• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บหัวใจ (ตอนที่ 3 )

เจ็บหัวใจ (ตอนที่ 3)
 

ฉบับที่แล้วผมค้างไว้เรื่องตัวอย่างรายการตรวจสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ พร้อมทั้งราคาโดยประมาณ เผื่อบางทีคนที่ชอบเป็นโรคหัวใจเห็นรายการตรวจแล้วอาจจะเลิกอยากเป็นโรคหัวใจก็ได้
4. การถ่ายภาพรังสีของกล้ามเนื้อหัวใจหลังให้สารกัมมันตภาพรังสี (radionuclide cardiac imaging) : เช่น การฉีด thallium – 201 แล้วถ่ายภาพรังสีหัวใจเป็นระยะๆ เพื่อดูว่ากล้ามเนื้อหัวใจส่วนใดขาดเลือดหรือไม่ ราคาค่าตรวจครั้งละ 12,000 บาทสำหรับผู้ป่วยสามัญ และ 24,000 บาทสำหรับผู้ป่วยพิเศษ
ข้อดี : ไม่เจ็บตัวมาก
ข้อเสีย : เช่นเดียวกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะวิ่งบนสายพาน เพราะมักจะตรวจขณะวิ่งบนสายพานด้วย นอกจากนั้นยังแพงมาก และตรวจได้เฉพาะในโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ใหญ่ๆเท่านั้น


5. การสวนหัวใจและตรวจหลอดเลือดหัวใจ(cardiac catheterization and coronary arteriography) ราคาค่าตรวจครั้งละ 5,000 บาทสำหรับผู้ป่วยสามัญ และ 2,000 บาทสำหรับผู้ป่วยพิเศษ
ข้อดี : ให้ผลแน่นอนที่สุดว่าหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ ตีบมากน้อยเพียงใด และตีบหลอดใดบ้าง
ข้อเสีย : ทำยาก เจ็บตัว มีอันตรายหลายอย่าง รวมทั้งอันตรายถึงชีวิตมากกว่าการตรวจแบบอื่นๆที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด และทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆที่มีห้องสวนหัวใจเท่านั้น
หมายเหตุ ค่าตรวจเหล่านี้ไม่ได้รวมค่าอยู่โรงพยาบาล(ค่าห้องและค่าบริการ) และการรักษาภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจากการตรวจ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งไม่สามารถคาดคะเนได้ ขึ้นอยู่กับภาวะแทรกซ้อนนั้นๆ
การตรวจด้วยวิธีการสวนหัวใจและตรวจหลอดเลือดหัวใจจะต้องอยู่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 วัน ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องสอบถามถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจและอยู่โรงพยาบาลด้วย
หมอ : นอกจากตัวอย่างรายการตรวจเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้นแล้ว คุณอาจจะตรวจเลือดดูไขมันในเลือด เช่น โคเลสเตอรอล(cholesterol) รวมทั้งชนิดหนัก(HDL-cholesterol) และชนิดเบามาก(LDL- cholesterol) ไตรกลีเซอไรด์(triglyceride) เป็นต้น
