• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บหัวใจ(ตอนที่ 1)

เจ็บหัวใจ(ตอนที่ 1)

ปัจจุบันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary atherosclerosis) ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหัวใจ(angina pectoris) และกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction) ได้มีการพบบ่อยขึ้นและมากขึ้นในเมืองไทย

การพบบ่อยหรือพบมากขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีโรคนี้(อุบัติการของโรคนี้)เพิ่มขึ้น เนื่องจากคนไทยเราดำรงชีวิตแบบคนฝรั่งมากขึ้น เช่น กินอาหารไขมันเพิ่มขึ้น อ้วนขึ้น ออกกำลังกายน้อยลง ทำงานหามรุ่งหามค่ำมากขึ้น แข่งขันชิงดีชิงเด่นกันมากขึ้น ทะเลาะเบาะแว้งหรือขัดแย้งกันมากขึ้น เครียดมากขึ้น เป็นต้น

แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ป่วย “ชอบ” เป็น “โรคหัวใจ” และ/หรือแพทย์ชอบวินิจฉัยให้ผู้ป่วยเป็น “โรคหัวใจ” จึงเกิด “ศูนย์โรคหัวใจ” ขึ้นเป็นดอกเห็ดทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชน “โรคหัวใจ” โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ “สงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” จึงเป็นสิ่งที่หาเงินให้แพทย์และโรงพยาบาลได้มากกว่าโรคอื่นๆ “ศูนย์โรคหัวใจ” จึงแข่งกันขึ้นเป็นดอกเห็ดในฤดูฝน


