• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่อง “ไข้” (ตอนที่ 1)

เรื่อง “ไข้” (ตอนที่ 1)

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 คำว่า “ไข้” หมายถึง อาการของโรค ทำให้ตัวร้อน และหมายถึงความเจ็บป่วยด้วย

ดังนั้น เมื่อใครพูดว่า เป็น “ไข้” ต้องถามให้แน่ก่อนว่าเขาหมายถึงอะไร

 

                              **************************

คนไข้รายที่ 1 : หญิงชาวอีสานอายุประมาณ 50 ปี เดินเข้ามาหาหมอด้วยท่าทางอ่อนเพลีย

หมอ : “สวัสดีครับ มาหาหมอเรื่องอะไรครับ”
หญิง : “อิชั้นเป็นไข้ค่ะ”
หมอ : “ไข้สูงมัย เป็นมากี่วันแล้วครับ”
หญิง : “บ่สูงค่ะ เป็นไข้ทั้งวันแหละค่ะ”
หมอ : “ตอนนี้ยังเป็นอยู่ไหม”
หญิง : “เป็นอยู่ค่ะ”

 หมอจึงเอื้อมมือไปแตะมือและแขนคนไข้ก็ไม่รู้สึกว่าร้อนผิดปกติ จึงเอะใจถามคนไข้ใหม่

หมอ : “เวลาคุณเป็นไข้ ตัวร้อนไหม”
หญิง : “บ่ร้อนค่ะ แต่มันปวดเมื่อยทั้งตัวค่ะ”
หมอ : “อ้าว หมอนึกว่าคุณเป็นไข้ตัวร้อนเสียอีก ที่จริงคุณเป็นไข้ปวดเมื่อยใช่ไหมครับ”
หญิง : “ใช่ค่ะ บ่ใช่ตัวร้อนค่ะ”
หมอ : “คุณไปทำอะไรมาหรือเปล่าถึงได้ปวดเมื่อยทั้งตัว”
หญิง : “เมื่อวานไปรับจ้างขุดคูมาค่ะ”
หมอ : “แล้วเคยเป็นอย่างนี้มาก่อนไหม”
หญิง : “เคยค่ะ เวลาทำงานหนัก เป็นทุกที ไปซื้อยาชุดกินก็หาย แต่วิทยุบอกว่ายาชุดกินแล้วไม่ดีมีอันตรายจึงมาหาหมอค่ะ”

หมอ : “ที่จริง อาการปวดเมื่อยหลังทำงานหนักเป็นของธรรมดา ไม่ต้องกินยาอะไรหรอก บีบๆ นวดๆ หรือใช้น้ำร้อนประคบแล้วมันก็ดีขึ้น แต่ถ้าปวดมาก และอยากจะใช้ยาช่วยกินก็กินยาพาราเซตามอลสัก 1-2 เม็ด ก็แล้วกัน หมอจะให้ไป 20 เม็ด อย่ากินทีเดียวหมดนะ วันหนึ่งไม่ควรกินเกิน 4 เม็ด และไม่ควรกินทุกวัน กินเฉพาะเวลาที่ปวดเมื่อยมากๆ เท่านั้น เข้าใจไหมครับ”
หญิง : “เข้าใจแล้วค่ะ จะได้ไม่ต้องไปซื้อยาชุดมากิน”

 ตัวอย่างคนไข้ข้างต้น ทำให้เห็นว่า ชาวบ้านทั่วไปจำนวนไม่น้อยยังใช้คำว่า “ไข้” ในความหมายว่า “ไม่สบาย” หรือ “เจ็บป่วยนั่นเอง”

แม้แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ยังมีคำว่า “ไข้ใจ” หมายถึงความระทมใจเนื่องจากความผิดหวังในความรัก เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่ความเจ็บป่วยทางใจแต่อย่างใด

แต่ในทางแพทย์ “ไข้” จะหมายถึง อาการไข้ตัวร้อนเท่านั้น และในที่นี้ก็จะพูดถึงอาการไข้ตัวร้อนเท่านั้น