และอาจจะตรวจดูระดับน้ำตาล(glucose) กรดยูริก(uric acid)ในเลือด เพราะโรคเบาหวาน โรคเกาต์ หรือภาวะยูริกคั่งก็มีส่วนทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ง่ายด้วย
ค่าตรวจเลือดจะตกประมาณอย่างละ 50-100 บาท หรืออาจจะมากกว่านี้ก็ได้ในโรงพยาบาลเอกชน
ตกลงคุณอยากจะตรวจอะไรบ้าง เพื่อคุณจะได้สบายใจ และเลิกกังวลว่าเป็นโรคหัวใจเสียที”
หญิง : “โอ้โฮ! คุณหมอจะตรวจจนอิชั้นหมดตัวหรือล้มละลายเลยหรือคะ”
หมอ :หมอไม่ได้ต้องการให้คุณตรวจเลย เพราะหมอไม่ได้คิดว่าคุณเป็นโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่เมื่อคุณต้องการตรวจให้แน่ใจ เพราะคุณฝังใจจากคำบอกเล่าของหมอคนอื่นๆ ว่าคุณเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และคุณยังต้องการตรวจให้แน่ใจ
การตรวจที่จะทำให้คุณแน่ใจมากที่สุด คือ การสวนหัวใจและตรวจหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมีอันตรายและราคาแพงแต่เป็นการตรวจที่แน่นอนที่สุดที่จะทำให้เกิดความมั่นใจได้”
หญิง :คุณหมอคิดว่าจำเป็นหรือเปล่าล่ะคะ”
หมอ : “ถ้าหมอเป็นคุณและมีอาการเหมือนคุณ หมอไม่ตรวจหรอกครับ
แต่สำหรับคุณ ถ้าคุณยังฝังใจอยู่ว่าคุณเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การสวนหัวใจและตรวจหลอดเลือดหัวใจเท่านั้นที่จะบอกได้อย่างแน่นอนว่า หลอดเลือดหัวใจของคุณตีบจริงหรือไม่ตีบ”
หญิง : “ถ้าสวนหัวใจแล้วตายล่ะคะ จะคุ้มกันหรือ”
หมอ :การสวนหัวใจก็คล้ายกับการผ่าตัด มันก็มีความเสี่ยงถึงชีวิตอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก สวนหัวใจผู้ป่วย 1,000 คน อาจจะเสียชีวิตสัก 1 คน ก็เป็นความเสี่ยงที่ผู้ป่วยต้องยอมรับเสียก่อน หมอจึงจะสวนหัวใจให้
เหมือนการผ่าตัดแหละครับ คุณต้องเซ็นใบยินยอมให้หมอผ่าตัดหรือสวนหัวใจ โดยยอมรับความเสี่ยงที่มีอยู่ก่อน หมอจึงจะสวนหัวใจให้”
หญิง : “ถ้าอย่างนั้น อิชั้นไม่ขอสวนหัวใจดีกว่า ขอแต่ยาหมอไปกินดูก่อน แล้วจะไปขอผลการตรวจจากหมอคนก่อนๆมาให้คุณหมอจะดีกว่าค่ะ”
หมอ : “ดีครับ หมอขอให้คุณหยุดยาทุกชนิดที่กินอยู่ไว้ก่อน และกินแต่ยาที่หมอให้ไป แล้วอาทิตย์หน้าคุณกลับมาหาหมอใหม่ พร้อมกับเอาใบหมอหรือผลการตรวจและผลการรักษาจากหมอคนก่อนๆ มาให้หมอดูด้วย”
หญิง : “ค่ะ ขอบคุณค่ะ แล้วอาทิตย์หน้าอิชั้นจะมาหาหมอใหม่ค่ะ”

