• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลือดคั่งในสมอง

นพ.สันต์ หัตถีรัตน์
เลือดคั่งในสมอง
ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๕๒

หญิงไทยม่ายอายุ ๘๒ ปี ได้รับการผ่าตัดระบายเลือดที่คั่งในสมองทั้ง ๒ ข้างในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ โดยตัดกะโหลกด้านข้างออกไป จนศีรษะบุ๋มเข้า
หลังผ่าตัดผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้และสื่อสารอะไรได้เลย ไม่สามารถขยับแขนขาและทำอะไรได้ ต้องนอนแบ็บอยู่บนพื้นในบ้านแคบๆ ในชุมชนแออัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งรถเข้าไม่ถึง เพราะทางเข้าถึงบ้านเป็นทางเดินแคบๆ ที่รถเข้าไม่ได้เลย

เวลาจะเข้าออกจากบ้าน จึงต้องจ้างคนแข็งแรงอุ้มหรือแบกผู้ป่วยออกจากบ้านมาขึ้นรถแท็กซี่ที่ถนน แล้วจึงจะไปตรวจที่โรงพยาบาลตามนัดได้ หลังนัดไปตรวจ ๓ ครั้ง ไม่มีอะไรดีขึ้น แพทย์เจ้าของไข้บอกให้ญาติทำใจ และไม่ต้องพาผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลอีก อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลได้ช่วยส่งแพทย์เวช-ศาสตร์ครอบครัวและพยาบาลไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน และพบว่า ผู้ป่วยเป็นหญิงชราที่อยู่ในสภาพช่วยตนเองไม่ได้เลย นอนอยู่บนพื้นในห้องแคบๆ ที่เต็มไปด้วยสิ่งของต่างๆ ระเกะระกะไปหมด แขนซ้ายงอเกร็งและเหยียดออกไม่ได้ เช่นเดียวกับขาทั้ง ๒ ข้าง

ผู้ป่วยลืมตาเวลาเรียกหรือเจ็บ แต่แววตาเหม่อลอย ไม่มีความหมาย ปากอ้า หายใจทางปาก มีเสียงเสมหะในคอ จมูกมีท่อยางให้อาหารคาอยู่ ไม่สามารถเคลื่อนไหว แขนขาได้ สะโพกด้านหลังเป็นแผลกดทับขนาดใหญ่ ลึกเกือบถึงกระดูกเวลาทำแผล ผู้ป่วยจะร้องแต่ไม่ค่อยมีเสียง เพราะสายเสียงคงพิการจากการใส่ท่อช่วยหายใจไว้หลายวันหลังการผ่าตัด

เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ ผู้ป่วยเคยเป็นอัมพาตซีกซ้าย จากหลอดเลือดสมองตีบตัน เพราะเป็นโรคความดันเลือดสูงและโรคหัวใจมานาน แต่ไม่สามารถรับการรักษา อย่างสม่ำเสมอ เพราะความยากจน และต้องดูแลเลี้ยงลูกและหลาน โดยร้อยพวงมาลัยขาย เนื่องจากสามีเสียชีวิตไปนานแล้ว

ในบ้านเล็กๆ นั้น นอกจากผู้ป่วยแล้วยังมีผู้อยู่อาศัยอีก ๔ คนคือ ลูกสาว หลานสาว และเหลน ๒ คน ทำให้คับแคบและแออัดมาก
หลังผ่าตัดสมองและผู้ป่วยต้องอยู่ในสภาพ "ผัก" ถาวร (chronic persistent vegetative state) ลูกสาวซึ่งเป็น โรคเอดส์ (ลูกเขยเสียชีวิตไปแล้วจากโรคเอดส์) ต้องทำหน้าที่หาเลี้ยงทั้ง ๕ ชีวิตด้วยการขายพวงมาลัย และให้หลานสาวผู้ป่วย (ลูกของลูกสาว) ลาออกจากงานมาดูแลผู้ป่วยและลูกของตนเอง (เหลนของผู้ป่วย) โดยสามีของหลานสาวก็เสียชีวิตจากโรคเอดส์เช่นกัน และต่อมาตรวจพบว่าหลานก็ติดเอดส์ด้วย แต่ยังไม่มีอาการ

แพทย์ พยาบาล และนักสังคมสงเคราะห์ที่ไปเยี่ยมบ้าน ก็ทำได้เพียงช่วยเหลือให้คำแนะนำในการให้ อาหาร การทำแผล การรักษาความสะอาดของร่างกาย การปลอบโยนให้กำลังใจหลานสาวที่เริ่มอ่อนล้าจาก   การต้องดูแลผู้ป่วยและลูกของตนเองตลอด ๒๔ ชั่วโมง    และบางครั้งก็ต้องควักเงินจากกระเป๋าตนเองเพื่อช่วยค่าอาหารและขนมสำหรับเด็กๆ