นั่นคือ คนที่เป็นไข้ จะต้องมีเนื้อตัวร้อนกว่าปกติ ซึ่งอาจจะรู้ได้อย่างง่ายๆ โดยใช้ฝ่ามือหรือหลังมือแตะหน้าผาก ซอกคอ หรือรักแร้ของคนไข้

แต่ถ้าจะให้แน่นอนควรใช้ “ปรอท” (เทอร์โมมิเตอร์) วัดทางปากโดยให้คนไข้อมปรอทไว้ใต้ลิ้น หรือวัดทางรักแร้ โดยหนีบปรอทไว้ในซอกรักแร้ หรือวัดทางก้น โดยเสียบปรอทเข้าทางทวารหนัก
 เมื่อใช้ “ปรอท” วัดไข้แล้วพบว่า

ไข้ตัวร้อนระหว่าง 37-38 องศาเซลเซียส หรือ 98.6-100.4 องศาฟาเรนไฮต์ ถือว่าเป็น “ไข้ต่ำๆ”

ไข้ตัวร้อนระหว่าง 38-39 องศาเซลเซียส หรือ 100.4-102.2 องศาฟาเรนไฮต์ ถือว่าเป็น “ไข้ปานกลาง” 

ไข้ตัวร้อนระหว่าง 39-40 องศาเซลเซียส หรือ 102.2-104 องศาฟาเรนไฮต์ ถือว่าเป็น “ไข้สูง”

ส่วนไข้ที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส หรือ 104 องศาฟาเรนไฮต์ ถือว่าเป็น “ไข้สูงมาก”

 

                                                           *******************

คนไข้รายที่ สอง : เด็กชายอายุ 2 ขวบ ถูกอุ้มมาที่ห้องฉุกเฉินอย่างฉุกละหุก เพราะมีอาการชักกระตุกเป็นพักๆ มาประมาณครึ่งชั่วโมง

แม่เด็ก : “หมอ หมอ ช่วยด้วยค่ะ ลูกชักใหญ่แล้ว”
หมอ : “ชักมานานไหม”
แม่เด็ก : “สักครึ่งชั่วโมงค่ะ รถติดเหลือเกิน หมอช่วยเร็วหน่อยสิคะ”
หมอ : “หมอก็ดูลูกคุณให้ก่อนคนไข้คนอื่นที่มาถึงก่อนคุณอยู่แล้ว เพราะเห็นว่าเป็นเด็กและกำลังชักอยู่ คุณระงับอารมณ์ไว้บ้างสิครับ”

หมอตรวจร่างกายของเด็กอย่างคร่าวๆ ไม่พบอะไรผิดปกติชัดเจนนอกจากตัวร้อนปานกลาง (ไข้ปานกลาง) และมีอาการชัก (แขนขากระตุกเป็นพักๆ) จึงสั่งให้พยาบาลรีบเช็ดตัวเด็กด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ และใช้พัดลมเป่าเพื่อให้ไข้(อุณหภูมิ)ของเด็กลดลง สักพักเดียวเด็กก็หยุดชัก หมอตรวจร่างกายเด็กซ้ำอีกครั้งก็ไม่พบอะไรผิดปกติ นอกจากอาการไข้ที่ลดลงแล้ว และน้ำมูกใสๆ ไหลออกมาเล็กน้อย

หมอ : “ลูกคุณตัวร้อนมากี่วันแล้ว”
แม่เด็ก : “ตัวร้อนเมื่อวานค่ะ แกเริ่มโยเยและดูดนมไม่ค่อยได้เพราะคัดจมูก อิชั้นก็ให้ยาแก้คัดจมูกที่หมอเคยให้ไว้ แกก็ดีขึ้นอิชั้นคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก แต่วันนี้ตัวแกร้อนกว่าเมื่อวาน แล้วแกก็ชักค่ะ”
หมอ : “ลูกคุณเคยชักมาก่อนไหม”
แม่เด็ก : “เคยค่ะ เมื่อตอนแกอายุ 3-4 เดือน แกเคยชักหนหนึ่ง หมอบอกว่าแกชักเพราะไข้ขึ้น ให้ยากันชักมากินอยู่ปีกว่า อิชั้นไม่เห็นแกชักอีกแล้วแม้เวลามีไข้ อิชั้นคิดว่าแกคงไม่ชักอีกแล้ว จึงไม่ได้ไปเอายากันชักมาให้แกกินอีก”

