• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความดันเลือดสูง..ลูกสาวรักร่วมเพศ

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๘๐

(จากตัวอย่างผู้ป่วยใน “คู่มือการดูแลสุขภาพครอบครัว สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน ตุลาคม ๒๕๕๓”)
          ผู้ป่วยชายอายุ ๖๒ ปี มาตรวจความดันเลือดสูงตามนัด พบว่าความดันเลือดสูงผิดปกติ ทั้งที่กินยาเป็นประจำอย่างเคร่งครัด และยังมีอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับด้วย

แพทย์ : “หมู่นี้มีเรื่องอะไรหรือเปล่าคะ เพราะความดันขึ้น”
ผู้ป่วย : “มันน่าอายน่ะหมอคือ... ผมจะเล่ายังไงดี... คือผมมีลูกคนเดียว ตอนนี้เขาก็ไม่เด็กแล้ว อายุจะ ๔o ยังไม่เป็นโล้เป็นพาย เปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น ควงคนโน้นคนนี้ เที่ยวดึกดื่น เตือนไม่รู้ฟัง ทั้งผมทั้งแม่เขาระอา จนแก่ป่านนี้ยังต้องให้เงินเขาตลอด ลองทำธุรกิจก็เจ๊ง จะทำอะไรก็ไม่รอด ใช้แต่เงิน แล้วอยู่ๆ ปุบปับก็บอกให้ไปขอสาวแต่งงานให้ ผมกับแม่เขาลมจะใส่ ไม่เคยรู้มาก่อนเลย มันน่าอายไหมหมอ มีลูกสาวแต่ไม่เป็นสาว”
แพทย์ : “อยู่ๆ เขามาบอกให้ไปขอสาวมาแต่งงานเลยหรือคะ ก็ช็อกแย่สิคะ”
ผู้ป่วย : “นั่นสิหมอ เป็นหมอจะทำยังไง ผมแก้ปัญหาต่างๆ มาเยอะ เจอแบบนี้เข้า ไปไม่เป็นเลย”
แพทย์ : “ถ้าเป็นหมอ หมอคงงง ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน แล้วพ่อทำไงต่อคะ ลูกขอแบบนี้”
ผู้ป่วย : “ผมก็ได้แต่บอกว่า ให้ใจเย็นๆ คิดหน้าคิดหลังให้ดีก่อน อย่าวู่วาม ก็ไปขัดใจมันอีก ผมไม่เข้าใจ เรา ๒ คนเลี้ยงลูกมาอย่างดี ทำไมเป็นแบบนี้ไปได้ เราเลี้ยงผิดวิธีหรือเปล่า ทำไมมันกลายได้
มันต้องเลี้ยงผิดไปตอนใดตอนหนึ่ง แต่นึกไม่ออกว่าตอนไหน สงสัยว่าตามใจมากไป อยากได้อะไรก็ให้ มันเลยพาลไปขอเจ้าสาวผิดมนุษย์มนาเขา ผมกลุ้ม ไม่มีทางออก แม่เขายิ่งเครียดกว่าผม ร้องไห้จนไม่รู้จะยังไง มันมีวิธีรักษาให้หายขาดไหมหมอ ผมไม่อยากให้ลูกผิดปกติ”
แพทย์ : “พ่อคิดว่าถ้าลูกรักชอบเพศเดียวกันผิดปกติไหมค่ะ”
ผู้ป่วย : “ก็ได้ยินว่ามีอยู่ในสังคมนะหมอ เพียงแต่ไม่คิดว่ามันจะมาเกิดกับครอบครัวเรา แม้มันอาจจะเป็นปกติของธรรมชาติเขาก็ได้ แต่เราก็เป็นห่วงว่าลูกจะยืนอยู่ในตำแหน่งไหนของสังคม คนเขาจะรังเกียจลูกเราไหม ถ้าเราไม่อยู่ ลูกเราจะอยู่ได้ไหม เลี้ยงตัวเองยังจะไม่รอด ยังมามีเรื่องให้กลุ้มเพิ่มขึ้นอีก”
แพทย์ : “แล้วลูกเขาเป็นห่วงเรื่องเลี้ยงตัวเองไหมคะ”
ผู้ป่วย : “ไม่เลยหมอ เราคุยกับเขาแล้ว บ้านเราใช้วิธีคุยกันตรงๆ ไม่ตะคอก ไม่ด่าว่า แม้ว่าเราจะเสียใจแค่ไหนก็ตาม เราคุยกันเรื่องนี้เขาบอกว่า เขาเลือกแล้ว เขาลองมีแฟนมาหลายคนหลายแบบ แต่พบว่าเขารักคนนี้จริงๆ แม้ว่าเขาจะยังไม่มีอาชีพแน่นอน แต่เขาก็อยากมีชีวิตครอบครัวของตัวเอง เขาจะได้รับผิดชอบเพิ่มขึ้น มันก็กล่อมจนเราชักลังเลไปทั้งคู่... แล้วตกลงมันไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดเหรอหมอ”
แพทย์ : “เรื่องรักใครชอบใครนี่มันไม่ใช่โรคนะคะ จะไปรักษาได้ยังไง เขาก็เป็นผู้ใหญ่เข้าวัยกลางคนแล้วนะคะ เขามีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้ชีวิตอย่างผู้ใหญ่ได้ ถ้าเขาเลือกแล้ว เราคุยเปิดใจกันแล้ว พ่อจะไปทำอะไรได้ ชีวิตเป็นของเขา เขาเลือกแล้ว ชาวบ้านที่ไหนจะมาว่าเราเลี้ยงลูกไม่ดี ลูกอายุตั้งเท่านี้แล้ว”
ผู้ป่วย : “พอมีสติผมก็จะคิดแบบหมอพูดได้นั่นแหละ แต่เผลอๆ มันก็กลัวเสียหน้าตัวเองอีก บางทีเราอาจจะห่วงเขามากเกินไปจริงๆ มิน่าเลี้ยงเท่าไหร่ไม่รู้จักโต เพราะไม่เคยปล่อยให้มันเดินเองเลย ระวังหน้าระวังหลังให้อยู่ตลอด ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน เดี๋ยวต้องกลับไปปลอบแม่อีกคน เขาก็เหมือนกัน คิดได้เป็นพักๆ ว่าแต่หมอว่าบ้านเราไม่ผิดปกติใช่ไหม”
แพทย์ : “ไม่หรอกค่ะ มีครอบครัวอื่นอีกที่เขายอมรับและให้อิสระแก่ลูก เพราะถึงเขาจะเป็นเพศไหน เขาก็ยังเป็นลูกของเรา เป็นคนดีได้ ไม่ได้ทำร้ายใคร ส่วนเรื่องที่เขาไม่ได้ทำงานเป็นเรื่องเป็นราว พ่อกับแม่ไปจ้องเขามากไปหรือเปล่าคะ พอเขาแค่เซๆ ก็รีบไปประคองเสียก่อน เขาเลยไม่เคยล้มและลุกด้วยตนเอง ให้เงินเขาอยู่เรื่อยได้ไง โตจนป่านนี้แล้ว พ่อแม่ใจอ่อน เขาก็ขอเอาง่ายๆ สิคะ ปล่อยให้เขาเดินเองมั่งดีไหม เขาจะมีครอบครัวแล้วด้วย”


