• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หมอชอบฉีดยาให้

 

ผมเป็นสมาชิกประจำตามแผงหนังสือ รู้สึกดีใจที่เปิดคอลัมน์การตอบปัญหาและก็ตอบแบบสบาย ๆ จะได้ไม่เครียด ผมขอเล่าเรื่องให้ทราบก่อนครับว่า ปกติผมไม่สบาย ไปหาหมอที่คลินิกใกล้ ๆ ที่ทำงาน หมอมักจะฉีดยาให้ผม พอผมไม่สบาย ไปหาหมอที่คลินิกใกล้ ๆ บ้าน ก็มักให้ยากิน แต่รู้สึกเวลาฉีดยามันก็ไม่ได้แตกต่างจากการรักษาด้วยยากิน

ที่ผมมีปัญหาอยากถามอาหมอ ก็คือ ช่วงนี้มีข่าวเรื่องโรคเอดส์เกิดขึ้น ซึ่งจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และเข็มฉีดยา เรื่องเพศ ผมไม่สำส่อน คงไม่ติด แต่ที่ติดใจคือเรื่องเข็มฉีดยา
ผมรู้สึกกลัวว่า ถ้าผมไปหาหมอ แล้วหมอฉีดยาให้ บังเอิญเข็มฉีดยามีเชื้อเอดส์ ผมจะทำอย่างไร เลยถามอาหมอว่า ความเป็นไปได้มีมากน้อยแค่ไหน ขอบพระคุณมากครับ

 

อดิศ/บางรัก กรุงเทพฯ


ตอบคุณอดิศ

คุณอดิศถามว่า บังเอิญเข็มฉีดยา มีเชื้อเอดส์ผมจะทำอย่างไร ไม่ต้องทำอย่างไรหรอกครับ ทำใจได้เลย เก็บข้าวเก็บของได้ (อย่าเพิ่งตกใจนะครับ) ที่ว่าเก็บข้าวเก็บของนั้น ให้ไปหาหมอ (ไม่ใช่เตรียมตัวซื้อโลงลดราคาล่ะ)
ที่เขียนข้างต้นนั้น ให้คุณอดิศคลายเครียดหรอกครับ ความเป็นไปได้ไม่ใช่ง่าย ๆ เพราะปกติหมอ จะไม่ใช้เข็มฉีดยาซ้ำ เข็มฉีดยาจะใช้ครั้งเดียวทิ้ง พวกติดยาเสพติดที่ติดกันนั้นเกิดจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เมื่อคนหนึ่งเป็นโรคก็ลามไปให้คนอื่นต่อไป คุณอดิศหายกังวลได้ครับเรื่องที่ว่าคุณจะติดเอดส์ เพราะคุณไม่สำส่อนทางเพศ ขณะนี้โรคเอดส์กำลังระบาดไปสู่หญิงบริการมากขึ้น การสำส่อนทางเพศจึงเสี่ยงมาก

อาหมออยากจะกลับมาพูดถึงเรื่องการฉีดยาสักนิดว่า โดยปกติ โรคที่เป็น ๆ กันอยู่ทั่ว ๆ ไปมักไม่ต้องฉีดยา แค่กินยาก็พอแล้ว แต่ประชาชนทั่ว ๆ ไปมักเข้าใจผิดเรื่องนี้กัน
คุณหมอเชาวนี ธาตรีธรเคยเล่าว่า ไปช่วยรักษาคนไข้ที่คลินิก พอคนไข้พาลูกมาหา ทั้ง ๆ ที่ลูกเป็นไข้หวัดธรรมดาก็ขอให้หมอช่วยฉีดยา รักษาลูกให้ด้วย คุณหมอก็เลยอธิบายให้ฟังว่า ยาฉีดไม่จำเป็นอย่างไร และแนะให้ดูแลรักษาลูกอย่างไร พร้อมให้ยาไปกิน ปรากฏว่า คนไข้เดินออกจากคลินิกคุณหมอไปเข้าอีกคลินิก และมีข่าวออกมาว่า หมอผู้หญิงคนนั้นไม่เก่ง ไม่ฉีดยาเป็นงั้นไป!?!

บางครั้งก็เป็นความเข้าใจผิดของชาวบ้านที่เกิดจากหมอทำ หรือที่เรียกว่า “โรคหมอทำ” น่าเห็นใจ ผู้ไม่รู้
ความจริงแล้วยาฉีดจะไข้เมื่อ
1. คนไข้มีอาการรุนแรง ถ้ารักษาช้าอาจตายได้ จึงต้องให้ยาฉีด เพื่อยาจะได้ออกฤทธิ์เร็วที่สุด เช่น ช็อกหรือหมดสติ หายใจไม่ออก
2. คนไข้กินยาทางปากไม่ได้ (ไม่ใช่ไม่มีปาก) หมายถึง อาจผ่าตัดอวัยวะบางอย่างอยู่
3. ยาที่ไม่มีรูปแบบเป็นยากิน ซึ่งส่วนมากเป็นยาที่ใช้กันในโรงพยาบาล
4. กรณีอื่น ๆ ซึ่งเป็นกรณีเฉพาะ ไม่ใช่ทั่ว ๆ ไป เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด

นอกจากนั้นยาฉีดยังมีข้อเสียหลายประการ เช่น
1. ทำให้เจ็บตัว
2. แพงกว่ายากิน
3. ถ้าเกิดกรณีแพ้ยาแล้ว อันตรามาก เนื่องจากออกฤทธิ์เร็ว
4. ไม่สะดวก ต้องพบแพทย์ เวลาฉีด ยากินสะดวกกว่า
5. ถ้าฉีดไม่ถูกวิธีอาจทำลายเส้นประสาทได้
อื่น ๆ ปลีกย่อยอีกมากหลาย แค่ 5 ข้อก็พอแล้วมั้ง
เชื่อเถอะครับว่า ถ้าไม่จำเป็นแล้วอย่าฉีดยาเลย ยิ่งไม่สบายธรรมดา ไม่ต้องฉีดยาดีที่สุด อย่างที่คุณอดิศเล่าว่า คลินิกใกล้บ้านคุณ หมอให้แต่ยากิน ผมว่าถูกต้องแล้วถ้าไม่สบายธรรมดา สำหรับหมอใกล้ที่ทำงานคุณ คุณคงต้องถามหมอบ้างว่า “หมอครับขอยากินมีบ้างไหมครับ” เผื่อคุณหมอจะได้ซื้อยากินเก็บไว้ให้คนไข้บ้าง (บางทีฉีดจนลืม น่าเห็นใจ)

ปกติแล้วหมอจะให้ยากินแก่คนไข้ก่อนเสมอ นอกจากจำเป็นจริง ๆ จึงจะฉีดยา ใช่ไหมครับหมอ