปเลยนะ สงสัยจะต้องคิดค่าสอนหรือค่าครูด้วยแล้วล่ะ”
ไขมันในเลือดสูงเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น
1. ภาวะที่ไม่ใช่โรค เช่น อายุ (คนอายุมากจะมีไขมันในเลือดสูงกว่าคนอายุน้อย ผู้ใหญ่มีไขมันในเลือดสูงกว่าเด็ก) ความอ้วน อาหาร (ของมัน ของหวาน ข้าวหรืออาหารแป้ง) การไม่ออกกำลัง (การอยู่เฉยๆ) ความเครียด (ความตื่นเต้น ความโกรธ ความกังวล) เครื่องดื่ม (สุรา ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง) บุหรี่ การใช้ยาบางอย่าง (เช่น ยาคุมกำเนิด ยาขับปัสสาวะบางชนิด ยารักษาโรคหัวใจและความดันเลือดสูงบางชนิด ยาสตีรอยด์) เป็นต้น
2. ภาวะที่เป็นโรค เช่น
2.1 โรคทางกรรมพันธุ์โดยตรง หมายถึง โรคไขมันในเลือดสูงที่สืบทอดทางกรรมพันธุ์โดยตรง (primary หรือ familial hyperlipidemia)
นั่นคือ ไม่ใช่เป็นโรคกรรมพันธุ์อย่างอื่น แล้วโรคกรรมพันธุ์อย่างอื่นนั้นมาทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย
โรคไขมันในเลือดสูงโดยกรรมพันธุ์เองก็มีหลายชนิด และถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ด้วยวิธีการหรือแบบที่ผิดแผกกัน
รู้ว่าเป็นโรคไขมันในเลือดสูงโดยกรรมพันธุ์ เพราะพบว่าพ่อแม่พี่น้องก็เป็นโรคนี้ด้วย เป็นต้น
2.2 โรคอื่นๆ เช่น
ก. โรคเบาหวาน (diabetes mellitus) คนที่เป็นโรคเบาหวานและควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดของตนไม่ได้ดี จะทำให้ไขมันในเลือดสูงด้วย โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์
ข. โรคท่อน้ำดีอุดตัน (bile duct obstruction) จะทำให้มีอาการดีซ่าน ปวดท้องและไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะโคเลสเตอรอล (ตัวเหลืองตาเหลือง)
ค. โรคเกาต์ (gout) จะมีไขมันในเลือดสูงด้วยโดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์
ง. ไตล้มเรื้อรัง (chronic renal failure) ทำให้ไขมันในเลือดสูงด้วยโดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ แต่อาจสูงทั้งไตรกลีเซอไรด์และโคเลสเตอรอลด้วยก็ได้
จ. กลุ่มอาการบวมมากจากไตหรือโรคไตเนโฟรติก (nephrotic syndrome) ทำให้ไขมันในเลือดสูงด้วยโดยเฉพาะโคเลสเตอรอล
ฉ. โรคต่อมธัยรอยด์พร่อง (hypothyroidism) ทำให้ไขมันในเลือดสูงด้วยโดยเฉพาะโคเลสเตอรอล แต่อาจมีไตรกลีเซอไรด์สูงด้วยก็ได้ เป็นต้น
ชาย : “โอ้โฮ มีสาเหตุตั้งเยอะแยะ แล้วหมอจะรู้ได้อย่างไรว่าไขมันในเลือดผมสูงจากสาเหตุใด”
หมอ : “หมอก็ต้องเอาสาเหตุที่เห็นชัดๆก่อน เมื่อคุณอ้วนและไม่มีโรคอื่นอย่างนี้ หมอก็ต้องบอกว่าเกิดจากความอ้วนและขาดการออกกำลังกายไว้ก่อน แต่ถ้าคุณลดน้ำหนักจนเป็นปกติแล้ว ไขมันในเลือดยังสูง จึงค่อยหาสาเหตุ หรือคุณอยากจะเจ็บตัวและเสียเงินเพื่อหาสาเหตุอื่นๆไปด้วยเลยก็ได้”
ชาย : “ไม่เอาครับ ไม่เอา โธ่...ใครอยากจะเจ็บตัวและเสียเงิน หมอพูดเป็นเล่นไปได้”
หมอ : “อ้าว ก็ที่คุณไปเจาะเลือดครั้งแรก และครั้งที่สองไม่ใช่เพราะอยากเสียเงินและเจ็บตัวหรือครับ”
ชาย : “โธ่ หมอล่ะก็ ชอบย้ำหัวตะปูอยู่เรื่อย ผมมันโอ่ไปหน่อยครับ ไปเชื่อหนังสือพิมพ์และเพื่อนฝูงที่เขามีความรู้เพียงงูๆปลาๆ เท่านั้น
เอาละครับ ผมจะพยายามลดน้ำหนักเพื่อให้หมอชื่นใจครับ”
หมอ : “ขอบคุณ นอกจากหมอจะชื่นใจแล้ว ตัวคุณเองและครอบครัวจะชื่นใจกับความพยายามของคุณด้วย
- อ่าน 69,706 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้