• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผู้สูงอายุกับการใช้ยา

ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด  มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
ผู้สูงอายุกับการใช้ยา
คำถาม  การใช้ยาในผู้สูงอายุ อย่างไรจึงจะได้ผลดีและปลอดภัย?

สูงวัย...ร่างกายเปลี่ยนแปลงและเสื่อมถอย
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ผ่านช่วงวัยทอง (วัยกลางคน) และเดินทางเข้าสู่ระยะสูงวัย หรือเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งโดยปกติก็จะหมายถึงวัยเกษียณ หรือตั้งแต่อายุ ๖๐ ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย และเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เสื่อมและถดถอย

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น สายตาที่เคยมองเห็นชัดมาตลอดชีวิต พอย่างเข้าสู่วัยทอง ก็เริ่มมองไม่ชัดเป็นสายตาคนแก่ ต้องหาแว่นสายตามาใช้ จึงจะอ่านหนังสือได้ เหงือกและฟันที่ใช้ในการบดเคี้ยวอาหารอย่างเอร็ดอร่อยก็เริ่มผุกร่อนมากขึ้น การเคลื่อนไหว การลุกขึ้นนั่งหรือลุกขึ้นยืนก็ช้าลง หรือถ้าลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือกะทันหัน ก็อาจทำให้วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมได้ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ล้วนอนิจจัง เกิดขึ้นเองเป็นธรรมชาติ จะเร็วจะช้าขึ้นอยู่กับกาลเวลาและลักษณะเฉพาะของแต่ละ คน ซึ่งอาจแตกต่างกันบ้างตามลักษณะทางกรรมพันธุ์ การออกกำลังกาย การทำงาน การดำเนินชีวิต สภาวะจิตใจ และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ถ้ายังทำงานหรือมีกิจกรรม ตามปกติอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ก็จะส่งผลดีต่อร่างกาย ทำให้ความเสื่อมถอยมาเยี่ยมเยือนร่างกายของเราได้ช้าลง

ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงการทำงานของร่างกายตามวัย และอย่าหยุดอยู่นิ่ง อยู่เฉยๆ ควรมีกิจกรรม มีการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายได้ตื่นตัว ไม่เสื่อมถอยได้โดยง่าย เรียกว่า อย่าอยู่นิ่ง หงอยเหงา ควรเข้มแข็ง ตั้งมั่น ยืนหยัด ต่อสู้ ไม่ยอมแพ้ ทำกิจกรรมตามความเหมาะสมของแต่ละคน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
    
ร่างกายเสื่อม...โรคเรื้อรัง หลายโรค หลายหมอ หลายยา
การเสื่อมเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ถ้ามีการดูแลเอาใจ ใส่อย่างดี ก็อาจช่วยชะลอความเสื่อมได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็ส่งผลให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไป หรือเสื่อมถอยได้ ทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของร่างกาย และเกิดเป็นโรคขึ้นได้

ตัวอย่างเช่น โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในหลอดเลือด โรคข้อเสื่อม โรคซึมเศร้า โรคความจำเสื่อม โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะค่อยเป็น ค่อยไป ทีละเล็กทีละน้อย และเริ่มเป็นโรคทีละโรค เมื่อเป็นโรคที่ ๑ แล้วก็จะเป็นโรคที่ ๒ โรคที่ ๓ ต่อไปเรื่อยๆ

โรคเหล่านี้มักเป็นโรคเรื้อรัง ที่ยังไม่มีวิธีการรักษาทางการแพทย์ให้หายขาดได้ ต้องใช้ยาอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับการดูแลรักษาและปฏิบัติตัว พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสม ก็จะช่วยชะลอการเสื่อมถอย บรรเทาความรุนแรงของโรคไม่ให้ลุกลามอย่างรวดเร็ว และเกิดอันตรายที่รุนแรงได้ และในทางตรงกันข้ามถ้าไม่เอาใจใส่ดูแลอย่างดี ปล่อยปละละเลย ไม่ระมัดระวัง ตัว ก็อาจทำให้โรคร้ายลุกลามมากขึ้น และเป็นอันตราย ต่อชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น

เมื่อเริ่มเป็นโรคก็เริ่มการใช้ยา ถ้าเป็นเพียง ๑ หรือ ๒ โรคก็อาจจะยังต้องใช้ยาเพียงไม่กี่ชนิด แต่ถ้าเป็นมากขึ้น เป็นหลายโรค ก็อาจจะได้ยาจำนวนมากขึ้น หรือหาหมอหลายคน เพื่อรักษาหลายโรค ทำให้ได้ยาจำนวนมาก

