• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตอบปัญหาสุขภาพ (ตอนที่ 1)

การตอบปัญหาสุขภาพ (ตอนที่ 1) 

 

ช่วงนี้มีปัญหาสุขภาพเข้ามามาก ปัญหาสุขภาพที่ถามมาทางจดหมายเป็นปัญหาที่ตอบยากแล้วอาจจะผิด ทำให้เป็นอันตรายได้
เพราะประวัติหรือข้อมูลที่ให้มาทางจดหมายนั้น เป็นข้อมูลที่ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยคิดหรือเข้าใจเอาเอง ไม่มีการซักถามหรือสอบถามโดยคนตอบปัญหา เพื่อให้เข้าใจตรงกันกับผู้ป่วยหรือเพื่อให้ข้อมูลชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น ยังไม่มีการตรวจร่างกายและการตรวจอื่นๆ ที่จะทำให้รู้ว่ามีความผิดปกติในอวัยวะที่กำลังมีอาการนั้นหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น

ปัญหาที่ 1

ผมอายุ 15 ปี มีอาการเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมาแทงที่หัวใจ อาการอย่างนี้เป็นมานานแล้ว เริ่มเป็นตอนอายุประมาณ 10 ปี ซึ่งจะแสดงอาการเมื่อออกกำลังกายมากๆ หัวใจเต้นเร็ว อัตราการเต้นของหัวใจหายใจเข้า-ออกแรงก็ไม่ได้ เพราะรู้สึกแน่นและเจ็บตรงหน้าอก ผมเคยไปพบหมอแล้ว ได้ซื้อยามากินแต่ก็ไม่หาย ผมทนกับอาการนี้มานานแล้ว จะมีวิธีการรักษาอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไร คุณหมอพอจะแนะนำสถานที่รักษาได้หรือไม่”

ข้อมูลที่ขาดไป
1. “อาการเจ็บหน้าอก” นั้นเป็นที่ส่วนไหนของอก อกซ้ายหรืออกขวา ด้านบนหรือด้านล่างหรือด้านข้าง (ถ้าบอกว่าเจ็บที่อกขวาบน ก็แสดงว่าที่คิดว่าเจ็บที่หัวใจนั้นไม่ถูกต้อง)


2. “เหมือนมีอะไรมาแทงที่หัวใจ” เป็นอย่างไร เพราะอันที่จริงการเอาเข็มหรือมีดแทงเข้าที่หัวใจจริงๆนั้นต้องแทงผ่านผิวหนัง เนื้อเยื่อ เอ็น กล้ามเนื้อ และเยื่อหุ้มหัวใจ เข้าสู่หัวใจได้
ส่วนที่เจ็บมากที่สุด คือ ส่วนที่ผิวหนัง รองลงไปคือเนื้อเยื่อและเยื่อหุ้มหัวใจ ไม่ใช่ที่หัวใจ เพราะกล้ามเนื้อหัวใจไม่รู้สึกเจ็บอะไรได้มากมายนัก หรือไม่รู้สึกเจ็บเลย


3. “หัวใจเต้นเร็ว” รู้ได้อย่างไร มันเต้นเร็วแน่หรือ หรือเพียงแต่ว่ามันเต้นแรงจนเรารู้สึกได้ หรือมันเต้นทั้งเร็วและแรงด้วย
จับชีพจรดูหรือเปล่าว่ามันเต้นเร็วเท่าใด เพราะบางครั้งที่คนเรารู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วนั้น อันที่จริงแล้วมันเต้นเร็วขึ้นไม่เท่าไหร่ เช่น อาจจะเต้นเพียง 90 ครั้งต่อนาที ซึ่งถือว่าปกติ แต่มันเต้นแรงจนเรารู้สึกได้ ทำให้เรารู้สึกว่ามันเต้นเร็วขึ้น
การที่หัวใจเต้นแรงและอาจจะเร็วด้วยนั้น พบได้ในคนปกติทั่วไปที่ตื่นเต้น ตกใจ โกรธ หรือมีอารมณ์เกิดขึ้น เช่น  เจอหน้าคนที่ตนแอบรักเขาอยู่ หัวใจมันก็เต้นตูมตามจะออกมานอกอกให้ได้ เป็นต้น
ความรู้สึกที่ว่าหัวใจเต้นแรงและเร็วจึงไม่จำเป็นต้องเป็นโรค และโดยความเป็นจริงแล้ว ภาวะที่หัวใจเต้นเร็วและแรงเป็นครั้งคราวนั้น พบในคนปกติมากกว่าคนที่เป็นโรค
เพราะเวลาเราออกกำลังกายหัวใจก็จะเต้นแรงและเร็วขึ้นเช่นเดียวกัน หัวใจเต้นเร็วและแรงในขณะออกกำลังกายหรือหลังออกกำลังใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องปกติ
ถ้าออกกำลังมากๆ แล้วหัวใจยังเต้นเหมือนเดิม (ไม่เร็วและแรงขึ้น) ล่ะก็จึงถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ และต้องไปหาหมอตรวจดูว่าผิดปกติจริงหรือไม่


