ถาม ผู้ป่วยเด็กอายุ 2-3 ปี มีอาการไข้ ต่อมามีผื่นแบบ morbilliform ทั้งตัว ภายหลังมีการลอกของผิวหนังตามมา ไข้ลดลงดี เด็กร่าเริงสบายดี จะแยกระหว่างการแพ้ยากับผื่นจากการติดเชื้อไวรัสได้อย่างไร. ผื่นจาก viral exanthem จะมีการลอกทั้งตัวได้หรือไม่ จะใช้ระยะเวลาที่ใช้ยามาช่วยแยกจะได้หรือไม่ โดยถือหลักว่า ผื่นจากแพ้ยาถ้ามีการลอกของผิวหนังควรเป็นภายหลังได้รับยาไปแล้ว 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป.
ตอบ Viral exanthem หมายถึงผื่นที่เกิดตามหลัง viral infection ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็น maculopapular หรือที่เรียกว่าผื่น morbilliform คือผื่นที่มีลักษณะเหมือนผื่น measles (หัด) ซึ่งหัด ก็เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง ผื่น viral exanthem อื่นๆ มักจะหายโดยผิวหนังเป็นปกติ ไม่มีการลอก ยกเว้นโรคหัดผื่นแดงมักจะเริ่มปรากฏวันที่ 2-4 หลังจากเริ่มมีไข้ โดยเริ่มปรากฏที่หน้าโดยเฉพาะที่ไรผม หลังหู ลามลงไปตามตัวและแขนขา ต่อมาผื่นจะเปลี่ยนเป็นสีดำและมีการลอกตัวตามมา ในที่นี้ไม่ได้ให้รายละเอียดอาการของผู้ป่วยว่ามีไข้กี่วัน มีอาการร่วมอื่นๆ หรือไม่ เช่นเป็นไข้ ไอ ตาแดงแฉะ.
ถ้าเป็นหัดมักจะมีไข้ประมาณ 4-5 วัน มีอาการไอมาก ตาแดงตาแฉะอ่อนเพลีย ไม่มีประวัติฉีดวัคซีนป้องกันหัด. ตรวจร่างกายจะพบ Koplik spot ในปากตรงกระพุ้งแก้ม ในวันที่มีไข้ช่วงแรกก่อน มีผื่นขึ้นตามตัว. จากประวัติที่ให้มาน่าจะไม่ใช่หัด (คาดว่าเด็กน่าจะไม่มีอาการต่างๆ ของหัด มิฉะนั้นคงจะบอกอาการมาให้แล้ว). ดังนั้นก็น่าจะเป็นผื่นแพ้ยามากกว่าระยะเวลาผื่นขึ้นจากการใช้ยามักจะมีผื่นหลังได้รับยาประมาณ 2-3 สัปดาห์ และตามด้วยการลอกของผิว แต่ถ้าเคยมีประวัติแพ้ยามาก่อน ถ้าได้รับยาที่แพ้ซ้ำอีกก็จะทำให้มีผื่นตั้งแต่วันแรกๆ ทำให้มีการลอกตัวได้เร็วกว่า 2-3 สัปดาห์ ดังนั้นจึงต้องอาศัยประวัติ ตรวจร่างกาย ประวัติการได้รับวัคซีน ประวัติการได้รับยาก่อนมีผื่น โดยเฉพาะยากลุ่มปฏิชีวนะ ยากันชัก ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID.
โรคอื่นๆ ที่ทำให้มีผื่นและลอกได้แก่ ไข้ดำแดง (scarlet fever) แต่โรคนี้ผิวหนังจะหยาบคล้ายกระดาษทราย (sand-paper) ลิ้นแดงเหมือนผิว strawberry อีกโรคที่อาจมีไข้และผื่น morbilliform คือ Kawasaki disease แต่จะมีไข้หลายวัน ลิ้นแดงเหมือนไข้ดำแดง มีต่อมน้ำเหลืองโต แต่มักจะลอกเฉพาะปลายมือปลายเท้า.
อมรศรี ชุณหรัศมิ์ พ.บ.
รองศาสตราจารย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
Biochemical markers of bone turnover
ถาม ผู้ป่วย menopause 1/3 จะมี rapid bone loss จะมี marker ส่งตรวจง่ายๆ ชนิดไหน เพื่อใช้คัดกรองผู้ป่วยกลุ่มนี้.
ตอบ Biochemical markers of bone turnover แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. Bone marker for bone formation.
2. Bone marker for bone resorption.
Biochemical bone marker ทั้ง 2 ประเภท มีให้ตรวจได้หลายชนิด ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีสามารถ ส่งตรวจ serum osteocalin เพื่อติดตามเรื่อง bone formation และ serum ß-cross lap resorption เพื่อติดตามเรื่อง bone resorption การส่งตรวจจะใช้เลือดครั้งละ 3 มล. โดยที่ไม่ต้องงดอาหารก่อนตรวจ ค่าใช้จ่ายประมาณ 500 บาท ต่อการตรวจ 1 ครั้ง ทราบผลในวันเดียว.
แสงชัย พฤทธิพันธุ์ พ.บ.
ศาสตราจารย์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บรรณาธิการ
สุรางค์ เจียมจรรยา พ.บ.
ศาสตราจารย์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 16,686 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้