"เคยมีญาติคนหนึ่งป่วยเป็นโรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน และโรคข้อเสื่อม รวม ๕ โรคด้วยกัน และได้ยาจากแพทย์เพื่อใช้ควบคุมระดับความดันเลือดสูง ๒ ชนิด ได้ยาสำหรับโรคเบาหวาน ๒ ชนิด ได้ยารักษาโรคไขมันในเลือด ๒ ชนิด ได้ยารักษาโรคอ้วน ๑ ชนิด และยาสำหรับโรคข้อเสื่อม ๑ ชนิด นอกจากนี้ ยังได้ยาคลายกังวลช่วยให้นอนหลับ ๒ ชนิด (ชนิดหนึ่งสำหรับตอนกลางวันและอีกชนิดหนึ่งสำหรับก่อนนอน) และยาป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือดอีก ๒ ชนิด รวมทั้งหมดแล้วได้ยาทั้งสิ้น ๒ + ๒ + ๒ + ๑ + ๑ + ๒ + ๒ = ๑๒ ชนิด"
      
สรุปญาติคนนี้ต้องได้ยา ๑๒ ชนิด บางชนิดก็ใช้วันละครั้ง บางชนิดก็ใช้วันละ ๒  ครั้ง และบางชนิดก็ต้องใช้วันละ ๓ ครั้ง ในแต่ละวันผู้ป่วยรายนี้ต้องใช้ยามากมาย เพื่อรักษาโรคเรื้อรังทั้ง ๕ ชนิด เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ไม่เพียงแต่จะเป็นภาระของผู้ป่วยและญาติพี่น้องที่ คอยเฝ้าดูแลเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อรายได้ของครอบครัว อีกด้วย เพราะผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยประจำของโรง-พยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสี่ยงแห่งหนึ่ง ทุกเดือนที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์ญาติจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายไปเผื่อไว้เป็นเงินหลายหมื่น เป็นภาระด้านการเงินเป็นอย่างมาก (แต่ก็ยังดีที่ญาติผู้ป่วยรายนี้ได้ขอให้แพทย์เขียนใบสั่งยาให้ญาติไปซื้อจากร้านยา จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมาก ในเรื่องราคายานี้จะขอเล่าให้ฟังในโอกาสหน้า)

หลายยา...หลายปัญหา
ดั่งคำขวัญ "ยามีคุณอนันต์ โทษมหันต์" การได้รับยาหลายชนิดนี้จะมีโอกาสก่อให้เกิดโทษจากการใช้ยา หรือที่นิยมเรียกกันเล่นๆ ว่าโรคยาทำ คืออาการผิดปกติที่เกิดจากการใช้ยา โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน
ปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่เกิดจากการใช้ยาหลายชนิดพร้อมกัน ได้แก่
๑. ผลข้างเคียงหรือผลเสียจากการใช้ยา
๒. ยาตีกัน (drug interaction)
๓. ความร่วมมือในการใช้ยา

ผลข้างเคียงหรือผลเสียจากการใช้ยาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยาได้ง่าย ตัวอย่างเช่น
ยาคลายกังวลและยานอนหลับ มักทำให้เกิดอาการ มึนงงกับผู้สูงอายุ และหกล้มได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อใช้ยากลุ่มนี้ร่วมด้วย ซึ่งจะแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการระมัดระวังไม่ลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว เวลาจะลุกขึ้นควรเปลี่ยนจากท่านอนมาเป็นท่านั่งสักระยะหนึ่ง และจากท่านั่งไปเป็นท่ายืนอยู่นิ่งสักระยะหนึ่งด้วยเช่นกัน (โดยขณะยืนขึ้นควรจับยึดเสาหรือขอบเตียง เพื่อช่วยยึดถ้าเกิดปัญหาขึ้น) และเมื่อไม่มีอาการมึนหัว แล้วจึงค่อยออกเดินได้

ยาต้านอักเสบข้อและกล้ามเนื้อที่มีชื่อย่อว่า NSAIDs (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) ซึ่งเป็นยาลดการ อักเสบและบรรเทาอาการปวดข้อได้ผลดี แต่ไม่ควรใช้ติดต่อ กันนานโดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร และกดการทำงานของไต จึงควรใช้ยากลุ่มนี้ เท่าที่จำเป็นและเมื่อมีอาการปวดหรืออักเสบเท่านั้น

นอกจากตัวอย่างยาทั้งสองกลุ่มนี้แล้ว ยังมียา   กลุ่มอื่นๆ ที่พบปัญหาในผู้สูงอายุได้ เช่น ยาลดความดันเลือด ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดที่ใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในหลอดเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น 