4. “หายใจเข้า-ออกแรงไม่ได้ เพราะรู้สึกแน่นและเจ็บตรงหน้าอก” นั้น หมายความว่า หายใจเข้าแรงๆไม่ได้ หรือหายใจออกแรงๆไม่ได้ และที่หายใจแรงๆไม่ได้นั้น ถ้าหายใจเบาๆ ช้าๆ แต่ลึกๆ ทำได้หรือไม่
อาการ “แน่นและเจ็บตรงหน้าอก” เป็นอย่างไร แน่นเหมือนคนคัดจมูกจนหายใจเข้าไม่ได้ หรือแน่นเหมือนเวลาใส่เสื้อหรือกางเกงคับๆ จนหายใจเข้าได้ไม่เต็มที่
หรือหายใจเข้าได้เต็มที่ แต่รู้สึกว่ามันไม่โล่งเท่าที่ควร หรือหายใจสะดุดๆ หรืออื่นๆ
อาการ “เจ็บตรงหน้าอก” เป็นอย่างไร เจ็บเวลาหายใจเข้าหรือหายใจออก เจ็บเวลาไอหรือไม่ เจ็บเวลายืดอก ห่อไหล่ หรือบิดตัว หรือไม่
ถ้าเจ็บมากขึ้นเวลาไอ เจ็บเวลายืดอก ห่อไหล่ หรือบิดตัว ก็แสดงว่าอาการเจ็บนั้นเป็นที่ผนังอก (ผนังอกประกอบด้วยผิวหนัง เนื้อใต้ผิวหนัง เอ็น กล้ามเนื้อ กระดูก และเยื่อหุ้มปอดชั้นนอก) ไม่ได้เป็นที่หัวใจ หรือปอด
ถ้าอาการเจ็บอกไม่เปลี่ยนแปลงเวลาไอ เวลายืดอก ห่อไหล่ หรือบิดตัว ก็แสดงว่าอาการเจ็บนั้นไม่ได้เป็นที่ผนังอก แต่เป็นที่อวัยวะภายในทรวงอก เช่น หัวใจ ปอด ต่อมน้ำเหลือง หลอดอาหาร เป็นต้น ซึ่งต้องถามประวัติเพิ่มเติมเพื่อให้รู้ว่าเป็นที่อวัยวะใด เช่น
ถ้าเจ็บอกมากขึ้นเวลากินอาหารหรือน้ำ อาการเจ็บนั้นมักเกิดที่หลอดอาหาร เช่น หลอดอาหารอักเสบ หรือเป็นแผล
ถ้าเจ็บคอมากขึ้นเวลาเดินหรือวิ่งออกกำลัง เวลาพักแล้วอาการก็หายไป นั่งเฉยๆ หรือนอนเฉยๆจะไม่เจ็บ โดยที่อาการเจ็บนี้ไม่เป็นมากขึ้นเวลาไอ จาม ยืดอก ห่อไหล่ หรือบิดตัว และอาการมักจะหายทันทีเมื่อนั่งพัก ไม่เจ็บเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ จึงอาจจะนึกว่าอาจเป็นอาการเจ็บที่หัวใจ เป็นต้น
(ผู้ที่ต้องการรู้รายละเอียดเรื่อง “เจ็บอก” ให้อ่านใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 88, 89, 90 และ 91)