๓ เดือนต่อมา ผู้ป่วยก็เสียชีวิตที่บ้านจากการติดเชื้อที่แผล และจากการสำลักอาหาร ลูกและหลานไม่ได้นำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เพราะไม่อยากให้ผู้ป่วยต้องได้รับความทุกข์ทรมานจากการใส่ท่อช่วยหายใจและจากการทำแผลอีก ที่น่าอนาถใจคือเจ้าหน้าที่เขต (อำเภอ) ไม่ยอมรับ แจ้งการเสียชีวิตที่บ้านของผู้ป่วย และให้ญาติผู้ป่วยนำศพผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ออกใบรับรองการตายและสาเหตุของการตาย (ซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติที่ซ้ำเติมความชอกช้ำของญาติผู้เสียชีวิต) ทำให้ญาติต้องเหมารถกระบะนำศพไปโรงพยาบาล

ที่น่าอนาถใจยิ่งกว่าคือ แพทย์นิติเวชที่โรงพยาบาล ไม่ยอมออกใบมรณบัตรให้ โดยอ้างว่าไม่รู้สาเหตุการตายที่แท้จริง ต้องผ่าตรวจศพก่อน (แพทย์นิติเวชจะได้เงินค่าผ่าตรวจศพรายละประมาณ ๔,๐๐๐ บาท) ทำให้ญาติต้องเสียเวลารอรับศพผู้ป่วยไปที่วัดอีกหลายชั่วโมง และเสียเงินโดยไม่จำเป็นอีก บทเรียนจากกรณีผู้ป่วยรายนี้คือ

๑. แพทย์มุ่งรักษาโรค (เลือดคั่งในสมอง) มากกว่ารักษาคน จึงนำผู้ป่วยไปตัดกะโหลกศีรษะออกทั้ง ๒ ข้าง ทั้งที่น่าจะรู้ว่า ผู้ป่วยอายุมากแล้ว และมีโรคประจำตัวรุนแรง จนไม่น่าจะทำให้ผู้ป่วยสามารถรู้เรื่องและช่วยตนเองได้หลังผ่าตัด และสภาพครอบครัวก็ยากจนมาก และอยู่ในชุมชนแออัดที่เข้าออกลำบาก การฟื้นฟูสภาพหลังการผ่าตัดจึงเป็นไปได้ยาก จึงเกิดแผลกดทับรุนแรงในรายนี้
๒. แพทย์เฉพาะทาง (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอวัยวะหรือเฉพาะโรค) จะสนใจแต่อวัยวะหรือโรคที่ตนชำนาญ และลืมดูอวัยวะอื่น หรือโรคอื่นของผู้ป่วย เพื่อนำมาพิจารณาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนว่าถ้ารักษาอวัยวะหนึ่งดีขึ้น แล้วอวัยวะอื่นจะแย่ลงหรือไม่ เช่น ผ่าตัดให้อวัยวะหนึ่งดีขึ้น แต่อวัยวะอื่น เช่น หัวใจ ไต ปอด จะแย่ลงเพราะการดมยาและการผ่าตัดหรือไม่
๓. แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คือแพทย์ที่สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งคน (ทุกอวัยวะ ทุกระบบ) ทั้งกายและใจ และทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัว ของผู้ป่วยด้วย
แต่ผู้ป่วยและประชาชนกลับถูกโฆษณามอมเมาให้ชอบตรวจรักษากับแพทย์เฉพาะทาง และใช้เครื่องมือ หรูหราต่างๆ จึงทำให้ไม่มีผู้สนใจจะฝึกอบรมเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ทำให้ผู้ป่วย ๑ คนต้องมีแพทย์ตรวจรักษาหลายคน เพราะเป็นหลายโรค เสียค่าใช้จ่าย เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย และเป็นอันตรายเพิ่มขึ้นมาก เพราะ "มากหมอมากความ" นั่นเอง และยาที่ได้รับจากหมอแต่ละคน คนละ ๒-๔ ชนิด รวมแล้วเป็น ๑๐ กว่าชนิด มักจะเกิดปฏิกิริยากัน ("ยาตีกัน" ทำให้เป็นพิษ) ได้
๔. กฎระเบียบต่างๆ ที่ฝ่ายปกครอง (รัฐบาล) สร้างขึ้น มักทำให้เกิดความยุ่งยาก ลำบากแก่ผู้ป่วยและ ประชาชนเพิ่มขึ้น แม้แต่ในกรณีที่ตายตามธรรมชาติ เช่น ในผู้ป่วยรายนี้ และทำให้แพทย์นิติเวชสามารถหากินจากศพโดยไม่สมควรอีกด้วย  i

ข้อมูลสื่อ

340-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 340
สิงหาคม 2550
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์