• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บหัวใจ (ตอนที่ 8)

เจ็บหัวใจ (ตอนที่ 8)

 

สัปดาห์ต่อมา คนไข้ก็กลับมาหาหมอใหม่ตามนัดพร้อมกับเอาขนมเค้กมาให้หมอด้วย
คนไข้
: “สวัสดีหมอ”
หมอ : “ขอบคุณครับ สบายขึ้นบ้างมั้ยครับ”
คนไข้ : “สบายขึ้นมาก หมอเก่ง ชั้นเพิ่งนอนหลับได้สนิทเป็นครั้งแรกในช่วง 3 ปีนี้ ไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอีกเลย”
หมอ : “หมอดีใจด้วย แล้วคุณเริ่มออกกำลังบ้างหรือยัง”
คนไข้ : “เริ่มทำแล้ว เดินออกไปนอกบ้าน เดินเล่นที่สนาม พยายามไม่นอนกลางวัน กลางคืนจะได้หลับสนิท “ที่จริงชั้นจะลองขึ้นเล่าเต้ง(ชั้นบน) แต่ลูกยังไม่ยอม เขาให้มาถามหมอก่อน”
หมอ : ถ้าเดินพื้นราบแล้วไม่เหนื่อยและไม่แน่นหน้าอกก็ลองขึ้นบันไดดูได้ครับ ครั้งแรกๆก็ขึ้นทีละ 2-3 ขั้นแล้วก็หยุดพัก เมื่อไม่เป็นอะไร ก็ค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะขึ้นบันไดถึงชั้น 2 รวดเดียวได้”
คนไข้ : “ดีเหมือนกัน ไม่ได้ขึ้นเล่าเต้งมา 2 ปีแล้ว จะได้ขึ้นไปไหว้เตี่ยเค้าบ้าง” พูดแล้วก็ตาแดงๆ ทำท่าจะร้องไห้
หมอ : “แท่นบูชาบรรพบุรุษอยู่ชั้นบนหรือครับ”
คนไข้ : “ใช่ อยู่ข้างๆแท่นบูชาพระ หลังจากชั้นเจ็บหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลเมื่อ 2 ปีก่อน ชั้นก็ไม่ได้ขึ้นไปไหว้เขาเลย” ว่าพลางก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น
หมอ : “ขอโทษนะ ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้คุณเสียใจอีก”
คนไข้ : “ไม่เป็นไร ชั้นก็เป็นอย่างนี้เอง พูดถึงเตี่ยและตี๋เล็กทีไร ก็ร้องไห้ทุกที”
หมอจึงเพิ่มยาแก้อาการโศกเศร้าขึ้น และลดยานอนหลับลง ส่วนยาอื่นคงไว้อย่างเดิม แล้วนัดให้มาดูใหม่ พร้อมกับตรวจน้ำตาลในเลือดด้วย


สัปดาห์ต่อมา คนไข้ดูแจ่มใสมากขึ้น และเดินกระฉับกระเฉงขึ้น
คนไข้
: “สวัสดีหมอ วันนี้หมอโหงวเฮ้งดีขึ้นนะ”
หมอ : สวัสดี คุณเป็นหมอดูโหงวเฮ้งด้วยหรือ”
คนไข้ : “ไม่ได้เป็นหมอดู แต่พอดูได้ เพราะฝึกสังเกตมาเรื่อยๆ อ่านจากตำราบ้าง เตี่ยสอนบ้าง พอฝึกดูนานๆ ทีแรกก็ผิดบ้างถูกบ้าง พอนานๆเข้ามันก็ถูกมากขึ้น”
หมอ : “โหงวเฮ้งคุณก็ดีขึ้นเช่นเดียวกัน”
คนไข้ : “อ้าว หมอก็ดูโหงวเฮ้งเป็นหรือ”
หมอ : “หมอทุกคนต้องดูโหงวเฮ้งเป็นอยู่แล้ว แต่เป็นโหงวเฮ้งด้านโรคภัยไข้เจ็บนะครับ
“วันนี้คุณดูแจ่มใสเป็นพิเศษ แสดงว่าโรคภัยไข้เจ็บที่คุณเป็นอยู่ไม่รบกวนคุณแล้ว นั่นคือคุณไม่มีอาการแล้ว และคุณคงจะนอนหลับพักผ่อนได้ดี กินได้ดี ถ่ายได้ดี และได้ออกกำลังพอควร คุณจึงดูกระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า และแจ่มใสมาก”
คนไข้ : “โอ้โฮ หมอเก่งจริงๆ ดูแม่นเลย สงสัยหมอต้องเพิ่มอาชีพหมอดูขึ้นอีกอย่าง รับรองคนขึ้นแน่”
หมอ : “คงไม่มีคนขึ้นหรอกครับ เพเราะคนที่ชอบดูหมอมักเป็นคนที่มีความทุกข์ทางใจหรือไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง และถ้าหมอบอกเขาอย่างนั้นเขาก็คงจะโกรธหมอไปเปล่าๆ แต่ถ้าหมอจะโกหกเขาเป็นอย่างอื่น หมอก็โกหกไม่เป็นเสียด้วย
“ว่าแต่คุณสบายขึ้นมากแล้ว และอาจารย์ที่รักษาคุณอยู่ก็กลับมาจากเมืองนอกแล้ว หมอจะเขียนใบส่งตัวให้คุณกลับไปรักษากับอาจารย์คนเก่าตามเดิม”
คนไข้ : “ชั้นไม่ไป หมอไม่อยากรักษาชั้นแล้วหรือ”
หมอ : “หมอรักษาจนคุณดีขึ้นแล้ว และจะเขียนใบส่งตัวว่ารักษาคุณอยู่อย่างไร หมอเก่าของคุณจะได้รักษาต่ออย่างไรเล่าครับ”
คนไข้ : “แล้วหมอรักษาชั้นต่อไม่ได้หรือ”
หมอ : “ไม่ได้หรอก เพราะคุณมีหมออยู่แล้ว หมอเพียงรักษาแทนให้ตอนหมอของคุณไม่อยู่ ตอนนี้หมอของคุณกลับมาแล้ว คุณควรจะกลับไปรักษากับเขาต่อ”
คนไข้ : “หมอคนเก่าเคยเป็นหมอของชั้น แต่หมอเป็นหมอของชั้นตอนนี้ ชั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกหมอของชั้นเองเหรอ ชั้นจะมารักษากับหมอ ใครจะทำไม หมอจะไม่รักษาชั้นเหรอ”
หมอ : “เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน หมอจะรักษาคุณไปก่อน แล้วหมอจะบอกคุณหมอคนเก่าของคุณให้รู้ว่าคุณขอมารักษาที่นี่ หรือจะให้ลูกคุณที่เป็นหมอไปบอกก็ได้”
คนไข้ : “ชั้นไม่ว่าอะไร ใครจะบอกหรือไม่บอก ชั้นจะรักษากับคนที่ทำให้ชั้นดีขึ้นก็แล้วกัน”