5. “ผมเคยไปพบหมอแล้ว ได้ซื้อยามากินแต่ก็ไม่หาย” เพราะอะไร ถามหมอเขาหรือเปล่าว่าคุณเป็นอะไร หรือเป็นโรคอะไร ทำไมกินยาที่หมอสั่งแล้วจึงไม่หาย ต้องปฏิบัติรักษาตัวอย่างไรจึงจะหาย หรือต้องไปตรวจพิเศษอะไรหรือไม่ หรืออื่นๆ
ถ้าคุณไม่ถามหมอที่ตรวจรักษาคุณอยู่ แต่กลับไปถามหมอที่ไม่เคยเห็นคุณ และไม่เคยตรวจคุณเลย โอกาสที่คุณจะได้รับคำตอบผิดๆ ย่อมมีสูงกว่าอย่างแน่นอน เพราะข้อมูล (ประวัติ) ที่คุณให้ไม่ได้รับการซักถามเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจตรงกันและครบถ้วนสมบูรณ์
ดังนั้น คำตอบ (สำหรับคุณ) ที่ถูกต้อง คือ กลับไปถามหมอที่ตรวจรักษาคุณอยู่ว่าคุณเป็นอะไร ควรจะปฏิบัติรักษาตัวอย่างไร และถ้าจะต้องกินยา จะต้องกินนานเท่าไรจึงจะหาย
ส่วนคำตอบ (สำหรับคุณ)
ที่อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ คือ คุณไม่ได้เป็นโรคหัวใจ แต่เป็นโรคชอบห่วงกังวลหรือเคร่งเครียดเกินไป
ควรปฏิบัติรักษาตนตามแบบการรักษา “โรคเครียด” (ดู “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 144, 145, 146 และ 147) อย่างจริงจังสักระยะหนึ่ง ถ้าไม่ดีขึ้น จึงควรจะไปหาหมอเดิมหรือหมอใหม่ใกล้บ้านของคุณ ที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหมอที่ดี(ไม่ใช่หมอเก่ง) และมีเวลาอธิบายเรื่องโรคของคุณและวิธีปฏิบัติรักษาตัวเองให้คุณฟัง จนคุณสามารถจะนำไปปฏิบัติเองได้
 


ปัญหาที่ ๒
เวลาดิฉันนั่งเรียนหนังสือในห้องเรียนก็จะหายใจติดขัด แน่นหน้าอกมาก และเหมือนมีอะไรมาติดอยู่ที่คอ ไม่ทราบว่าเป็นอะไร จะรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ถ้ารักษาไม่หาย ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างไร”


ข้อมูลที่ขาดไป
1. อาการ “หายใจติดขัด” เป็นอย่างไร หายใจเข้าไม่ได้ หรือหายใจออกไม่ได้ หรือทั้งเข้าทั้งออกไม่ได้เลย หรือหายใจได้แต่ไม่สะดวก และไม่สะดวกอย่างไร มีเสมหะในคอหรือมีอะไรไปอุดกั้น ทำให้ไม่สะดวก และอื่นๆ


2. “แน่นหน้าอกมาก” เป็นอย่างไร เหมือนคนนั่งทับ หรือใส่เสื้อคับๆ หรืออกพองตัวออกเหมือนจะระเบิด ที่ว่า “เหมือนมีอะไรมาติดที่คอ” เป็นอย่างไร คล้ายเสมหะติดคอก้างปลาติดคอ หรืออย่างไร


3. นอกจากเวลาเรียนหนังสือแล้ว เวลาอื่นไม่เคยเป็นเลยหรือ
ถ้าไม่เคยเป็นเลย อาจแสดงว่าคุณไม่ชอบเรียนหนังสือเรื่องนั้นหรือเล่มนั้น พอเรียนหนังสือเรื่องนั้นหรือเล่มนั้นจึงเกิดอาการ ถ้าเคยเป็นเวลาอื่น เป็นเวลาไหนบ้าง ถ้าเป็นเวลาไปโรงเรียน แต่อยู่บ้านหรือไปเที่ยวแล้วไม่เป็นเลย ก็แสดงว่าคุณไม่อยากไปโรงเรียน


คำตอบสำหรับคุณ
คือคุณต้องหาคำตอบเองว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริง แล้วพยายามกำจัดหรือบรรเทาสาเหตุเสีย อาการก็จะดีขึ้น และหายไปได้


                                                                                                                            (อ่านต่อฉบับหน้า)