• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแพทย์ทางเลือกกับโรคผิวหนัง (ตอนที่ ๒) สมุนไพรรักษาสิวและฝ้า

สิวและฝ้าจัดเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยมาก ปัจจุบันมีแนวโน้มในการนำสมุนไพรมาใช้หรือใช้ร่วมเพื่อรักษาโรคสิวและโรคฝ้ามากขึ้น ดังนี้

สิว

ได้มีการใช้สารแทนนิน (tannins) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดรสฝาดในพืชบางชนิด สกัดจากเปลือกต้นไม้ เช่น โอ๊กและฝาง มาใช้ทารักษาสิวเพราะมีคุณสมบัติสมานผิว (astringent properties) ที่ใช้บ่อยคือวิตช์ฮาเซล (witch hazel) กรดผลไม้ (fruit acids) เช่น กรดซิตริก (citric) สกัดจากผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะนาว กรดกลูโคนิก (gluconic) ซึ่งพบตามธรรมชาติในผลไม้ น้ำผึ้ง และไวน์ กลูโคโนแล็กโทน (gluconolactone) กรดไกลคอลิก (glycolic) ซึ่งมาจากอ้อย สับปะรด องุ่นดิบ และแคนตาลูป กรดมาลิก (malic) จากน้ำแอปเปิล และกรดทาร์ทาริก (tartaric) จากองุ่น กล้วย มะขาม และไวน์ สารเหล่านี้นำมาใช้ทารักษาสิวเพราะมีคุณสมบัติทำให้ผิวลอก

อีกทั้งยังนำน้ำมันหอมระเหยที-ทรี (tea tree oil) มาใช้รักษาสิว จัดเป็นน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากใบของต้น Melaleuca alternifolia (ภาพที่ ๑) ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำถิ่นในออสเตรเลีย ส่วนประกอบที่สำคัญคือ เทอร์พีน (terpenes) มีการศึกษาเปรียบเทียบการใช้น้ำมันหอมระเหยที-ทรี ความเข้มข้นร้อยละ ๕ และเบ็นซอยล์เพอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide หรือ BP) ความเข้มข้นร้อยละ ๕ พบว่าน้ำมันหอมระเหยที-ทรี ออกฤทธิ์ช้ากว่าบีพี แต่มีข้อดีคือก่อผลแทรกซ้อนน้อยกว่าบีพี

 

ภาพที่ ๑ ใบของต้น Melaleuca alternifolia ซึ่งใช้สกัดน้ำมันที-ทรี

ในส่วนของยาไวเท็กซ์ (vitex) ชนิดกิน ซึ่งสกัดจากต้นเชสต์เบอร์รี่ (chaste tree berry) ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Vitex agnuscastus (ภาพที่ ๒) เพื่อรักษาอาการกำเริบของสิวก่อนมีประจำเดือน

ภาพที่ ๒ ต้นเชสต์เบอร์รี่ซึ่งใช้สกัดยาไวเท็กซ์ชนิดกิน

ในเยอรมนีมีการอนุมัติให้ใช้ยาทาสกัดจากต้นบิตเตอร์สวีตไนต์เชด (bittersweet nightshade ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Solanum dulcamara (ภาพที่ ๓)

ภาพที่ ๓ ต้นบิตเตอร์สวีตไนต์เชด

ยาบริเวอร์ยีสต์ (brewer's yeast) ชนิดกินซึ่งเป็นเชื้อยีสต์ที่มีชีวิตโดยถูกความร้อนทำให้ตาย ไม่มีฤทธิ์ในการเป็นเชื้อหมักฟู แต่มีคุณค่าทางโภชนาการ บริเวอร์ยีสต์เป็นผลพลอยได้ของการผลิตเบียร์ เป็นยีสต์ชนิด Saccharomyces cerevisiae  (ภาพที่ ๔)   

ภาพที่ ๔ ยีสต์ชนิด Saccharomyces cerevisiae ที่ใช้ทำยาบริเวอร์ยีสต์ชนิดกิน

ในจีนมีการใช้ยาทาดั๊กวีด (duckweed) duck คือเป็ด ส่วน weed แปลว่า วัชพืช รวมแล้วก็คือวัชพืชสำหรับเป็ด ภาษาไทยใช้ว่า แหนเป็ดเล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Lemma minor (ภาพที่ ๕) เพื่อรักษาสิว

ภาพที่ ๕ ดั๊กวีด หรือแหนเป็ดเล็ก
 

ฝ้า

มีการใช้กรดโคจิก (kojic acid) ซึ่งเป็นสารที่สร้างจากเชื้อรา ออกฤทธิ์กดการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) แต่ก็ยังปรับสีผิวได้น้อย และมีรายงานการแพ้ครีมชนิดนี้ประปราย มีการใช้สารอาร์บูทิน (arbutin) ซึ่งเป็นสารสกัดธรรมชาติจากต้นแบร์เบอร์รี่ (bearberry) ซึ่งเป็นต้นไม้พุ่มเตี้ยชนิดหนึ่ง ใช้ในสูตรยาโบราณของญี่ปุ่น ออกฤทธิ์กดการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายารักษาฝ้าตัวหลักคือไฮโดรควิโนน (hydroquinone) ๑๐๐ เท่า และยังมีรายงานการใช้สารสกัดจากรากมัลเบอร์รี่ (mulberry) และชะเอมเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Glycyrrhiza glabra (ภาพที่ ๖) มารักษาฝ้า

ยังมีสมุนไพรไทยอีกหลายตัวที่มีแนวโน้มจะมีการสกัดสารมาใช้รักษาฝ้าได้เช่น ปอสา (paper mulberry) โกฐสอ หรืออาจเรียกว่าโกฐสอจีน (Angelica dahurica) และแก่นมะหาด ซึ่งต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไป

ภาพที่ ๖ รากชะเอมเทศ

ข้อมูลสื่อ

385-044
นิตยสารหมอชาวบ้าน 385
มกราคม 2554
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร