• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นิวโมธอแร็กซ์


⇒ ถาม
เคยเป็นมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ละครั้ง ห่างกันเป็นปี ๆ ครั้งล่าสุดเป็นต้นปี 2529 ไม่กล้าออกกำลังกาย ผมควรจะทำอย่างไร

ผมอายุ 41 ปี มีลูก 3 คน และทำงานห้องแอร์ หน้าที่การงานไม่ใหญ่โตอะไร ปัญหาคือ ผมเคยเป็นโรคนิวโมธอแร็กซ์ เป็นมา 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันเป็นปี ๆ ครั้งล่าสุดเป็นเมื่อต้นปี 2529 ถึงไม่หนักเหมือนก่อน ก็ต้องเจาะตรงสีข้าง เอาลมออก ทรมานและหายใจไม่สะดวกตอนนี้หายแล้วราว 1 ปี แต่ผวากลัวจะเป็นอีก เหมือนตกนรก แต่ก็ดีใจไปวัน ๆ ว่า ก็ยังไม่เป็นนี่ ผมกลัวจนไม่กล้าออกกำลังกายได้ แต่เดินอย่างเดียว

เมื่อ 7-10 วันก่อนที่ผ่านมา ผมจามแรงและปวดคอ ตอนนี้มีอาการที่ไหล่และต้นคอ เวลานอนไม่เป็นไร แต่เวลาตื่นจะมีอาการอีก ยิ่งเวลาเย็น (อากาศเย็น) จะนอนไม่หลับ ต้องรีบตื่น แล้วก็กลัวว่าจะเป็นโรคเก่าอีก ขอเรียนถามว่า
1. ขอคำแนะนำเกี่ยวกับความเป็นมา สาเหตุ และวิธีป้องกันโรคนิวโมธอแร็กซ์ รวมทั้งการปฏิบัติตัวของคนเป็นโรคนี้ หรือมีหมอเฉพาะโรคนี้หรือหนังสือเกี่ยวกับโรคนี้โดยตรงหรือไม่

2. ผมจะทำอย่างไร สำหรับเรื่องปวดคอจากการจามครั้งนี้ หาหมอหรือกินยา ถ้ากินยา ยาอะไร กรุณาแนะนำด้วยนะครับ


ปราโมทย์/สมุทรปราการ


⇒ ตอบ

นิวโมธอแร็กซ์ (แปลว่าลมในช่องเยื่อหุ้มปอด) ในคนอายุน้อย หรือวัยกลางคน ส่วนใหญ่เกิดจากมีการแตกของถุงลมที่ผิวปอด สาเหตุที่แตกเนื่องจากคนบางคนมีถุงลมที่บางผิดปกติกระจายอยู่ตามผิวปอดตั้งแต่กำเนิด ซึ่งคนที่มีถุงลมเช่นที่ว่านี้ มีโอกาสที่จะเกิดถุงลมแตก เกิดนิวโมธอแร็กซ์ได้เป็นครั้งเป็นคราว แต่คนเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่ยืนยาวเท่ากับคนทั่วไป คนที่เป็นโรคนี้จึงควรใช้ชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป

สิ่งเดียวที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือ การสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ถุงลมมีโอกาสแตกบ่อยขึ้น และหากสูบไปนาน ๆ จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และถุงลมพองมากกว่าคนทั่วไป
การออกกำลังกายควรจะทำตามปกติ เพราะไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ถุงลมแตก สถิติพบว่าสามในสี่ของนิวโมธอแร็กซ์เกิดขณะอยู่เฉย ๆ คนที่เป็นโรคนี้แล้วไม่กล้าออกกำลังกาย เป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
ในคนที่เคยเป็นนิวโมธอแร็กซ์แล้ว 3 ครั้ง มีจะมีโอกาสที่จะเป็นอีก แต่ก็ไม่ทุกราย หลายรายก็ไม่เป็นอีกเลย เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะกลัวเกินเหตุ ควรจะใช้ชีวิตเหมอนคนปกติทั่วไป (ยกเว้นห้ามสูบบุหรี่) หากเกิดนิวโมธอแร็กซ์ขึ้นอีก แพทย์ก็มักจะแนะนำให้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะเป็นการรักษาที่ได้ผลและป้องกันไม่ให้เกิดนิวโมธอแร็กซ์ได้อีกในอนาคต การผ่าตัดก็ไม่ยุ่งยากและอยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 10 วัน และจะกลับสู่สภาพปกติทุกอย่างในเวลาไม่เกิน 3 อาทิตย์


น.พ. ประกิต วาทีสาธกกิจ