คนไข้รายที่ 4 นี้ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า แม้คนไข้จะเป็นโรคหัวใจอยู่ก็จริง แต่สาเหตุที่ทำให้คนไข้ไม่สบายนั้นไม่ได้เกิดจากโรคที่เป็นอยู่เลย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคไต โรคความดันเลือดสูง หรือโรคไขมันในเลือดสูง

แต่สาเหตุหรือชนวนที่ทำให้คนไข้ไม่สบาย หรือโรคกำเริบขึ้นนั้น คือ สภาพทางจิตใจ ที่เกิดจากอาการซึมเศร้าจนนอนไม่หลับอย่างเรื้อรังมา 3 ปี ทำให้อาการของโรคต่างๆกำเริบขึ้น
หมอคนเดิมให้แต่ยารักษาทางกาย และเมื่ออาการไม่ดีขึ้น ก็เพิ่มยาขึ้นเรื่อยๆ จนกินยาครั้งละเป็นกำมือ อาการก็ไม่ดีขึ้น

เมื่อถามประวัติให้ดี จึงรู้ว่าสาเหตุหรือชนวนที่ทำให้ไม่ดีขึ้น คือสภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสียคนรัก(พ่อและลูก)ที่ยังฝังใจอยู่นั่นเอง
เมื่อให้ยาแก้อาการซึมเศร้าและยานอนหลับแก่คนไข้แล้ว คนไข้ก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่มีอาการแน่นหน้าอกและเหนื่อยหอบอีกเลย

นอกจากนั้น การให้คนไข้ออกกำลังเพิ่มขึ้นๆ แทนที่จะนั่งๆนอนๆอยู่กับบ้าน ก็ทำให้คนไข้สามารถทำอะไรต่างๆเองได้ ออกไปเที่ยวเองได้ ขึ้นบันไดได้ ทำให้คนไข้มีชีวิตชีวา และรู้สึกว่าช่วยตัวเองได้ มีความหวังและมีความสุข จึงไม่จำเป็นจะต้องสวนหัวใจและผ่าตัดหัวใจ เพียงแต่ใช้ยาคุมเบาหวาน คุมโรคหัวใจ และโรคความดันเท่านั้น ยาอื่นๆที่ไม่จำเป็น รวมทั้งยาลดไขมันก็หยุดได้
เพราะเมื่อคนไข้ไม่เครียด หรือวิตกกังวล และคุมเบาหวานได้ดี ไขมันในเลือดก็ลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ในขณะนี้ คนไข้อายุ 74 ปี รักษามาเกือบ 10  ปีแล้ว แต่ก็ยังช่วยตนเองได้ และไม่มีอาการทางหัวใจอีกเลย ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลอีก
แต่ยังต้องใช้ยาแก้อาการซึมเศร้า 1 เม็ดก่อนนอนและใช้ยานอนหลับ 1/2 เม็ด ก่อนนอนมาตลอด
ลูกชายซึ่งเป็นหมอ เคยลองหยุดยาแก้อาการซึมเศร้า พอหยุดได้สัก 2-3 สัปดาห์คนไข้ก็จะเริ่มมีอาการใหม่ จึงต้องใช้ยาแก้อาการซึมเศร้า และยานอนหลับมาตลอด แต่ก็ไม่ต้องเพิ่มขนาดของยาขึ้นเลย ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านไป

การรักษาคนไข้จึงต้องคำนึงถึงสภาพทางจิตใจเสมอ ถ้าคิดรักษาแต่เฉพาะอาการทางกาย ก็จะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรและอาจจะทำให้ต้องไปใช้วิธีการตรวจรักษาที่รุนแรง และอันตรายเพิ่มขึ้น เช่นการสวนหัวใจและการผ่าตัด และเมื่อทำเช่นนั้นแล้วก็ไม่แน่ว่าจะดีขึ้น ถ้าไม่ได้รักษาอาการทางจิตใจด้วย

ตัวอย่างคนไข้  4 รายที่ได้แสดงมานั้น คงจะพอทำให้เห็นว่าเรื่องเจ็บหัวใจไม่ใช่เรื่องใหญ่ และอาจไม่ใช่เรื่องของหัวใจก็ได้ และถึงแม้จะเป็นเรื่องหัวใจจริงๆ ถ้าปฏิบัติรักษาตนให้ดีแล้วจะมีชีวิตเหมือนคนปกติได้ เพียงแต่ต้องมียาติดตัวไว้เท่านั้นเอง

                                                                                                                       (อ่านต่อฉบับหน้า)