• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บหัวใจ (ตอนที่ 4)

เจ็บหัวใจ (ตอนที่ 4)

ตัวอย่างคนไข้รายที่ 3
ชายไทยรูปร่างท้วม อายุ 40 กว่าปี หิ้วถุงเอกซเรย์และกระเป๋าเอกสารเข้ามาพบหมอ
ชาย : “สวัสดีครับคุณหมอ ผมไม่ค่อยสบาย แต่ไม่ทราบว่าเป็นอะไรแน่ รักษามาหลายแห่งแล้ว อาการไม่ดีขึ้น จึงมาหาหมอ”
หมอ : “สวัสดีครับ คุณเอาใบส่งตัวจากหมอคนเดิมมาด้วยหรือเปล่า”
ชาย : “เปล่าครับ แต่ผมมีผลการตรวจต่างๆอยู่ในกระเป๋าเอกสารและซองเอกซเรย์นี้ครับ”
หมอ : “ถ้าคุณไม่เอาใบส่งตัวมา แล้วคุณหมอของคุณเขารู้ว่าผมมารักษาให้คุณ เขาจะหาว่าผมมาแย่งคนไข้ของเขาได้”
ชาย : “คงไม่เป็นเช่นนั้นหรอกครับ เพราะเวลาผมเปลี่ยนหมอ ไม่เห็นมีหมอคนไหนขอใบส่งตัวเลย”
หมอ : “ที่จริงใบส่งตัวหรือใบส่งต่อ หรือใบส่งปรึกษา เหล่านี้มีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหมอด้วยกันแล้ว ยังช่วยให้หมอคนต่อไปรู้ว่าคนไข้เป็นอะไรในความเห็นของหมอคนเก่า และหมอคนเก่าให้ยาและการรักษาอย่างไรไว้
ถ้ายาและการรักษาได้ผลดี หมอคนใหม่จะได้ให้ยาเดิมและการรักษาเดิม การรักษาจะได้ต่อเนื่อง และเป็นผลดีแก่คนไข้
ถ้ายาและการรักษาที่ได้อยู่ไม่ทำให้คนไข้ดีขึ้น หรือทำให้คนไข้ทรุดลง หรือแพ้ยา หมอคนต่อไปจะได้หยุดยาหรือหลีกเลี่ยงยาและวิธีการรักษาแบบนั้น
เมื่อไม่มีใบส่งตัวมา หมอก็ต้องเริ่มใหม่หมด และอาจจะต้องลองผิดลองถูกอีกก็ได้”
ชาย : “ผมเกรงใจคุณหมอคนเก่าครับ ไม่กล้าบอกแกว่าจะเปลี่ยนหมอ เพราะแกก็เอาใจใส่ดูแลผมเป็นอย่างดีมาหลายเดือนแล้ว แต่อาการผมไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร ผมจึงต้องเปลี่ยนหมอครับ”
หมอ : “ที่จริงคุณไม่ควรเกรงใจ เพราะหมอที่ดีย่อมไม่โกรธคุณ และจะยินดีส่งคุณไปหาหมอคนอื่นเสียด้วยซ้ำ เมื่อเขารักษาคุณแล้วคุณไม่ดีขึ้น”
ชาย : “มันก็จริงอย่างหมอว่า แต่ธรรมเนียมไทยเราสอนให้เราเป็นคนขี้เกรงใจ จึงทำให้ผมกลัวไปว่า จะเป็นการดูถูกความสามารถ หรือหมิ่นน้ำใจกันน่ะครับ”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้นคุณเล่าอาการมาให้หมอฟังดูก่อนก็แล้วกัน”
ชาย : “ครับ ปีเศษๆมานี้ เวลาผมกินอาหารอิ่มๆผมจะทำงานอะไรไม่ค่อยได้ ถ้าทำมันจะจุกแน่นในท้องเหมือนลมตีขึ้น ต้องนั่งพักและเรอลมออกสักครู่อาการก็จะดีขึ้น หลังจากนั้นก็พอทำงานได้บ้าง แต่ถ้าเผลอไปก้มๆเงยๆ หรือทำงานหนัก ก็จะมีอาการอีก แต่ถ้าท้องว่างๆไม่ค่อยมีอาการครับ”
หมอ : “คุณทำงานอะไร ต้องใช้กำลังมากมั้ย”
ชาย : “ทำงานขายของครับ ถ้าของหนักก็ต้องใช้กำลังมาก ถ้าของเบาก็ใช้กำลังน้อยหน่อยครับ”
หมอ : “คุณขายของอะไรหรือครับ”
ชาย : “ขายของชำครับ ถ้าเป็นข้าวสารเป็นกระสอบ ก็ต้องช่วยกัน 2 คน ถ้าเป็นของอื่นก็ยกคนเดียวได้ครับ”
หมอ : “แล้วคุณมีคนช่วยกี่คนครับ”
ชาย : “บางทีก็2-3 คนครับ แต่ช่วงปีนี้หาคนยาก บางทีก็ไม่มีเด็กช่วยเลย แต่เดือนนี้มีเด็กช่วย 1 คนครับ”
หมอ : “คุณเป็นเจ้าของเองหรือครับ”