ยาตีกัน (drug interaction)
ปัญหาจากการใช้ยาหลายชนิดคือยาตีกัน ซึ่งเกิด จากยาชนิดหนึ่งไปมีผลแทรกแซงยาอีกชนิดหนึ่ง และส่งผลเสียต่อผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น
ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันเลือดสูงและโรคเบาหวาน ถ้าผู้ป่วยได้รับยาขับปัสสาวะที่ใช้ในโรคความดันเลือดสูง ยาชนิดนี้จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ส่งผลต้านฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในหลอดเลือดของยารักษาโรค เบาหวาน ให้ดูเหมือนจะไม่ได้ผลหรือได้ผลลดน้อยลงได้

ความร่วมมือในการใช้ยา
เรื่องความร่วมมือในการใช้ยานี้จะขึ้นอยู่กับจำนวน ยาที่ใช้ ถ้ามีจำนวนมากความร่วมมือในการใช้ยาก็จะลดน้อยลง และอายุก็จะส่งผลต่อความร่วมมือในการใช้ยาเช่นกัน ถ้าอายุมากขึ้น ก็จะร่วมมือในการใช้ยาน้อยลงเช่นกัน
    
กำลังใจ..มีค่า..เหนื่อ..สิ่งอื่นใด
ถึงตรงนี้แล้วคงจะเห็นใจผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง ถ้าเป็นหลายโรคก็จะเรียกว่า โรคแห่งการ สะสม ว่าน่าเห็นใจ ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ จากลูกหลานมากน้อยเพียงใด ด้วยความรัก ความห่วงใย ความหวังดี และใจสู้ ไม่ท้อถอย ยอมแพ้โดยง่าย ก็น่าจะเป็นพลังสำคัญในการเผชิญโรค ต่อสู้กับโรคร้ายได้เป็นอย่างดี เรียกว่า กำลังใจ มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด
    
หลัก "การใช้ยาพอเพียง" ในผู้สูงอายุ
การใช้ยาในผู้สูงอายุ จึงควรยึดหลัก "การใช้ยาพอเพียง" โดยใช้อย่างเหมาะสมและเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งมีหลักการง่ายๆ ดังนี้
๑. ใช้ยาน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งรวมถึง ทั้งจำนวนชนิดของยา และระยะเวลาในการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้สั่งจ่ายว่า ยาแต่ละชนิดมีข้อบ่งใช้อย่างไร และควรใช้ยานานเพียงใด เพราะยาบางอย่างควรใช้ติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ แต่บางชนิดก็ใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น และเมื่อหายดีแล้วก็ไม่ควรใช้ยาถ้าไม่มีอาการ
๒. เล่าหรือนำยาทุกชนิดที่ผู้ป่วยใช้อยู่ไปให้แพทย์ได้รับรู้ด้วย ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงและลดการซ้ำซ้อนของยา ผลเสียของยา และยาตีกัน ซึ่งรวมถึงสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งอาจส่งผลต่อยาและความ รุนแรงของโรคที่ผู้ป่วยประสบอยู่ โดยเฉพาะเมื่อไปหาแพทย์หลายคน (เนื่องจากเป็นหลายโรค) จะมีโอกาสใช้ยาซ้ำซ้อนและเกินขนาด ทำให้เกิดอันตรายได้
๓. ตรวจเช็กยาทุกครั้งที่รับยา ถ้ามีข้อสงสัย ควรสอบถามกับผู้สั่งจ่ายทันที เช่น ชื่อผู้ป่วย ชนิดของ   ยา วิธีใช้ (โดยเฉพาะยาแบบพิเศษ) ข้อควรระวัง ยาใหม่ (ที่ยังไม่เคยใช้) เป็นต้น โดยยึดหลัก ถูกคน ถูกโรค ถูกวิธีใช้ ถูกเวลา
๔. จัดเตรียมยาให้พร้อมต่อการใช้ เช่น การหักครึ่งเม็ด การกดยาเม็ดออกจากฟอยด์ การจัดยาเป็นเวลา เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้ยาอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและเหมาะสม เป็นการเพิ่มความสะดวก และเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยา ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดี

การใช้ยาในผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงต่ออันตรายมากกว่าผู้ป่วยในวัยอื่น ดังนั้นจึงควรใช้ยาให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาควรทำความเข้าใจถึงข้อบ่งใช้ ของยา วิธีใช้ที่ถูกต้อง พร้อมทั้งเตรียมยาให้พร้อมและสะดวกต่อการใช้ได้โดยง่าย และให้กำลังใจแก่ผู้สูงอายุ เพื่อผลการรักษาและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

หากมีข้อสงสัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาหรือสุขภาพ อย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาหาความกระจ่าง ชัดกับเภสัชกร แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เพื่อไขข้อข้องใจ มีความเข้าใจ กระจ่างชัด เพื่อประสิทธิภาพของการใช้ยา บนพื้นฐานของความปลอดภัยต่อสุขภาพ 

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

348-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 348
เมษายน 2551
ภก.ทวิรัตน์ ทองรอด