ตัวอย่างคนไข้รายนี้ เป็นตัวอย่างของคนที่มีไข้และอยู่ในภาวะฉุกเฉิน จนหมอต้องตรวจให้ก่อนคนไข้รายอื่นๆที่มารออยู่ก่อน เพราะอาการชักเป็นอาการฉุกเฉิน แม้ว่าอาการไข้ในรายนี้จะไม่ฉุกเฉิน (อาการไข้ที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส จึงถือว่าเป็นอาการฉุกเฉิน แม้จะไม่มีอาการฉุกเฉินอื่นๆ)

แต่จากประวัติที่เคยชักมาก่อนเวลามีไข้ และจากการตรวจร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติ นอกจากน้ำมูกใสๆ ทำให้หมอคิดว่า เด็กน่าจะเป็น “ไข้หวัด” มากกว่าโรคอื่น

แท้ที่จริง  “ไข้หวัด” ก็เป็นโรคที่พบบ่อยมาก โดยเฉพาะในภาวะที่อากาศเปลี่ยนบ่อยๆ เช่น เดี๋ยวร้อน  เดี๋ยวหนาว  เดี๋ยวฝนตก เป็นต้น

และ “ไข้หวัด” ก็เป็นโรคธรรมดาๆ ที่มักจะไม่มีอันตรายร้ายแรงอะไร และจะหายเองตามธรรมชาติ เพราะปัจจุบันยังไม่มียาอะไรไปฆ่า(ทำลาย)เชื้อหวัดในร่างกายของมนุษย์ได้

ยาแก้ไข้หวัดหรือที่โฆษณาว่าเป็นยาแก้หวัดกันอย่างครึกโครมนั้นเป็นเพียงยาไปบรรเทาอาการไข้ อาการคัดจมูก หรืออาการปวดเมื่อยเท่านั้น ไม่ได้ไปทำให้โรคไข้หวัดหายเร็วขึ้นแต่อย่างใด

โรคไข้หวัดจะหายเร็วขึ้น ถ้ารักษาความอบอุ่นของร่างกาย เช่น ใส่เสื้อหนาๆ กินอาหารร้อนๆ ดื่มน้ำอุ่น ไม่ดื่มน้ำเย็น ไม่อยู่ห้องแอร์ ไม่ใช้พัดลม ไม่อยู่ในที่อุดอู้หรือแออัด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ในผู้ใหญ่ การใส่เสท้อหนาๆ หรือห่มผ้าให้รู้สึกร้อน เหงื่อซึมๆ  จะช่วยให้หายหวัดเร็วขึ้น 

แต่ในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เคยชักเวลาไข้ขึ้นอย่างคนไข้รายนี้ การใส่เสื้อผ้าหนาๆ จะทำให้เด็กชักง่ายขึ้น จึงควรใส่เสื้อผ้าให้เด็กพอประมาณ และเวลาไข้ขึ้นต้องรีบเช็ดตัวเด็กให้ไข้ลด ให้ยาลดไข้และให้ยากันชักตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกันไม่ให้เด็กชัก

เพราะอาการชักจะเป็นอันตรายต่อเด็กมากว่าอาการหวัด ถ้าเด็กชักติดต่อกันนานๆ จะทำให้สมองถูกกระทบกระเทือน อาจทำให้สติปัญญาของเด็กลดลงได้ 

ดังนั้น ถ้าเช็ดตัวให้ไข้ลดแล้วยังไม่หายชักจะต้องฉีดยาแก้ชักให้เด็ก ให้อาการชักหยุดลงโดยเร็ว สมองของเด็กจะได้ไม่ถูกกระทบกระเทือนมาก

หลังจากนั้น ก็ให้ยาลดไข้เพื่อให้เด็กกินเวลาที่เริ่มมีไข้ และให้ยากันชักไว้กินเป็นประจำวันละครั้งก่อนนอนเรื่อยไปจนอายุพ้น 6-8 ขวบแล้ว และไม่มีอาการชักอีกเลยหลายๆปีติดต่อกัน จึงจะหยุดยากันชักได้

                                   ***************************************

คนไข้รายที่ 3  ชายอายุประมาณ 25 ปี ถูกเพื่อนหามมาที่ห้องฉุกเฉินเพราะเพ้อ พูดไม่รู้เรื่อง และกระสับกระส่ายทุรนทุราย

เพื่อนคนไข้ : “หมอ ช่วยหน่อยครับ เพื่อนผมจะแย่แล้ว”
หมอ : “เพื่อนคุณเป็นอะไรหรือ”
เพื่อนคนไข้ : “คิดว่าเป็นไข้ป่าครับ”
หมอ : “ทำไมคุณรู้ล่ะว่าเป็นไข้ป่า”
เพื่อนคนไข้ : “ก็เขาไปเที่ยวป่า และอยู่ในป่ามา 3 สัปดาห์ กลับออกมาได้ไม่กี่วันก็เป็นไข้หนาวสั่นเหมือนเจ้าเข้า พอหายหนาวก็ตัวร้อนเป็นไฟ ต่อมาก็เหงื่อแตกแล้วตัวเย็น ซื้อยาแก้ไข้ป่าให้เขากินมา 2-3 วันแล้ว แต่ก็ไม่ดีขึ้นและดูจะทรุดลงด้วยครับหมอ”

หมอตรวจคนไข้ พบว่าคนไข้ตัวร้อนมาก ไข้สูง 39.7 องศาเซลเซียส  คนไข้สับสน พูดเพ้อพก ฟังไม่รู้เรื่อง และกระสับกระส่ายทุรนทุราย ตาเหลืองตัวเหลือง และซีด อย่างอื่นไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

หมอ : “คุณคงจะถูกที่บอกว่าเพื่อนเป็นไข้ป่า อาการตอนนี้ค่อนข้างจะหนักมาก เพราะหมอสงสัยว่า ไข้ป่า (ไข้มาลาเรีย) จะขึ้นสมอง เพื่อนคุณควรจะอยู่โรงพยาบาล ญาติของเพื่อนคุณที่จะเซ็นอนุญาตให้เพื่อนคุณอยู่โรงพยาบาลได้มาด้วยหรือเปล่า”
เพื่อนคนไข้ : “ญาติเขาอยู่ต่างจังหวัดครับ เราทำงานอยู่ที่เดียวกันจึงเช่าบ้านอยู่ด้วยกันครับ”
หมอ : “เอ...คนไข้อาการหนัก หมอจำเป็นต้องตรวจรักษาไปก่อน คุณช่วยติดต่อญาติของคนไข้ให้ด้วย และให้ชื่อและที่อยู่ของคุณไว้ด้วยเผื่อคนไข้ดีขึ้นหรือทรุดลง หมอจะได้ติดต่อถูก”

คนไข้รายนี้ประวัติชัดเจน ไปเที่ยวป่า กลับออกมาแล้วเป็นไข้หนาวสั่น หลังหนาวสั่นจะรู้สึกร้อนมาก และต่อมาเหงื่อออก ไข้จับทุกวันหรือทุก 2-3 วัน มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และซีดลง

เมื่อตรวจเลือดก็พบเชื้อมาลาเรีย (malaria) ในเลือด หลังให้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรียชนิดที่เชื้อไม่ดื้อยา (เชื้อมาลาเรียในประเทศไทยในปัจจุบันดื้อยาหลายชนิด) คนไข้ก็ค่อยๆดีขึ้น และกลับบ้านได้ใน 10 วันต่อมา


                                                                                           (อ่านต่อฉบับหน้า)