ส่วนผู้ป่วยที่ชอบเป็นโรคหัวใจโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอาจจะเป็นเพราะ
1. โรคนี้แต่เดิมเป็นโรคของคนชั้นสูง หรือเรียกตามภาษาสแลงก็ว่าเป็นโรคของคน “ไฮโซ” (high social class)  เพราะฉะนั้น ใครเป็นเข้าก็รู้สึกดีว่า “ข้าฯ นี้ก็ไฮโซเหมือนกันนะ” เพราะในอดีต โรคนี้เป็นโรคของคนชั้นสูง หรือผู้บริหารในระดับสูงๆ เช่น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ผู้จัดการบริษัทใหญ่ๆ เป็นต้น
เพราะคนชั้นสูงหรือผู้บริหารในระดับสูงๆในอดีต ชอบกินดีอยู่ดี สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย อยู่แต่ในสำนักงาน ทำงานหามรุ่งหามค่ำ แข่งขันชิงดีชิงเด่น จนเคร่งเครียดเกินไปนั่นเอง
2. การเป็นโรคหัวใจที่อาจตายทันที(sudden death)ได้ ทำให้ครอบครัวหันมาเอาอกเอาใจ หรือตามใจเพิ่มขึ้น ที่เคยโดนดุ โดนบ่น หรือโดนตวาดบ่อยๆจะได้ลดลง เพราะความสงสารหรือความกลัวว่าอาจจะเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยตายทันทีได้ ผู้ป่วยที่ “ชอบ” เป็นโรคนี้ (ทั้งที่อาจจะไม่ได้เป็นโรคนี้) จึงมักแสดงอาการ “เจ็บหัวใจ” เมื่อโดนดุโดนบ่น หรือเมื่อไม่พอใจอะไร ทำให้ได้รับประโยชน์จากการเป็นโรคหรือการเป็น “โรคสมมติ” นี้ได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างคนไข้รายที่ 1
หญิงไทยหน้าตาสะสวย อายุประมาณยี่สิบเศษๆ เดินเข้ามาหาหมอ
หญิงสาว : “หนูมาขอตรวจโรคหัวใจค่ะ”
หมอ : “ทำไมคุณรู้ว่าคุณเป็นโรคหัวใจล่ะครับ”
หญิงสาว : “ก็หนูเจ็บหัวใจนี่คะ”
หมอ : “ไหน คุณเจ็บตรงไหนครับ”
หญิงสาว : “ตรงนี้ค่ะ” ว่าพลางใช้มือชี้ไปที่หน้าอกด้านล่างซ้าย พลางพูดว่า “หัวใจอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่หรือคะ”
หมอ : “ใช่ครับ คุณใช้นิ้วชี้ชี้ที่ตำแหน่งที่แน่นอนได้มั้ยครับ ชี้ด้วยมือทั้งมือทำให้หมอบอกตำแหน่งไม่ได้ชัดเจน”
หญิงสาว : “ตรงนี้ค่ะ” ว่าพลางใช้นิ้วชี้ชี้ลงไปใต้ราวนมซ้ายห่างจากเส้นกลางอก (เส้นกลางตัว) ประมาณ 3-4 นิ้วมือ (ประมาณ 6-8 เซนติเมตร)
หมอ : “เจ็บตรงจุดนั้นจุดเดียวหรือครับ”
หญิงสาว :ค่ะ เจ็บตรงจุดนี้จุดเดียวค่ะ ไม่เจ็บที่อื่นเลย”
หมอ : “เวลาคุณกดลงตรงจุดนั้น รู้สึกเจ็บหรือเจ็บมากขึ้นมั้ยครับ”
หญิงสาว : ใช้ปลายนิ้วกดลงตรงจุดที่บ่นว่าเจ็บ 2-3 ครั้ง แล้วบอกว่า “เจ็บมากขึ้นค่ะ”
หมอ : “คุณลองห่อไหล่ แบะอก และบิดตัวไปทางซ้ายทีไปทางขวาทีให้เต็มที่ แล้วดูว่าเจ็บมากขึ้นมั้ย”
หญิงสาว
: ทำตามคำแนะนำ แล้วกล่าวว่า “เวลาแบะอกและห่อไหล่ ไม่เจ็บเพิ่มขึ้นค่ะ แต่เวลาบิดตัวไปทางซ้ายแรงๆ รู้สึกเจ็บเพิ่มขึ้นค่ะ”
หมอ : “คุณลองไอแรงๆสักครั้งสองครั้งดูว่าเจ็บมากขึ้นมั้ย”
หญิงสาว : ใช้มือปิดปากแล้วไอแรงๆตามหมอสั่ง 2 ครั้ง แล้วบอกว่า “ไม่เจ็บมากขึ้นค่ะ”
หมอ : “เอาล่ะครับ อาการเจ็บหัวใจ ของคุณไม่ได้เป็นที่หัวใจ และที่ถูกแล้วคุณควรจะเรียกว่าอาการเจ็บหน้าอก เพราะมันเป็นที่หน้าอกหรือผนังอก
การที่คุณเจ็บที่จุดๆเดียว และกดเจ็บที่จุดๆนั้นด้วย ทำให้หมอคิดว่ามันคงเป็นที่ข้อต่อของกระดูกอ่อนกับกระดูกแข็งของกระดูกซี่โครงตรงนั้น คุณลองกดและคลึงดูสิครับว่า จุดที่กดเจ็บนั้นอยู่บนของแข็งๆคือกระดูกหรืออยู่ตรงช่องซี่โครงระหว่างกระดูก”
หญิงสาว : ใช้นิ้วมือกดและคลึงเบาๆตรงจุดที่เจ็บ แล้วบอกว่า“อยู่บนกระดูกค่ะ”
หมอ :ถ้าอย่างนั้น ก็แน่นอนแล้วว่าอาการเจ็บหน้าอกของคุณอยู่ที่กระดูกซี่โครงหรือข้อต่อระหว่างกระดูกซี่โครงอ่อนกับกระดูกซี่โครงแข็ง ไม่ใช่อาการเจ็บหัวใจอย่างแน่นอน”
หญิงสาว : “มันเกิดขึ้นได้อย่างไรคะ”
หมอ : มันเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น บิดตัวเร็วเกินไปหรือแรงเกินไป ออกกำลังท่าวิดพื้นมากเกินไป หิ้วของหนักเกินไป ผลักดันสิ่งของหนักๆให้เคลื่อนที่ และอื่นๆ”
หญิงสาว :จริงสิคะ รู้สึกว่าก่อนที่จะเจ็บคราวนี้ หนูพยายามเข็นรถที่ติดหล่มในสนามหญ้า แล้วไม่สำเร็จ ต้องเรียกคนอื่นมาช่วย หลังจากนั้นก็ปวดเมื่อยแขน ไหล่ หลัง และหน้าอกอยู่ 2-3 วัน แต่ส่วนอื่นก็หายไปหมดแล้ว ทำไมจุดนี้ยังเจ็บอยู่อีก ”
หมอ : ส่วนอื่นอาจเป็นการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อที่ถูกบังคับให้ทำงานหนักกว่าที่เคยทำมาก่อน จึงเกิดอาการปวดเมื่อยขึ้น เมื่อได้รับการพักผ่อนก็หาย
แต่ข้อกระดูกที่แพลงหรือเคล็ด จะกินเวลานานกว่า อาจนานกว่า 2 สัปดาห์ จึงจะหายสนิท หรือในบางรายก็ไม่หายสนิท พอไปทำอะไรผิดท่าผิดทางเพียงเล็กน้อยก็จะรู้สึกเจ็บได้ ในขณะที่ข้ออื่นๆซึ่งไม่เคยเคล็ดหรือแพลงมาก่อน จะไม่เกิดอาการได้ง่ายๆ”
หญิงสาว : “แล้วหนูจะรักษาอย่างไรดีคะ”
หมอ : ถ้าคุณเจ็บไม่มากเพียงแต่รู้สึกบ้าง และเมื่อไปกดถูกแรงๆจึงเจ็บมากขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอะไร ทำไม่รู้ไม่ชี้กับมักสักพัก มันจะดีขึ้นและหายไปเอง
ถ้าคุณรู้สึกเจ็บมาก ก็อาจกินยาแก้ไข้แก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ดเวลาปวด และใช้ของร้อนๆประคบตรงจุดที่เจ็บ เช่น ถุงใส่น้ำร้อน ยาที่ทำให้ร้อน เช่น ยาหม่อง หรือยาทาผิวหนังอื่นๆ รวมทั้งน้ำมันยาที่ทาแล้วทำให้รู้สึกร้อนก็จะช่วยให้อาการเจ็บบรรเทาได้เร็วขึ้น”
หญิงสาว :ถ้ายังไม่ดีขึ้นละคะ”
หมอ :หมอก็จะให้คุณกินยาที่แก้อาการปวดข้อ ปวดกระดูกที่จะไปช่วยลดการอักเสบของข้อกระดูก แต่ยาพวกนี้จะระคายกระเพาะ ทำให้ปวดท้อง กระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผล จนกระเพาะอาจทะลุหรือตกเลือดได้ แต่มันจะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็ว คุณจะเอามั้ยล่ะ”
หญิงสาว : “ไม่เอาค่ะ หนูมักแสบท้องเวลากินเผ็ดและเวลากินข้าวผิดเวลาอยู่ด้วย หนูกิน ‘พาราฯ’ เป็นครั้งคราวเวลาปวดมาก และใช้ยาหม่องทาก็แล้วกันค่ะ
คุณหมอมีอะไรจะแนะนำหนูอีกมั้ยคะ”
หมอ : “หมออธิบายเรื่องอาการเจ็บหน้าอกของคุณจนคุณเข้าใจดีแล้วไม่ใช่หรือ คงไม่มีอะไรเพิ่มเติมอีก
อ้อ...เกือบลืมบอกคุณอีกอย่าง คืนวันข้างหน้าคุณจะไปหาหมอที่ไหน ให้เล่าอาการที่คุณไม่สบายให้หมอฟัง อย่าไปด่วนทึกทัก หรือคิดเอาเองว่าคุณเป็นโรคนั้นโรคนี้ แล้วหมอบอกว่าคุณเป็นโรคนั้นโรคนี้
ประเดี๋ยวเจอหมอที่เขาสมยอมหรือเชื่อผู้ป่วยง่าย เขาก็จะให้คุณเป็นโรคที่คุณต้องการจะเป็น ทั้งที่คุณไม่เป็นก็ได้”
หญิงสาว :ค่ะ ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ วันหน้าหนูจะไม่พยายามทึกทัก หรือคิดว่าหนูเป็นโรคนั้นโรคนี้อีก เคราะห์ดีวันนี้เจอคุณหมอ ไม่อย่างนั้นอาจถูกจับเข้านอนห้องไอซียูเพราะเป็นโรคหัวใจไปแล้วก็ได้”

อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากความผิดปกติที่ผนังอกส่วนนอก คือผิวหนัง เอ็น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และกระดูกซี่โครง จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปน่าจะวินิจฉัยเองได้ และรักษาเองได้ถ้าไม่เป็นมากจนลุกไม่ได้ หายใจไม่ได้ หรือมีอาการเจ็บหนัก

การวินิจฉัย ให้ใช้หลักเกณฑ์ง่ายๆ เช่น
1. มีจุดกดเจ็บ โดยใช้ปลายนิ้วกดลงไปตรงบริเวณที่รู้สึกเจ็บ ถ้ากดลงไปแล้วเจ็บมากขึ้น แสดงว่ามีจุดกดเจ็บ
2. ยืดอก แบะอก(แบะไหล่) ห่ออก(ห่อไหล่) บิดตัว ก้มตัว หรือเคลื่อนไหวในท่าอื่นๆ แล้วมีอาการเจ็บหรือเจ็บมากขึ้นในบริเวณดังกล่าว แสดงว่ากล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อในบริเวณนั้นอักเสบจากการเคล็ดขัดยอก เป็นต้น

การรักษา ซึ่งรักษาได้ง่าย โดย
1. ใช้ของร้อน เช่น ถุงน้ำร้อนห่อด้วยผ้าขนหนูหรือผ้าหนาๆประคบ หรือใช้ยาทาผิวหนังประเภทขี้ผึ้ง น้ำมัน หรือครีมที่ทาแล้วทำให้ร้อนเพื่อลดการอักเสบ
2. กินยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอลเป็นครั้งคราวเมื่อปวดมาก
3. พยายามหลีกเลี่ยงการทำงานหรือการเคลื่อนไหวที่ทำให้เจ็บมากขึ้น
4. ถ้าเป็นมาก ก็ควรไปหาหมอ
(อ่านรายละเอียดเรื่องอาการเจ็บอก ได้ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 88, 89, 90 และ 91)


                                                                                                                        (อ่านต่อฉบับหน้า)