สัปดาห์ต่อมาผู้ป่วยนำผลการตรวจต่างๆมาให้ และนำกระเช้าผลไม้มาให้หมอด้วย
หญิง
: “อิชั้นดีขึ้นมากค่ะ เอาผลไม้มาฝากหมอค่ะ และนี่เป็นผลการตรวจจากหมอคนก่อนๆค่ะ”
หมอ : “ขอบคุณครับ ขอผมดูผลการตรวจเก่าๆก่อนนะครับ”
หมอตรวจดูผลการตรวจเก่าๆของผู้ป่วยแล้ว
หมอ : “คุณตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทั้งขณะพักและขณะวิ่งบนสายพานแล้ว ผลการตรวจบอกไม่ได้ชัดเจน แม้หมอคนที่ตรวจเขาจะรายงานว่าสงสัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่หมอไม่คิดว่าใช่
ผลของน้ำตาลและกรดยูริกในเลือดของคุณก็ปกติ แต่ผลของไขมันมีโคเลสเตอรอลสูงเล็กน้อย และมีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงปานกลาง
เท่าที่ดูผลการตรวจทั้งหมด ไม่มีอะไรที่บ่งบอกว่าคุณเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้”
หญิง : “แล้วทำไมยาหัวใจที่หมอให้อิชั้นไปกิน จึงทำให้อิชั้นสบายขึ้นมากล่ะคะ รู้สึกแข็งแรงขึ้น กินได้ดีขึ้น นอนก็หลับสนิทดี มีกำลังเพิ่มขึ้น แล้วก็ไม่มึนหัวปวดหัวด้วยค่ะ”
หมอ : “ใครบอกคุณล่ะว่า หมอให้ยาหัวใจคุณไป หมอไม่ได้ให้ยาหัวใจคุณไปเลย มิหนำซ้ำยังให้คุณหยุดยาหัวใจที่คุณเคยกินอยู่ทั้งหมดไว้ก่อนด้วย
ยาที่หมอให้คุณไปนั้นเป็นยาจิตใจทั้งหมด เพื่อช่วยให้จิตใจคุณหายห่วงหายกังวล และมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น ทำให้คุณหลับสนิท คุณจึงรู้สึกเบิกบานและแข็งแรงขึ้น
ส่วนอาการมึนหัวปวดหัวที่หายไป อาจเกิดจากการที่คุณหยุดยาขยายหลอดเลือดหัวใจที่หมอคนเดิมให้ไว้ก็ได้
ส่วนเรื่องการกินได้ดีขึ้นนั้นหมอไม่ต้องการเพราะคุณอ้วนอยู่แล้ว และไขมันในเลือดก็สูงด้วย เพราะฉะนั้นคุณต้องกินให้น้อยลง โดยเฉพาะอาหารแป้ง(ซึ่งรวมถึงข้าวและของหวาน) และอาหารมันๆ (ซึ่งรวมถึงของผัดและของทอด) ต้องลดลงให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะลดได้ โดยกินผักและน้ำเปล่าให้มากขึ้นแทน”
หญิง : “คุณหมอให้ยาจิตใจอิชั้น ก็แปลว่าอิชั้นเป็นโรคประสาทใช่มั้ยคะ”
หมอ : “คุณจะเรียกว่าโรคประสาทก็ได้ แต่ไม่ใช่โรคประสาทแบบบ้าๆบอๆ หรือป้ำๆเป๋อๆ หรือไม่เต็มเต็งนะครับ เพราะคำว่า ‘โรคประสาท’ นี้ ครอบคลุมไปถึงภาวะต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ตื่นเต้นเกินไป ดีใจเกินไป (จนยิ้มหรือหัวเราะทั้งวัน) ห่วงเกินไป (จนนอนไม่หลับหรือหลับๆตื่นๆ) กลัวเกินไป หรือกลัวว่าจะเป็นโรคนั้นโรคนี้เกินไป เป็นต้น
ดังนั้น คุณอย่าไปกังวลกับคำว่า ‘
โรคประสาท’ ถ้าคุณไม่อยากได้ยิน หรือไม่อยากเป็นโรคนี้ ก็เรียกใหม่เสียว่า ‘โรคเครียด’ หรือ ‘โรคหัวใจอ่อน’ หรือ ‘โรคใจอ่อน จิตอ่อน’ ก็ได้ ให้คุณสบายใจขึ้น”
หญิง : “ไม่เป็นไรค่ะ เป็นโรคประสาทก็โรคประสาท อิชั้นขอบคุณคุณหมอมากนะคะที่ช่วยให้อิชั้นไม่คิดว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจอีกแล้ว อิชั้นลาล่ะค่ะ”


