• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษา (Living Will) ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ (ตอนที่ ๑)

          หากย้อนกลับไปเมื่อราว ๓๐ ปีที่ผ่านมา การทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษา (Living Will ๑หรือ Advance Directives) อยู่ในความสนใจของนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปในขณะนั้น แม้ปัจจุบันก็ยังอยู่ในความสนใจเพราะถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย
          ในต่างประเทศมีการทำหนังสือลักษณะนี้มากกว่า ๒๐ ปีแล้ว โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และหลายประเทศในยุโรป  แนวคิดเรื่องนี้เกิดจากการยอมรับเรื่องสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเอง (right to self-determination) ซึ่งถือเป็นสิทธิผู้ป่วยอย่างหนึ่งตามปฏิญญาสิลบอนว่าด้วย “สิทธิผู้ป่วย” ค.ศ.๑๙๘๑ (แก้ไขล่าสุดปี ค.ศ.๒๐๐๕) โดยแพทยสมาคมโลก (World Medical Association) รับรองว่า สิทธิปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยในวาระสุดท้ายอย่างมีศักดิ์ศรีโดยสงบ ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) เป็นสิ่งที่แพทย์ควรเคารพความประสงค์ของผู้ป่วย
          ผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตไม่ควรได้รับการรักษาที่เกินความจำเป็น (futile therapy) เช่น การใช้เทคโนโลยี อุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งมีผลเพียงยืดการตายออกไปเท่านั้น บางกรณีอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานมากยิ่งขึ้น ไม่สามารถเสียชีวิตอย่างสงบตามธรรมชาติ ผู้ป่วยและญาติต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก บางรายถึงหมดเนื้อหมดตัว สิ้นเปลืองทรัพยากรในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน
          ปัจจุบันมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ได้รับรองสิทธิในการทำหนังสือปฏิเสธการรักษานี้แล้ว และเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ที่ผ่านมามีออกกฎกระทรวง๒ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดรายละเอียดเรื่องแนวทางการทำหนังสือ วิธีปฏิบัติของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ของสถานบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
          ผู้ทำหนังสือควรมีอายุ ๑๘ ปีบริบูรณ์๓ อาจเป็นคนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรงหรือผู้ป่วยที่มีสติสัมปชัญญะก็ได้ คือมีความเข้าใจและสื่อสารกับผู้อื่นได้ตามปกติ สามารถระบุความประสงค์ที่จะปฏิเสธการรักษาที่ไม่จำเป็นไว้ล่วงหน้าได้ด้วยตนเอง หรืออาจขอคำแนะนำจากแพทย์ พยาบาล นักกฎหมายหรือผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนี้ เพื่อระบุแนวทางการดูแลรักษาในขณะที่ผู้ทำหนังสือไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ เช่น หมดสติหรือเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะใกล้ตาย 
          ดังนั้น การทำหนังสือดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยลดความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันของคนในครอบครัว ญาติ และคนใกล้ชิดที่ตัดสินใจไม่ได้ว่า จะยื้อชีวิตผู้ป่วยใกล้ตายต่อไปหรือไม่ หรือจะรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการใด เพราะเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจ
 

ข้อมูลสื่อ

381-055
นิตยสารหมอชาวบ้าน 381
มกราคม 2554
ไพศาล ลิ้มสถิตย์