ชาย : “ครับ ภรรยาและลูกของผมก็ช่วยด้วย แต่ภรรยาเขายกของหนักไม่ได้ และลูกๆก็ต้องเรียนหนังสือ จึงไม่ค่อยได้อยู่ช่วยครับ”
หมอ : “แล้วตอนที่คุณมีอาการครั้งแรก มันเกิดขึ้นอย่างไรครับ”
ชาย : “ผมจำไม่ค่อยได้แล้ว รู้สึกว่าผมเพิ่งกินข้าวกลางวันเสร็จก็มีลูกค้าเข้ามาซื้อข้าวสาร 1 ถัง แล้วผมก็ยกข้าวสาร 1 ถังไปใส่รถให้เขา
แต่รถมันจอดไกลจากหน้าร้านไปหน่อย ผมรู้สึกจุกแน่นในท้อง จนต้องวางถุงข้าวสารลง และยืนพักเรอลมออกจากท้อง แล้วจึงรู้สึกดีขึ้น และยกถุงข้าวสารไปใส่รถให้เขาได้
จากนั้นหลังกินข้าวอิ่ม ถ้าทำอะไรจะรู้สึกจุกแน่นในท้องบ่อยๆจนไม่กล้ากินอิ่มมาก และไม่กล้ายกของหนักหลังกินอิ่มใหม่ๆ”
หมอ : “แล้วเวลาท้องว่างคุณยกของหนักๆได้มั้ย และเวลาท้องว่างคุณปวดท้องมั้ย”
ชาย : “เวลาท้องว่าง ผมมักจะยกของหนักได้ครับ แต่เวลาหิวบางครั้งก็รู้สึกหวิวๆ และแสบท้องเหมือนกันครับ ถ้าบังเอิญลูกค้ามากแล้วกินผิดเวลาไปมาก”
หมอ : “คุณเคยเป็นโรคกระเพาะมั้ยครับ”
ชาย : “ครับ คุณหมอที่ผมไปรักษามาหลายคน บางคนก็บอกว่าผมเป็นโรคกระเพาะ บางคนก็บอกว่าผมเป็นโรคถุงน้ำดี
ส่งผมไปเอกซเรย์กระเพาะลำไส้บ้าง เอกซเรย์ถุงน้ำดีบ้าง ทำอัลตราซาวนด์ท้อง(ถ่ายคลื่นเสียงสะท้อนท้อง)บ้าง แต่ก็ไม่พบอะไรผิดปกติ นี่ไงครับ ผลการตรวจต่างๆ”
หมอเอาผลการตรวจต่างๆมาดู ก็ไม่พบอะไรผิดปกติ
หมอ : “แล้วหมอเขาบอกว่าคุณเป็นโรคอะไรครับ เมื่อผลการตรวจต่างๆเป็นปกติ”
ชาย : “เขาก็บอกว่า กระเพาะอาหารคงอักเสบ แต่ไม่เป็นแผล จึงตรวจไม่พบในเอกซเรย์ และถุงน้ำดีอาจอักเสบ แต่ไม่เป็นนิ่ว จึงตรวจไม่พบในเอกซเรย์และอัลตราซาวนด์”
หมอ : “แล้วหมอเขาให้ยาอะไรคุณบ้าง”
ชาย : “เขาให้ยาลดกรด ยาระงับการสร้างกรดในกระเพาะ และยาช่วยคลายการหดเกร็งของกระเพาะ ลำไส้ และถุงน้ำดีครับ”
หมอ : “หลังกินยาแล้วคุณเป็นอย่างไรบ้าง”
ชาย : “ก็ดีขึ้นครับ อาการแสบท้องหายไป แต่ถ้ากินอิ่มมากก็ยังจุกแน่นท้อง และยังยกของหนักไม่ได้ครับ”
หมอ : “แล้วคุณไม่บอกหมอเขาหรือครับ”
ชาย : “บอกครับ เขาก็บอกว่าให้ยาโรคกระเพาะอย่างดที่สุดแล้ว อาจจะมีโรคอื่นแทรก จึงส่งผมไปตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่คลื่นไฟฟ้าหัวใจก็ปกติ”
หมอ : “แล้วทำไมคุณถึงเปลี่ยนหมอล่ะ”
ชาย : “ก็ผมเกิดความสงสัยว่า หมอส่งตรวจอะไรๆก็ปกติหมด แล้วผมเป็นโรคอะไรกันแน่ จึงลองมาหาหมอให้ช่วยตรวจผมดูสักครั้ง”
หมอ : “อ้าว หมอไม่ใช่เทวดาหรือผู้มีวาจาสิทธิ์นะ จะได้ตรวจรักษาคุณครั้งเดียวแล้วได้ผลในเมื่อคุณรักษากับหมอมาตั้งหลายคนแล้วไม่ได้ผล คุณจะให้หมอลองรักษาเพียงครั้งเดียวอาจจะไม่ได้ผลก็ได้”
ชาย : “ไม่ใช่ครับที่ผมพูดว่าลองให้หมอรักษาผมดูสักครั้งน่ะ ผมหมายความว่า ลองให้หมอรักษาผมดูสักพัก ซึ่งหมออาจจะนัดผมมาดูอาการใหม่อีกสักกี่ครั้งก็ได้ครับ”
หมอ : “ตกลง ถ้าอย่างนั้นคุณขึ้นนอนบนเตียงให้หมอตรวจคุณก่อน”

                                                                                                                          (อ่านต่อฉบับหน้า)