คนไข้รายนี้มาหาหมอด้วยเรื่องเจ็บหัวใจ และถูกหมอหลายคนให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจนเกิดความฝังใจว่า ตนเป็นโรคนี้ และมีอาการยืดเยื้อเรื้อรังมาเรื่อย แม้จะกินยามาหลายหมอแล้วก็ตาม
ทั้งนี้เพราะหมอเหล่านั้นไม่ซักประวัติ(อาการ)ของผู้ป่วยให้ดี ประกอบกับที่ผู้ป่วยยืนยันว่าหมอหลายคนบอกว่าตนเป็นโรคหัวใจ จึงเกิดการคล้อยตามว่าผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจไปด้วย


ประวัติ(อาการ)ของผู้ป่วยรายนี้มีหลายอย่างที่ทำให้ไม่คิดว่าเป็นอาการเจ็บหัวใจ เช่น
1. อาการเสียวแปลบเข้าไปในหัวใจ อาการแบบนี้พบน้อยมากในโรคหัวใจ หรืออาจพูดได้ว่าไม่พบในโรคหัวใจก็ได้
เพราะอาการเสียวแปลบ ที่บ่งว่าเกิดขึ้นเร็วมากและหายไปเร็วมาก และเป็นอาการเสียวแบบเสียวฟัน ไม่ใช่อาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือที่เราเรียกว่า “เจ็บหัวใจ”
แต่เป็นอาการของการระคายเส้นประสาท เช่น เวลาเสียวฟัน เวลาเสียวแปลบเมื่อถูกหนามตำ ถูกเข็มแทง หรือเห็นของน่าหวาดเสียว หรือได้ยินเสียงแหลมผิดปกติ เป็นต้น
อาการเจ็บหัวใจจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะเป็นอาการหนัก อาการแน่น เหมือนถูกอะไรบีบรัดหรือทับจนหายใจไม่ออก หรือเกือบไม่ออก และรู้สึกเหมือนว่าจะขาดใจได้ถ้าเป็นมาก
แม้ว่าอาการหน้ามืด เป็นลม เหงื่อแตก มือเท้าเย็น อาจพบได้ในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่ส่วนใหญ่แล้ว อาการเหล่านี้มักจะพบในคนที่อ่อนแอ(ไม่แข็งแรง) เป็นลมง่าย แล้วไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจเลย
2.อาการมักเกิดเวลาอยู่เฉยๆ เช่น เวลานั่งคุยโทรศัพท์ นั่งดูโทรทัศน์ หรือนอนอยู่เฉยๆ
แม้ว่าผู้ป่วยจะบอกว่าเกิดในเวลาไม่แน่นอน แต่ไม่ได้บอกว่ามีอาการเวลาออกกำลัง เวลาอาบน้ำ เวลาทำงานหนักเลยจึงแสดงว่า ไม่เคยหรือไม่ค่อยเกิดอาการในเวลาเหล่านี้ จึงไม่ได้สังเกตและไม่ได้เอ่ยถึง
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ถ้ามีอาการขณะนั่งๆนอนๆอยู่ล่ะก็ แสดงว่าเป็นมากแล้ว นั่นคือ จะทำอะไรไม่ได้หรือแทบไม่ได้เลย
เพราะถ้าทำ(ถ้าออกกำลัง)อาการจะยิ่งเพิ่มขึ้นหลายเท่า ดังนั้นผู้ป่วยจึงนั่งๆนอนๆ อยู่เฉยๆ เพราะขนาดอยู่เฉยๆยังมีอาการ จะเดินไปห้องน้ำไปนอกบ้านยิ่งจะมีอาการมากขึ้น
ถ้าขณะออกกำลัง เช่น อาบน้ำ ทำงาน ขึ้นบันได ข้ามสะพานลอย และไม่มีอาการแต่มีอาการในเวลานั่งๆนอนๆ เท่านั้น ไม่ควรนึกถึงโรคหัวใจ ควรนึกถึงอาการของจิตใจ(โรคประสาท)มากกว่า
3. อาการหลับไม่สนิท เป็นอาการที่มักแสดงถึงความห่วงกังวล ความขัดแย้ง ความซึมเศร้า ความตื่นเต้น หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นความเครียดนั่นเอง
แม้ผู้ป่วยจะบอกว่านอนหลับได้ดี แต่พอถามว่าคืนหนึ่งตื่นกี่ครั้ง กลับตอบว่าตื่นหลายครั้ง บางครั้งก็ตื่นขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่มีเหตุผลสมควร และกว่าจะหลับใหม่ได้ก็ใช้เวลานานถึงครึ่งชั่วโมง แสดงว่าผู้ป่วยหลับไม่ค่อยสนิทหรือหลับไม่ได้ดี
อันอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ ตามมา เพราะสมองไม่ได้รับการพักผ่อนเพียงพอ หรืออาการเครียดจนหลับไม่สนิทอาจเกิดจากความห่วงกังวลเรื่องที่หมอบอกว่าเป็นโรคหัวใจก็ได้
ความห่วงกังวลหรือความเครียดทำให้เกิดอาการไม่สบายและความไม่สบายยิ่งทำให้เกิดความห่วงกังวลมากขึ้น วนเวียนกันเป็นวงจรร้าย หรือวงจรอุบาทว์(vicious cycle)ยืดเยื้อเรื้อรังไปไม่มีวันสิ้นสุด
การจะตัดวงจรร้ายนี้ได้จึงต้องทำให้ผู้ป่วยมั่นใจว่าตนเองไม่ได้เป็นโรคดังกล่าวนั้น ซึ่งถ้าจำเป็น อาจจะต้องใช้วิธีการตรวจพิเศษที่แพงและมีอันตราย เช่น การสวนหัวใจ เป็นต้น
แต่เคราะห์ดีที่ผู้ป่วยยังไม่ฝังใจมากนัก และเมื่อกินยาช่วยด้านจิตใจแล้วก็ดีขึ้นอย่างมาก จึงไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติมอีก

                      

                                                                                                                          (อ่านต่อฉบับหน้า)