          ผู้ป่วยรายนี้โชคดีที่ได้พบหมอที่มีเวลาคุยด้วย หมอจำนวนมาก (ส่วนใหญ่) เมื่อเห็นความดันเลือดขึ้น ก็จะเพิ่มยาลดความดันเลือดให้ โดยไม่ได้แก้สาเหตุที่ทำให้อาการกำเริบ ซึ่งในกรณีนี้คือความเครียดจากการที่ลูกสาวจะขอแต่งงานกับเพศเดียวกัน
          พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่เจอปัญหาเช่นนี้ ก็คงจะเหมือนผู้ป่วยรายนี้ การแก้ไขให้หายขาดอย่างที่ผู้ป่วยรายนี้ต้องการ คงจะทำได้ยาก แต่ควรจะใช้วิธีประวิงเวลาให้ลูกได้พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ เช่น การแนะนำลูกว่า
          “ถ้าลูกอยากให้พ่อแม่ไปขอลูกเขามาแต่งงานด้วย เขาคงต้องเรียกค่าสินสอด หรืออย่างน้อยก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องการจัดงานมงคลและอื่นๆ และครอบครัวนั้นเขาก็คงอยากรู้เรื่องงานการและรายได้ของลูก เพื่อจะดูว่าลูกจะสร้างครอบครัวเองได้หรือไม่ และลูกเขาจะตกระกำลำบากเมื่อมาอยู่กับลูกหรือไม่
          พ่อว่าลูกหางานทำให้มั่นคงก่อน ให้ครอบครัวอื่นเขาเห็นว่าลูกพ่อจะพาลูกเขาไปรอดได้ แล้วพ่อกับแม่จะไปขอลูกเขามาแต่งงานกับลูก”
          ตัวอย่างผู้ป่วยรายนี้  แสดงว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกแบบตามใจมากเกินไป จนลูกไม่เคยเลี้ยงตัวเองได้ เพราะรู้ว่าจะเอา (จะขอ) ได้จากพ่อและแม่
          อันที่จริง ถ้ามีแพทย์ที่ได้ดูแลครอบครัวนี้มาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ลูกยังตัวเล็กๆ และรู้จักครอบครัวเป็นอย่างดี จะมีโอกาสเตือนผู้ป่วย (พ่อแม่) ถึงวิธีเลี้ยงลูก เพื่อไม่ให้ตามใจหรือระแวดระวังลูกจนเกินไป จนลูกช่วยตนเองไม่เป็น และต้องพึ่งพ่อแม่ตลอด
          ประเทศไทยยังขาดแคลนแพทย์ที่จะดูแลผู้ป่วยทั้งคนและทั้งครอบครัวอย่างมหาศาล เพราะรัฐบาล แพทยสภา และโรงเรียนแพทย์ ตลอดจนสังคมยังมุ่งแต่จะผลิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะอวัยวะหรือเฉพาะระบบ เช่น หมอปอด หมอหัวใจ หมอตับ หมอไต หมอลำไส้ หมอตา หมอหู ซึ่งจะดูแลผู้ป่วยเฉพาะส่วนที่ตนชำนาญ ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยทั้งคนและทั้งครอบครัวได้
 

ข้อมูลสื่อ

381-048
นิตยสารหมอชาวบ้าน 381
มกราคม 2554
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์